การเลือกรูปแบบธุรกิจและพื้นฐานภาษี

SME in Focus
05/10/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 8278 คน
การเลือกรูปแบบธุรกิจและพื้นฐานภาษี
banner

สำหรับ SMEs มือใหม่ สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนทำธุรกิจก็ คือ “การเลือกรูปแบบธุรกิจ” เพราะธุรกิจแต่ละรูปแบบก็มีวิธีการจัดตั้งและข้อบังคับทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดภาระทางภาษีที่แตกต่างกันด้วย เช่น ธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียวมีสถานะเป็น “บุคคลธรรมดา” หรือ ธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบบริษัทมี สถานะเป็น “นิติบุคคล” ซึ่งแบ่งเป็นการจดจัดตั้งเป็น 4 รูปแบบดังนี้

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


1. เจ้าของคนเดียว

ธุรกิจเจ้าของคนเดียวเป็นการลงทุนคนเดียว การจัดตั้งทำได้ง่าย การบริหารคล่องตัวเพราะตัดสินใจคนเดียว กำไรจากกิจการไม่ต้องแบ่งให้ใคร แต่หากธุรกิจขาดทุน เจ้าของก็ต้องรับผิดชอบผลขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน กิจการรูปแบบนี้มีข้อบังคับทางกฎหมายน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเจ้าของต้องแบกรับภาระของกิจการไว้ทั้งหมด ธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียวมีสถานะทางกฎหมายเป็น “บุคคลธรรมดา” ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเจ้าของ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ “ภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดา” และหากธุรกิจเข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตาม พรบ. ทะเบียนพาณิชย์ เจ้าของยังต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ

กิจการที่มีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาร่วมกันลงทุน ผู้ที่มาลงทุนในกิจการเรียกว่า “หุ้นส่วน” ทุนที่หุ้นส่วนนำมาลงในกิจการอาจจะเป็นเงิน สินทรัพย์อื่น หรือแรงงาน ก็ได้ โดยหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินของกิจการโดยไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญโดยเริ่มต้นแล้วมีสถานะเป็น “บุคคลธรรมดา” ซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” และหากธุรกิจเข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตาม พรบ.ทะเบียนพาณิชย์ ยังต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

แต่ถ้าหากห้างหุ้นส่วนสามัญไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญก็จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” นอกจากนี้ในแง่ของการดำเนินคดีทางกฎหมาย เช่น หากเกิดคดีความฟ้องร้อง ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ผู้ฟ้องจะฟ้องร้องหุ้นส่วนคนไหนก็ได้ แต่หากห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว การฟ้องร้องจะต้องฟ้องร้องตัว ห้างหุ้นส่วนก่อน หากห้างหุ้นส่วนมีทรัพย์สินไม่พอ จึงค่อยฟ้องร้องหุ้นส่วน

นอกจากนี้ห้างหุ้นส่วนสามัญยังมีข้อจำกัดในเรื่องการโอนหุ้น คือ การโอนความเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคนก่อน จึงจะทำได้

ในอดีตผู้ประกอบการบางรายเลือกรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล สำหรับกิจการของตนเพราะคิดว่าเป็นการประหยัดภาษี เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ต้องนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของตัวหุ้นส่วนอีกรอบหนึ่ง ต่างจากห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องนำ เงินปันผลไปรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากต้องการใช้เครดิตภาษีเงินปันผล  อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรมสรรพากรได้แก้ไขข้อกฎหมายโดยกำหนดให้ส่วนแบ่งกำไร จากห้างหุ้นส่วนสามัญต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนอีกรอบหนึ่ง และไม่สามารถใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้โดยมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2558

3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

เป็นกิจการที่มีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาร่วมกันลงทุน การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคล และหากธุรกิจเข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตาม พรบ.ทะเบียนพาณิชย์ เจ้าของยังต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย ข้อแตกต่างระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดกับห้างหุ้นส่วนสามัญ คือหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

“หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิด”  หมายถึง เครดิตภาษีเงินปันผลคือส่วนกำไรของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทที่ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว โดยผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผลจากนิติบุคคลสามารถเลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้ โดยนำเครดิตภาษีมารวมเป็นเงินได้ เพื่อคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องเสีย แล้วจึงนำเครดิตภาษีมาหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วส่วนแบ่งกำไร หรือเงินปันผลที่ได้รับนั้นเสียภาษีบุคคลธรรมดาเพียงอย่างเดียว หุ้นส่วนต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการไม่จำกัดจำนวน 

“หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด” หมายถึงหุ้นส่วนต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการจำกัดจำนวน คือไม่เกินจำนวนเงินที่ตนได้ลงทุนไปเท่านั้น การโอนหุ้นของห้างหุ้นส่วนจำกัดทำได้ง่ายกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดสามารถโอนหุ้นให้ผู้อื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคน

ห้างหุ้นส่วนสามัญ -หุ้นส่วนทุกคนไม่จำกัดความรับผิดชอบ

>> สถานะเป็นบุคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

>> การโอนความเป็นหุ้นส่วนต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคน

ข้อดีห้างหุ้นส่วนจำกัด -หุ่นส่วนมีประเภทจำกัด และไม่จำกัดความรับผิดชอบ

>> สถานะเป็นนิติบุคคล

>> การโอนหุ้นของหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิดชอบทําได้โดยไม่ จําเป็นต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคน  

>> ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี 

4. บริษัทจำกัด

เป็นกิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป นำเงินมาร่วมกันลงทุนแบ่งออก เป็น”หุ้น” ซึ่งแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน แต่ “ผู้ถือหุ้น” แต่ละคนอาจมีจำนวนหุ้นไม่เท่ากันก็ได้ ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งกำไรของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นที่ตนเองถืออยู่ และมีส่วนรับผิดชอบไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่ หากยังชำระค่าหุ้นไม่ครบก็ต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมแค่ส่วนของมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบ จึงเป็นที่มาของคำว่าบริษัทจำกัดนั่นเอง

เนื่องจากแหล่งเงินทุนของบริษัทจำกัดมาจากเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นหลายคน การบริหารและอำนาจการตัดสินใจจึงไม่ได้อยู่ที่เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว แต่จะบริหารในรูปแบบของ “คณะกรรมการบริษัท” ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่อาจเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นมืออาชีพก็ได้

บริษัทจำกัดมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ซึ่งต้องจดทะเบียนจัดตั้ง และมีข้อบังคับทางกฎหมายมากกว่าธุรกิจที่เป็นห้างหุ้นส่วนหรือเจ้าของคนเดียว แต่ก็มีความน่าเชื่อ ถือมากกว่าเช่นกัน

ข้อดี

>> จํากัดความรับผิด

>> บริหารแบบมืออาชีพ

>> มีความน่าเชื่อถือ

>> อัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดต่ำกว่าบุคคลธรรมดา

ข้อเสีย

>> มีขั้นตอนการจัดตั้งมากกว่ารูปแบบอื่น

>> บริหารในรูปคณะกรรมการ

>> อาจไม่คล่องตัวในบางสถานการณ์

>> ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูงกว่าบุคคลธรรมดา

>> ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี

 

แล้วจะเลือกรูปแบบธุรกิจไหนดี?

ในการเลือกรูปแบบธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs ควรพิจารณาถึงข้อดีข้อด้อยของ ธุรกิจแต่ละรูปแบบ และพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้

- ขนาดของเงินทุนและขนาดธุรกิจ 

- การบริหารงาน และการรับผิดต่อกิจการ

- ความน่าเชื่อถือ

ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีเงินทุนเริ่มต้นไม่มาก และไม่มีผู้มาร่วมบริหารกิจการ รูปแบบ “บุคคลธรรมดา” อาจเป็นรูปแบบที่สะดวกกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนต่ำกว่านิติบุคคล และไม่มีข้อกำหนดให้ส่งรายงานบัญชีที่มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง จึงมีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่ำ

แต่หากกิจการมีเงินทุนในการเริ่มต้นมาก การเป็นนิติบุคคลอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดตั้งเป็น “บริษัท” เพราะกิจการจะแยกจากตัวเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าของสามารถจำกัดความรับผิดต่อกิจการได้

การจัดตั้งบริษัทยังช่วยให้การบริหารงานเป็นไปอย่างเป็นระบบ เนื่องจากบริษัทต้องจัดทำรายงานบัญชี และจัดให้มีผู้ตรวจสอบความถูกต้องของรายงานบัญชี ซึ่งช่วยให้เจ้าของสามารถรู้ถึงสถานะที่แท้จริงของกิจการ และนำข้อมูลมาใช้ในการ วางแผนธุรกิจได้

การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการเป็นบุคคลธรรมดา เนื่องจากมีการจดทะเบียนกับภาครัฐ ทำให้หากต้องการขยายกิจการ การติดต่อกับ คู่ค้าและการหาแหล่งเงินทุนสามารถทำได้ง่ายกว่า

 

ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?

เมื่อเริ่มดำเนินกิจการและมีรายได้จากการประกอบกิจการแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่นำรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการมารวมกับรายได้อื่นที่มีอยู่ และนำไปคำนวณเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

หากกิจการมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” (VAT) ซึ่งหลังจากจดแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน

สำหรับธุรกิจบางประเภทที่ไม่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพได้ รัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดเก็บ “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” โดยธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องทำการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยมีตัวอย่างธุรกิจ ดังนี้

- การรับจำนำ

- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

- ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ 


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้เสียภาษีที่อาจมีภาระภาษีจำนวนมากในตอนสิ้นปี รัฐบาลได้กำหนดให้มี “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ในบางกรณี ทำหน้าที่คำนวณหักเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินตามที่กฎหมายกำหนดแล้วนำเงินนั้นส่งแก่รัฐบาล เงินที่ได้หักและนำส่งดังกล่าวถือเป็นส่วนที่นำไปหักออกจากยอดภาษีเงินได้ที่ผู้รับต้องจ่ายเมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงภาษี ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่ต้องหักภาษีแต่อย่างใด

นอกจากภาษีที่จัดเก็บโดยหน่วยงานส่วนกลางดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้ประกอบการยังมีหน้าที่เสียภาษีที่จัดเก็บโดยหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาล อำเภอ อีกด้วย โดยภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่

ผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่น ได้จากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต (สำหรับกิจการที่อยู่ในกรุงเทพฯ) หรือเจ้าหน้าที่เขต เทศบาลหรือองค์กรบริหารส่วนตำบล ที่กิจการของท่านตั้งอยู่

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลขั้นต้นที่ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ ไว้คราวหน้ามาต่อกันที่ภาษีแต่ละประเภท การคำนวณภาษีและการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากต่อธุรกิจ

 

อ้างอิง : คู่มือ startup จัดทำโดย กรมสรรพากร

การขอสินเชื่อเอสเอ็มอีให้ตรงกับศักยภาพธุรกิจ

คลังเดินหน้าปฏิรูปภาษี รับเศรษฐกิจดิจิทัล


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
231 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
401 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
319 | 20/03/2024
การเลือกรูปแบบธุรกิจและพื้นฐานภาษี