EU ออกกฎ แบนส่งออกสินค้าเสี่ยงเข้าข่ายทำลายป่า (Deforestation-Free Product) ความท้าทายที่ SME ไทยต้องเตรียมรับมือ

ESG
26/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 9283 คน
EU ออกกฎ แบนส่งออกสินค้าเสี่ยงเข้าข่ายทำลายป่า (Deforestation-Free Product) ความท้าทายที่ SME ไทยต้องเตรียมรับมือ
banner
ป่าไม้ถือเป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจึงสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกรวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อพูดถึงการผลิตที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่า แน่นอนว่าสินค้าไม้เป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนนึกถึง ทำให้เป็นสินค้าถูกจับตามอง และควบคุมมาโดยตลอด 

แต่ปัจจุบันการศึกษาต่าง ๆ ได้ชี้ให้เห็นว่านอกจากสินค้าไม้แล้ว ยังมีสินค้าเกษตร ที่มีความเสี่ยงการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อป่า ด้วยแนวคิดนี้ EU จึงเตรียมออกกฎระเบียบ Deforestation-free products 

ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าไม้และเกษตรที่มีความเสี่ยงการทำลายป่า ส่วนจะมีสินค้ากระทบกฎห้ามส่งออกสินค้าทำลายป่ามีอะไรบ้าง และผู้ประกอบธุรกิจส่งออกต้องเตรียมรับมืออย่างไร Bangkok Bank SME รวบรวมข้อมูลมาไว้ในบทความนี้แล้ว



EU Deforestation-free products คืออะไร

EU Deforestation-free products คือ กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป หรือ EU โดยสินค้าที่จะได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและประเมิน (Due diligence) ก่อนจึงจะนำเข้าหรือส่งออกจาก EU ได้ หากพบว่าสินค้าชนิดใดมีที่มาจากการทำลายป่าหรือเป็นเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สินค้าชนิดนั้นจะถือว่าผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ 

ข้อกำหนดเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตาม 3 ประการ

สำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าจาก EU ตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) กำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดครบ 3 ประการ คือ

1) ปลอดจากการทำลายป่า

2) ผลิตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิต

และ 3) ผู้ประกอบการหรือผู้ค้าจะต้องจัดทำ Due diligence ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนวางจำหน่าย หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องรับผิดตามบทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมกันแล้ว โดยกฎหมายใหม่นี้ได้รับการรับรองด้วยคะแนนเสียง 552 ต่อ 44 และงดออกเสียง 43 เสียง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรากฎหมายและประกาศบังคับใช้ ซึ่งผู้ประกอบการเกษตรและผู้ส่งออกรายใหญ่ จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) 18 เดือน ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับ ในวันที่ 30 ธ.ค.2567 

ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็ก และย่อม (MSME) ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังวันที่ 31 ธ.ค.2563 จะมีเวลาเปลี่ยนผ่าน 24 เดือน ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2568 ก่อนที่มาตรการจะมีผลใช้บังคับ 



7 สินค้ากระทบกฎ ‘ห้ามส่งออกสินค้าทำลายป่า’ มีอะไรบ้าง?

สำหรับร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free product) ของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ได้ประชุมร่วมกันกับ 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป

จากการหารือและประชุมในครั้งนี้ ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นแล้วในการจะสั่งห้ามสินค้า 7 กลุ่มเข้า EU เพราะเสี่ยงที่จะมีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า เพราะทั่วโลกเริ่มแบนการใช้ทรัพยากรหรือสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องนี้กระทบถึงไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตร 

โดยสินค้าทั้ง 7 กลุ่มจะมีดังนี้  

1.วัว และผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัว เช่นเครื่องในวัว เนื้อวัว หรือส่วนอื่นใดที่มาจากวัว
2.ผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์
3.ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์ม
4.ถั่วเหลือง
5.กาแฟ
6.โกโก้
7.ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ในอดีตพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นพื้นที่ป่าทั้งนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าหลักเกณฑ์ของ EU หรือไม่ อะไรเป็นตัวชี้วัด ซึ่งต้องบอกว่ากฎหมายใหม่ของ EU ต้องระบุว่าสินค้าผลิตขึ้นเมื่อใด ที่ไหน และต้องแสดงข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่าสินค้าไม่ได้มาจากพืชที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าหลัง ปี 2563



โดยการตรวจสอบ จะใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่มีมากมายหลายดวงทั่วโลก เก็บภาพทุกซอกมุมของโลกไว้ เพื่อนำภาพจากดาวเทียมมาตรวจดูย้อนหลังว่าพื้นที่เพาะปลูกมีการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคระมนตรีแห่งสภาพยุโรปและรัฐสภายุโรปอย่างเต็มรูปแบบและเป็นทางการก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้ ซึ่งได้คาดการณ์ว่าจะเริ่มบังคับใช้จริง ๆ ภายในปี 2567 และมีการวางแผนรองรับเพิ่มเติมว่า หากกฎหมายนี้ได้ถูกบังคับใช้ไปแล้วเป็นเวลา 2 ปี จะต้องมีการทบทวนขอบเขตของสินค้าอีกครั้ง เพื่อนิยามการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ หลังบังคับใช้ในช่วง 18 เดือนแรก คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะมีการจัดกลุ่มประเทศคู่ค้าที่มีความเสี่ยงในการผลิตสินค้าที่อาจเชื่อมโยงกับการทำลายป่า โดยจะประเมินและจัดกลุ่มประเทศคู่ค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ ระดับความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ ซึ่งจะมีผลในการปฏิบัติต่อประเทศผู้นำเข้าในครั้งต่อไป และจะได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากประเทศนั้นมีประวัติการนำเข้าสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มระดับความเสี่ยงสูง



โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกกลุ่ม 7 สินค้าดังกล่าว เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ไป EU มูลค่า 1,732.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก และส่งออกกาแฟ มูลค่า 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก

สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ไป EU ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ โกโก้และผลิตภัณฑ์ และไม้และผลิตภัณฑ์ มีสัดส่วนต่ำกว่า 5% ของการส่งออกไปตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมถึงกาแฟ จำเป็นต้องเตรียมจัดทำข้อมูลสำหรับยื่นแสดงต่อ EUภายใต้ระเบียบดังกล่าว

หากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลอย่างไร

สำหรับบทลงโทษผู้ประกอบการหรือผู้ค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม หน่วยงานที่มีอำนาจอาจกำหนดบทลงโทษหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้านั้นมาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563

โดยบทลงโทษจะเป็นไปตามสัดส่วนของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าของสินค้าที่เกี่ยวข้อง ต้องเสียค่าปรับสูงสุดอย่างน้อย 4% ของมูลค่าการซื้อขายรวมประจำปีในสหภาพยุโรป ยึดสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือยึดรายได้ที่เกิดจากการค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม



อุปสรรคของ SME ในการพิสูจน์สินค้าปลอดการทำลายป่า

แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าที่เชื่อมโยงกับการบริโภคและการผลิตสินค้าเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน

โดย EU คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะปกป้องป่าอย่างน้อย 71,920 เฮกตาร์ต่อปี หรือประมาณ 100,000 สนามฟุตบอล ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละอย่างน้อย 31.9 ล้านเมตริกตัน 

แต่ต้องยอมรับว่าในกระบวนการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due diligence) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สำคัญของกฎหมาย Deforestation-Free Products อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกโดยเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและผู้ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงแม้ปัจจุบันจะมีบริการการรับรองโดยหน่วยงานเอกชน แต่ค่าบริการเหล่านี้ยังมีราคาสูง ผู้ประกอบการ SME ทำให้เข้าถึงได้ยาก จึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ SME ในการพิสูจน์การปลอดจากการทำลายป่า

ดังนั้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสหภาพยุโรป และประเทศหุ้นส่วนควรดูถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบรับรองของชาติที่ผู้ประกอบการทุกขนาดสามารถเข้าถึงได้ ถือเป็นความท้าทายศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศผู้ผลิตในการพิสูจน์สินค้าปลอดจากการทำลายป่า



ผู้ประกอบการไทย ควรเตรียมรับมืออย่างไร

ทั้งนี้ EU กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 กลุ่ม จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น แหล่งที่มา ผู้ผลิต และพิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูก เก็บเกี่ยว เป็นการรับรองว่าการผลิตมีการบุกรุกป่าหรือไม่ รวมถึงการจัดทำเอกสารแสดงสิทธิการใช้ที่ดินว่าไม่ได้บุกรุกป่า 

เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบภาพถ่ายจากดาวเทียมว่าสินค้าที่ผลิตไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Degradation) หรือไม่

เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่า และลดการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าเข้ามาใน EU ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะในยุโรปเท่านั้น ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาก็เริ่มแล้ว และกำลังลามเข้าไปในหลายประเทศด้วยเช่นกัน

สะท้อนให้เห็นว่า กฎระเบียบการค้าของ EU กำลังจะเป็นต้นแบบของกฎการค้าที่หลาย ๆ ประเทศนำมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดส่งออกที่เป็นแหล่งหารายได้สำคัญของไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม

เพื่อยืนยันว่าสินค้ามาจากที่ดินที่ปลอดจากการทำลายป่า และจัดทำกรอบความร่วมมือด้านป่าไม้ (Forest Partnership) รวมถึงกรอบความร่วมมืออื่นๆ กับ EU ในอนาคตต่อไป 



ตัวอย่าง SME ที่มองเห็นโอกาสจากกฎหมาย ‘ปลอดการทำลายป่า’

‘ฮิลล์คอฟฟ์’ โรงงานคั่วกาแฟสีเขียว กับแนวคิด Sustainable Business Model ที่ให้ความสำคัญเรื่องการทำลายป่า รวมถึงการอนุรักษ์ต้นน้ำมาโดยตลอด เมื่อ EU ออกกฎหมายห้ามนำสินค้าตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) 

ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าเกษตร อย่างกาแฟด้วย  ทำให้ ‘กาแฟ’ กำลังถูกกีดกันและถูกมองว่าเป็นพืชที่ทำลายป่า จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไทยที่ทำธุรกิจส่งออกกาแฟ ต้องแสดงหลักฐานการตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ (Due Diligence) ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า



ประเด็นนี้ถึงแม้ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ ไม่ได้ทำธุรกิจส่งออกเป็นหลัก แต่ก็ใส่ใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะมองว่าผู้บริโภคในประเทศเองก็ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสินค้าที่ Deforestation-free ไม่แพ้กัน

เมื่อมีกฎเกณฑ์เรื่องนี้ออกมา ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจที่จะต้องก้าวไปข้างหน้าให้ได้ วันนี้ต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset)  ซึ่ง ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ พยายามบอกให้รู้ว่าคนตัวเล็กก็สามารถทำได้

เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ใช่แค่พูด แต่ทุกธุรกิจต้องทำ ต้องลงทุนกับงานวิจัยมากขึ้น การวางตำแหน่งธุรกิจของ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ จึงเน้นเรื่องธุรกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ Zero Waste 100% นอกจากนี้ยังทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โปรดักส์ มีโรงงานแบบ Deduction




อีกหนึ่งผู้ประกอบการ SME คือ DEESAWAT แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อายุกว่า 50 ปี ถือเป็นต้นแบบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ใช้ ‘ความยั่งยืน’ เป็นโจทย์ในการปรับตัว สร้าง ‘โรงงานสีเขียว’ ที่ตลอดทั้งกระบวนการผลิตคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยใช้ไม้สักที่ปลูกในสวนป่าของตัวเอง เพื่อลดการใช้ไม้จากแหล่งอื่น และได้รับการรับรองฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน หรือ Circular Mark 





ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำในระบบเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดปริมาณขยะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจนสามารถส่งออกได้ทั่วโลก


อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสินค้าเครื่องหนัง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไป EU ไม่น้อย จะต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตลอดกระบวนการผลิตให้สอดรับกับกฎหมายดังกล่าว

เพื่อเตรียมปรับตัวรับมาตรฐานใหม่ในการจัดทำระบบยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า (Traceability) ให้ชัดเจน จากเดิมที่ EU และสหรัฐอเมริกา มีนโยบายการทำ Traceability ในภาคสินค้าเกษตรและอาหารไปแล้วก่อนหน้านี้

คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทย คือ ถ้าเราทำตามกฎกติกาใหม่นี้ไม่ได้ ผู้นำเข้าสินค้าไทยทั้ง 7 ประเภทนี้ รวมไปถึงสินค้าที่เชื่องโยงกัน จะถูกกีดกันไม่ให้เข้าตลาด EU หรือผู้นำเข้าหรือคู่ค้าเราอาจจะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่พร้อมจะทำตามกฎกติกาใหม่นี้แทนเรา

นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยไม่ปรับตัว ตรวจสอบคุณภาพและที่มาของสินค้าที่จะส่งออก ในอนาคตอาจส่งออกสินค้าได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ในทุกมิติ

ดังนั้นเมื่อ EU ส่งสัญญาณแล้ว ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวรับกติกาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสใหม่ของการค้าไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต

อ้างอิง
สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) 
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา(ประเทศไทย)

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2777 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3829 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3482 | 18/03/2024
EU ออกกฎ แบนส่งออกสินค้าเสี่ยงเข้าข่ายทำลายป่า (Deforestation-Free Product) ความท้าทายที่ SME ไทยต้องเตรียมรับมือ