‘บัญชีเดียว’ จุดเปลี่ยน ‘ธุรกิจกงสี’ สู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์

Family Business
22/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 23168 คน
‘บัญชีเดียว’ จุดเปลี่ยน ‘ธุรกิจกงสี’ สู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์
banner
ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยถือเป็นรากฐานดั้งเดิมของเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินธุรกิจครอบครัวบนความเปลี่ยนแปลงของโลกและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบการบริหารกิจการครอบครัวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาการบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัวส่วนใหญ่เป็นระบบที่เรียกว่า ‘ธุรกิจกงสี’  ซึ่งเป็นการบริหารการลงทุนและทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัวที่มีคนในครอบครัวเป็นสมาชิกทำงานร่วมกัน โดยรายได้ทั้งหมดจะรวมเป็นกองกลาง

แม้ข้อดีของระบบกงสี คือ การสืบทอดสมบัติของตระกูลสู่ลูกหลาน เพื่อสร้างความมั่นคง สามารถขยายกิจการให้เติบโตโดยไม่มีขีดจำกัด

แต่ข้อเสีย คือเมื่อครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น รุ่นลูกสร้างครอบครัวของตัวเอง เริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาท หรือขัดแย้งกันเนื่องจากความคิดเห็นไม่สอดคล้องในแนวทางเดียวกัน 



บริษัทครอบครัวในตลาดหลักทรัพย์ 

ทางเลือกของธุรกิจครอบครัวเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ประกอบด้วยการส่งต่อให้ลูกหลานรับช่วงสืบทอดกิจการ การสรรหามืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงาน ไปจนถึงการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามี ธุรกิจครอบครัวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญกับการทำบัญชีและเสียภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น ลดปัญหาต่าง ๆ ในระยะยาว

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว โดยสมาชิกครอบครัวที่มีความสามารถอาจมีส่วนในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ก็เฉพาะบริษัทประกอบการเท่านั้น ไม่ใช่บริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว แล้วนำบริษัทประกอบการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังสะดวกแก่การระดมทุน การกู้เงิน โดยเสียดอกเบี้ยถูก หรือการหามืออาชีพมาร่วมงานได้ง่ายและยังมีกลไกแก้ไขข้อพิพาทในการขายหุ้นได้ เพราะมีราคาตลาดเป็นตัวกำหนด

และสุดท้ายอาจได้สิทธิประโยชน์ภาษีในอัตราถูกกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับความโปร่งใสในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ถ่ายโอนอำนาจให้ธุรกิจพัฒนาได้อย่างยั่งยืน  (กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว)

บทความนี้ ขอยกตัวอย่างธุรกิจครอบครัวที่เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ รวมถึงการจัดการระบบหลังบ้าน การทำบัญชีอย่างโปร่งใส ฯลฯ เพื่อปูทางสู่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้ 



• เส้นทางสู่ตลาดหลักทรัพย์ ของธุรกิจครอบครัว (Family Business) ‘TRV’ 

ธุรกิจของ TRV มีจุดกำเนิดจากธุรกิจครอบครัวที่ผลิตชิ้นส่วนยางขึ้นรูปของ คุณธีรวุฒิ นวมงคลชัยกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที.อาร์.วี. รับเบอร์ โปรดักส์ (มหาชน)

เดิมทีคุณพ่อของ คุณธีรวุฒิ ผลิตและค้าขายยางขึ้นรูป ในตลาดคลองถม ย่านวรจักร เป็นกิจการเล็ก ๆ ทำอยู่ 8 ปี เห็นว่าไม่มีกำไร รุ่นลูกจึงแยกตัวออกมาขายยางสุขภัณฑ์ แต่ประสบปัญหาด้านต้นทุนที่สูง จึงตัดสินใจออกจากธุรกิจครอบครัวเมื่อปี 2536 และได้ปรับการดำเนินธุรกิจเป็นการผลิตขึ้นรูปชิ้นส่วนยาง ซึ่งธุรกิจเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จากตึกแถวเล็ก ๆ สู่การทำโรงงาน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในนาม บริษัทที.อาร์.วี รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด



ด้วยวิสัยทัศน์ของ คุณธีรวุฒิ ผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ที่มองการณ์ไกล ได้เริ่มเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2560  ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ บริษัทฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจทั้งด้านการบริหารจัดการ ทั้งให้ความสำคัญเรื่องระบบบัญชีที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การพัฒนาบุคลากร กระบวนการผลิตและกระบวนการจัดการของเสียที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพของสินค้า การส่งมอบให้ทันเวลา ที่สำคัญคือการสร้างมาตรฐานระดับสากล 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น แบรนด์ดังต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้บริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยสนับสนุนแผนการขยายกำลังการผลิต และการแข่งขันในตลาด เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต




• JSP ขับเคลื่อนธุรกิจ นำโรงงานผลิตยาจากสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดหลักทรัพย์ สำเร็จอย่างงดงาม

อีกหนึ่งธุรกิจครอบครัว ที่พี่น้องฝาแฝด ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แฝดผู้พี่ดูแลด้านนวัตกรรม ส่วนแฝดคนน้อง คุณพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานวิจัยและพัฒนารับผิดชอบด้านวิจัยและการตลาด บริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP

ดำเนินธุรกิจให้บริการผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ทั้งยา, อาหารเสริม, เครื่องสำอาง, สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินบำรุง และอื่น ๆ อีกมากมาย 

ด้วยการมีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของทั้ง 2 ท่าน ทำให้เห็นช่องว่างในการเติบโตของสินค้า รู้ว่าอุปสรรคใดที่ต้องก้าวข้ามและเปลี่ยนเป็นโอกาสที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ จนสามารถนำโรงงานผลิตยาจากสินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จอย่างงดงาม



ดร.สิทธิชัย กล่าวว่า เริ่มต้นจากรุ่นคุณปู่ ซึ่งทำธุรกิจร้านขายยาเล็ก ๆ ที่ตึกแถวย่านหัวลำโพงชื่อว่า ‘อั้งง่วนเฮง สุภาพโอสถ’ ดำเนินกิจการกว่า 70 ปี จากนั้นเริ่มปรับมาเป็นธุรกิจกงสี

เนื่องจากคุณปู่มีพี่น้องหลายคน จนแตกตัวเพื่อเติบโต จากยี่ปั๊วขายยา กลายมาเป็นธุรกิจขายส่งยารักษาโรค มีโรงงานผลิตยาชื่อว่า เอ.เอ็น.เอช. ที่ย่อมาจาก อั้งง่วนเฮง

หลังการดำเนินและขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและอาหารเสริมรายใหญ่ มีโรงงานผลิตถึง 2 โรงงาน ธุรกิจเติบโตมียอดขายที่ดี จึงตัดสินใจปรึกษาคุณพ่อและคุณแม่เรื่องการลงทุนใหม่อีกครั้ง

ขยายและสร้างโรงงานเพิ่มเติม อีกทั้งยังเข้าร่วมอบรมกิจกรรมที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อศึกษาหาความรู้ ปูทางการนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 



จากนั้นอีก 5 ปีต่อมา บริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจกงสี เป็น Professional โดยมีที่ปรึกษาทางด้านการเงินเข้ามาปรับโครงสร้าง เปลี่ยนการจัดการมาใช้บัญชีเล่มเดียว ที่มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ควบคุมดูแล

ซึ่งผู้บริหารอย่าง ดร.สิทธิชัย มองว่า วิธีนี้ช่วยให้สมาชิกในธุรกิจครอบครัวทุกคนอยู่บนกฎและกติการ่วมกัน สร้างความยั่งยืนสู่การสืบทอดในเจนเนอเรชันถัดไปอย่างโปร่งใส และลดความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง 




• ‘ออโตคอร์ป’ บริษัทแม่ ‘ฮอนด้ามะลิวัลย์’ ดีลเลอร์รถยนต์รายแรกเข้าตลาดหลักทรัพย์

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือโมเดลการทำธุรกิจครอบครัวที่เริ่มต้นด้วยการนำเงินกงสีมาก่อตั้ง บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า (Honda) และเส้นทางสู่ IPO ของ SME ที่เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ



คุณภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ACG) เผยว่า ตนเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด สาขาแรกที่จังหวัดเล็กๆ ทางภาคอีสานเมื่อปี 2535 เป็นผู้แทนจำหน่าย (Dealer) รถยนต์ฮอนด้า

ผ่านมาไม่กี่ปีก็เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เกิดการขาดทุนสะสมจำนวนไม่น้อย หลังขาดทุนกว่า 13 ปี จึงใช้เวลาเรียนรู้ ปรับปรุงระบบหลังบ้าน โดยนำซอฟต์แวร์ ERP มาใช้ เรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจ เริ่มวางรากฐานระบบหลังบ้านที่ถูกต้อง 



คุณภานุมาศ บอกว่า ภายหลังจดทะเบียนจัดตั้งฮอนด้ามะลิวัลย์ นอกเหนือจากการบริการที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้มาใช้บริการ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญอีกด้านคือ ระบบหลังบ้านโดยเลือกที่จะใช้บริษัทตรวจสอบบัญชีแห่งหนึ่งมาช่วยวางระบบบัญชีและภาษีให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจของเขาในการจัดทำบัญชีเล่มเดียว

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เขายังมองว่าถ้าหลังบ้านบัญชีไม่ดี ธุรกิจก็เติบโตยาก และภาษีเป็นเรื่องของการบริหารที่สามารถวางแผนได้และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำให้ถูกต้อง การใส่ใจตัวเลขในรายงานทางการเงินที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดของบริษัท ทำให้วางแผนกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม 

เขาเปรียบเทียบว่า บัญชีก็เหมือน ‘ห้องสมุด’ ถ้าบริษัทใหญ่ห้องสมุดก็ใหญ่ตาม แต่ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อาศัยหลักการเดียวกันคือ หลักการความเป็นระเบียบ การจัดหมวดหมู่ ความต่อเนื่อง ใครเข้ามาก็สามารถหยิบจับได้ง่าย บัญชีที่ถูกต้องจึงเปรียบเหมือนห้องสมุดที่หนังสือถูกเรียงไว้บนชั้นวางอย่างเป็นระเบียบ คนไหนเข้ามาหาเข้ามาสืบค้นก็ง่าย

“จุดอ่อนของ SME คือเรื่องคน เรื่องเงินทุน เรื่องระบบบัญชีและภาษี แต่ถ้าถามอะไรสำคัญที่สุด ผมตอบเลยว่าระบบบัญชี เพราะจะเก่งกาจแค่ไหน หากบัญชีไม่ดี ก็ไปต่อไม่ได้ และ สิ่งเลวร้ายที่สุดของคนทำธุรกิจคือ ทำธุรกิจแล้วขาดทุนอยู่ แต่กลับคิดว่ามีกำไร เพราะว่ากระแสเงินสด กับกำไรแยกคนละส่วนกัน นี่เป็นเรื่องที่อันตรายมาก”




นี่คือกรณีศึกษาของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำบัญชีเล่มเดียว และการวางระบบบัญชีและภาษีอย่างถูกต้อง โดยมีความรู้ ความเข้าใจ อันนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ในการมองธุรกิจว่าต้องการให้เติบโตในรูปแบบใด และที่สำคัญต้องมีการวางระบบการจัดการ ระบบบัญชีที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้น เป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)


ติดตามบทความ 6 ขั้นตอน ‘ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว’ เพื่อเตรียมตัวเป็น ‘บริษัทมหาชน’ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ในครั้งหน้า

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
26 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
4971 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4524 | 30/03/2024
‘บัญชีเดียว’ จุดเปลี่ยน ‘ธุรกิจกงสี’ สู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์