ส่องเทคโนโลยี การชาร์จแบตเตอรี่รถ EV สุดล้ำ และ SME ไทย จะสร้างโอกาสจากเทรนด์ EV อย่างไร?

SME Update
25/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3657 คน
ส่องเทคโนโลยี การชาร์จแบตเตอรี่รถ EV สุดล้ำ และ SME ไทย จะสร้างโอกาสจากเทรนด์ EV อย่างไร?
banner
เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามีการผลิตเพื่อป้อนความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานหลักในรถยนต์มีการผลิตและใช้งานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภายในปี ค.ศ. 2040 ทาง Bloomberg Inc. คาดการณ์ไว้ว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นสัดส่วน 55% ของรถยนต์ทั้งหมดบนท้องถนนในทุกเซกเตอร์ ตั้งแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถขนส่งสินค้า ไปจนถึงรถโดยสารประจำทาง ด้วยเหตุผลด้านเทคนิคคือ มอเตอร์ไฟฟ้าถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการบำรุงรักษาที่ง่ายกว่ารถยนต์แบบสันดาป อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ราคาของแบตเตอรี่ที่เป็นต้นทุนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะลดลงอีกมาก ภายในปี ค.ศ. 2030 อาจจะต่ำลงเหลือเพียง 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ -ชั่วโมงเท่านั้น



เทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาไปไกลแค่ไหนแล้ว 

เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวมากขึ้นในอนาคต สิ่งที่เติบโตควบคู่เพื่อรองรับความต้องการ คือ แบตเตอรี่และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว ยกตัวอย่างได้ ดังนี้

- E-Road ถนนแห่งอนาคต คือถนนที่ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จแบตเตอรี่ขณะขับขี่บนท้องถนนไปด้วยได้พร้อม ๆ กัน โดย ‘เกาหลีใต้’ เป็นชาติแรกที่ใช้ e-Road for bus และ ‘สวีเดน’ เป็นประเทศที่ 2 ใช้เทคโนโลยี e-Road สำหรับถนนไฮเวย์ ความน่าสนใจของเทคโนโลยีสวีเดนคือ รางรถไฟกระแสไฟฟ้าที่อยู่กลางถนนนี้จะมีระยะทุก 50 เมตรต่อกัน และกระแสไฟฟ้าจะปล่อยออกมาต่อเมื่อมียานพาหนะวิ่งผ่านถนนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้ค่าบริการได้ง่ายโดยคำนวนอัตโนมัติตามจริง

- แบตเตอรี่กราฟีน จะทำให้รถ EV “ชาร์จเร็วกว่าเดิม 60 เท่า โดยสามารถชาร์จแบตเตอรี่ที่ 80% ได้ภายใน 1 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากกราฟีนเป็นสื่อกระแสไฟฟ้าสูง สนับสนุนการชาร์จไฟที่ 10A – 20A ทำให้ชาร์จได้ไวมาก เก็บกระแสไฟได้มาก จึงสามารถขับได้ไกลกว่า

- EV FlashBattery ที่เกิดจากวัสดุใหม่ของ StoreDot ช่วยให้ชาร์จเต็มได้ในเวลา 5 นาที สามารถขับขี่ได้สูงสุด 300 ไมล์ หรือ 480 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า เราสามารถเดินทางได้ 60 ไมล์ต่อการชาร์จ 1 นาที ขณะที่ในด้านความปลอดภัย EV FlashBattery ยังมีความเสถียรสูงและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แบตเตอรี่ Li-ion แบบเดิม เนื่องจากใช้สารประกอบอินทรีย์และกระบวนการผลิตที่ใช้น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน

- Hevo Power จุดชาร์จรถยนต์ EV แบบไร้สาย เป็นการออกแบบอุปกรณ์ให้กลมกลืนไปกับฝาท่อระบายน้ำ เมื่อรถยนต์ขับมาจอด ให้ตรงจุดชาร์จพลังงาน จากนั้นจะเกิดการเติมพลังงานในแบบเหนี่ยวนำไร้สายขึ้น โดยสามารถชาร์จพลังงานได้ตั้งแต่ 220 โวลต์ ถึง 10 กิโลวัตต์



ไทยอยู่ตรงไหน? มีแผนการรับมือการขยายตัวของรถยนต์ EV อย่างไร?

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเห็นในระยะ 5 ปีนับจากนี้ของไทย หรือในปี 2566 นั้น รถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์รวมต่อปีทั้งประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 240,000 คันต่อปี

ดังนั้น ในปี 2566 น่าจะมีความต้องการแบตเตอรี่อย่างน้อย 430,000 ลูก แบ่งเป็นแบตเตอรี่สำหรับใช้ในสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (OEM) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในประเทศอย่างน้อย 240,000 ลูก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นอะไหล่ (REM) สำหรับขายในประเทศอีกอย่างน้อย 20,000 ลูก

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับตลาดส่งออก ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า OEM สำหรับประกอบในรถยนต์ไฟฟ้าที่ไทยผลิตเพื่อส่งออกแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิด OEM ที่ส่งออกโดยตรงไปยังตลาดต่างประเทศที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ REM สำหรับส่งออกไปยังประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยอีกไม่น้อยกว่า 170,000 ลูก คิดเป็น 40% ของปริมาณการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารวมของไทยในปี 2566 แม้ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่จากทิศทางการให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยค่ายรถหลายค่ายต่างมีแผนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทำให้โอกาสในระยะยาวสำหรับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังเปิดอยู่มาก

ดังนั้น อีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2566 ไทยน่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 430,000 ลูก คิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโลก ส่งผลให้ไทยกลายมาเป็นผู้นำฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนีย รวมถึงเป็นฐานการผลิตใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียได้ในอนาคตมี

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์อีกว่า เมื่อถึงปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีรถพลังงานไฟฟ้ารวมกันกว่า 2.5 ล้านคันบนท้องถนน หมายความว่ารถปลั๊กอิน ไฮบริด และ EV Car จะเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี จะทำให้ประเทศไทยค่อย ๆ ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านในอนาคต เพื่อแทนที่อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

1) การรับรู้และเข้าใจด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

2) ปัญหามลภาวะทางอากาศ PM 2.5 ที่สูงมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด

3) การกำหนดเงื่อนเวลาที่จะยุติการผลิตรถสันดาปของค่ายรถทั่วโลก

4) ราคาของรถ BEV ที่ถูกลงโดยเฉพาะรถจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดตลาดใหม่

5) ราคาของแบตเตอรี่ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แบตเตอรี่มีราคาลดลงถึง 10 เท่าตัว และในอนาคตมีแนวโน้มจะถูกลงอย่างต่อเนื่อง

6) นโยบายการเพิ่มสถานีชาร์จทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง

7) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


 
กฟผ. หนุนธุรกิจชาร์จรถ EV 

ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด (HEV) วิ่งบนท้องถนนประมาณ 181,000 คัน เกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง หรือคิดเป็นเพียง 1.7% ของยอดรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด 10.4 ล้านคัน แม้ตัวเลขสัดส่วนจะยังดูน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะตลาดรถพลังงานไฟฟ้ามีการเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. รัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจในการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้า พัฒนาสาธารณูปโภคด้านระบบไฟฟ้า จึงมองเห็นโอกาสหันมาต่อยอดธุรกิจสถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทย แต่ปัจจุบันเรายังต้องนำเข้าหัวชาร์จเจอร์ ตู้อัดประจุไฟฟ้า จนถึงแพลตฟอร์มบริหารจัดการสถานีชาร์จไฟจากต่างประเทศทั้งหมด จึงมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจนี้ทำกำไรได้ไม่ง่ายนัก

ดังนั้น กฟผ. จึงแก้ Pain Point ด้วยการเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นพันธมิตรกับบริษัททั้งในและต่างประเทศเพื่อทำให้ หัวชาร์จเจอร์, ตู้อัดประจุไฟฟ้า และการวางระบบบริหารจัดการ มีราคาที่ถูกลง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในธุรกิจ พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้อนาคตไทยมีสถานีชาร์จไฟฟ้าครอบคลุมทุกพื้นที่ โดย กฟผ. เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง Ecosystem ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจย่อย ได้แก่



1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT”

สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ถึง 120 kW และสามารถต่อยอดพัฒนาถึง 350 kW พร้อมกับมีแรงดันสูง 920 VDC หลายคนอาจจะงงกับข้อมูลตัวเลขนี้ แต่ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือ หากชาร์จแบบกระแสตรง DC จากแบตเตอรี่หมดเกลี้ยงจนเต็ม 100% จะใช้เวลาแค่ 20 นาที โดยภายในสิ้นปีนี้ จะมีถึง 48 สถานี 

ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้เปิดรับบริษัทเอกชน ที่ต้องการทำธุรกิจสถานีชาร์จเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะมีกลุ่มธุรกิจ โรงพยาบาล, สถานีบริการน้ำมัน, ร้านอาหาร เข้าร่วมเป็นพันธมิตร และยังมองว่า ในอนาคตอันใกล้ ก็จะมีกลุ่มธุรกิจขนส่งจนถึง Food Delivery เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุก, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์ โดย กฟผ. ก็ได้เตรียมโมเดลธุรกิจไว้รองรับ



2. App Elexa 

สิ่งที่จะทำให้ EV Car วิ่งเต็มท้องถนนเมืองไทยได้เร็วขึ้นกว่าเดิม คงไม่ใช่แค่การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ต้องทำให้รู้สึกว่าการใช้รถ EV Car เป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย จึงเป็นที่มาของ Application ที่ชื่อว่า ‘Elexa’ ที่จะทำให้ผู้ใช้ EV Car สะดวกสบาย ตั้งแต่ค้นหาสถานี และจองการชาร์จ หรือแม้แต่จ่ายเงินผ่าน App ก็สามารถทำได้



3. EGAT Wallbox

คือกล่องขนาดเล็กที่ติดตั้งไว้ในบ้านเพื่อชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้แก่ EV Car หรือ หากบริษัทร้านค้าต่าง ๆ ต้องการนำไปติดตั้งเป็นธุรกิจก็สามารถทำได้ โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 53,000-250,000 บาท
ส่วนฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามราคาของเครื่อง โดยทาง กฟผ. ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่าย ติดตั้ง และซ่อมบำรุงเพียงรายเดียวในประเทศไทย



4. ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN

ระบบนี้จะทำการเชื่อมต่อทั้งผู้ใช้ EV Car, สถานีชาร์จไฟ จนถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ารวมกันเพื่อให้ภาพรวมการทำงานในระบบมีประสิทธิภาพ และมีความเสถียรสูง 

เราจะเห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจของ กฟผ. คือการแก้ Pain Point ในเรื่องการชาร์จไฟฟ้ารถ EV Car และผลลัพธ์จากธุรกิจนี้ก็คือ การพัฒนาสาธารณูปโภคด้านระบบไฟฟ้าที่สนับสนุนให้ EV Ecosystem เกิดขึ้น และการสนับสนุนประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) 

ดังนั้น การจะทำให้ถนนเมืองไทย ไร้ควันพิษ ไร้เสียงดังกวนใจ จากเครื่องยนต์ต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ กฟผ. ให้ความสำคัญ แม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ กฟผ. กำลังทำให้คนในประเทศไทยตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ด้วยการสร้าง Ecosystem ในการชาร์จพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ในบ้าน จนถึงทุกแห่งหนบนท้องถนนเมืองไทย



โอกาส SME ไทย กับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า 

ต้องยอมรับว่าประเทศไทย ถูกใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบสันดาปที่สำคัญของโลกมายาวนาน แต่ในสายการผลิตรถยนต์ EV ที่หลายค่ายรถชั้นนำเริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่ แต่ด้วยนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐที่ออกมาอาจสร้างแรงดึงดูดใจนักลงทุนสู้กับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ จำเป็นต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workers in Auto-parts Manufacturing ได้รายงานเปรียบเทียบว่า จากรถยนต์สันดาปที่ต้องใช้ชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้นต่อการประกอบรถ 1 คัน พอเปลี่ยนมาเป็นรถ EV พบว่ารถ 1 คันใช้ชิ้นส่วนในการประกอบเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาป อาทิ เครื่องยนต์ ลูกสูบ หัวเทียน เพลา เกียร์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน ฯลฯ เพราะชิ้นส่วนหรืออะไหล่ทั้งหมดจะถูกแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนผู้ที่ได้รับโอกาสการขายเพิ่มจะเป็นกลุ่มชิ้นส่วนเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สายไฟ, สมองกล, แบตเตอรี่ ฯลฯ

ขณะที่ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ อาทิ สถานีบริการน้ำมัน, สถานบริการ Fast Fit ก็อาจจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเช่นกัน เพราะไม่ช้าตลาดรถ EV จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นใครที่ทำธุรกิจนี้และอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นหน้าด่านที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนก็อาจจะต้องวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า



โอกาสของผู้สนใจอยากลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จ

สำหรับผู้ที่มองเห็นโอกาสและอยากจะลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จ ปัจจุบันก็เริ่มมีบริษัทที่เปิดรับคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด, บริษัท พร้อมชาร์จ จำกัด (EO charging), EA Anywhere, Fimer ฯลฯ

แต่ก่อนที่จะลงทุน อาจจะต้องศึกษาเรื่องเงินลงทุน และระยะเวลาในการคืนทุนให้ละเอียดก่อน เพราะว่าสถานีชาร์จ EV นั้นใช้เวลาต่อคันมากกว่าสถานีน้ำมันมาก ดังนั้นการสร้างสถานีชาร์จเพียงลำพังอาจจะไม่พอ แต่ต้องสร้างร้านค้า หรือร้านอาหารเพื่อเป็นจุดพักรอ และหวังรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ส่วนนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี การเติบโตของรถ EV นี้ ผู้ประกอบการ SME ก็สามารถหยิบมาสร้างเป็นจุดขายได้ อย่างเช่นผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีลานจอดรถ ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวก็สามารถติดตั้งสถานีชาร์จไว้ในบริเวณลานจอดรถได้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่มาทานอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลาในร้านค่อนข้างนาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานและก้าวข้ามอุปสรรคใหญ่ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างการเดินทาง และยังช่วยลดเวลาในการชาร์จ ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้ ใช้เวลาน้อยลงไปมากพอสมควร จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่สร้างความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในอนาคตอันใกล้


อ้างอิง :

กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
https://www.facebook.com/egatevpage/videos/2892158981019017/
https://business.facebook.com/hashtag/egatevbusinesssolutions?source=feed_text&epa=HASHTAG&__tn__=*NK-R

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
https://shorturl.asia/KerLJ
https://www.thansettakij.com/economy/535442
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20191022083111.pdf
https://www.longtunman.com/31241
https://www.securitysystems.in.th/2022/09/graphine-battery-will-provide-ev-faster-charging/
https://shorturl.asia/jPqGg
https://sites.google.com/site/pacharaporn642/prachya-sersthkic-phx-pheiyng-1
https://evbikethailand.com/2020/09/10/gaphene-battery/
https://www.transtimenews.co/7458/
https://www.marketingoops.com/exclusive/trending-exclusive/top-model-ideas-electric-road-around-the-world/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1323 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1692 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1933 | 25/01/2024
ส่องเทคโนโลยี การชาร์จแบตเตอรี่รถ EV สุดล้ำ และ SME ไทย จะสร้างโอกาสจากเทรนด์ EV อย่างไร?