เจ้านายเตรียมรับมืออย่างไร? หากเกิดเทรนด์ Quiet Quitting ภาวะเสี่ยง ‘หมดไฟ’ ของคนในองค์กร

SME Startup
17/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2492 คน
เจ้านายเตรียมรับมืออย่างไร? หากเกิดเทรนด์ Quiet Quitting ภาวะเสี่ยง ‘หมดไฟ’ ของคนในองค์กร
banner
‘Quiet Quitting’ หรือ ‘การลาออกแบบเงียบๆ’ วิธีรักษาใจตัวเองของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเผชิญหน้ากับงานที่ไม่แฮปปี้ แต่ยังไม่พร้อมจะลาออก จึงเลือกโฟกัสกับงานแค่ส่วนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบเท่านั้น ไม่ต้องการความก้าวหน้า เพื่อลดความเครียดและความกดดันจากการทำงาน แค่อยากมีชีวิตที่บาลานซ์ในชีวิตมากกว่า



Quiet Quitting คืออะไร?

เทรนด์ ‘Quiet Quitting’ ไม่ได้หมายถึงการลาออกจากงาน แต่หมายถึงการทำงานเฉพาะหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำบรรยายลักษณะงาน โดยไม่ทุ่มเททำงานเป็นพิเศษเพื่อสร้างความประทับใจ

อาจพูดได้ว่า Quiet Quitting มีแนวคิดสำคัญคือ ‘การรักษาใจตนเอง’ และ ‘การทำงานตามเงินเดือนที่ได้’ โดยการทำงานโดยมีเส้นแบ่งระหว่าง ‘งาน’ และ ‘ชีวิต’ อย่างชัดเจน เพื่อลดความเครียด ทำงานไปตามมาตรฐาน อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีข้อบกพร่อง แต่พวกเขาจะไม่ขอทำงานอื่นที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของตัวเอง ไม่ต้องการทำผลงานให้โดดเด่นจนถึงขั้นตอนที่จะต้องเสียสละเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว

เหมือนเป็นการ ‘ลาออกจากการทำงานอย่างทุ่มเท’ โดยที่ไม่ต้องออกจากงานจริง ๆ ที่นำมาสู่คำที่เรียกว่า ‘การลาออกแบบเงียบ ๆ’ นั่นเอง 



ทำไมพนักงานถึงเกิด Quiet Quitting

มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุของ Quite Quitting อาจจะเกิดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบมากมาย รวมไปถึงการ Lay Off หรือลาออกของพนักงาน ทำให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบต้องหยิบยื่นความรับผิดชอบงานอื่นๆ ให้พนักงานที่อาจจะไม่มีทักษะโดยตรงกับหน้าที่ต้องจำยอมทำแบบเสียไม่ได้ เพราะในบางบริษัทอาจไม่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ จึงเตรียมรับมือไม่ทัน โดยสามารถแยกเป็นสาเหตุหลัก ๆ ได้ดังนี้

หลีกเลี่ยงการ Burn Out พนักงานอาจเลือกที่จะลาออกอย่างเงียบๆ เพื่อทำให้ชีวิตกลับมามี Work-Life Balance ป้องกันการหมดไฟจากงานที่ทำอยู่

ไม่เชื่อมั่นในองค์กร พนักงานอาจไม่ค่อยเชื่อมั่นในองค์กร เช่น องค์กรอาจไม่มีพันธกิจชัดเจน ปฏิบัติต่อพนักงานไม่ดี หรือไม่สนใจความก้าวหน้าทางการงานของพนักงาน

ผูกพันกับองค์กรน้อยลง สาเหตุหนึ่งมาจากการ Work from Home ทำให้พนักงานและหัวหน้าสื่อสารกันแบบทางการ เช่น คุยกันตอนประชุมผ่าน Zoom มากกว่าพูดคุยเล่นกันแบบที่เกิดขึ้นในออฟฟิศ ส่งผลให้พนักงานผูกพันกับองค์กรน้อยลง  

กำลังหางานใหม่ พนักงานอาจกำลังหางานใหม่ที่ดีกว่าอยู่ ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องงานหนัก แต่องค์กรจ่ายค่าตอบแทนไม่เหมาะสม หรืออาจไม่มีโอกาสก้าวหน้า  เป็นต้น



กลุ่ม Quiet Quitter คือใคร?

Quiet Quitting ส่วนใหญ่ใน TikTok จะเป็นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม Gen-Z ที่มีแนวโน้มที่จะเป็น Quiet Quitter มากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ โดยมีตัวอย่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ทำงานอย่างหนัก ไม่มีความสุข และสูญเสียสมดุลในชีวิต ขณะที่คน Gen-Z มีข้อมูลเปรียบเทียบสวัสดิการและผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆ มากกว่า 

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า คนกลุ่ม Gen-Z และมิลเลเนียล 77% มีความเป็นไปได้ที่จะสมัครงานในตำแหน่งงานในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ความเป็นมิตร สุขภาพ จิตและ work-life balance มากกว่า 

ดังนั้นกลุ่มคน Gen Z จึงอาจก้าวจาก Quiet Quitter ไปสู่การเป็นพนักงานรู้สึกรักในองค์กรและงานที่ทำจนอยากทุ่มเททำงานเพื่อองค์กร (Engage Worker) ได้หากมีการสื่อสารถึงความต้องการได้อย่างตรงประเด็น



จะรู้ได้ยังไงว่าพนักงานของเรากำลัง Quiet Quitting อยู่หรือไม่ 

จากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ ระบุเป็นดัชนีชี้วัดเอาไว้ 6 อย่าง ที่พนักงานอาจแสดงอาการเหล่านี้เมื่อมีอาการ Quiet Quitting

 1. ปลีกตัวและไม่มีส่วนร่วมในงานต่าง ๆ ต่อเนื่องยาวนาน
 2. ทำงานเพียงแค่ให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น แต่ทำให้ผลงานโดดเด่น
 3. ปลีกตัวออกจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ 
 4. ไม่สนุกกับการสนทนา กิจกรรม หรืองานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
 5. เข้าร่วมประชุม แต่ไม่แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใด ๆ ทั้งสิ้น
 6. เพื่อนร่วมทีมมีงานเพิ่มขึ้นโดยฉับพลันเพราะต้องเคลียร์งานให้เพื่อน



รู้แล้วจะรับมือยังไงเมื่อพนักงานเกิดอาการ Quiet Quitting

เพื่อป้องกันไม่ให้อาการ Quiet Quitting กลายเป็นภัยเงียบในบริษัท หัวหน้างานต้องให้ความสำคัญกับลูกน้องอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งหมั่นสังเกตพฤติกรรมทีมงานอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานว่าแต่ละคนมีปัญหาต่อกันหรือไม่ มีประเด็นไหนที่พวกเขาเคยเสนอแล้วยังไม่ได้รับการตอบสนองหรือแก้ไขหรือไม่ ถ้าพบว่าคนในทีมมีอาการเข้าข่าย Quiet Quitting หัวหน้าสามารถช่วยได้ด้วยวิธีดังนี้ 

-กำหนดงานหลักที่พนักงานต้องทำใหม่ หัวหน้าควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานให้มีความชัดเจน ว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำและหน้าที่เพิ่มเติมอะไรที่ควรทำจริงๆ ควรให้ความสำคัญกับการจูงใจพนักงานให้ทำงานที่สำคัญ และให้พนักงานได้มีพื้นที่ตัวเองนอกเวลางานด้วย

-ไม่สั่งงานวันหยุด คุณอาจจะนึกงานที่ต้องทำได้พอดีเลยสั่งงานคนในทีมไปในวันหยุด การทำแบบนี้อาจทำให้คนทำงานเครียดได้ ทางที่ดีให้รอถึงวันจันทร์ค่อยคุยดีกว่า

-ลดกิจกรรมบริษัทที่พนักงานต้องเข้าร่วม ไม่ว่ากิจกรรมจะสนุกขนาดไหน อย่าลืมว่าพนักงานหลายคนอาจต้องการทำกิจกรรมนั้นแบบเลือกเวลาได้เองกับเพื่อนของเขาเอง เพราะฉะนั้น ควรจำกัดกิจกรรมบริษัทอย่าให้เยอะเกินไป

-ตั้งเป้าหมายการทำงานจากคุณภาพ ไม่ใช่ชั่วโมงทำงาน การ Work from Home อาจทำให้คุณไม่รู้ว่าพนักงานทำงานอยู่เต็มเวลาหรือเปล่า แต่ที่จริงสิ่งนั้นอาจไม่สำคัญ ให้คุณเลือกโฟกัสที่ความสำเร็จและคุณภาพของงานดีกว่า

-ชมทีมงานตัวเองบ้าง การชื่นชมคนในทีมช่วยให้คนทำงานรู้ว่าคุณเห็นคุณค่าในตัวเขาและงานที่เขาทำ ที่สำคัญ การชมคนอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้เลยแบบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย 

-เพิ่มเงินเดือนและโบนัสเมื่อทำงานมีประสิทธิภาพ ให้กำลังใจผ่านคำพูดแล้ว ลองให้กำลังใจเป็นตัวเงินด้วยการขึ้นเงินเดือนและให้โบนัสง่ายขึ้นและบ่อยขึ้น เมื่อพนักงานทำงานอย่างมุ่งมั่นและมีประสิทธิภาพ

-ถ้าไม่ไหวการแยกย้ายคือทางออกที่ดีที่สุด ทางออกสุดท้ายถ้าพนักงานไม่มีความสุขหรือทำงานได้ไม่เวิร์คจริงๆ โดยเฉพาะคนที่มองแต่ด้านลบในการทำงาน อาจถึงเวลาที่จะให้เขา Quit จริง ๆ แล้ว

อย่างไรก็ดี คงจะเป็นไปไม่ได้ที่พนักงานจะใช้แนวทาง Quiet Quitting เป็นข้ออ้างที่จะทำงานเพียงมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งนั่นจะกระทบกับประสิทธิภาพของงานที่จะพัฒนาต่อไป ในขณะที่นายจ้างเองก็ไม่สามารถที่จะกดดันให้พนักงานทำงานจนส่งผลกระทบกับสุขภาพทั้งกายและใจ และกระทบกับชีวิตส่วนตัวมากจนเกินไป 

Quiet Quitting เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในการทำงานยุคนี้ สิ่งสำคัญคือการป้องกันและดูแลอย่างจริงใจเพื่อรักษาคนทำงานที่มีความสามารถองค์กรแบบเต็มใจให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันให้ได้ เพื่อทำให้ทุกคนในองค์กรทำงานอย่างความสุขและมีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันได้


ที่มา
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/quiet-quitting-2022/
https://www.tiktok.com/@_thehrqueen/video/7132620613964811563?fbclid=IwAR3zgbLv_Wxid21cslWYVBCUfa6_IXhlcfkxmqiA-bZwRzcAFCnH6UfhoUo
https://tuxsablog.skilllane.com/biz-current/quiet-quitting/
https://brandinside.asia/quiet-quitting-new-trend-of-employee/
https://today.line.me/th/v2/article/2D2VXv8

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2304 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4505 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2277 | 22/12/2022
เจ้านายเตรียมรับมืออย่างไร? หากเกิดเทรนด์ Quiet Quitting ภาวะเสี่ยง ‘หมดไฟ’ ของคนในองค์กร