‘สยามอิมพลีเม้น’ สร้างธุรกิจอุปกรณ์การเกษตรจาก Pain Point พลิกโฉมจอบหมุนให้เหมาะกับการเกษตรไทย

SME in Focus
27/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1599 คน
‘สยามอิมพลีเม้น’ สร้างธุรกิจอุปกรณ์การเกษตรจาก Pain Point พลิกโฉมจอบหมุนให้เหมาะกับการเกษตรไทย
banner
บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจอบหมุน (โรตารี่) และอุปกรณ์การเกษตรสำหรับต่อพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ การันตีคุณภาพสินค้าด้วยรางวัลจากสมาคมเครื่องจักรกลไทย ที่ช่วยให้เกษตรกรลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดต้นทุนและเวลา และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยคุณภาพสินค้าที่เป็นที่ยอมรับสำหรับร้านค้าและเกษตรกรมากมายทั้งในและต่างประเทศ



คุณกรชนินทร์  โอภาสเสถียร กรรมการ บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด เล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า ตนทำธุรกิจนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์การเกษตรมาตั้งแต่ปี 2534 โดยมี คุณพยาน ฉัตรศรีไพบูลย์ กรรมการ บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด เป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงจอบหมุนและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานเกษตรสำหรับเตรียมดินเพาะปลูก การกำจัดวัชพืช และการหว่านปุ๋ยบำรุงดิน ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว,ไร่อ้อย, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา และการเกษตรในภาคอื่น ๆ บริษัทนำเข้าวัสดุชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ของอุปกรณ์มาจากประเทศยุโรปที่มีคุณภาพสูง แล้วนำมาประกอบเพื่อผลิตเป็นอุปกรณ์ในประเทศไทย

ซึ่งขณะนั้น ธนาคารกรุงเทพได้เข้ามาช่วยเหลือให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านการลงทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงจอบหมุนและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานเกษตรสำหรับเตรียมดินเพาะปลูก การกำจัดวัชพืช และการหว่านปุ๋ยบำรุงดิน ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว,ไร่อ้อย, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา และการเกษตรในภาคอื่น ๆ ซึ่งวัสดุชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ของอุปกรณ์ที่บริษัทฯ นำเข้ามาจากประเทศยุโรปที่มีคุณภาพสูง แล้วนำมาประกอบและผลิตในประเทศไทย



ธุรกิจมาจาก Pain Point เกษตรกรทำนาภาคกลาง

คุณกรชนินทร์ สะท้อนปัญหาว่า ในช่วงปี 2539 หน่วยงานกองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดและสัมผัสกับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก จึงมีข้อมูลด้านการเกษตรเยอะพอสมควร โดยพบว่าภาคการเกษตรในเขตภาคกลาง จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และกำแพงเพชร จะทำนาได้มากที่สุด เนื่องจากมีน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถทำนาได้ตลอดปี 

แต่ในเขตนี้จะนิยมซื้อแทรกเตอร์เก่า และจอบหมุนเก่าต่างประเทศมาใช้  ปัญหาที่พบคือจอบหมุนเก่าที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่สามารถทำงานในแปลงนาบ้านเราได้ เนื่องจากสภาพแปลงนาที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นกองเกษตรวิศวกรรม จึงมีแนวคิดออกแบบจอบหมุนให้เหมาะกับแปลงนาในเมืองไทย



แก้ Pain Point จอบหมุนให้เหมาะกับการเกษตรไทย

คุณกรชนินทร์ ขยายความว่า แปลงนาไทยมีความแตกต่างจากแปลงนาในประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้ประกอบการนิยมนำเข้าจอบหมุนเก่าเข้ามาจำหน่าย เราจึงปรึกษากับกองเกษตรวิศวกรรม ซึ่งรู้จักและร่วมงานกันมาอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องดึงคุณพยานมาร่วมงานด้วย เพราะขณะนั้นคุณพยาน นอกจากจะผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือการเกษตรแล้ว ยังรับจ้างปรับปรุงดัดแปลงจอบหมุนเก่าจากต่างประเทศให้เหมาะกับการใช้งานทั่วไปในบ้านเราได้ด้วย 

จึงได้คุณพยานมาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการสร้างจอบหมุนให้เหมาะกับแปลงนาไทย เพราะในยุคนั้นยังไม่มีโรงงานผลิตจอบหมุนในไทย การนำเข้าจอบหมุนใหม่จากต่างประเทศก็มีราคาสูงมาก ทางสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จึงให้แนวคิดว่า ทำอย่างไรให้จอบหมุนมีราคาเหมาะสมที่เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงได้และขายได้จริง ๆ ในตลาดเกษตรไทย



การส่งเสริมจากภาครัฐช่วยสร้างการเติบโตให้กับ SME

คุณกรชนินทร์ ยอมรับว่าตนยังเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ตัวเล็กมาก จึงต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมด้านให้ความรู้ในพัฒนาการทำเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรร่วมถึงด้านการตลาดด้วย

“ต้องบอกว่าโครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะภาครัฐ คือกองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ช่วยสนับสนุนจริง ๆ โดยมองว่าการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจะต้องเกิดขึ้นในเมืองไทย จึงนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาแล้วให้คุณพยาน มาช่วยประกอบเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์และพร้อมใช้งาน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบ โดยใช้แปลงนาจริง ๆ ในการทดลอง ซึ่งเป็นของเครือญาติของคุณพยานที่ทำนาอยู่ในพื้นที่ จึงสามารถทดลองใช้งานในแปลงนาจริง ๆ ได้ โดยทดลองใช้งานอยู่หลายปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้ตัวต้นแบบขึ้นมา จึงเริ่มผลิตออกจำหน่ายจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในขณะนั้น เนื่องจากชิ้นส่วนที่นำเข้ามีราคาสูงและมีการผลิตยังมีจำนวนน้อย ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าการนำเข้าจอบหมุนเก่ามาก”

ทั้งนี้ กองสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จึงเข้ามาช่วยในการเผยแพร่ สร้างความรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรไทยในการใช้เครื่องทุ่นแรงในการทำนา ในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับเกษตรเมืองไทยนัก เพื่อให้เกษตรกรไทยรู้ว่ามีเทคโนโลยีจอบหมุนที่สามารถใช้กับแปลงนาไทยได้ 

“แปลงนาในบ้านเรามีความแตกต่างจากในต่างประเทศ ตรงที่หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะมีฟางข้าวอยู่ในแปลงนาค่อนข้างมาก ทำให้จอบหมุนเก่าที่นำเข้าจากต่างประเทศทำงานไม่ได้ แต่จอบหมุนที่เราพัฒนาขึ้นสามารถแก้ Pain Point ตรงนี้ได้”



คุณกรชนินทร์ บอกด้วยว่า จอบหมุนของเราได้ผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกรชาวนามากขึ้น แต่ในบางพื้นที่ก็มีเกษตรกรไม่น้อยที่ยังกังวลเรื่องการใช้งาน และการบริการหลังการขาย กองเกษตรวิศวกรรม จึงให้การรับรองในเรื่องการใช้งานจอบหมุนของเรา ต้องบอกว่าในช่วงเริ่มต้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรไทยมีความมั่นใจและซื้อเพื่อนำไปใช้งาน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและพยายามจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนกระทั่งบริษัทเติบโตมากขึ้น คุณกรชนินทร์ จึงปรึกษากับคุณพยานว่า เราจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว จึงก่อตั้ง บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด ขึ้นในปี 2548  โดยแบ่งผู้ถือหุ้นเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มครอบครัวของคุณพยาน และครอบครัวคุณกรชนินทร์โดยถือหุ้นในสัดส่วนคนละ 50%



แตกไลน์ Product ให้มีความหลากหลาย เพื่อสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่อง

คุณกรชนินทร์  เผยว่า บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด มีจอบหมุนที่ใช้ในนาข้าวเป็นสินค้าหลักของบริษัท โดยมองว่าข้าว ถือเป็นสินค้าหลักทางการเกษตรของไทยอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายธุรกิจ โดยร่วมมือกับกองเกษตรวิศวกรรม พัฒนาขลุบหมุนใช้ในนาข้าว ต่อมาจึงพัฒนาจอบหมุนและเครื่องมือที่ใช้ในไร่อ้อยอื่น ๆ อาทิ เครื่องกำจัดวัชพืช และเครื่องสับคลุกใบอ้อย ไม่เพียงเท่านั้นยังต่อยอดพัฒนาเครื่องหว่านปุ๋ยคอกอีกด้วย

“ด้วยความที่บริษัทเรามีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มเกษตรกรชาวนาและชาวไร่อ้อย จึงจำเป็นต้องขยายกิจการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพอีกครั้ง เพื่อขยายโรงงานที่ 2 ทำให้เราผลิตสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น โดยมีข้าวและอ้อยเป็นสินค้าหลักของเรา จุดเด่นคือ เครื่องมือของ บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด จะสามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่ของการทำนาและทำไร่อ้อย” 



สร้างความแตกต่างให้เป็นจุดขาย

คุณกรชนินทร์  เผยถึงแนวคิดที่ใช้ในการบริหารธุรกิจว่า เรามุ่งมั่นพัฒนาให้ตัวเองเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีความไฮเทคระดับหนึ่ง โดยใช้ชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต อาทิ หัวเกียร์ และใบจอบหมุน แต่เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก สิ่งเหล่านี้จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ 2 มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ความเชี่ยวชาญในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะทำให้สินค้าของเรามีความแตกต่างจากอู่ หรือโรงกลึงในท้องถิ่นที่มีราคาถูกกว่า



จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คืออะไร

คุณพยาน ฉัตรศรีไพบูลย์ กรรมการ บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาจอบหมุน อธิบายถึงความโดดเด่น 3 ประการของผลิตภัณฑ์ของ สยามอิมพลีเม้น  คือ 1) การนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องมือการเกษตรที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ และ 2) มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร ด้วยการสาธิตการใช้งานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร และมอบองค์ความรู้ให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึง 3) บริการหลังการขายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็น Key Success ที่สำคัญของ ‘สยามอิมพลีเม้น’  คือ ความเข้าใจในรูปแบบการทำเกษตรกรรมไทย ด้วยการทำวิจัยเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงในการทำนาของเกษตรกรไทย นำไปสู่การแก้ Pain Point ได้อย่างตรงจุดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรที่แท้จริง โดยมุ่งเน้นเครื่องมือที่มีคุณภาพสูงมาใช้ในการเกษตรไทย



มุมมองและโอกาสของ SME ในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการ และ SME มาตลอด ทำให้เราขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีแรกที่เริ่มดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด เรามียอดขาย 50 ล้านบาท จนในปี 2564 ยอดขายเติบโตสูงถึง 213 ล้านบาท โดยมีจอบหมุนเป็นผลิตภัณฑ์หลัก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่กรมส่งเสริมการส่งออก โดยกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนในเรื่องของการส่งออก ทำให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยบริษัทฯ เจาะกลุ่มตลาด CLMV เป็นหลัก และในปี 2557 ส่งออกไปยังพม่าเป็นประเทศแรก มียอดส่งออก 5 แสนบาท จนในปี 2561 บริษัทฯ สามารถส่งออกได้ถึง 116 ล้านบาท จากยอดขาย 218 ล้านบาท ถือเป็นปีที่เราสามารถส่งออกได้มากที่สุด

“ด้วยความที่ผู้ประกอบการ SME ถูกจำกัดในเรื่องของเงินทุนและแรงงาน เราจึงต้องพยายามเจาะตลาดในกลุ่ม CLMV ให้ได้ก่อน โดยก้าวต่อไปบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้คือเจาะตลาดแอฟริกา เพราะมองเห็นโอกาสคือการเกษตรบ้านเขา เหมือนกับไทยเราเมื่อ 30 ปีก่อน แต่การพัฒนาตลาดที่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เรามีคนไทยที่ไปขายรถเกี่ยวข้าวในแอฟริกาแล้วบอกกับเราว่า ถ้ายอมไปปักหลักทำธุรกิจที่นั่น รับรองได้เลยว่าประสบความสำเร็จแน่นอน”

คุณกรชนินทร์ ให้ความรู้อีกว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหรือ DITP ได้เชิญนักธุรกิจจากแอฟริกามาร่วมงานที่ประเทศไทยจัดขึ้นทุกปี เราจึงรู้ว่าที่แอฟริกายังมีดีมานด์มากพอ ซึ่งเราได้ไปเห็นมาแล้วว่า เขาใช้แทรกเตอร์ขนาดใหญ่ 100 แรงม้า แบบนั้นจะลงนาข้าวไม่ได้เพราะเหมาะกับการทำนาในยุโรปมากกว่า แต่ถ้าเป็นนาแบบเมืองไทยจะทำไม่ได้ ซึ่งในแอฟริกามีหลายประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนบ้านเรา ดังนั้นแอฟริกาจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับ SME ไทย ที่ทำธุรกิจทางด้านอุปกรณ์การเกษตร เพราะมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ทำนาคล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก จึงสามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์แบบเดียวกันได้



โอกาส SME ไทยในตลาด CLMV หนทางเติบโตธุรกิจอุปกรณ์การเกษตร

คุณกรชนินทร์  เผยมุมมองในตลาด CLMV ว่า ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร โดยเฉพาะประเทศพม่า ฟิลิปปินส์ และอินโด ถือเป็นตลาดที่มีอนาคตสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์การเกษตร ควรศึกษาตลาดประเทศเหล่านี้ เพราะเป็นตลาดที่กำลังเจริญเติบโต และมีการแตกตัวมาก ซึ่งถ้าได้จับคู่กับ Partner ที่ดี จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

คุณกรชนินทร์  ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยไปพบเกษตรกรที่เกาะสุมาตรา และเกษตรกรชาวสวนอ้อยที่ชวาตะวันออก ของประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยบอกว่า บนเกาะสุมาตราและชวาตะวันออก รวมไปถึงฟิลิปปินส์ พบว่ามีเกษตรกรขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทย ถ้าเราสามารถหา Partner หรือคู่ค้าที่ดีได้ จะขยายตลาดไปยังประเทศเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจอุปกรณ์การเกษตรยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยพัฒนาและสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรได้ และยังทำให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จากการรู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้นนั่นเอง

รู้จัก ‘บริษัท สยามอิมพลีเม้น จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/siamimplement2014/
https://www.siamimplement.co.th/?fbclid=IwAR0rwjSOZi8m7c2eAYoLlgG_NAW9vt4uUxJSpSXYMJcMjfxYBOn6I4NWBSI

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
305 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1143 | 01/04/2024
ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
1518 | 25/03/2024
‘สยามอิมพลีเม้น’ สร้างธุรกิจอุปกรณ์การเกษตรจาก Pain Point พลิกโฉมจอบหมุนให้เหมาะกับการเกษตรไทย