74 ปีในอุตสาหกรรมพลาสติก ‘วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม’ สู่โจทย์ใหญ่ วัดฝีมือทายาทเจน 3

SME in Focus
04/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1727 คน
74 ปีในอุตสาหกรรมพลาสติก ‘วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม’  สู่โจทย์ใหญ่ วัดฝีมือทายาทเจน 3
banner
เปิดเรื่องราวของ บริษัทวัลย์ดีพาณิชย์ อุตสาหกรรม จำกัด แบบอย่างธุรกิจ SME ในอุตสาหกรรมพลาสติก ที่มีประวัติการดำเนินกิจการยาวนานถึง 74 ปี ผ่านการสืบทอดธุรกิจมาแล้วถึง 3 รุ่น กับความท้าทายครั้งใหม่ในยุคที่ ‘พลาสติก’ ถูกมองเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม



คุณพิชญา ชูเอกวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทวัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม จำกัด ในฐานะทายาทธุรกิจ รุ่นที่ 3 เปิดเผยว่า ธุรกิจครอบครัวเรา อยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก ที่คนส่วนใหญ่คนมักพูดถึงพลาสติกในมุมผู้ร้าย แต่ในฐานะผู้ผลิต อยากบอกว่า ถ้าคุณรู้จักพลาสติกจริง ๆ ถือว่าเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มาก พลาสติกที่ใช้อย่างถูกประเภทจะสามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ากระดาษหรือผ้า เนื่องจากพลาสติกสามารถใช้ซ้ำ และมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า และบางกระบวนการก็สร้าง Carbon Footprint น้อยกว่าวัสดุอื่น

“การที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้การผลิตฟิล์มพลาสติกของเรา ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหลักการสำคัญ คือ 3 R (Reduce, Reuse, Recycle) สำหรับ Reuse อาจไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ของเรา จึงพยายามจะ Reduce เช่น ฟิล์มหด (Shrink Film) ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเป็นฟิล์มบาง ๆ ธรรมดาทั่วไปสามารถลดอะไรได้อีก แต่บริษัทเราการทำ R&D และลงทุนกับเครื่องจักรใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการใช้พลาสติกต่อแพ็คได้ 

ยกตัวอย่าง น้ำขวดลิตร  1 แพ็ค ปกติจะใช้ฟิล์มที่มีความหนา 60-70 ไมครอน เราสามารถลดเหลือ 45 ไมครอนได้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เรากำลังร่วมมือกับลูกค้าหลาย ๆ ราย เช่น บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) และบริษัทผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศรายอื่น ๆ ซึ่งการลดความหนาดังกล่าว นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนให้ลูกค้าด้วย นอกจากนั้น ในส่วนของ Recycle ตัว Shrink Film บาง ๆ สามารถนำกลับมาใช้ได้ โดยเรามีนวัตกรรมในการนำพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้กลับมาใช้ผลิต เพื่อส่งกลับไปให้ลูกค้าต่อได้เช่นกัน”

ในฐานะหนึ่งในซัพพลายเชนที่เป็นผู้ผลิตฟิล์ม เราได้มีโอกาสทำงานโครงการสำคัญกับบริษัทลูกค้าชั้นนำของประเทศ และซัพพลายเออร์เม็ดพลาสติกรายใหญ่ ที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่แท้จริง โดยเราผลิตฟิล์มพลาสติกให้ลูกค้าใช้ แล้วทางบริษัทลูกค้าที่นำฟิล์มเราไปใช้จะรวบรวมฟิล์มกลับมาให้บริษัทผู้ผลิตเม็ด เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก Recycle เพื่อส่งกลับมาให้เราผสม และผลิตฟิล์มใหม่กลับไปให้ทางลูกค้าใช้อีกครั้ง 

เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภคในเรื่องราคาด้วย เพราะทุกอย่างมีต้นทุน การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการเลือกใช้วัตถุดิบพิเศษที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม อาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ่งสำคัญคือเมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะแยกขยะอย่างถูกวิธี จะได้เป็น Circular Economy อย่างแท้จริง

คุณพิชญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณพ่อลงทุนเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด เราอยากให้พลาสติกถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนต่อไป 

“คุณพ่อจะพูดเสมอว่า อย่าคิดว่าเราเป็นแค่ SME แต่ให้คิดว่า เป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร ซึ่งคำตอบคือ ‘การทำธุรกิจที่ยั่งยืน’ ทั้งการยืนหยัดเรื่องคุณภาพและแนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เราต้องพร้อมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราไม่ Disrupt ตัวเอง สุดท้ายคนอื่นจะ Disrupt เรา”



ผู้ผลิต Shrink Film เจ้าแรกในประเทศไทย

คุณพิชญา เล่าว่า โรงงานแห่งนี้ ก่อตั้งโดยคุณปู่ ประมาณ 60-70 ปีมาแล้ว ซึ่งคุณพ่อเป็นผู้ร่วมกับคุณปู่ในรูปแบบกงสี แต่ปัจจุบันคุณพ่อดูแลเป็นหลัก จึงได้เปลี่ยนแนวทางการบริหารใหม่ และชักชวนให้ลูกทุกคนมาช่วยกันบริหารงาน 



สำหรับ ไทม์ไลน์การดำเนินธุรกิจของ ‘วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม’ เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1949 จากการจำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ต่อยอดพัฒนามาตั้งโรงงานเล็ก ๆ เมื่อ ค.ศ. 1960 แถวถนนเสือป่า โดยลงทุนสั่งเครื่องจักรเป่าถุงพลาสติก (ฟิล์ม) จากประเทศญี่ปุ่น จนขยับขยายมาสร้างโรงงานใหม่ที่คลองตัน จนถึงปัจจุบัน และยังขยายโรงงานเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง ที่ปราจีนบุรีด้วย



“คุณพ่อจะเล่าให้ฟังเป็นประจำว่า เราเป็นเจ้าแรกที่ทำ Shrink Film ในประเทศไทย และทำพลาสติกปูบ่อเจ้าแรกในประเทศ”

Shrink Film ที่ว่านี้ คือ ฟิล์มหด ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ในการห่อหุ้มสินค้าต่าง ๆ อาทิ ขวดน้ำแบบแพ็ค ขวดแก้ว โซดา แพ็คนม น้ำผลไม้ หรือแพ็คกระป๋องต่าง ๆ ที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันความเสียหาย และจัดเข้าแพ็ค

โดย ‘วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม’ จะแยกกลุ่มการผลิตเป็นฟิล์มอุตสาหกรรม เช่น Shrink Film ขนาดต่าง ๆ ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ฟิล์มแพ็กบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม และฟิล์มการเกษตร

เช่น แผ่นพลาสติกขนาดใหญ่ ที่มีความหนาตั้งแต่ 100 ไมครอนขึ้นไป เพื่อใช้สำหรับทำ Green House คลุมโรงเรือน ปลูกพืช ปูอ่างเก็บน้ำ ปูบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ปูพื้นรองเทคอนกรีต หรือแม้แต่ถุงปลูกต้นไม้ ก็มีผลิตหลายชนิดด้วยเช่นกัน 



ใส่ใจกับการทำ R&D เพื่อพร้อมเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์โลก

บทบาทหลัก ๆ คุณพ่อจะดูเรื่อง Marketing กับ Product Development ตอนนี้ด้านการเกษตร เราพยายามจะทำ R&D มากขึ้น ซึ่งปกติ พลาสติกคลุมโรงเรือนจะใช้เป็น Clear Film ธรรมดา แต่เราเริ่มร่วมมือกับบริษัทใหญ่ ๆ วิจัยและพัฒนา เพื่อทำโรงเรือนที่กระเจิงแสง (Light Diffusion) ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ภายในโรงเรือน ได้รับแสงที่สม่ำเสมอ ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และได้ผลผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีการทำ R&D แยกแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วย

“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่การทำ R&D การใช้พลาสติกในการเกษตรเฉพาะทางยังไม่ค่อยมี ถ้าดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เขามีการพัฒนา Functional Green House และพวกการเลือกช่วงแสง Photo-selective หลากหลายมาก แม้ว่าเราจะศึกษาข้อมูลนี้มาเป็นเวลานาน แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ออกมาไม่มาก เพราะในไทยยังไม่ค่อยมีลูกค้ากลุ่มนี้” 

ความท้าทายในการรับช่วงต่อธุรกิจเป็นเจน 3

คุณพิชญา กล่าวว่า คุณพ่อให้โอกาสลูกได้ออกไปเรียนรู้การทำงานข้างนอก สิบกว่าปี ก่อนจะให้กลับมาทำธุรกิจของที่บ้าน ทำให้เรารู้ระบบการทำงานจริง ๆ ซึ่งทุกที่ มีความท้าทาย แต่เราโชคดีสองเรื่อง คือ เรื่องแรกคุณพ่อเป็นคนเปิดใจรับฟัง และมีแนวคิดแบบคนสมัยใหม่ ทำให้ไม่มีความขัดแย้งกัน เรื่องที่สอง คือทีมงานในบริษัทของเราที่มีทั้งคนรุ่นบุกเบิกมาพร้อมกับคุณพ่อ และคนรุ่นใหม่ล้วนแต่เป็นคนน่ารัก และมีความพร้อมที่จะพัฒนาไปด้วยกัน จึงทำงานร่วมกันได้ไม่ยาก

“ความท้าทายจริง ๆ คือ ความรับผิดชอบในการทำธุรกิจที่บ้านเป็นอีกแบบหนึ่ง ช่วงแรกเป็นความเครียดที่เกือบจะรับไม่ได้ ที่เคยคิดว่าคนเป็นเจ้าของกิจการ ทำงานชิลสบาย...มันไม่ใช่เลย จะมีความเครียดอีกแบบหนึ่ง และต้องจัดการความรู้สึกหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นSME ต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง เราทำงานกับบริษัทข้างนอก มีพนักงานลาออก เราไม่รู้สึกอะไร แต่พอเป็นธุรกิจเราเอง พอมีคนลาออก เฟลไปครึ่งวัน นี่คือสิ่งที่เราต้องปรับตัวเอง ทั้งจิตใจ และการตัดสินใจ ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นให้รอบด้าน”



สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ คือ การทำธุรกิจครอบครัว คนมักคิดว่า ทำกันแบบครอบครัว แต่ความจริงคิดว่าแบบนั้นไม่ได้ เราต้องทำธุรกิจแบบมืออาชีพมากที่สุด แม้จะเป็นรูปแบบครอบครัว แต่ต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกันและมีธรรมนูญครอบครัวเป็นพื้นฐาน 

“คุณพ่อ เป็นผู้บริหาร เราเป็นลูก แต่อยู่ในฐานะพนักงาน ต้องให้เกียรติในบทบาทและหน้าที่ของทุกคน เพราะถ้าไม่เรียนรู้การทำธุรกิจครอบครัว จะเกิดการล้ำเส้นได้ง่าย และเสียความรู้สึกได้ง่ายกว่าการทำธุรกิจรูปแบบอื่น”



ความเปลี่ยนแปลงหลังจากรับหน้าที่ ‘ผู้บริหารเจน  3’ 

คุณพิชญา กล่าวว่า สิ่งที่คิดว่าจะทำอย่างแรก คือต้องมีระบบก่อน ซึ่งเราทำ ISO 9001 ได้สำเร็จใน 4 เดือน หลังจากนั้น ก็ทยอยปรับใช้ระบบ ERP เพื่อเพิ่มการจัดการที่ดีขึ้น

“ต้องชื่นชมคนรุ่นเก่า ว่าเขาเก่งมาก แต่เรายังไม่เก่ง ต้องเอาระบบอัตโนมัติมาช่วย เป็นยุคที่เราไม่ต้องรู้ทุกอย่าง แต่ต้องตรวจสอบได้  ประสบการณ์ที่มีตอนนี้อาจจะไม่เท่าคุณพ่อ แต่เราต้องอ่านรีพอร์ตการทำงานของทุกคนได้ทั้งหมด”

ช่วงแรกเราประชุมร่วมกับ Managers ทุกเดือน เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องทิศทางบริษัท และเรื่อง Leadership  เพราะเราต้องเริ่มจากการปรับหัวหน้าก่อนเพื่อให้หัวหน้า ไปปรับการทำงานลูกน้องต่ออีกที สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือทำให้เขารู้ว่า ในอนาคต โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก

เมื่อก่อนคุณจะทำงานแบบเดิม ๆ ติดต่อกัน 3 ปี อาจยังไม่รู้สึกว่ามีอะไรต้องเปลี่ยน แต่ถ้าตอนนี้คุณยังทำแบบนี้อยู่ ต่อจากนี้ อีก 1 ปี คุณล้าหลังไปแล้ว ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจกับทีมงาน และมีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้เขาอยากจะโตไปกับเรา

ขณะเดียวกัน งานด้านการดูแลเครื่องจักร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิต ดูเหมือนจะเป็นงานยากสำหรับทายาทธุรกิจที่จบด้าน ครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ อย่างคุณพิชญา ซึ่งเธอสะท้อนมุมมองว่า

"เครื่องจักรเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา  ตอนแรก คิดว่าไม่ใช่ปัญหาเพราะมีทีมงาน แต่สุดท้ายถ้าเป็นผู้ประกอบการ SME ไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้ทุกอย่างในบริษัท เริ่มหาข้อมูล เรียนรู้ด้วยตัวเอง กลางคืนนั่งเปิดคลิปดู Physic 101 เพราะเรามีการปรับปรุงเครื่องจักรอยู่ตลอด อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการลงทุนกับเครื่องจักรใหม่ ถ้าเครื่องจักรทำงานดี ชีวิตจะไม่เหนื่อย เพราะฉะนั้น การเข้าไปดูเรื่อง Maintenance และการจัดตารางซ่อมบำรุง จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น  สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง ๆ"



มุมมองการเติบโตในอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

อุตสาหกรรมนี้ ยังมีโอกาสอยู่อีกมาก พลาสติก เป็นสิ่งที่ถูกทดแทนได้ยากเพราะ พลาสติกเป็นวัสดุที่เบาเหมือนกระดาษ แต่คงทนเหมือนเหล็ก ใสเหมือนแก้ว แต่ยืดหยุ่นได้ จึงทำให้พลาสติกเป็นวัสดุที่ทดแทนได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับฟิล์มบรรจุภัณฑ์

ซึ่งปัจจุบันจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Mono-Material ที่สามารถเอาพลาสติกมาแทนวัสดุอื่นในบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อสามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ส่วนด้านเกษตร Functional Green House ยังไปได้อีกไกล เราอยากร่วมมือกับคนที่ทำ Smart Farming ด้วย

เพราะถ้าสามารถพัฒนาด้านเกษตรได้ ญี่ปุ่นก็ชิดซ้ายได้เหมือนกัน ประเทศเราเป็นเกษตรกรรมอยู่แล้ว มีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกหลายอย่าง” คุณพิชญา ทิ้งท้าย 




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
32 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
372 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
379 | 22/04/2024
74 ปีในอุตสาหกรรมพลาสติก ‘วัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม’  สู่โจทย์ใหญ่ วัดฝีมือทายาทเจน 3