กระแส ‘Sustainable Fashion’ ในญี่ปุ่นกำลังมา สร้างโอกาสธุรกิจที่ SME ไทยต้องคว้าไว้

SME Go Inter
29/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5189 คน
กระแส ‘Sustainable Fashion’ ในญี่ปุ่นกำลังมา สร้างโอกาสธุรกิจที่ SME ไทยต้องคว้าไว้
banner
ด้วยความที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมลภาวะอย่างมหาศาลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การผลิตเสื้อผ้านั้นใช้ทรัพยากรอย่างมากมายและมักจบลงด้วยการสร้างขยะเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มที่ตระหนัก และเห็นความจำเป็นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความต้องการที่จะใช้ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นที่มาของเทรนด์ Sustainable Fashion

โดย Sustainable Fashion แปลตรงตัวว่า เสื้อผ้าแฟชั่นที่ยั่งยืน หรืออีกนัยหนึ่งคือ Eco Fashion หรือ แฟชั่น ที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดซึ่งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในสินค้าแฟชั่นให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดย ให้ความสำคัญตลอดช่วงวงจรชีวิตของสินค้าเสื้อผ้า ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ การผลิต การจำหน่าย การใช้สวมใส่ ไปจนถึงการทิ้งทำลาย เพื่อประโยชน์แก่สภาวะแวดล้อมของโลก สังคม และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงแฟชั่นทั้งหมด



ผลกระทบของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าต่อสภาวะแวดล้อมของโลก

ภาระที่อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าก่อให้เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การนำวัตถุดิบมาใช้ การเพาะปลูกซึ่งต้องอาศัยน้ำ ในขณะเดียวกันการใช้ปุ๋ยเคมีก็ทำลายสภาพดิน จากสถิติระบุว่า ในขั้นตอนการผลิตมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณปีละ 90 ล้านตันต่อปี มีการใช้ทรัพยากรน้ำปีละ 8.3 พันล้านตัน และมีเศษผ้าเหลือทิ้งจากการตัดเย็บประมาณปีละ 45,000 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบเป็นจำนวนชิ้นเสื้อผ้าเท่ากับประมาณ 180 ล้านชุด นอกจากนั้น สารเคมีที่ใช้ก็ยังทำให้ทรัพยากรน้ำปนเปื้อนอีกด้วย

ในด้านผู้บริโภค การใช้เสื้อผ้าก็มีส่วนทำร้ายสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน กล่าวคือการซื้อเสื้อผ้ามาใช้เกินความ จำเป็น โดยเฉพาะในยุคของ Fast Fashion ทำให้มีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมหาศาล ในญี่ปุ่นได้มีการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าใหม่โดยเฉลี่ยคนละ 18 ชิ้นต่อปี มีเสื้อผ้าที่ทิ้งหรือปล่อยมือไปคนละประมาณ 12 ชิ้นต่อปี และมีเสื้อผ้าที่เก็บไว้โดยไม่ได้ใช้เลยทั้งปีโดยเฉลี่ยถึงคนละ 25 ชิ้น

สำหรับเสื้อผ้าที่ปล่อยมือไปนั้นปรากฏว่าถูกทิ้งเป็นขยะถึงร้อยละ 68 นำไปจำหน่ายเป็นเสื้อผ้ามือสองร้อยละ 11 ถูกรวบรวมกลับไปโดยร้านค้าหรือ ท้องถิ่นร้อยละ 11 ถูกนำไปรีไซเคิลเพียงร้อยละ 7 และบริจาคหรือมอบให้ผู้อื่นร้อยละ 3



ความเคลื่อนไหวภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น

บริษัท Japan Research Institute ได้วิเคราะห์การไหลของวัสดุ (Material Flow) สินค้าเสื้อผ้าในญี่ปุ่นในปี 2020 พบว่า อุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดเสื้อผ้ามีปริมาณ 81.9 หมื่นตัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 78.7 หมื่นตัน ได้ถูกปล่อยจากผู้ประกอบการและครัวเรือน และในจำนวนนี้ร้อยละ 64.8 หรือ 51.0 หมื่นตันถูกทำลายทิ้ง ในขณะที่เพียงร้อยละ 15.6 หรือ 12.3 หมื่นตันถูกนำไปรีไซเคิลและร้อยละ 19.6 หรือ 15.4 หมื่นตันถูกนำไปใช้ซ้ำ (Reuse) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นอยู่ในสถานภาพซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นกำลังสร้างภาระหนักให้กับสิ่งแวดล้อม

ในด้านของผู้บริโภค ความสนใจและตระหนักเกี่ยวกับ Sustainable Fashion อาจจะยังมีไม่มากนัก และส่วนใหญ่แทบจะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ จากผลสำรวจในปี 2020 พบว่า ร้อยละ 51 ของผู้บริโภคในญี่ปุ่นมี ความสนใจแต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลยในชีวิตประจำวัน และมีเพียงร้อยละ 3 ที่สนใจและได้เริ่มดำเนินการแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป ส่วนร้อยละ 1 ดำเนินการแล้วไม่ถึง 6 เดือน และมีร้อยละ 4 ที่สนใจ และคิดว่าจะดำเนินการภายใน 1 เดือนจากนี้ ส่วนอีกถึงร้อยละ 41 รู้เกี่ยวกับ Sustainable Fashion แต่ไม่สนใจ

ขณะที่ภาครัฐของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2021 ได้มีการกำหนดนโยบายและการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนประกอบด้วย 3 กระทรวงคือ กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม และทบวงผู้บริโภค ทำหน้าที่ประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะศึกษา ‘Study Group on Future of Fashion’ ซึ่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัทผู้ผลิต ดีไซน์เนอร์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการดำเนินการไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม เสื้อผ้าแฟชั่นซึ่งสามารถสร้างมูลค่าที่มีความยั่งยืน



กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ข้อผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงเรื่อง Sustainable Fashion โดยให้ข้อมูลความรู้ด้วยการใช้อินโฟกราฟิกและคำอธิบายที่เข้าใจง่าย และมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งในฝ่ายผู้บริโภคและผู้ผลิต ดังนี้..

1. ถนอมเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ให้ใช้ได้ยาวนาน 
โดยผู้บริโภคควรใช้เสื้อผ้าให้นาน หรือนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาดัดแปลง ปรับเปลี่ยนเป็นแบบอื่นเพื่อใส่ใหม่ ในขณะที่ผู้ผลิตควรผลิตเสื้อผ้าที่มีการอายุการใช้งานได้นานและควรมีแผนก บริการรับแก้ไขซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ผลิตจำหน่ายของบริษัทตน

2. ใช้เสื้อผ้าซ้ำ หรือ Reuse 
ในด้านผู้บริโภคควรมีระบบบริการแลกเปลี่ยนการใช้ (Sharing Services) หรือระบบให้ยืม (Rental Services) รวมทั้งใช้เสื้อผ้ามือสอง ส่วนผู้ผลิตควรสนับสนุนให้เกิดการนำเสื้อผ้ามาใช้ซ้ำ เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง หรือเปิดบริการระบบ Subscription ซึ่งเป็นระบบที่ผู้บริโภคจ่าย ค่าบริการในอัตราที่กำหนดและสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ต้องการไปใส่ได้เรื่อยๆ

3. คิดแบบยาวๆ เมื่อซื้อเสื้อผ้า
โดยผู้บริโภคควรเลิกพฤติกรรมซื้อแบบไม่ได้คิด ควรไตร่ตรองก่อนซื้อว่าจำเป็นหรือไม่ และเลือกซื้อเสื้อผ้าคุณภาพดีที่สามารถใช้ไปได้นาน ส่วนผู้ผลิตควรทบทวนการผลิตให้มีปริมาณสต็อกที่เหมาะสม รวมทั้งวางแผนจำหน่ายที่ครอบคลุมถึงการจำหน่ายเสื้อผ้าที่เลยฤดูกาลหรือกระแสนิยมไปแล้ว

4. ให้ความใส่ใจและดูให้ถึงแก่น
ผู้บริโภคควรใส่ใจกับรายละเอียดของเสื้อผ้าก่อนจะซื้อ เช่นดูป้าย (Tag) ที่ระบุ ข้อมูลของเสื้อผ้าหรือ QR Code หรือสอบถามผู้ขายเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ และวิธีการผลิตของวัสดุนั้น ทำความเข้าใจถึงคุณค่าของการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของขวดพลาสติก PET หรือกางเกงยีนส์ที่ผลิตจากเศษเหลือของผ้าจากการตัดเย็บ เป็นต้น ส่วนผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการตรวจ ย้อนกลับของวัสดุที่นำมาใช้ว่าได้มาด้วยวิธีใด และส่งเสริม Upcycle หรือการนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น

5. ให้คำนึงว่าเสื้อผ้าก็เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง
โดยผู้บริโภคควรนำเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้หรือที่จะทิ้งลงขยะ ไปให้สถานที่รวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิล ฝ่ายผู้ผลิตจำหน่ายควรมีช่องทางการรวบรวมเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว และค้นคว้าพัฒนาระบบการรีไซเคิลเสื้อผ้าให้มีต้นทุนต่ำ โดยไม่เพียงดำเนินการเป็นแต่ละรายแต่ควรร่วมมือกันดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมโดยรวม

ในส่วนของภาคเอกชนญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ได้มีบริษัทในวงการเสื้อผ้าและสิ่งทอรายใหญ่ 11 บริษัทร่วมกันจัดตั้งองค์กร Japan Sustainable Fashion Alliance (JSFA) ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสมาชิก 28 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องในวงการ เช่น ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก บริษัท การค้า ผู้ประกอบการและ SME ด้านรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของญี่ปุ่นมุ่งไปสู่การเป็น Sustainable Fashion Industry โดยได้ตั้งเป้าหมาย ‘Zero Fashion Loss’ ด้วยการผลิต/จัดซื้อในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์วัฏจักรสินค้า รวมทั้งเป้าหมาย ‘Carbon Neutral’ ภายในปี 2050



การเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นในญี่ปุ่น

แม้ว่ากระแส Sustainable Fashion ในญี่ปุ่นจะยังเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่จากการที่มีการขับเคลื่อน อย่างจริงจังและเป็นระบบของทั้งภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะทำให้ Sustainable Fashion กลายเป็นกระแสความนิยมที่สำคัญซึ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นภายในอนาคต

ด้านผู้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าในญี่ปุ่น

คาดว่าจะมีการนำวัสดุธรรมชาติที่ปราศจากการใช้สารเคมีมาใช้มากขึ้น และเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยในการพัฒนาวิธีการรีไซเคิลและอัพไซเคิลเพื่อนำมาใช้ผลิตสินค้า ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อให้ใช้ได้นาน การผลิตและจำหน่ายใน ลักษณะ Fast Fashion คือ ผลิตปริมาณมากและมีวงจรชีวิตสินค้าสั้นอาจจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การพึ่งพาแหล่งผลิตในต่างประเทศที่มีความได้เปรียบเพียงเพราะค่าแรงงานต่ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่กลยุทธ์ของผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นของญี่ปุ่นอีกต่อไป อีกทั้งหากบริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นส่วนใหญ่สามารถที่จะพัฒนาการผลิตและสินค้าของตนไปสู่การเป็น Sustainable Fashion กันมากขึ้น ภาครัฐของญี่ปุ่นเองก็อาจจะค่อยๆมีการปรับแก้ไขกฎหมายหรือนำมาตรการต่างๆ ที่ควบคุมหรือจำกัดการผลิตที่เป็นภัยหรือภาระต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ต่อไป



ด้านของผู้บริโภคญี่ปุ่น

แม้ว่าในปัจจุบันความสนใจเกี่ยวกับ Sustainable Fashion จะยังมีไม่มาก และผู้ที่เลือกซื้อหาสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะยังคงเป็นส่วนน้อย แต่จากพฤติกรรมโดยปกติของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มักจะได้รับอิทธิพลจากกระแสความนิยมในสังคมค่อนข้างมาก ตลอดจนความใส่ใจเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกระตุ้นจากการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับ Sustainable Fashion น่าจะทำให้เกิดการผลักดันกระแสนิยมใหม่นี้ในกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น

ที่ผ่านมาความนิยมเสื้อผ้าที่ใช้วัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ปราศจากการใช้สารเคมีเช่น ฝ้ายออร์แกนิก หรือผ้าลินิน ได้มีบ้างแล้วในผู้บริโภคบางกลุ่ม แต่อาจยังไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกับผ้าเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคญี่ปุ่นมักจะสนใจกับสิ่งใหม่ๆ จึงไม่เป็นการยากนักที่เสื้อผ้าซึ่งใช้วัสดุธรรมชาติต่างๆจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคญี่ปุ่น

หากมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอการดำเนินการอื่นๆ ได้แก่การเลือกหาซื้อสินค้าที่ใช้วัสดุรีไซเคิลหรือเสื้อผ้ามือสอง การใช้ซ้ำ รวมไปถึงการนำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปรีไซเคิลหรือปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์อื่นก็คงจะมีมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั่วๆ ไป



เรื่องน่ารู้สำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย

เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีความยั่งยืน จะเป็นประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่นในอนาคต ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการตอบสนองแนวโน้มดังกล่าว เนื่องจากมีวัตถุดิบที่เป็นวัสดุธรรมชาติมากมาย ทั้งที่ได้มีการนำมาผลิตเป็นเส้นใยและสินค้าแล้วเช่น กัญชง กัญชา และที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยหรือนำมาใช้แต่ยังไม่แพร่หลายนัก เช่น กล้วย มะพร้าว ศรนารายณ์ สัปปะรด เป็นต้น

ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจึงควรศึกษาพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเหล่านี้ โดยต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของวัสดุ ต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงเพื่อให้สินค้าอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม และความหลายหลายของสินค้าที่ใช้วัสดุเหล่านี้ในการผลิต รวมทั้งต้องนำเสนอข้อมูลของวัสดุธรรมชาติเหล่านี้ให้กับผู้ประกอบการและ SME ญี่ปุ่น ทั้งนี้การเตรียมตัวรับมือในระยะยาวต่อแนวโน้มดังกล่าวของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของไทยต้องตระหนักอย่างจริงจัง 


แหล่งอ้างอิง : สตท. ณ เมืองฮิโรชิมา

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6278 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2026 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5041 | 23/10/2022
กระแส ‘Sustainable Fashion’ ในญี่ปุ่นกำลังมา สร้างโอกาสธุรกิจที่ SME ไทยต้องคว้าไว้