พาไปดูเทรนด์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมอัปเดตอนาคตแบตเตอรี่อีวี ที่ควรจับตามอง

Mega Trends & Business Transformation
22/09/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 20593 คน
พาไปดูเทรนด์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมอัปเดตอนาคตแบตเตอรี่อีวี ที่ควรจับตามอง
banner
หันไปทางไหน เริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้าขวักไขว่ในท้องถนนมากขึ้น ทั้งแบรนด์ที่หลากหลาย รูปโฉมโฉบเฉี่ยว น่าใช้งานไปหมด ผลพวงจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายที่เรียกว่า 30@30 ดูท่าว่าจะออกฤทธิ์ได้ผลดี  

หลังจากประเทศไทยวางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และจะก้าวต่อไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ภายในปี 2608 ตามเทรนด์เดียวกับประชาคมโลก ทำให้ไทยต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ ทาง โดยเฉพาะจากภาคการขนส่ง ด้วยการลดการใช้รถยนต์สันดาปที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV   



ภาครัฐบาล จึงคลอดแผนพัฒนารถยนต์อีวีด้วยนโยบาย 30@30 โดยกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2573 ต้องผลิตรถยนต์อีวี รถยนต์นั่งกระบะ ให้ได้ 725,00 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสรถบรรทุก 34,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตทั้งหมด

ซึ่งล่าสุด มีรายงานข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2566) ยอดจดทะเบียนรถ EV ทั่วประเทศ มีจำนวน  57,670 คันแล้ว โดยจะเห็นว่ายอดจดทะเบียนรายเดือนของผู้ใช้อีวีมากขึ้นเรื่อย ๆ นับจากเดือนมกราคม ที่มีจำนวน 4,543 คัน, เดือนกุมภาพันธ์ 7,335 คัน, เดือนมีนาคม 8,522 คัน, เดือนเมษายน 5,079 คัน เดือนพฤษภาคม 6,971 คัน เดือนมิถุนายน 9,317 คัน, เดือนกรกฎาคม 6,854 คัน และเดือนสิงหาคม 9,049 คัน

สะท้อนถึง พฤติกรรมและความต้องการใช้รถที่เริ่มเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็น EV ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังมีต้นทุนค่าพลังงานที่ต่ำกว่า



ขณะที่ราคาอีวี ก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นตลาด ด้วยการลดหย่อนภาษีรถอีวี สูงสุด 1.5 แสนบาท และการลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2%  ทำให้ตลาดเติบโตถึงกว่า 400% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย : 2566)

ส่งผลให้มี “ผู้เล่น” ทั้งค่ายรถยนต์จีน ยุโรป และอเมริกัน ขนทัพเข้ามาลงทุน พยายามผลักดันรถรุ่นใหม่ลงตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคการผลิต จะเริ่มเห็นภาพชัดในปี 2567 จากช่วงแรกของมาตรการส่งเสริมที่กำหนดให้มีการนำเข้ามาจำหน่ายก่อน แต่หากรัฐบาลใหม่ มีนโยบายส่งเสริมแพ็กเกจการลงทุนอีวี 3.5 ต่อเนื่องจากแพ็กเกจ 3.0 ที่สนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน จะยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ตลาดอีวีเติบโตต่อเนื่องได้อีก  

สำหรับมาตรการอีวี 3.5 เป็นมาตรการสำคัญที่จะรักษาโมเมนตัมให้มีการเติบโตในอุตสาหกรรมอีวี ต่อเนื่องจากมาตรการอีวี 3.0 เดิม ที่อนุญาตให้นำเข้าอีวี เพื่อมาใช้สิทธิประโยชน์ในการรับส่วนราคาจากภาษีสรรพสามิตได้ กำลังจะสิ้นสุดลงในปีนี้ บอร์ดอีวี จึงเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ขยายเวลามาตรการอีวี ในการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (CBU) ในปี 2567-2568 และมีการผลิตชดเชยในปี 2569-2570  เป้าหมายเพื่อประกาศใช้ให้ทันใช้ต่อจากมาตรการเดิม ในวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่ยังต้องมาลุ้นกันว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสินจะพิจารณาแพ็กเกจที่ค้างอยู่นี้ต่อหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดเปลี่ยน “ตลาดอีวี” ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงมาตรการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นตลาดให้คึกคักเท่านั้น แต่ปัจจุบันเทรนด์การพัฒนาอีวียังมีนวัตกรรมล้ำๆ ที่ทำให้อีวี มีสเปก ออกมาให้เลือกหลากหลาย และแข่งขันราคากันอย่างดุเดือด ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค  



โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแบรนด์จีนน้องใหม่จากค่าย GAC หรือ กวางโจวออโตโมบิล เพิ่งเปิดราคารถ EV แบรนด์ใหม่ GAC AION รุ่น Y PLUS เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 (9 กันยายน) ด้วยราคา 1.069-1.299 ล้านบาท  



และล่าสุดค่ายรถหรู “วอลโว่ ประเทศไทย” สัญชาติสวีเดน  เปิดตัว Volvo EX30 พรีเมียม SUV ไฟฟ้า 100% กดราคาขายเริ่มต้นที่ 1.59-1.89 ล้านบาท สร้างแรงกระเพื่อมให้ตลาดรถ EV อย่างมาก เพราะด้วยภาพลักษณ์สินค้าแบรนด์หรูจากยุโรป ให้ความ Luxury เป็นกลุ่มพรีเมียมแมส แถมยังมีราคาจับต้องได้  อีกทั้งวอลโว ประกาศราคาไล่เบียดกับราคารถ EV จากจีนที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ ทั้ง ORA, MG, BYD, Tesla ตลาดนี้จึงสั่นสะเทือนไปตามกัน ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ยังสะเทือนไปถึงกลุ่มรถยนต์ใช้น้ำมัน ทั้ง โตโยต้า, ฮอนด้า, มาสด้า ฯลฯ 



ทั้งนี้ ทางวอลโว่ พยายามกดราคาขายลงมา โดยนำเสนอรุ่นมอเตอร์เดี่ยว Volvo C40 เปิดราคาที่ 2,040,000 บาท และ Volvo XC40 ในราคา 1,999,000 บาท แต่ก็ถือว่ายังเป็นเซกเมนต์ที่ราคาสูงอยู่ เมื่อเทียบกับรถ EVจากค่ายจีนที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกัน แต่ราคาต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด



เมื่อเทรนด์และราคาจูงใจขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจที่ผู้บริโภคจะลังเล  และหากยิ่งสำรวจเทรนด์สินค้าด้านความยั่งยืนในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2023  ซึ่งจัดโดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า อินฟอร์มามาร์เก็ตส์ และกระทรวงพลังงาน เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

จะเห็นว่า ในงานมีนวัตกรรมด้านพลังงาน เทคโนโลยีอีวีล้ำ ๆ ครบวงจร และใหญ่ที่สุดแห่งปี ทำให้ผู้บริโภคคลายกังวลว่า ต่อไป การซื้ออีวีจะหมดปัญหาความกังวลเรื่อง Ecosystem แล้ว เพราะไม่เพียงจำนวนสถานีชาร์จในไทยที่มี 944 สถานี มีหัวชาร์จ 2,285 หัวจ่าย แต่ไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรื่องอุปกรณ์การชาร์จ และชิ้นส่วน ต่าง ๆ แบบครบวงจรด้วย



ยกตัวอย่างเทรนด์สำคัญที่นำมาแสดงในงานนี้อย่าง ตู้ชาร์จ EV รุ่นใหม่ๆ มีหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น ABB SIEMENS และ DELTA ที่ต่างนำตู้ชาร์จที่เป็นเรือธงพร้อมโซลูชันมาจัดแสดง ซึ่งเทคโนโลยีตู้ชาร์จนั้น เติบโตอย่างมาก ทั้งมีความสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีระบบการบริหารจัดการผ่านระบบเครือข่าย   

ขณะที่นวัตกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน “แบตเตอรี่อีวี” ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักที่เปรียบเสมือน “หัวใจ” ของอีวีนั้น ได้มีการพัฒนาต่อยอดไปอย่างมาก จากเดิมวัตถุดิบหลักคือแร่ลิเทียม ซึ่งมีสนนราคาสูงขึ้น หลังจากเทรนด์อีวีมาแรง โดยปี 2564 ราคาลิเทียมสูงขึ้นถึง 240% จากความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น โดยสะท้อนจากตัวเลขโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่มีมากถึง 122 โรงงานในเดือนมีนาคมปีนั้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มทะลุ 200 โรงงานในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2030  (Forbes : 2023)
 


ตามรายงานของ SNE Research ระบุว่า มีผู้ผลิตสัญชาติจีน ถึง 6 รายที่ติด Top10 ของโลกและยึดครองส่วนแบ่งตลาด 60.5% ของตลาดโลกในปี 2565  โดยอันดับ 1 ได้แก่บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน ในช่วง 11 เดือนของปี 2565 บริษัท CATL ติดตั้งเซลล์แบตเตอรี่ไปแล้วถึง 165.7 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 101.8% นั่นจึงทำให้ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 32.8% ในปี 2564 เป็น 37.1% ในปี 2565



ส่วนอันดับ 2 คือ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในเซินเจิ้น โดยปีที่ผ่านมามีปริมาณการติดตั้งเพิ่มขึ้น 168.3% คิดเป็น 60.6 GWh ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 13.6% เพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในปี 2564

ทั้ง CATL และ BYD ต่างก็ต้องจัดหาแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Tesla และ BMW โดยจะเลือกใช้เป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งถือว่าปลอดภัย ประหยัด และประสิทธิภาพสูง ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแบรนด์ระดับโลก

ส่วนบริษัทจีนอีก 4 แห่ง ที่ติด Top 10 ของผู้ผลิตแบตเตอรี่รถอีวี ได้แก่ CALB ติดอันดับ 7 ครองส่วนแบ่งตลาด 4%, Gotion High-tech อันดับ 8 ครองส่วนแบ่งตลาด 2.8%, Sunwoda อันดับ 9 ครองส่วนแบ่งตลาด 1.7% และ Eve Energy อันดับ 10 ครองส่วนแบ่งตลาด 1.3% 
 
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การพัฒนาแบตเตอรี่ ไม่ได้หยุดอยู่ที่ “ลิเทียม” แน่นอน เพราะด้วยราคาที่แพงหูฉี่ ทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ แสวงหานวัตกรรมและวัตถุดิบใหม่ ๆ มาเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มทางรอดให้กับอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “แบตเตอรี่โซลิดสเตต” ที่จะมีโอกาสจะมาเป็นตัวเปลี่ยนเกม  
 
นั่นเพราะว่า แบตเตอรี่โซลิดสเตต คือ แบตเตอรี่ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ในรูปของแข็ง มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีโอกาสติดไฟต่ำ มีเสถียรภาพสูง ความหนาแน่นของพลังงานสูงขึ้น และประสิทธิภาพการกักเก็บพลังงานเหนือกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน 
 
ขณะที่จุดอ่อนของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้อิเล็กทรอไลต์ชนิดของเหลว คือ การรั่วไหล และทนอุณหภูมิสูงได้ไม่ดีมากนัก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ค่ายรถยนต์หลายค่ายในญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า นิสสัน หันมาสนใจแบตเตอรี่โซลิดสเตตที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ในรูปแบบของแข็ง โดยมีแผนจะลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ 1,200 ล้านบาท ในปี 2567  
 


ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของไทย ก็ยังมีการทำการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดโซเดียม-ไอออน หรือ “แบตเกลือ” ขึ้นมาอีกชนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา หากสำเร็จจะมีข้อดีสำหรับประเทศไทยอย่างมาก เพราะไทยมีแหล่งแร่ชนิดนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนถูกกว่าลิเทียมถึง 3-4 เท่า ใช้ระยะเวลาการชาร์จที่รวดเร็ว สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนของไทยได้ อายุการใช้งานยาวนาน  
 
นอกจากนี้ ยังมีแบตเตอรี่นิกเกิล เมทัลไฮไดร์ด ซึ่งใช้ในรถไฮบริด มีคุณสมบัติเรื่องอายุการใช้งานนาน และทนต่อสภาพอากาศได้ดีกว่าลิเทียม และที่สำคัญ นิกเกิลเป็นแร่ที่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซียมีแหล่งผลิต จนเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั่วโลกอีกชนิดหนึ่งอีกด้วย   
 
จะเห็นได้ว่าเทรนด์การพัฒนาอีวี ยังมีโอกาสเติบโตและต่อยอดไปได้อีกมาก “นักลงทุน” ที่สนใจเทคโนโลยีนี้ต้องเกาะติดเทรนด์ แสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ แบบไม่คลาดสายตา เพราะการวิจัยและพัฒนาอีวี เกิดขึ้นแทบทุกนาที

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
3716 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3849 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1009 | 25/03/2024
พาไปดูเทรนด์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมอัปเดตอนาคตแบตเตอรี่อีวี ที่ควรจับตามอง