‘บุญนภาพัฒนาการเกษตร’ เปลี่ยน Mindset เกษตรกรไทย ใช้เทคโนโลยีสารปรับปรุงดิน

SME in Focus
21/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2903 คน
‘บุญนภาพัฒนาการเกษตร’ เปลี่ยน Mindset เกษตรกรไทย ใช้เทคโนโลยีสารปรับปรุงดิน
banner
กว่า 15 ปีที่บริษัท บุญนภาพัฒนาการเกษตร จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีสารปรับปรุงดิน เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และเปิดโครงการตรวจดินให้เกษตรกรฟรี เพื่อให้ทราบถึงสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเอง ว่าเป็นอย่างไร และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายเพื่อบริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึงและครบวงจรที่สุด

คุณนพรัตน์ ศิริบุญนภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญนภาพัฒนาการเกษตร จำกัด บอกเล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า ดำเนินธุรกิจผลิตสารปรับปรุงดินมากว่า 15 ปี โดยบริษัทได้สร้างแบรนด์สินค้า โดยแบ่งเป็น 2 แบรนด์เพื่อแบ่ง Market Segmentation ที่ชัดเจน คือ สารปรับปรุงดิน ‘ตราช้าง’ จำหน่ายให้กับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ส่วนสารปรับปรุงดิน ‘ตราหมี’ จำหน่ายให้กับหน่วยงานราชการและสหกรณ์



ซึ่งสารปรับปรุงดินที่บริษัทใช้ คือ โดโลไมท์ (Dolomite : เป็นปูนชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบของธาตุแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) โดโลไมท์ มีลักษณะทางเคมีเป็นด่าง) เป็นผงแร่ธาตุที่ได้มาจากจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อนำมาใช้ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงคิดทำเป็นธุรกิจโดยส่งให้โรงงานผลิต จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดินของบริษัท โดยใช้สูตรแคลเซียมกับแมกนีเซียม 4:1 และนำสูตรไปพัฒนาร่วมกับโรงงานแผ่นดินทอง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและใช้งานง่ายที่สุดเพื่อขยายไปให้เกษตรกรในพื้นที่ทดลองใช้ 

สารปรับปรุงดินคืออะไร? จำเป็นต่อพืชอย่างไร?

คุณนพรัตน์ อธิบายว่า สารปรับปรุงดิน คือ สารปรับปรุงคุณภาพดินและอาหารที่พืชต้องการ ไม่ใช่ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี ซึ่งแม่ปุ๋ยจะมีธาตุอาหารหลักพืช 3 ชนิด คือ N P K เป็นส่วนประกอบของปริมาณธาตุอาหารจะคงที่เป็นปุ๋ยสังเคราะห์ที่เกิดจากไนโตรเจนและฟอสฟอรัส แต่สารปรับปรุงดินจะเป็นเหมือนอาหารเสริมให้พืชได้ธาตุอาหารที่ครบถ้วน โดยธรรมชาติจะเรียกว่าเป็นธาตุอาหารรอง ซึ่งประกอบด้วย อาหารพืชต่างๆ ทั้งแร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับอาหารพืชจากปุ๋ย ทำให้ต้นแข็งแรง ไม่แคระแกรน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ใช้ดินปลูกพืชมานาน 



ปลูกพืชต้องเข้าใจดิน

คุณนพรัตน์ ให้มุมมองเรื่องนี้ว่า โครงการปรับปรุงดินเพื่อการเกษตรของบริษัท เป็นโครงการที่เข้ามาเพื่อนำนวัตกรรมและกระบวนการในการแก้ปัญหาร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้พื้นที่เพาะปลูกมีคุณภาพของดินที่เหมาะสมในการปลูกพืชได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ขึ้น แต่ทั้งนี้ดินในแต่ละที่มีคุณสมบัติของดินที่แตกต่างกัน เหมือนกันคนที่มีอาการป่วย ที่ป่วยมากป่วยเล็กน้อยการให้ยารักษาจึงแตกต่างกัน ดินก็เช่นเดียวกันตัวยาที่ช่วยนำมาปรับปรุงหรือรักษาฟื้นฟูดิน คือ ‘โดโลไมท์’ ต้องใช้ปริมาณที่แตกต่างกัน บางทีอาจใช้ตามอัตราส่วนที่กำหนดในโครงการ 200 กก. หรือ 4 กระสอบต่อไร่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม

แต่บางที่ต้องใช้ปริมาณของสารปรับปรุงดินที่มากกว่าจึงจะเห็นผล ดังนั้นในโครงการนี้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทลงพื้นที่เพื่อประสานงาน อบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือตรวจดิน เพื่อให้เกษตรกร สามารถใช้เครื่องตรวจดินเป็น อ่านค่าดินออก เพื่อให้เกิดทักษะในการที่จะนำสู่กระบวนการแก้ปัญหาให้ตรงจุดในแปลงเกษตรของตนเองที่มีปัญหาดินเพาะปลูก



ทำไม? ต้องตรวจสุขภาพดิน

คุณนพรัตน์ เปิดมุมมองว่า อันที่จริงแล้วดินบ้านเราที่ปลูกไม้ผล อาจต้องนำเทคโนโลยีการตรวจดินมาใช้ อย่างในต่างประเทศเขาจะต้องตรวจดินก่อนทุกครั้งที่จะเตรียมการเพาะปลูก ซึ่งในไทยยังไม่มีภาคธุรกิจการเกษตรใดในตลาดที่จะส่งเสริมเกษตรกรในการเตรียมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจที่ตนเองปลูกให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในการเพาะปลูกเพื่อลดต้นทุนและได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งบริษัทได้ทำโครงการตรวจดินฟรี ร่วมกับหน่ายงานราชการเช่น เกษตรอำเภอ เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกร ตรวจดินก่อนการเพาะปลูกโดยไม่มีค่าบริการ เพื่อให้ทราบถึงสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเอง ว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องอย่างยั่งยืน 

โดยบริษัทจะมีทีมงานที่มีความรู้และเชี่ยวชาญลงแปลงเกษตรกร ทำการวัดค่าดินด้วยเครื่องมือตรวจวัดดินที่สามารถอ่านค่าการตรวจวัดดินและแปรผลออกมาได้ถูกต้องแม่นยำ เมื่อได้ค่าหลังการตรวจวัดดินเรียบร้อยแล้ว เช่น ค่า pH (ค่าความเป็นกรด - ด่างของดิน) เท่ากับ 4.5 แสดงว่า ดินมีความเป็นกรดจัด ควรต้องมีการปรับสภาพดินแล้วไถกลบ ก่อนการเพาะปลูกซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกร และหน่ายงานราชการเป็นอย่างดี


นพรัตน์ ศิริบุญนภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญนภาพัฒนาการเกษตร จำกัด

แก้ Pain Point เกษตรกรไทย ต้องเปลี่ยน Mindset

คุณนพรัตน์ สะท้อนมุมมองว่า ต่อจากนี้การทำเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าใจจริงๆ เพราะการทำเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดี ไม่ใช่การใส่ปุ๋ยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ การตรวจวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ต้องรู้ด้วยว่าดินที่เราจะปลูกพืชขาดสารอาหารที่จำเป็นอะไรบ้าง และควรเสริมธาตุอาหารอะไรลงไปในดิน ดังนั้นการทำเกษตรดินต้องดีด้วย เพราะสารอาหารที่อยู่ในดินเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตออกมาเท่ากันอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

“ต้องบอกว่า เกษตรบ้านเรามีความโชคดีในความโชคร้าย เนื่องจากดินเรามีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว เอาปุ๋ยมาใส่ก็ได้ผลผลิตดี มาวันหนึ่งผลผลิตเริ่มลดลงได้ไม่เท่าเดิม เกษตรกรก็ใส่ปุ๋ยเพิ่มโดยไม่รู้ว่าธาตุอาหารในดินเริ่มหมดไปทำให้ดินเป็นกรด พืชจึงไม่เจริญเติบโต ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยน Mindset ของเกษตรกรเรื่องการใช้ปุ๋ย ต้องมอบองค์ความรู้ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกร เพราะถ้าเราปลูกพืชแล้วไม่เคยใส่สารปรับปรุงดินเลย ดินจะเป็นกรด ระบบรากจะถูกทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของราก ทำให้พืชไม่โต ออกผลผลิตได้น้อยลง ซึ่งในต่างประเทศดินเขาไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนบ้านเรา ทุกครั้งที่มีการปลูกพืชจึงต้องมีการปรับปรุงดินก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ดินมีความพร้อมต่อการปลูกพืชชนิดนั้น” คุณนพรัตน์ สะท้อนปัญหา



ใช้เทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

คุณนพรัตน์ บอกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรบ้านเรามองว่าการเตรียมดินเพื่อปลูกพืชด้วยการใส่สารปรับสภาพดินเป็นเรื่องยุ่งยากและเป็นการเพิ่มขั้นตอน จึงไม่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย บริษัทจึงมีแนวคิดเปิดโครงการปรับปรุงดินเพื่อการเก็บเกี่ยว โดยนำใช้นวัตกรรมและการบริหารจัดการจากประเทศออสเตรเลีย เข้ามา โดยใช้เทคโนโลยี ‘เครื่องโรยสารปรับปรุงดิน’ ซึ่งเป็นระบบการจัดการแปลงใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก

โดยบริษัทจะทำการปรับปรุงดินหลังการตรวจดิน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ทำให้ได้ผลผลิตสูง โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง โดยการใช้สารปรับปรุงดิน ตราช้างและตราหมี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสารปรับปรุงดิน แหล่งเดียวกันกับกรมพัฒนาที่ดินใช้และนำมาส่งเสริมเกษตรกรในปัจจุบันที่มีคุณภาพสูงในการปรับสภาพดินจึงทำให้มั่นใจและสามารถใช้ได้ผลจริง โดยบริษัทได้ทำการร่วมพัฒนาโครงการปรับปรุงดิน ร่วมกับภาคเอกชนมาเป็นระยะเวลา 5 ปี จำนวนพื้นที่มากกว่า 50,000 ไร่ ในระหว่างดำเนินโครงการ บริษัทได้ให้บริการติดตามและประเมินผลของสารปรับปรุงดิน ตราช้างและตราหมี จนบริษัทเชื่อมั่นยินดีรับประกันคุณภาพสารปรับปรุงดินทั้ง 2 แบรนด์ โดยปัจจุบันมีผู้รับเหมา 194 ราย ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร 

คุณนพรัตน์ พูดถึงเทคโนโลยีดังกล่าวว่า เป็นเทคโนโลยีที่บริษัทนำมาใช้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว คือ เป็นเทคโนโลยีในการปั้นเม็ด แล้วใช้โปรดักส์ที่มีคุณภาพอย่าง ‘โดโลไมท์’ เป็นสารปรับปรุงดิน ที่มีแหล่งของธาตุ ‘แคลเซียม’ และ ‘แมกนีเซียม’ สูง เป็นสารปรับสภาพดินและปรับโครงสร้างดิน ลดความเป็นกรด, รักษาอาหารดินเสียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พืชไม่ดูดปุ๋ย ใส่ปุ๋ยไปมากเท่าไหร่ พืชก็ไม่ดูดกิน อันเนื่องมาจากดินเสียเพราะใช้เคมีกับดินมาเป็นเวลานาน

โดยทั่วไป ‘โดโลไมท์’ ที่ใช้ในการเกษตร เพื่อปรับสภาพดิน หรือให้ธาตุอาหารหลัก และอาหารรองแก่ดิน แก่พืช แรกเริ่มจะมีลักษณะเป็นผงฝุ่น ต่อมาได้มีพัฒนาการ เป็นชนิดอัดเม็ด มีขนาดใกล้เคียงกับเม็ดปุ๋ยเคมี เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานทางด้านเกษตร เช่นใส่ไปกับเครื่องหยอดปุ๋ย หรือเครื่องพ่นปุ๋ยได้ ในขั้นตอนปั้นเม็ดบริษัทได้มีการเพิ่มธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์แก่พืชลงไป เพื่อให้ผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมดีขึ้นด้วย โดยสารปรับปรุงดินของบริษัทจะมีแคลเซียมสูงถึง 40% และมีแมกนีเซียมสูงถึง 10% นี่คือความแตกต่างที่ถือเป็น Key Product ของบริษัท

สร้างระบบการขายยกระดับ Supply Chain

คุณนพรัตน์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ว่า สำหรับช่องทางการตลาด บริษัทมองว่าต้องปรับโมเดลเปลี่ยนโครงสร้างการขาย โดยสร้างระบบการขาย นำเทคโนโลยีระบบไลน์มาสร้างเครือข่าย สั่งสินค้า และระบบบริหารจัดการ Logistics ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายลดต้นทุนได้มาก ไม่ต้องลงทุนสต็อกสินค้า เกษตรกรก็ได้รับผลประโยชน์ด้วย ปัจจุบัน มีตัวแทนจำหน่าย ระดับหมู่บ้านดังนี้..

1. ตัวแทน กองทุนหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 538 ราย
2. นายหน้ารถไถรับจ้าง จำนวน 1,044 ราย
ขณะที่ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายปัจจุบันมี 1,521 ราย ซึ่งเป้าหมายบริษัท คาดว่าต้องมีตัวแทนจำหน่าย 8,000 - 10,000 ราย

ปัจจุบันโดยบริษัทได้จัดมีการสร้างระบบการสั่งซื้อผ่านและการประชาสัมพันธ์ผ่าน Line เพื่อความสะดวกของลูกค้า โดยได้ทำแผนพัฒนาการซื้อขายผ่านระบบ Online,Application,Websit: WWW.ปรับปรุงดิน.com /Line@ id: @me0610211188 และระบบปฏิบัติการครบวงจร สั่งซื้อผ่านมือถือ ระบบการทำงาน ระบบการจัดการตัวแทนจำหน่าย 

สำหรับพื้นที่ๆ เริ่มใช้ เครื่องโรยสารปรับปรุงดิน บริษัทจะใช้ตัวแทนจำหน่าย 30 จังหวัด โดยใช้ จังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางกระจายการให้บริการในรัศมีไม่เกิน 300 กม. เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรที่ฝังรากลึกมานาน ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิต ความสำเร็จของธุรกิจในการกระจายตัวแทนจำหน่ายผลจากการประชาสัมพันธ์โดยเริ่มปีนี้เป็นปีแรก มีลูกค้า 10% จากการประชาสัมพันธ์ผ่านตัวแทนจำหน่าย



บริหารอย่างไร? ให้ได้ใจชาวเกษตรกร

จุดแข็งของบริษัทคือ การใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างตรงจุด สิ่งที่เรามั่นใจในธุรกิจเรา คือการขายวิชาการซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เป็นองค์ความรู้ที่ผ่านการทำวิจัยที่บริษัทมอบให้แก่ชาวเกษตรกร และแก้ปัญหาให้เกษตรกรไปพร้อมๆ กัน จนเห็นผลจริง มีผลผลิตที่ดีขึ้นจริง ในขณะที่มีต้นทุนที่ต่ำ โดยเชื่อมั่นในสินค้าและบริการของบริษัท และมั่นใจว่าบริษัทจะพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับวงการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

“เราพยายามสื่อสารให้เกษตรกรเข้าใจง่าย และพัฒนาให้ใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องลงทุน ปัญหาของเกษตรกรบ้านเราคือขาดโอกาสในการเรียนรู้ เพราะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้องค์ความรู้แบบจริงจัง ซึ่งในแง่ของการลงทุนถ้าเราไม่มีการปรับปรุงดิน มีโอกาสที่ขาดทุนสูง นี่คือหัวใจของการทำเกษตร”

สะท้อนให้เห็นว่า การจะทำธุรกิจการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ต้องเข้าใจพฤติกรรม โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนการใช้งานผลิตภัณฑ์ในใช้งานง่ายขึ้น และนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เข้าถึงสินค้าง่ายขึ้น แล้วใช้สื่อโซเชียลมีเดียสมัยใหม่ในการสื่อสารให้ความรู้ เกิดความเข้าใจในวงกว้างและนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำสุด เป็นการปรับโครงสร้างการเกษตรให้พัฒนามากขึ้น


รู้จัก ‘บริษัท บุญนภาพัฒนาการเกษตร จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero

‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero

เพราะสิ่งปลูกสร้างในยุคปัจจุบันปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกือบ 40% ต่อปี โดยเฉพาะในกระบวนการก่อสร้างและการผลิตวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ก็ยังขาดความหลากหลายและความสวยงาม…
pin
1 | 10/10/2024
ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะ

ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะ

 ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิตและธุรกิจ…
pin
4 | 30/09/2024
เจาะกลยุทธ์ CEO แห่ง “MPJ GROUP” ผงาดสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ผสานความยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เจาะกลยุทธ์ CEO แห่ง “MPJ GROUP” ผงาดสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ผสานความยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ยุคที่โลจิสติกส์และการขนส่ง มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทุกประเภท บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปเจาะลึกวิสัยทัศน์…
pin
5 | 21/09/2024
‘บุญนภาพัฒนาการเกษตร’ เปลี่ยน Mindset เกษตรกรไทย ใช้เทคโนโลยีสารปรับปรุงดิน