เปิดโลกธุรกิจอาหารกับ “ฟอร์แคร์” ผู้นำนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ กับสินค้าทางเลือก “กะทิธัญพืช”

SME in Focus
06/04/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 16521 คน
เปิดโลกธุรกิจอาหารกับ “ฟอร์แคร์” ผู้นำนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ กับสินค้าทางเลือก “กะทิธัญพืช”
banner
มองเป็น เห็นโอกาส Bangkok Bank SME ขอพาทุกท่านมาเปิดโลกธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะในบรรดาประเทศที่มีการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และกลุ่มคนรักสุขภาพ วันนี้ เราได้รับเกียรติจาก คุณภิรมณ ชูประภาวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์แคร์ จํากัด มาร่วมแชร์ประสบการณ์ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่กำลังมองหาโอกาสในอุตสาหกรรมนี้อยู่



“ฟอร์แคร์” นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์ทุก Generation

คุณภิรมณ เผยเจตนารมณ์ในการเริ่มต้นธุรกิจนี้ว่า เธอเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อ 18 20 ปีที่แล้ว  ตั้งชื่อบริษัทว่า ฟอร์แคร์ เพราะตั้งใจทำผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพโดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ตัวแรกเริ่มต้นจากคำถามของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า อยากได้อะไรที่ใช้แทนกะทิ ทำได้ไหม?  ด้วยความรู้และประสบการณ์จากการเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร ที่เรียนมาจึงเชื่อว่าตนเองน่าจะทำได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท ฟอร์แคร์ จำกัด ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “กะทิธัญพืช” ออกมาวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นกะทิที่ทำมาจากน้ำมันรำข้าว นอกจากจะมีรสชาติ ความมัน ความหอมเหมือนกะทิที่ทำจากมะพร้าวแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

“...ถามว่าทำไมถึงใช้ ‘น้ำมันรำข้าว’ เพราะว่า น้ำมันรำข้าวเป็นวัตถุดิบที่มีในเมืองไทย และมีสัดส่วนของกรดไขมันที่เหมาะสม เราจึงนำมาพัฒนา และใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ประกอบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกะทิ และใช้ทำอาหารแทนกะทิมะพร้าวได้ จุดเด่นคือ ไขมันอิ่มตัวต่ำกว่ากะทิมะพร้าวถึง 3 เท่า เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดปริมาณการบริโภคไขมัน และต้องการลดคอเลสเตอรอล คนที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง จะทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงไม่ได้ อย่าง กะทิ หรือไขมันสัตว์ เราก็ทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้มาทดแทนให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค…”



คุณภิรมณ เล่าว่า ในช่วงแรก ผลิตกะทิธัญพืชขายให้เฉพาะโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ทาน “...โรงพยาบาลแรกของเรา คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่สั่งไปทำอาหารให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ คนไข้ก็งงว่า คุณหมอบอกไม่ให้ทานกะทิมะพร้าว อยู่ ๆ โรงพยาบาลก็ทำแกงเขียวหวานมาเสิร์ฟเอง คนไข้ก็สงสัย ก็เลยต้องเชิญนักโภชนาการมาอธิบายให้คนไข้แต่ละห้องฟัง

พอผู้ป่วยได้กลับบ้าน อยากกินกะทิ ก็มาขอซื้อกับโรงพยาบาล โรงพยาบาล ก็แนะนำให้เราทำขายปลีกเป็นขวด ๆ เราก็เลยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อ ให้สามารถนำไปวางขายในห้างได้ ทำให้เรามีสินค้าใหม่ ๆ ออกมาหลังจากนั้น...”

หลังจากกะทิธัญพืชเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ฟอร์แคร์ ก็ทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มซีเรียลดริ้งค์จากธัญพืช เครื่องดื่มน้ำนมข้าวจากข้าวกล้องออร์แกนิกของไทย ที่พัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อผู้ที่แพ้นมวัวโดยเฉพาะ สามารถดื่มทดแทนนมวัวได้ และให้แคลเซียมสูงด้วย และเครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตผสมคาเคา สำหรับผู้ที่ต้องการลดการทานกาแฟ แต่ยังอยากได้เครื่องดื่มร้อน ๆ ไว้ชงดื่ม 

ซึ่งในดาร์กช็อกโกแลต หรือคาเคา จะมีสารช่วยบำรุงสมอง และต้านอนุมูลอิสระด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มขนมออร์แกนิก ข้าวอบกรอบ และล่าสุด เมดิรา โพรไบโอติกพลัส ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่พกพาสะดวก มีจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย และปรับสมดุลลำไส้ให้ระบบการย่อยและการขับถ่าย เป็นเรื่องปกติ และผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพออกมาใหม่เรื่อย ๆ อีกมากมาย



ทำอย่างไร? ให้อาหารเพื่อสุขภาพ กลายมาเป็นทางเลือกที่ครองใจผู้บริโภคมายาวนานกว่า 18 ปี 

คุณภิรมณ ให้คำตอบว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ของ ฟอร์แคร์ โดยตรงเลย ถ้าเราทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่รสชาติไม่ได้เรื่อง หรือไม่อร่อย ลูกค้าก็จะไม่อยากรับประทาน เราต้องพัฒนาให้ทั้งดีต่อสุขภาพและรสชาติอร่อยด้วย อันนี้คือหัวใจสำคัญ

“...เราต้องรู้ก่อนว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ยกตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้มีลูกค้าทานกาแฟมากขึ้น แต่หลายคนก็ไม่อยากทานนมวัว เราก็มีการพัฒนาน้ำนมข้าวให้ตีฟองนมได้ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีด้านการอาหารโดยการเติมโปรตีนเข้าไป ซึ่งโปรตีนจะช่วยให้น้ำนมข้าวเกิดฟองได้ สามารถนำไปใช้ชงคาปูชิโน ทำลาเต้อาร์ตได้...”



อีกทั้ง การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้รสชาติของอาหารต่าง ๆ ดีขึ้น ฟอร์แคร์ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ ที่มาจากการพัฒนาบุคลากรในองค์กร มีการพาทีม R&D (Research & Development) ออกไปรับรู้ความต้องการของตลาด ไปดูงานตามที่ต่าง ๆ ว่าเทรนด์ปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง โดยส่วนใหญ่เราใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเอง และมีการจับมือกับนักวิชาการ นักวิจัย พยายามเอางานวิจัยที่อาจารย์หลาย ๆ ท่านทำไว้ มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

“...เป้าหมายของ ฟอร์แคร์ เราต้องการที่จะใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการอาหาร รวมถึง Know-how ใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคจริงๆ เราเชื่อว่า สินค้าที่ตั้งใจทำมาอย่างดีแล้ว ถ้าเราได้มีโอกาสสื่อสารข้อมูลออกไป ลูกค้าจะเป็นคนตัดสินใจเอง ว่าเหมาะกับตัวเค้า หรือเหมาะกับคนในบ้านเค้าหรือเปล่า...”



วิธีทำการตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในแบบฉบับ ‘ฟอร์แคร์’

คุณภิรมณ อธิบายว่า “วันนี้การสื่อสารทางออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สามารถเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ง่ายขึ้น ผลิตภัณฑ์แต่ละตัว จำเป็นต้องใช้ช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างกันไป เช่น กลุ่มเครื่องดื่มน้ำนมข้าวออร์แกนิก หรือขนมอบกรอบออร์แกนิก เราจะมีเฟซบุ๊กชื่อ ‘แม่รู้ไว ลูกไกลแพ้’ คือทุกวันนี้มีเด็กเกิดใหม่ที่แพ้นู่นแพ้นี่ คนเป็นแม่ อาจจะรู้สึกเสียใจทีหลังว่า ตอนที่ท้องลูกคนแรก หรือ ตอนลูกยังอายุไม่ถึงขวบ ไม่มีความรู้ เพียงพอในการดูแล ทำให้ลูกมีอาการแพ้อาหาร พอเค้ามีลูกคนที่ 2 ก็จะหาข้อมูลเยอะมาก เพื่อไม่ให้ลูกคนที่สองแพ้อาหารอีก เราก็จะเห็นในเฟซบุ๊ก มีกลุ่มแม่ลูกปีวอก ลูกปีระกา ที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ในกลุ่มเหล่านี้ เราก็จะต้องเข้าไปสื่อสารให้ความรู้ หรือแม้กระทั่งพาเขาเหล่านั้นมาจัดกิจกรรมร่วมกันข้างนอก นี่คือการที่เราจะสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้เลย..”



สินค้าของ ฟอร์แคร์ เป็นสินค้าที่พัฒนาขึ้นโดยใช้วิทยาศาสตร์ ใช้ความรู้ใหม่ ๆ เพราะฉะนั้น บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภค เช่น ทำยังไงถึงภูมิคุ้มกันดีขึ้น แรกๆ เราต้องมาอธิบาย ให้ความรู้เรื่องของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ต้องหาวิธีการในการย่อยสิ่งเหล่านี้ให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่หลังจาก covid 19 ก็ทำให้คนเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ว่าภูมิคุ้มกันร่างกายคืออะไร ทำไมจึงสำคัญ ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

“...ที่สำคัญ ต้องคุยกับลูกค้า และพยายามทำความเข้าใจชีวิตหรือ lifestyle ของเค้า เราต้องรู้ก่อนว่า เราทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาให้ใคร คนเหล่านี้ เค้าจับจ่ายใช้สอยที่ไหน เค้าเหล่านั้นจะเห็นสื่อต่าง ๆ ผ่านอะไร เราก็จะเข้าไปหาเค้าให้ได้ เช่น กลุ่มแม่บ้านยังไงก็จะต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ต เราก็ไปตั้งบูธชงชิม ให้คุณแม่บ้านได้มาชิมก่อน ว่ารสชาติเป็นแบบนี้ มีข้อดีอะไรบ้าง เวลาเอาไปทำอาหารจะออกมาหน้าตาแบบนี้ เป็นต้น 



ถ้าเราต้องการเน้นกลุ่มคนทำงาน อาจจะไปตั้งบูธตามอาคารสำนักงาน ใต้ตึกย่านออฟฟิศ ที่ช่วงพักเที่ยง พนักงานจะต้องเดินผ่านเพื่อลงมาทานข้าว เราก็จะได้โอกาสในการสื่อสาร ถ้าเป็นเมดิรา โพรไบโอติกพลัส ซึ่งเป็นโยเกิร์ตแบบเม็ด เราก็จะแจกเป็นซองเล็ก ๆ ให้ชิม พร้อมแนบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้อ่าน นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภค ต้องเข้าเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เราต้องสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก หรือไอจี หรือติ๊กตอก ที่เค้าเข้าเป็นประจำ อันนี้คือการเจาะกลุ่มลูกค้าให้ตรงกลุ่ม”

“...ตอนนี้ ฟอร์แคร์ สร้างการรับรู้ผ่านออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ ประมาณ 80% ในออนไลน์ เพราะมันวัดผลได้ เรารู้ว่าลูกค้าคอมเมนท์อะไร, ลูกค้ากลุ่มนี้ถามเราเรื่องอะไร เราสามารถตอบโต้ได้ตลอดเวลา ตรงกลุ่มเป้าหมายเลย ถ้าเค้าสนใจ เราก็จะส่งลิ้งก์สำหรับสั่งซื้อให้ได้เลย ก็จะเห็นเลยว่ายอดขายมันกลับมา ผลลัพธ์ชัดเจนมาก…”

เมื่อถามว่า ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน ยอดขายของ ฟอร์แคร์ เติบโตขึ้นมากแค่ไหน คุณภิรมณ ตอบว่า 

“เราเติบโตมาตลอดทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 30%-40% ทุกปี



ความท้าทายสำคัญของการเป็นผู้นำนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ

คุณภิรมณ กล่าวว่า “ความท้าทายของฟอร์แคร์ คือ เรามักจะทำสินค้าอะไรที่เป็นสินค้าใหม่ ๆ บางอย่างเป็นสินค้าที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่มีการจัดประเภท เราต้องมาสื่อสารกันใหม่ เช่น ตัวแรกที่เป็นกะทิธัญพืช เราต้องอธิบายว่า มันคืออะไร ทำมาจากอะไร กว่าจะขึ้นทะเบียน อ.ย. ได้ หรือส่วนประกอบใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เรา ก็จำเป็นที่จะต้องสื่อสารออกไปให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วยเหมือนกัน...”



กระแสผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพในไทย กับยุโรป-อเมริกาแตกต่างกันอย่างไร

คุณภิรมณ ระบุว่า “มันไปในทิศทางเดียวกัน แต่ว่าบ้านเราจะช้ากว่า คือ ถ้าเป็นต่างประเทศ ตอนนี้เริ่มมีคนที่ลดการทานเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ลงในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เค้าให้ความสนใจคือ เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนไทยอาจจะช้ากว่าในจุดนี้ 

ถ้าถามคนไทยที่หันมาทานมังสวิรัติ ทานอาหารออร์แกนิกมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะสนใจเรื่องสุขภาพก่อน แต่ยังไม่ได้สนใจว่า กว่าจะได้เนื้อหมูมา 1 กิโลกรัม ต้องใช้พลังงานมากมายแค่ไหน หรือทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศเท่าไหร่ ในเมืองไทยคงจะเป็นแนวโน้มที่กำลังตามมา แต่อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนตัวมองว่าแนวโน้มในเรื่องของอาหาร หรือสินค้าเพื่อสุขภาพยังไปได้อีกไกลแน่นอน


คุณภิรมณ ชูประภาวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์แคร์ จํากัด

ข้อคิดสำคัญที่สุดจากใจผู้บริหาร ฟอร์แคร์

สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มเข้ามาสนใจธุรกิจด้านนี้ คุณภิรมณ แนะนำว่า ต้องเริ่มจากดูว่า กลุ่มผู้บริโภคต้องการอะไร ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงงานที่รับผลิต ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนตั้งโรงงานเอง บางโรงงานรับพัฒนาสูตรให้ด้วย ดังนั้น ขอให้เริ่มจากการเข้าใจผู้บริโภคก่อน มีคอนเซปต์ของสินค้าที่ชัดเจน แล้วค่อยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ให้ตรงความต้องการของลูกค้า
 
คุณภิรมณ ทิ้งท้ายว่า “...จุดที่สำคัญที่สุด คือ คนที่ทำต้องมีความสนใจทางด้านนี้จริง ๆ แล้วก็ต้องมีความรู้ทางด้านนี้พอสมควร เพราะความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เทรนด์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปยังไง ต้องปรับตัวให้ทัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมี Passion ที่จะทำ ต้องสนใจอยากจะทำจริง ๆ 



ถัดมาคือ ต้องมีความตั้งใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ที่ดีออกมา เพื่อความยั่งยืน เพราะว่าสินค้าสุขภาพ ถ้าเราทำออกมาดี ลูกค้าสามารถบริโภคได้เป็นประจำ ทานแล้วเค้ารู้สึกได้ว่ามันดี ทำให้สุขภาพของเค้า หรือคนในครอบครัวเค้าดีขึ้น เค้าก็จะทานอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าทานไปแล้วมันไม่เกิดอะไร หรือทานไปแล้วรู้สึกแย่ลง ก็จะไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพค่ะ

“….เราให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความสุขของลูกค้าก่อน ส่วนเรื่องกำไรจะตามมาภายหลังเอง…”


ติดตามเรื่องราวของ “ฟอร์แคร์” ได้ที่
https://www.facebook.com/4CARE/


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
404 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
388 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
720 | 25/04/2024
เปิดโลกธุรกิจอาหารกับ “ฟอร์แคร์” ผู้นำนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ กับสินค้าทางเลือก “กะทิธัญพืช”