อัพเกรดของฝากบ้านๆ ให้ดูดีขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์

SME in Focus
10/04/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 3802 คน
อัพเกรดของฝากบ้านๆ ให้ดูดีขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์
banner
“ของฝาก” ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการหยิบยกวัตถุดิบหรือผลผลิตในท้องที่ที่มีอยู่จำนวนมาก มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ออกมาวางจำหน่ายตามร้านค้าหรือตลาดภายในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้คืนสู่ชุมชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่นแล้ว ยังตอกย้ำความโดดเด่นของผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ของพื้นที่

แต่หน้าตา ‘ของฝาก’ ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันกลับไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวนัก จากรูปลักษณ์ที่เดิมๆ ไม่มีการปรับเปลี่ยนให้น่าสนใจ จึงถึงเวลาที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมๆ ผ่านการนำความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดในการออกแบบที่ทันสมัย มาปรับโฉมผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันและความน่าสนใจ แต่ยังคงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเลือกซื้อของนักท่องเที่ยวในอนาคต

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme

ตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มาแปลงโฉมหน้าตา ‘ของฝาก’ แบบเดิมๆ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ ดำเนินโครงการพิเศษ ยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้มีภาพลักษณ์โฉมใหม่ที่ตรงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น ผ่านลงพื้นที่สำรวจหน้าตาสินค้าและของฝาก 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC ทั้ง ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - ระยอง” พร้อมปรับรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เช่น ขนมฝอยทอง มะยมเชื่อม ปลาหมึกอบแห้ง และอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การยกระดับของฝากโลคอลแบรนด์ ให้มีความทันสมัย แปลกใหม่ ตลอดจนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและเทียบชั้นกับสินค้าในตลาดโมเดิร์นเทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายบุญฤทธิ์ อรัญกูล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัท Ihapstudio สตูดิโอออกแบบครบวงจร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ผลิตแบรนด์ไทยและต่างประเทศมานานกว่า 10 ปี ระบุว่า คณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการชุมชน โดยมี CEA เป็นผู้ประสานงานตลอดการดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ท้องถิ่น” สู่บรรจุภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายใน “ตลาดโมเดิร์นเทรด” และเหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ภายใต้แนวคิด “Eat.East: EEC Packaging for everyone” ผ่านการทำความเข้าใจร่วมกันในลักษณะของการขาย วิธีการนำเสนอ รวมถึงปัญหาต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อหาจุดยืนในการสร้างเอกลักษณ์ สร้างการจดจำแก่นักท่องเที่ยว สร้างคุณค่าให้กับของฝากแบรนด์โลคอล ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชน

คณะทำงานใช้แนวคิดการออกแบบเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่ยกระดับสินค้าท้องถิ่นด้วย “งานดีไซน์-ความครีเอทีฟ” การผสานไอเดียสร้างสรรค์และลูกเล่นต่างๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย

10 ของฝากที่ได้รับการแปลงโฉมใหม่


1.ปลาทูหอม ของดีจากใจคนชลบุรี บรรจุภัณฑ์ปลาทูหอม จากจังหวัดชลบุรี ได้รับการออกแบบในลักษณะของปลอกสวมขนาดแคบ และยาว เพื่อโชว์ตัวปลาด้านใน โดยที่ตัวปลาบรรจุอยู่ในถาดพลาสติกซีลร้อนขอบทุกด้าน เพื่อคุ้มกันสินค้าและถูกสวมด้วยปลอกกระดาษเเข็ง


2.ปลาหมึกบด ของดีจากใจคนชลบุรี บรรจุภัณฑ์ปลาหมึกบด จากจังหวัดชลบุรี ได้รับการปรับขนาดให้มีไซส์ที่เล็กลง ดูทันสมัยขึ้น โดดเด่น แต่คงปริมาณปลาหมึกบดเท่าเดิม เพื่อความสะดวกต่อการรับประทาน โดยปลาหมึกบดจะถูกบรรจุไว้ในถุงซิปล็อคใส พร้อมติดสติกเกอร์กระดาษ


3.ปลาหมึกอบกรอบ จากทะเลเมืองชล บรรจุภัณฑ์ปลาหมึกอบกรอบ จากจังหวัดชลบุรี ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน โดยลดขนาดปลาหมึกอบกรอบให้มีขนาดพอดีคําง่ายต่อการฉีกรับประทาน พร้อมกันนี้ ยังออกแบบฉลากกระดาษเป็นลายกราฟิกรูปปลาหมึก เพื่อเพิ่มลูกเล่นและสร้างความแปลกใหม่แก่นักท่องเที่ยว


4.ทุเรียนกวนพอดี ของดีเมืองระยอง บรรจุภัณฑ์ทุเรียน จากจังหวัดระยอง ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับรูปทรงของทุเรียนกวนที่มีลักษณะยาว ด้วยฟอร์มสามเหลี่ยมที่มีความทนทาน ง่ายต่อการขนส่ง และมีฟันสามเหลี่ยมปิดหัวและท้าย ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับทุเรียนกวน นอกจากนี้ ยังออกแบบลายกราฟิกลงบนบรรจุภัณฑ์ในแบบต่างๆ ทั้งหนามแหลมของทุเรียนในโทนสีเขียวและเหลือง รวมถึงภาพผีเสื้อสมุทร นางยักษ์จากเรื่องพระอภัยมณี


5.ทุเรียนทอด ของดีจากระยอง บรรจุภัณฑ์ทุเรียนทอด จากจังหวัดระยอง ที่ได้รับการออกแบบฉลากในลวดลายกราฟิกพระอภัยมณี สัญลักษณ์สร้างชื่อของจังหวัดระยอง ซึ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับสินค้าได้อย่างชัดเจน ขณะที่ตัวซองบรรจุจะเป็นซองพลาสติกใสซีลร้อน ซึ่งผู้ขายสามารถนำไปใช้งานได้ง่าย


6.มะยมเชื่อม ของดีจากระยอง บรรจุภัณฑ์มะยมเชื่อม จากจังหวัดระยอง ได้รับการปรับรูปทรงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นทรงกระบวก และมีสัดส่วนความสูงที่พอดีกับไม้มะยมเชื่อม เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทานหรือพกพาไปสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำการลดขนาดของจำนวนไม้ลงเพื่อควบคุมการบริโภคที่พอเหมาะของผู้บริโภค


7.มะม่วงกวน ของดีเมืองระยอง บรรจุภัณฑ์มะม่วงกวน จากจังหวัดระยอง ได้รับการออกแบบในลักษณะบรรจุภัณฑ์ที่มีหูหิ้วในตัว เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน โดยมาพร้อมลวดลายกราฟิกของผงมะม่วง และภาพสุนทรภู่ ผู้แต่งนิทานพระอภัยมณี ขณะที่มะม่วงกวนที่อยู่ด้านใน จะได้รับการหุ้มห่อด้วยกระดาษไข เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อมะม่วงกวน


8.ขนมเปี๊ยะ ของดีจากฉะเชิงเทรา บรรจุภัณฑ์ขนมเปี๊ยะ ของดีจากฉะเชิงเทรา ได้รับการออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งาน โดยภายในบรรจุขนมเปี๊ยะ 2 ชิ้น ในขนาดที่รับประทานแบบพอดี แต่ยังคงรสอร่อยและกระบวนการผลิตแบบโบราณดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น


9.โบราณกาละแม กะทิจัดเต็มจากฉะเชิงเทรา บรรจุภัณฑ์โบราณกาละแม จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการออกแบบกาละแมในขนาดเล็กพิเศษกว่าเดิม เพื่อให้เหมาะแก่การพกพาหรือเปิดทานได้อย่างสะดวกใน 1 ครั้ง โดยมาพร้อมกับกราฟิกหลายลวดลายทั้ง น้ำกะทิจากผลมะพร้าว และวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชน

ของฝาก

10.ฝอยทองกรอบ สูตรต้นตำรับจากแปดริ้ว บรรจุภัณฑ์ฝอยทองกรอบ จากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการออกแบบลวดลายกราฟิกลงบนบรรจุภัณฑ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเสิร์ฟขนมไทยโบราณในสมัยก่อน โดยเลือกจัดวางองค์ประกอบให้เกิดความเรียบง่ายและใช้สีโทนอุ่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่น่ารับประทาน โดยที่บรรจุภัณฑ์จะเป็นเเบบฉลากยาวคาดสวมตัวกล่อง ด้านบนไดคัทสามารถถือได้ ขณะที่ภายในจะเป็นกล่องหลุมพลาสติก เพื่อรักษารูปทรงของฝอยทองกรอบ

ครีเอทีฟฮับแห่งภาคตะวันออก

คุณสมบัติของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ นอกจากการมีพื้นฐานความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่แล้ว ยังจำเป็นต้องรู้รอบเรื่องการสร้างจุดขายให้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างการจดจำและกระตุ้นพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ผ่านพัฒนาลูกเล่นบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมากกว่าสิ่งหุ้มห่อสินค้า เช่นเดียวกับ “ของฝาก” ที่พบเห็นได้จากต่างประเทศ ที่ผู้ผลิตเลือกสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าผ่านการใช้งานดีไซน์เข้าไปสร้างสีสันให้กับบรรจุภัณฑ์หลากรูปแบบ

ยกตัวอย่าง หมู่บ้านแมวหูต่ง (Houtong Cat Village) ประเทศไต้หวัน ที่ของฝากทุกชิ้น รวมถึงบรรยากาศภายในหมู่บ้านตั้งแต่สถานีรถไฟ ร้านค้าและคาเฟ่ ก็ถูกตบแต่งและรังสรรในแบบต่างๆ โดยที่มีแมวเป็นองค์ประกอบ ทั้งขนมเปี๊ยะหน้าน้องแมว โปสการ์ดรูปน้องแมว รวมถึงป้ายบอกทางรูปน้องแมว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์หนึ่งๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์หรือผลงานต่างๆ ย่อมสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้หลายเท่าตัว

ล่าสุดทาง CEA  แหล่งเรียนรู้ด้านครีเอทีฟสู่ภูมิภาค หรือ “miniTCDC CENTER” เพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนรู้และการคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมบวก หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการในอนาคต

สำหรับในภาคตะวันออก มีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น “ครีเอทีฟฮับ”แห่งใหม่ของภาคตะวันออก แหล่งรวมต้นไอเดียสำหรับการคิด พัฒนา ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการสร้างสรรค์ สำหรับนักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านงานออกแบบและไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชน ธุรกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด

สำหรับผู้ประกอบการ SMEsที่สนใจสามารถเข้ารับคำปรึกษาที่ miniTCDC CENTER สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น. ที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ cea.or.th  ลองดูไม่แน่คุณอาจสร้างนวัตกรรมข้าวหลามหนองมน ที่กินยากให้ดูทันสมัย และน่าสนใจขึ้นได้สักที
Bangkok Bank SME ราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก www.bangkokbanksme.com หรือ โทร call center 1333

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยั่งยืนกว่า 47 ปี ด้วยโมเดล Back to Basics 'ผลธัญญะ' กับความไว้ใจที่มีมายาวนาน

ยั่งยืนกว่า 47 ปี ด้วยโมเดล Back to Basics 'ผลธัญญะ' กับความไว้ใจที่มีมายาวนาน

การรักษาเสถียรภาพขององค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน นับเป็นโจทย์ท้าทายที่ไม่ใช่ทุกองค์กรจะทำสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเทรดดิ้ง (Trading)…
pin
3 | 07/07/2025
“ดี.เอ.ที.ที.” ธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่เริ่มจากเล็งเห็นปัญหา  สู่การสร้างแบรนด์ “Take Me Home Tomato” มะเขือเทศสดคุณภาพพรีเมียมของไทย

“ดี.เอ.ที.ที.” ธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่เริ่มจากเล็งเห็นปัญหา สู่การสร้างแบรนด์ “Take Me Home Tomato” มะเขือเทศสดคุณภาพพรีเมียมของไทย

เมื่อพูดถึงธุรกิจการเกษตรในไทย ย่อมเป็นที่รู้กันในหมู่เกษตรกรว่า หากจะอยู่รอด อย่าเริ่มต้นจากการปลูกพืชเศรษฐกิจตามกระแส ที่อาจหมดความต้องการไปตามเวลา…
pin
10 | 27/06/2025
"ณ ริมโขง ริเวอร์วิว" โรงแรมขนาดเล็ก ที่ใหญ่ในใจลูกค้า  เพราะบริการที่จริงใจ จนใคร ๆ ก็อยากบอกต่อ

"ณ ริมโขง ริเวอร์วิว" โรงแรมขนาดเล็ก ที่ใหญ่ในใจลูกค้า เพราะบริการที่จริงใจ จนใคร ๆ ก็อยากบอกต่อ

สำหรับคนทำธุรกิจ ย่อมรู้ดีว่าตัวชี้วัดความสำเร็จอันดับต้น ๆ คือตัวเลขผลประกอบการ แต่ในยุคที่การแข่งขันทางการตลาดเข้มข้นขึ้นทุกวัน หลายคนอาจลืมไปว่าหัวใจหลักของการบริหารไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในงบดุลหรือแผนการตลาดที่วางไว้อย่างดีเท่านั้น…
pin
11 | 20/06/2025
อัพเกรดของฝากบ้านๆ ให้ดูดีขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์