5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

Family Business
09/04/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 5060 คน
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption
banner

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป คือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมด หรือถือหุ้นส่วนใหญ่ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในครอบครัวเสียก่อน

ซึ่งธุรกิจทั่วไปอาจปรับตัวได้เร็วกว่า เพราะมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นกว่า ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวต้องใช้เวลาการเปลี่ยนผ่าน (Transitions) มากกว่า ในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากแบบเดิมไปสู่การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือเพิ่มการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาปรับใช้


ในโลกธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจครอบครัว ต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ บทความนี้ จะพาทุกท่านไปพบกับ 5 อุปสรรคใหญ่ ที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อฝ่าฟันคลื่นลูกใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลงให้อยู่รอด โดยไม่ล้มหายจากพายุ Disruptions จาก AI และความล้ำหน้าของเทคโนโลยี



อะไรคือ? 5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้


1. ช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชัน (Generation Gap)

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ประเด็นเรื่องยุคสมัย การเปลี่ยนแปลง ชุดความคิด ความเชื่อ และวิธีการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ยังคงเป็นอุปสรรคที่หลายครอบครัวต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกันที่ต้องมีความเกรงใจ เป็นปัจจัยของการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ




แนวทางแก้ไข :

แม้ช่องว่างระหว่างช่วงวัย จะเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ที่ทำธุรกิจครอบครัว แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยข้อตกลงร่วมกันและการสื่อสารที่ดี ทุกการทำงานย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะแต่ละเจนเนอเรชันจะมีมุมมอง ประสบการณ์ และวิธีคิดไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เปิดให้โอกาสเจนเนอเรชันใหม่ได้แสดงฝีมือ ขณะที่พวกเขาต้องพร้อมจะเรียนรู้ รับฟังการถ่ายทอดจากประสบการณ์ของเจเนอเรชันเก่า จะสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน พร้อมพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างราบรื่น

2. การวางแผนสืบทอดกิจการครอบครัว


การวางแผนเพื่อสืบทอดกิจการของผู้ก่อตั้ง เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว โดยรุ่นบุกเบิกทุกคน ล้วนมุ่งหวังให้ทายาทสามารถก้าวเข้ามาสานต่อธุรกิจที่ตนสร้างไว้แบบไร้รอยต่อ และไม่มีอุปสรรคจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความไม่พร้อม หรือความชอบส่วนตัวอยากทำธุรกิจประเภทอื่นที่ต่างไปจากธุรกิจของครอบครัว


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ อาจมีความมุ่งหวังจะประกอบธุรกิจอื่นที่แตกต่างจากธุรกิจครอบครัว หรืออาจจะมีความคิดอยากพิสูจน์ความสามารถของตนเอง มากกว่าการรับหน้าที่ทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ



แนวทางแก้ไข :


การวางแผนสืบทอดกิจการครอบครัว เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและความพยายาม ผู้ก่อตั้งควรเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกในครอบครัว การให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เกิดการรับรู้ในเอกลักษณ์ คุณค่าของธุรกิจ ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร นโยบายในการบริหารงาน ระบบการทำงาน จะส่งผลให้ทายาทรู้สึกภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในธุรกิจครอบครัว หรืออาจมีการจัดเวิร์คช็อปเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวสำหรับสมาชิกในครอบครัวเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้แน่นแฟ้น มีความเข้าใจ และมีเป้าหมายสู่ความสำเร็จร่วมกันมากขึ้น


นอกจากนั้น ในการบ่มเพาะทายาทธุรกิจ ควรมีที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอก เพื่อให้ความคิดเห็นคำแนะนำในการจัดทำหลักสูตรบ่มเพาะทายาทธุรกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


3. กำแพงดิจิทัล


คนเจนเนอรชั่นเก่าที่ใช้ความอดทน เพียรพยายามในการก่อตั้งธุรกิจในหลายปีที่ผ่านมา มักจะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอย่างจำกัด เนื่องจากไม่ได้เกิดมาในยุคที่มีความพร้อมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเท่ากับปัจจุบัน อีกทั้งผู้นำธุรกิจครอบครัว อาจมีวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดติดกับประเพณี ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลง


แนวทางแก้ไข :


สิ่งที่จะทำให้คนรุ่นเก่า ข้ามกำแพงดิจิทัลและปรับเปลี่ยนสู่การบริหารธุรกิจยุคใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูก Disruption คือทำให้เกิดการเปิดใจและยอมรับ เช่น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการมีเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด ปรับวิธีคิด และกระบวนการทำงาน เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมองหาโอกาสการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดยมีช่องทางการขายอื่น ๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ ช่วยต่อยอดให้ธุรกิจก้าวหน้า



ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายของชำบางแห่ง เริ่มเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มสมัยใหม่ โดยให้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และจัดส่งถึงบ้านลูกค้า หรือ ธุรกิจยาแผนไทย ‘อ้วยอันโอสถ’ ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 77 ปี หันมารีแบรนด์ครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนตั้งแต่โลโก้ เน้นตัวอักษร “อ้วยอัน” ให้โดดเด่นขึ้น เพื่อสร้างความจดจำ ‘ชื่อแบรนด์’ ให้กับผู้บริโภค เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ดูดี แม้เป็นของโบราณ แต่อยู่ในรูปลักษณ์ทันสมัย




เปลี่ยนยาแผนโบราณที่ดูเชยให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี



โดยคุณชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด ทายาทรุ่น 3 ที่เข้ามารับไม้ต่อธุรกิจครอบครัว กล่าวว่า


“ผมอยากลบภาพที่คนมักคิดว่า สมุนไพรต้องขม เก่า โบราณ แต่เขาอยากทำให้สมุนไพรใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย อยากให้คนหันกลับคืนสู่ธรรมชาติ ปรับทัศนคติใหม่ว่า กินยาสมุนไพรแล้วไม่เชย”



สิ่งที่คุณชนรรค์ พกติดตัวมาด้วย คือ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหาร โดยคว้าปริญญาตรีและปริญญาโท ด้าน Food Science and Technology ที่ The Ohio State University, Columbus สหรัฐอเมริกา จึงเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคนิคและฝ่ายต่างประเทศ ดูแลด้านการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานโรงงาน คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้า ใช้เทคโนโลยีพัฒนายาสมุนไพร ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนยุคนี้ จับกลุ่มตลาดเฉพาะทางมากขึ้น


คุณชนรรค์ สะท้อนมุมมองได้อย่างน่าสนใจว่า ธุรกิจครอบครัว ถือเป็นความท้าทาย เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม ๆ เป็นสิ่งที่ยาก แต่เขาจะไม่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร แม้จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ก็ยังดูแลกันเปรียบเสมือนครอบครัว ผู้บริหารต้องทำงานกับทุกคนได้ เข้าถึงพนักงานได้ ช่วยลดช่องว่างในการทำงาน การสื่อสารก็จะดีขึ้น งานก็จะดีตามไปด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติม คลิก :

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-1focus-ouayun-osot-a-traditional-medicine-shop-to-a-leading-herbal-medicine-factory


4. ขาดแคลนทักษะเฉพาะทาง


การส่งเสริมการพัฒนาทายาทให้มี Multi Skills นับว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารธุรกิจยุคดิจิทัล โดยเฉพาะทักษะด้าน AI, Big Data เมื่อโลกเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล ทุก ๆ สิ่งรอบตัวจึงมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบแทบจะทุกภาคส่วน โดย AI และ Big Data เป็นเทคโนโลยีหลัก เช่น AI ช่วยให้คนทำธุรกิจสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วน Big Data ช่วยให้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล เพิ่มประสิทธิภาพ และเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ




แนวทางแก้ไข :


รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า โลกธุรกิจในยุค New Normal และ Next Normal มีความเปลี่ยนแปลงผันผวนสูง ดังนั้น ผู้ที่เป็นทายาทธุรกิจ จำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารยุคใหม่เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจครอบครัว


ตัวอย่างเช่น สมรรถนะของผู้นำ (Leadership Competency) การคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication) การเจรจาต่อรอง (Negotiation) การตัดสินใจ (Decision Making) การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management) การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดแบบยืดหยุ่น หรือ Resilience Mindset ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่พร้อมปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ



รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


อ่านบทความเพิ่มเติม คลิก : https://www.bangkokbanksme.com/en/23-9sme2-7-guidelines-pointing-the-way-for-business-heirs-to-continue


5. วัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง


วัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม เป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการบริหารของธุรกิจครอบครัว เช่นการให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส ญาติผู้ใหญ่จะมีอำนาจและบทบาทมากกว่าคนรุ่นใหม่ รวมถึงอำนาจการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ จะอยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว คือผู้ก่อตั้งหรือหัวหน้าครอบครัว


ตัวอย่างของปัญหา เช่น ธุรกิจครอบครัวที่ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ แต่ผู้นำรุ่นเก่าเกิดการต่อต้าน เนื่องจากกลัวว่าจะสูญเสียการทำงานแบบเดิมที่สร้างมา




หรือการที่ผู้ก่อตั้งบริษัทตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่เคยปรึกษาใคร ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกไม่พอใจ


แนวทางแก้ไข:


อาจเริ่มจากสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ให้โอกาสทุกคนได้แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพิ่มการสื่อสารระหว่างกันให้มากขึ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เลือกตัวแทนจากทุกเจเนอเรชัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

นอกจากนี้ควรหาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น นัดรับประทานทานอาหาร เล่นกีฬา ประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างราบรื่น


การบริหารธุรกิจครอบครัวในปี 2024 นั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย แต่ธุรกิจครอบครัวที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง วางแผนการสืบทอดตำแหน่งอย่างรอบคอบ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เรียนรู้ทักษะด้าน AI, Big Data และ เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อฝ่าฟันคลื่นลูกใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลงของการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร้รอยต่อ


อ้างอิง

สมาคมธุรกิจครอบครัวไทย: https://www.facebook.com/afbefamilybusiness/

ศูนย์พัฒนาธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: https://tu.ac.th/

หนังสือ: "The Family Business Handbook" by John L. Ward

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัล (depa): https://www.depa.or.th/


ติดตามซีรีส์ Family Business และความรู้เรื่องการทำธุรกิจครอบครัวให้สำเร็จ ในบทความหน้า



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
310 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5061 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4708 | 30/03/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption