ความมุ่งมั่นต่อโลก สิ่งแวดล้อม และสังคม แรงบันดาลใจจากพาทาโกเนีย และโอ้กะจู๋
“เวลานี้ โลกคือผู้ถือหุ้นเพียงหนึ่งเดียวของเรา..”
นี่คือข้อความสำคัญที่ อีวอง ชูนาร์ด เจ้าของ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้า Outdoor ที่เดินหน้าสร้างต้นแบบธุรกิจด้วยหัวใจหลัก คือ ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและสังคม บรรจงเขียนขึ้นมาเพื่อประกาศความตั้งใจบางอย่าง
โดยไม่เพียงแค่การเขียนจดหมายเปิดผนึก ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทเท่านั้น
แต่ชูนาร์ด ตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ของหุ้น 98% ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ “Holdfast Collective” โดยในทุก ๆ ปี จะมีผลกำไรประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างกิจกรรมต่อสู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ รวมทั้งสนับสนุนความช่วยเหลือและต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กับชุมชนต่าง ๆ เพื่อการรักษาธรรมชาติ
ขณะที่ Patagonia Purpose Trust กองทรัสต์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จะถือหุ้น 2% โดยกองทรัสต์นี้ ถูกดูแลโดยครอบครัว ดำรงฐานะเจ้าของหุ้น ที่สามารถลงคะแนนเสียงทั้งหมดในบริษัท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถเลือกสรรคณะกรรมการบริษัท ที่จะมาทำงานเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการเป็นหุ้นส่วนกับโลก ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
นี่เป็นอีกครั้งที่ ชูนาร์ด พยายามค้นหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อให้แบรนด์สามารถจัดสรรเงินไปใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น โดยรักษาคุณค่าของบริษัทไว้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน
เส้นทางความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของชูนาร์ด เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1957 ด้วยความรักในการปีนเขา และความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ เขาได้เริ่มต้นนำความรู้ในการตีเหล็ก มาต่อยอดคิดค้นหมุดตอก ซึ่งช่วยการปีนเขาในแบบที่ไม่ต้องเจาะลงไปในเนื้อหิน และผลิตมันออกมาจำหน่ายจนได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
ในช่วงปี ค.ศ. 1970 ชูนาร์ด เป็นคนแรก ๆ ในการนำเสื้อรักบี้มาใช้ในการปีนเขา เพราะเห็นว่า เสื้อรักบี้นั้นมีคุณลักษณะทนทานต่อการใช้งานและสภาพอากาศมากกว่าเสื้อทั่วไป ปกเสื้อสามารถป้องกันการถูกบาดจากเชือกปีนเขา เขาผลิตมันออกมาจำหน่าย โดยปรับปรุงการผลิตเปลี่ยนเนื้อผ้าจากฝ้าย และขนสัตว์ ที่อับชื้น โดยใช้เส้นใยสังเคราะห์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดชาวประมงในแอตแลนติก ซึ่งทนทาน แห้งไว และอบอุ่นมากกว่า
ด้วยนวัตกรรมการออกแบบที่เข้าถึงใจนักปีนเขา ทำให้สินค้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว สามารถต่อยอดไปถึงสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมวก ถุงมือ กางเกง และเสื้อกันฝน อีกมากมาย
เขาพบความจริงว่า กำไรจากการทำอุปกรณ์ปีนเขานั้นน้อยกว่าการทำอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จำพวกเสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งมียอดขายดีกว่า และมีกำไรสูงกว่า บริษัทผลิตอุปกรณ์ Outdoor เล็ก ๆ จากเมือง Ventura เมืองชายทะเลในรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1973 เมื่อราว ๆ 5 ทศวรรษที่แล้ว
และเป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ Patagonia ก้าวเข้าสู่ตลาด ทำกำไรได้ดี จนกลายเป็น แบรนด์สินค้าเสื้อผ้า Outdoor ที่ได้รับความนิยม และเริ่มเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนหันมาสนใจในปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แบรนด์รักโลกอย่าง Patagonia เคยต้องผ่านวิกฤตการสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค เพราะในช่วงปี ค.ศ. 1991 เกิดกระแสความผิดหวังกับสินค้า Polybag ที่ลูกค้าคิดว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดขยะมหาศาล จนยอดขายตกลง ประกอบกับวิกฤตการณ์เรื่องสภาพคล่องทำให้ต้องมีการปลดพนักงานออก
แต่ด้วยการทำงานอย่างทุ่มเท ในเรื่องของความเชื่อมั่น ที่เน้นจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อม แบรนด์ก็สามารถพลิกกลับขึ้นมาด้วยความตั้งใจจริง ที่ทำให้ผู้บริโภคมองเห็นถึงจุดยืน ผ่านโครงการต่าง ๆ โดยหันกลับมาสนับสนุนแบรนด์ที่จริงใจ ตั้งมั่นอยู่ในฟากฝั่งของการอนุรักษ์
ช่วงเวลาสำคัญ ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 Patagonia ได้ประกาศคำมั่น ในการบริจาคเงิน 1% ของยอดขายให้กับงานสาธารณประโยชน์ ในการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาถึงปี ค.ศ. 2002 แบรนด์ก็ยกระดับความเข้มข้นในการช่วยเหลือขึ้นไปอีก โดยได้จัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ “1% for the Planet” เพื่อชักชวนบริษัทต่าง ๆ มาทำสัญญาร่วมกันว่าจะมอบยอดขาย 1% เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ในการร่วมดูแลโลกไปด้วยกัน ซึ่งมีบริษัทที่มีความคิดคล้ายกัน เข้ามาร่วมกับโครงการเป็นจำนวนมาก
สื่อสารอุดมการณ์อย่างแข็งแรงและต่อเนื่อง
ในแง่มุมของการสื่อสารการตลาด Patagonia ทำโฆษณาระดับมาสเตอร์พีซ ด้านสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏสู่สายตาลูกค้าทั่วสหรัฐอเมริกา
ในช่วงเทศกาลชอปปิง Black Friday ในปี ค.ศ. 2011 Patagonia ได้ซื้อหน้าโฆษณาในหนังสือพิมพ์ New York Times เพื่อบอกคนทั้งสหรัฐฯ ว่า
“อย่าซื้อแจ็กเก็ตตัวนี้” Don’t Buy This Jacket
โดยภาพกลางโฆษณานั้น ปรากฏเป็นภาพแจ็กเก็ต Patagonia โดดเด่นเป็นสง่า
ซึ่งมันช่างตรงข้าม และย้อนแย้งกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์แบบเดิม ๆ
ก่อนจะอธิบายเหตุผลว่า แบรนด์ต้องการสนับสนุนให้ลูกค้าควักกระเป๋าซื้อเสื้อผ้าชิ้นใหม่ เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
เพราะต้นทุนในการผลิตแจ็กเก็ตแต่ละตัว มันส่งผลกระทบถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล เป็นการรณรงค์ให้ลูกค้า เข้าใจถึงกระบวนการ Reduce ลดการใช้, Repair รู้จักซ่อมแซม, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่
และเรื่องสำคัญที่สุดคือ Reimagine เป็นการเชิญให้ร่วมจินตนาการใหม่ไปด้วยกัน ถึงโลกที่เราต่างให้ความสำคัญกับการนำกลับมาใช้ และเบียดเบียนธรรมชาติเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อกระตุกความคิดในการรักษาสิ่งแวดล้อม และบอกจุดยืนที่ชัดเจนของแบรนด์ ในการเป็นมิตรกับโลกว่า..
“ถ้าคุณไม่จำเป็นต้องใช้ ก็ไม่ต้องซื้อ
ก่อนจะซื้ออะไร ควรคิดให้รอบคอบ”
แคมเปญนี้โด่งดัง และฮือฮาแบบสุด ๆ เพราะการกระตุกความสนใจ
และสร้างการรับรู้ แบบย้อนศร ตีหัวให้จดจำ ซึ่งบ่งบอกความเชื่อของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
หลังจากแคมเปญ “Don’t Buy This Jacket” นี้ออกไป แบรนด์ก็ต่อยอดให้ผู้คนได้รับรู้ความสำคัญของการใช้ของอย่างคุ้มค่า ด้วยการเปิดโครงการ Worn Wear ในปี ค.ศ. 2017 ที่เริ่มโครงการให้ลูกค้าสามารถส่งเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วกลับมาที่โครงการ โดยลูกค้าจะได้รับเครดิตเงินคืนเก็บไว้เพื่อซื้อสินค้าในครั้งต่อไป
โดยสินค้ามือสองของแบรนด์ Patagonia ที่ผ่านการคัดเลือกว่ายังมีคุณภาพดี จะถูกนำไปซ่อมแซม ทำความสะอาด และส่งกลับไปจำหน่าย บนช่องทางออนไลน์ของโครงการ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ แถมยังได้นำเสนอ อีกจุดขายสำคัญ นั่นคือความอึดถึกทนทานของผลิตภัณฑ์ Patagonia ไปด้วยแบบเนียน ๆ
มีการเปิดศูนย์รับซ่อมแซมเสื้อผ้ามากกว่า 70 แห่งทั่วโลก สามารถซ่อมแซมเสื้อผ้าได้มากกว่า 100,000 ชิ้นต่อปี มีการสร้างกิจกรรมพิเศษผ่าน “สถานีซ่อมเคลื่อนที่” เพื่อให้บริการซ่อมเสื้อผ้าในราคาประหยัดให้กับทุกคน ในกิจกรรม Outdoor ทั้ง สกี ไต่เขา ในที่ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “Recraft” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้านำสินค้าเก่าที่เกินกว่าจะซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง ส่งกลับมาให้ทางแบรนด์ได้นำไปดัดแปลงสร้างสรรค์ ผลิตเป็นสินค้าใหม่ด้วยการ Recycle วัสดุจากของเก่า
นอกจากการดูแลการจัดการภายในเป็นอย่างดี แบรนด์ยังเข้มงวดกับการใช้บริษัทคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิต โดยเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง “Fair Trade” หรือการค้าที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตต้นทางถึงปลายทาง จากฟาร์มเกษตรกรจนถึงโรงงานตัดเย็บ ที่จะต้องถูกคัดกรองการทำงาน มีการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของแรงงาน ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก และปราศจากการทรมานสัตว์
และกับพนักงานของตัวเอง แบรนด์ Patagonia มีแนวคิดการทำงานอย่างยืดหยุ่นที่มาก่อนกาล พนักงานมีวันลาไปปีนเขา เดินป่า แคมปิง และสามารถลาหยุดไปเล่นกระดานโต้คลื่นได้ พวกเขามีศูนย์รับเลี้ยงดูแลเด็กเล็ก สำหรับลูก ๆ พนักงาน มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 มีนโยบายให้พนักงานชายมีวันลาหยุดเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกที่บ้าน และปัจจุบัน Patagonia กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทไปแล้ว
และพวกเขาได้ประกาศพันธกิจของแบรนด์ว่า
“We’re in business to save our home”
ที่บอกว่าพวกเขากำลังดำเนินธุรกิจเพื่อปกป้องโลกใบนี้
จากสหรัฐอเมริกา หันกลับมาสู่ธุรกิจในประเทศไทย
ริมถนนวงแหวนรอบนอกมุ่งหน้าอำเภอสันทราย มีร้านขายสลัดร้านเล็ก ๆ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับป้ายสโลแกนที่เขียนตัวโตไว้หน้าร้านว่า “ปลูกผักเพราะรักแม่”
จากเด็ก ม.ปลายสองคน ที่ได้ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาที่คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสานต่อความฝันของเพื่อนรักสองคน ซึ่งตั้งใจจะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแบบผสมผสานร่วมกัน
ความมุ่งมั่นในวันนั้นทำให้คนหนึ่ง ตั้งใจไปศึกษาด้านการเกษตร จนมีความเชี่ยวชาญในการปลูกผักอินทรีย์ อีกคนไปร่ำเรียนจนจบวิชาบริหารธุรกิจ และเมื่อจบการศึกษา สองเพื่อนรักก็กลับมาเริ่มต้นสานต่อความฝันวัยเยาว์
ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี บนความตั้งใจในทุกขั้นตอน เริ่มจากปลูกผักสวนครัว ผักสลัด เพื่อใช้ประกอบอาหารในครอบครัว พอมีเหลือก็ส่งขายร้านเพื่อนฝูง ด้วยแนวคิดว่า อยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดี ได้ทานผักซึ่งปราศจากสารเคมี
นี่คือจุดเริ่มต้นของเพื่อนสองคน คือ โจ้-จิรายุทธ และ อู๋-ชลากร ที่ได้เริ่มต้นธุรกิจ จากสวนผักปลอดสารเล็ก ๆ ริมถนน ทั้งสองได้ขยับขยายธุรกิจ โดยชักชวนเพื่อนอีกคน คือ ต้อง-วรเดช ให้มาช่วยเหลือในเรื่องของงานวิศวกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิต
ในช่วงปี ค.ศ. 2013 พวกเขาให้กำเนิดคาเฟอาหารหน้าแปลงผัก ที่มีจุดขายในเรื่องของความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค บนแนวคิด From Farm to table โดยเน้นเมนูสลัดผักออร์แกนิก น้ำสลัดแบบโฮมเมด ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาเป็นเมนูหลากหลาย ทั้งสเต๊ก สลัด มากมาย ที่คงแนวคิดความปลอดภัยไว้เป็นหัวใจสำคัญ
โดยชื่อแบรนด์ “โอ้กะจู๋” ครีเอตมาจากคำผวนชื่อเล่นของสองผู้ก่อตั้งคือ “อู๋กะโจ้”
ซึ่งได้กลายเป็นชื่อแบรนด์ที่น่ารัก โดดเด่น ได้รับการจดจำได้เป็นอย่างดีจากลูกค้า
บนจุดขายสำคัญคือ ความใส่ใจถึงความต้องการของผู้บริโภค ทุกเมนูของโอ้กะจู๋ จะมีผักสลัดให้บริการในปริมาณมากกว่าร้านอื่น ๆ
บนความตั้งใจที่ว่า อยากให้ลูกค้าได้ทานผักปลอดสาร คุณภาพดี แบบจุใจ อิ่มท้อง โดยเมนูที่ได้รับความนิยม ถึงขั้นฮอตฮิตในสื่อโซเชียลคือ สเต๊กซี่โครงหมูสะพานโค้ง ซึ่งมีหน้าตาการจัดจานที่สุดแสนดึงดูด ทั้งปริมาณอาหาร และปริมาณผักที่เยอะมาก ๆ จนแปลกตา โดดเด่น หรือ สลัดผลไม้ ที่เสิร์ฟเมลอนทั้งลูก รวมทั้งน้ำผลไม้ปั่นสูตรต่าง ๆ ที่มีการตกแต่งอย่างโดดเด่น สร้างกระแสให้เกิดการแชร์ในโลกโซเชียลแบบปัง ๆ จนทำให้ร้านกลายเป็นจุดขายสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
เกิดเป็นกระแสว่า ถ้าใครไปเที่ยวเชียงใหม่ ต้องแวะไปชิมโอ้กะจู๋ แบบรอต่อคิวนานหลายชั่วโมง ก็มีปรากฏให้เห็นในช่วงเทศกาล
จุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์คือ การขยายสาขาสู่กรุงเทพ และการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ OR ได้ต่อยอดธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ ๆ เสริมทัพคำแนะนำจากทีมงานมืออาชีพ เกิดเป็นหลากหลายโครงการที่มาช่วยต่อยอดให้การขยายสาขา รวมทั้งการระดมทุนเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันวัตถุดิบส่วนหนึ่งของแบรนด์ โอ้กะจู๋ ถูกผลิตมาจากชุมชนชาวเกษตรให้ความสำคัญกับแนวคิดเกษตรอินทรีย์
โอ้กะจู๋ กลายเป็นทั้งร้านอาหาร และจุดศูนย์รวมที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ผักอินทรีย์ มีการสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในพื้นที่ชนบทห่างไกล ตามมาตรฐานออร์แกนิก ของ โอ้กะจู๋ เพื่อส่งเสริมให้ ชาวบ้านเห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรรมแบบยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายธรรมชาติ
โดยเราสามารถเห็นการทำงานเชิงสังคม ผ่านสื่อโซเชียลในช่องทาง TikTok ที่ชื่อว่า “โอ้กาด” ซึ่งสะท้อนการทำงานหนัก เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล ส่งกลับมาให้ผู้บริโภคได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง มีโครงการ “ปันฮัก” ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบกลุ่มเกษตรกร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และรับซื้อผลผลิตไปใช้ในร้านโอ้กะจู๋
มีการจัดทำระบบครัวกลาง และระบบร้านที่มีมาตรฐาน ไปจนถึงระบบการตรวจสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตรวจเคมีดินจากแหล่งปลูกต่าง ๆ พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และสังคม ที่ทุกคนจะกินดีอยู่ดี และมีสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน
นอกจากนี้ที่โอ้กะจู๋ ยังมีการนำแนวคิด Zero Waste การลดขยะให้เป็นศูนย์ เข้ามาประยุกต์ใช้ควบคู่กับกระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เศษขยะอินทรีย์ รวมทั้งเศษอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหารทั้งสองสาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ เศษผักเหลือทิ้งจากการตัดแต่งหลังเก็บเกี่ยว เศษใบไม้ กิ่งไม้ เปลือกข้าวโพด แกลบ ขี้วัว ขี้เถ้า ซึ่งเป็นขยะธรรมชาติจากบ้านเรือน ท้องถนน ในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกนำมาคัดแยก ผ่านกระบวนการ เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ในโรงงานผลิตปุ๋ยของโอ้กะจู๋ โดยใช้จุลินทรีย์มาช่วยในการย่อยสลาย และนำปุ๋ยกลับมาใช้ในการปลูกผักอินทรีย์ต่อเนื่องในสวนผัก รวมทั้งแจกจ่ายให้กับเกษตรกรร่วมอุดมการณ์ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการของเสีย เศษขยะต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ด้วยความที่เราต้องปลูกผักปริมาณมาก เราจึงต้องการปุ๋ยในปริมาณที่มากเช่นกัน เรามีเครื่องผลิตปุ๋ยที่สามารถทำปุ๋ยได้ในระยะเวลารวดเร็ว ช่วยทำให้เราสามารถทำ Zero Waste ได้ ด้วยการนำเศษอาหารจากทางร้าน เศษผักจากการตัดแต่งที่ไร่นำมาทำเป็นปุ๋ย
แต่มันไม่ใช่แค่ที่ร้านของเรา เราอยากช่วยลดขยะในชุมชน หรืองานของเทศบาลต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการตัดแต่งต้นไม้อยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร.. เราจึงมีเทศบาลเป็นขาประจำของโรงปุ๋ย หรือพวกเศษอาหารจากร้านอาหารต่าง ๆ เราก็รับหมด แค่ขอความร่วมมือช่วยคัดเศษพลาสติกออกให้หน่อย นอกจากนั้นเกษตรกรต่าง ๆ ที่เขามีเศษอินทรียวัตถุหลังการเก็บเกี่ยว ก็สามารถนำเศษพืชเหล่านั้นมาให้เรา แล้วรับปุ๋ยของเรากลับไปปลูกผักต่อได้เลย” โจ้ จิรายุทธ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโอ้กะจู๋ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้
โดยในปี 2021 - 2023 บริษัทฯ มีการนำขยะธรรมชาติมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้ประมาณ 1,000 - 2,000 ตันต่อปี
ด้วยเวลา 10 ปี โอ้กะจู๋ออกเดินทางไกล จากร้านริมสวนผักเล็ก ๆ ที่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ไปถึงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) (OKJ) เจ้าของร้านอาหารเพื่อสุขภาพ “โอ้กะจู๋” ร้านอาหารจานด่วน “OHKAJHU WRAP & ROLL” และร้านน้ำผักผลไม้ “OH! JUICE” มีมูลค่าบริษัทกว่า 7,000 ล้านบาทในตอนเข้าระดมทุน และยังคงเติบโตต่อเนื่อง
บนความมุ่งมั่นว่า พวกเขาจะกลายเป็นจุดศูนย์รวมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และสามารถเปิดโอกาสอีกมากมายให้แก่เกษตรกรผู้ร่วมอุดมการณ์ สามารถนำผลผลิตทางการเกษตร มาจำหน่ายที่ร้าน
และเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น...
บทเรียนความคล้ายจากสองธุรกิจ ที่อยู่ห่างไกลกัน 12,631 กิโลเมตร
แต่ทั้งสองมีจุดเชื่อมต่อสำคัญคล้ายคลึงกัน นั่นคือการให้ความสำคัญกับแนวคิดของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ชุมชน และธรรมาภิบาล การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ถูกเรียกเป็นอักษรย่อว่า ESG (Environment Social and Governance)
มีผลการวิจัยที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน (HILL ASEAN) ซึ่งจัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 2020 โดยทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ซึ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อมและนำมาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกกันว่า Consciouslites ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไทย บนช่องทางออนไลน์ ทั้งชายและหญิง อายุระหว่าง 20-49 ปี จำนวน 4,500 คน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่กำลังมีอิทธิพลสูง พบว่า
คนอาเซียนประมาณร้อยละ 90 รู้จักคำว่า Conscious Lifestyle หรือวิถีชีวิตที่ใส่ใจสังคม-สิ่งแวดล้อม
โดย 86% ระบุว่าพวกเขามีความใส่ใจสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง
82% บอกว่าจะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่สนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
และที่น่าสนใจที่สุดคือ 81% เต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่มีความใส่ใจในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยสอดคล้องกับการศึกษา ของ มินเทล ในปี ค.ศ. 2023 ที่สรุปได้ว่า
คน Gen Z อายุ 10-25 ปี ในประเทศไทย ที่กำลังจะขยับสถานะขึ้นมาเป็นเจนเนอเรชันที่มีกำลังซื้อสำคัญในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ต่างก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและประโยชน์ต่อสังคม และพวกเขายังคาดหวังที่จะเห็นคุณค่าของตนเองสะท้อนออกมาจากแบรนด์ที่ตัวเองเลือกซื้อ
โดย 76% ใช้ความพยายามมากกว่าเดิมในการรักษาสิ่งแวดล้อม
และ 25% คิดว่าการจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งคุ้มค่า
ทั้งหมดนี้ กลายเป็นบทสรุปที่น่าสนใจแบบไม่อาจมองข้าม
เรื่องของ ESG ในมิติของความยั่งยืน การใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญ โดยทุกธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่สามารถยืนหยัดบนความเชื่อมั่น กับแนวคิดนี้ได้ด้วยความตั้งใจจริง
เริ่มต้นด้วยการส่งต่อวิถี ESG ในมุมที่ธุรกิจเชื่อมั่น โดยเลือกแนวทางที่แบรนด์หรือองค์กรมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน และเหมาะสมกับธุรกิจ แล้วเจาะจงเดินหน้าทำในสิ่งนั้นอย่างมุ่งมั่น ต่อเนื่อง และจริงจัง โดยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ทั้งในเรื่องมิติของสิ่งแวดล้อม เช่น การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกป่า รักษาน้ำ ดูแลอากาศ หรือในมิติทางสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ การสร้างงาน สร้างอาชีพ และร่วมพัฒนาชุมชน
โดยไม่ลืมที่จะกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือจากลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตร ในการทำงานร่วมกัน สร้างและส่งต่อการรับรู้ในเป้าหมายให้กับกลุ่มลูกค้า ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เข้าถึง เพื่อเพิ่มการจดจำ โดยทุกสิ่งนั้นล้วนแสดงออกถึงความตั้งใจที่แท้จริงจากองค์กร
สร้างสรรค์โอกาสใหม่ๆ ที่เดินหน้าไปพร้อมกับแนวคิดในการร่วมดูแลโลก และสังคม
ให้ปรากฏสู่สายตา ชนะใจผู้บริโภค ได้อย่างชัดเจน ด้วยวิถี วิธีของตนเอง
บนความเชื่อที่ว่า..
“จงเป็นตัวเอง ในแบบที่โลกจดจำ”
เหมือนดังที่ Patagonia และ โอ้กะจู๋ ต่างเดินหน้า นำทางไป
................................................
อ้างอิง :
Patagonia :
https://www.patagonia.com/ownership/
https://www.patagonia.com/one-percent-for-the-planet.html
https://www.patagonia.com/activism/
https://www.igreenstory.co/patagonia-donate-for-climatechange/
Ohkajhu :
https://www.ohkajhu.com/ประวัติ
Reserch / Data
Hill Asian Reserch:
https://www.matichon.co.th/economy/news_2242668
https://techsauce.co/news/hill-asean-the-rise-of-conscious-aseans
Mintel Reserch:
https://today.line.me/th/v2/article/YaWVY3M
อ้างอิงภาพ :
https://www.patagonia.com/ownership/
https://www.onepercentfortheplanet.org/membership
https://wornwear.patagonia.com/collections/just-added
https://www.patagonia.com/actionworks/home/choose-location/
https://www.ohkajhu.com/ผู้ก่อตั้ง