‘พิมพ์ดี’ โรงพิมพ์แบบ OEM ใช้กลยุทธ์แบบใด? ให้รอดจาก Digital Disruption

SME in Focus
10/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1963 คน
‘พิมพ์ดี’ โรงพิมพ์แบบ OEM ใช้กลยุทธ์แบบใด? ให้รอดจาก Digital Disruption
banner
‘ธุรกิจโรงพิมพ์’ ถูกมองว่าเป็นธุรกิจ Sunset Industry จริงหรือ? จากข้อเท็จจริงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพิมพ์ดั้งเดิมต่างทยอยปิดตัวไปไม่น้อย ทั้งจากปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเข้ามาแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงพฤติกรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่ ทำให้บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือลดลง หรือเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ผลที่ตามมาคือถูก Digital Disruption ท้ายที่สุดต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด หรือ Transform ไปสู่ธุรกิจใหม่ แต่บริษัทพิมพ์ดี จำกัด มีจุดแข็งอะไร และใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหน ถึงทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ยังไปต่อได้จนถึงวันนี้  



คุณเอื้อจิต พูนพนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัทพิมพ์ดี จำกัด ทายาทธุรกิจรุ่น 2 ของธุรกิจโรงพิมพ์แบบ Family Business ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี แสดงความเห็นว่า เป็นที่ทราบดีว่าเราอยู่ในธุรกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว บางคนบอกว่าเป็นช่วงขาลงของธุรกิจโรงพิมพ์ ซึ่งในส่วนของบริษัทพิมพ์ดี ภาพรวมของธุรกิจ ยอดสั่งพิมพ์ต่อเล่มลดลงมากพอสมควร จากสมัยก่อนที่การสั่งพิมพ์หนังสือแต่ละครั้งจะพิมพ์เป็นหมื่นเล่ม เริ่มลดลงมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันออเดอร์พิมพ์หนังสือ 5,000 เล่มก็ถือว่าดีมากแล้ว 



ตลาดหนังสือแบบเล่มจะไม่หายไป 

บริษัทพิมพ์ดี จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2532 คุณเอื้อจิต เล่าถึงที่มาว่า ตนเข้ามารับช่วงต่อในธุรกิจโรงพิมพ์ของครอบครัวเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ปัจจุบันโรงพิมพ์ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร รองรับงานพิมพ์กลุ่มหนังสือ นิยาย วรรณกรรม แผ่นพับ ใบปลิว สมุดโน้ต หนังสือเรียน หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Commercial แต่หากพิจารณากลุ่มหนังสือในตลาดที่ลดลงส่วนใหญ่ จะเป็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ข่าวสาร ที่ข้อมูลถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขเวลา กลุ่มนี้จะหายไปเร็ว 



หากเป็นกลุ่มนิยาย พ็อกเก็ตบุ๊ค บางเรื่องพิมพ์มาเป็น 10 ปี ยังคงพิมพ์อยู่ จึงเห็นว่าตลาดหนังสือแบบเล่ม แม้ปริมาณการพิมพ์ต่อครั้งจะลดลง แต่หัวเรื่องกลับเพิ่มขึ้น เกิดตลาดหนังสือใหม่ ๆ มากขึ้น หมายความว่าตลาดหนังสือยังพอไปได้ เพียงแต่ปริมาณต่อเล่มลดลงและมีความหลากหลายมากขึ้น และผู้บริโภคยังเลือกอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ มากกว่าอ่านในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งชัดเจนว่าเทรนด์การอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มจะไม่หายไปแน่นอน แต่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น


คุณจิราวัฒน์ พูนพนิช (ซ้าย) คุณเอื้อจิต พูนพนิช(ขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัทพิมพ์ดี จำกัด

“จากเทรนด์การอ่านของคนยุคนี้ทำให้พิจารณาว่า หนังสือในหมวดนิยาย วรรณกรรม ความรู้และหนังสือเด็ก ยังคงไปต่อได้ บริษัทพิมพ์ดีจึงโฟกัสกลุ่มนี้ แต่ยังมีการขยายตลาดอีกมาก อาทิ เทรนด์นิยายวาย ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ”



โรงพิมพ์ OEM รับงานตามสั่งทุกประเภท

คุณจิราวัฒน์ (สามีคุณเอื้อจิต) สะท้อนภาพว่า ธุรกิจโรงพิมพ์ได้รับผลกระทบจากส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง ในขณะทผู้เล่นในตลาดก็เริ่มหดหายไปด้วยเช่นกัน ส่วนที่อยู่รอดได้ล้วนมีการปรับตัวไปตามสถานการณ์ เช่นเดียวกับบริษัทพิมพ์ดีที่เริ่มปรับตัวโดยเน้นทำตามสั่ง หรือ กลยุทธ์ OEM พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและลงทุนเครื่องพิมพ์ที่ทันสมัย เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย 

การขยายกลุ่มลูกค้าเป็นประเด็นสำคัญ บริษัทพิมพ์ดี ไม่ได้เปิดรับลูกค้าที่เป็นสำนักพิมพ์หรือเอเจนซีเพียงอย่างเดียว แต่ลูกค้าหลายรายก็เป็นโรงพิมพ์เหมือนกัน แต่ด้วยสถานะของธุรกิจโรงพิมพ์ที่เครื่องจักร หรือเครื่องพิมพ์มีราคาค่อนข้างสูง ในบางครั้งการลงทุนอาจไม่สอดคล้องกับรายได้ หรือการคืนทุน ดังนั้น บางครั้ง



โรงพิมพ์อื่นก็ส่งต่องานพิมพ์หนังสือมาให้ เราจึงเป็นโรงพิมพ์แบบ OEM ที่รับงานตามสั่งจากลูกค้าได้ทุกประเภท รวมทั้งมีการ Development ร่วมกับลูกค้า

ขณะเดียวกัน บริษัทพิมพ์ดี ยังเปิดไลน์ใหม่ในการรับทำบรรจุภัณฑ์แบบกล่องอ่อน และกล่องแข็งแบบพรีเมียม หรือกล่องจั่วปัง (Rigid box) เช่น กล่องใส่สมาร์ทโฟน และยังสามารถพิมพ์ลงบนวัสดุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระดาษจนถึงแผ่นพลาสติก

จะเห็นว่าการลงทุนในเครื่องจักรและเครื่องพิมพ์ ทำให้สามารถรองรับงานที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงพิมพ์เป็นธุรกิจที่กำลังซบเซา เทคโนโลยีจึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากนัก และผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องจักรมือสองได้ แต่ประเด็นสำคัญคือต้องมีบุคลากรที่มีทักษะ และเชี่ยวชาญในการทำงานด้วยเครื่องจักรนั้น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากมากและไม่ค่อยมีคนสนใจหรือหาความรู้เหล่านี้กันแล้ว  



คุณเอื้อจิต กล่าวว่า นอกจากกลยุทธ์การรับงานพิมพ์แบบ OEM เรายังหมุนไปตามทิศทางของตลาด กล่าวคือ ตลาดตอนนี้ยอดพิมพ์หนังสือน้อยลง แต่ลูกค้าอยากได้งานด่วน คุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสมหรือคุ้มค่า โรงพิมพ์จึงต้องยกระดับขีดความสามารถให้รองรับงานตามความต้องการของลูกค้า ฝ่ายขายของโรงพิมพ์ต้องมีความรู้ด้านการพิมพ์ทั้งหมดเพื่อแนะนำหรือแก้ปัญหาให้ลูกค้า ตลอดจนบริการหลังการขายที่ลูกค้าพอใจ และสิ่งสำคัญที่พลาดไม่ได้ คือ คุณภาพ

อีกทั้งเรามีความสามารถในการควบคุมต้นทุนสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นซัพพลายเชนต่าง ๆ เนื่องจากโรงพิมพ์ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสินคาสร ซึ่งแต่เดิมนิคมฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และซัพพลายเชนต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจได้เปรียบเรื่องที่ตั้งซึ่งมีร้านซัพพลายด้านการพิมพ์ในพื้นที่ใกล้เคียงมีอยู่มาก ทำให้ต้นทุนไม่ให้สูงจนเกินไป เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า พร้อมทีมงานให้คำปรึกษาเพื่อให้งานออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด 



เน้นความรวดเร็ว ทำงานมีประสิทธิภาพ 

คุณเอื้อจิต กล่าวว่า ปัจจุบันงานพิมพ์ไม่ใช่ล็อตใหญ่ ที่ต้องพิมพ์ครั้งละมาก ๆ เช่นในอดีต ทำให้เราต้องทำงานแบบ Short Run เพื่อรองรับปริมาณงานขนาดเล็ก (Small Lot Size) เราต้องเน้นการจัดการเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริหารคนให้ทำงานได้เร็วขึ้น ผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจพอมีกำไรและยังอยู่รอดได้ สำหรับตลาดแพคเกจจิ้งของบริษัทพิมพ์ดี ไม่ได้เติบโตมาก เนื่องจากงานหลักของเราคือพิมพ์หนังสือ ส่วนกล่องบรรจุภัณฑ์เป็นตลาดใหม่ ที่การแข่งขันค่อนข้างสูง และมีปัจจัยที่พิมพ์ดียังต้องเรียนรู้อีกมา 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การผลิตหรือพิมพ์หนังสือในปัจจุบัน เน้นงานพิมพ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น เราจึงมุ่งตอบโจทย์งานในส่วนที่ธุรกิจมีความสามารถในการจัดการได้ดี ก่อนที่จะไปมุ่งเน้นขยายสัดส่วนตลาดแพคเกจจิ้ง



มุ่งสู่ Set Zero โรงพิมพ์รักษ์โลก  

คุณเอื้อจิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพิมพ์ได้มีทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของในส่วนของผลิตภัณฑ์ เป็นระบบติดตามปริมาณการปล่อยมลภาวะระหว่างสายการผลิต ตั้งแต่ปริมาณการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ จนถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยในแต่ละขั้นตอนของการพิมพ์ เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการเลือกวิธีการผลิตที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด

“ปัจจุบันเรามีแนวคิดพัฒนาระบบคาร์บอนฟุตปริ้นสำหรับโรงพิมพ์เอง รวมถึงการทำมาตรฐาน ISO 14000 หรือ มาตรฐานเพื่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงพิมพ์ต้องตอบสนองความต้องการของตลาด และด้วยกลยุทธ์ของเราคือการเป็น OEM ดังนั้น ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในอนาคตอันใกล้นี้ โดยตั้งเป้าว่าไม่เกินปีหน้า เราจะบรรลุเป้าหมายในการทำคาร์บอนฟุตปริ้นของที่ตั้งไว้ให้ได้” 



คุณจิราวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศทางยุโรปมีมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีในการพิมพ์และหมึกพิมพ์ เช่น การใช้หมึกพิมพ์แบบ Non-Mineral Oil ที่ปลอดภัยกับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม กระดาษจะต้องมีเครื่องหมาย FSC® certificate (Forest Stewardship Council) เพื่อรับรองว่าไม่ใช่กระดาษที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งในประเทศไทยการใช้มาตรฐานยุโรปยังไม่แพร่หลายนัก 

อย่างไรก็ตาม มิติด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนถือเป็นเทรนด์ธุรกิจ และโอกาสของอุตสาหกรรมการพิมพ์ ที่มีหลากหลายปัจจัย ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวตาม แต่ด้วยภาวะการ์ตลาดที่มีมูลค่าลดลง และเทคโนโลยีการพิมพ์บางอย่างยังมีต้นทุนสูง หรือยังไม่สามารถตอบสนองธุรกิจได้ แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เป็น Green Tech จะเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจจะต้องเดินไปในทิศทางนี้ 

ด้านการจัดการพลังงาน ที่ผ่านมาบริษัทพิมพ์ดี มีการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดภายในอุตสาหกรรม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากส่วนกลางและยังให้ความสนใจเรื่องพลังงานทางเลือก ในการเลือกใช้แบตเตอรี่และรถไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย



Passion หนังสือคือความรักและความถนัด  

มีหลายคนถามว่า ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่นที่ดูมีอนาคตกว่าการพิมพ์หนังสือ คุณจิราวัฒน์  ให้มุมมองว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า เรามีทรัพยากรจำกัด จึงไม่สามารถทำทุกอย่างไปพร้อมกันได้ จึงเลือกทำสิ่งที่ถนัดและเติบโตไปพร้อมกันได้ นั่นคือการทำหนังสือ เพราะเราทั้งคู่เป็นคนชอบและรักหนังสือมาก ประกอบกับบุคลากรของเรามีทักษะการทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ตอนนี้จึงยังไม่จำเป็นต้องไปจับธุรกิจใหม่ที่เรายังไม่พร้อม

แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจโรงพิมพ์ ไม่สามารถไปต่อได้จริง ๆ ถึงตอนนั้นเราคงต้องมองหาโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เราชอบและถนัดต่อไป 


ติดตามข้อมูล บริษัทพิมพ์ดี จำกัดได้ที่ 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
114 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
357 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1242 | 01/04/2024
‘พิมพ์ดี’ โรงพิมพ์แบบ OEM ใช้กลยุทธ์แบบใด? ให้รอดจาก Digital Disruption