ส่องมุมมอง ‘ไร่ชาฉุยฟง’ แหล่งผลิตชาชั้นนำเมืองไทย ต่อยอดธุรกิจสู่แลนด์มาร์คท่องเที่ยวเชียงราย เอาใจสาย Tea Lovers ครบวงจร

SME in Focus
09/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 8126 คน
ส่องมุมมอง ‘ไร่ชาฉุยฟง’ แหล่งผลิตชาชั้นนำเมืองไทย ต่อยอดธุรกิจสู่แลนด์มาร์คท่องเที่ยวเชียงราย เอาใจสาย Tea Lovers ครบวงจร
banner
ใครเป็นสาย Tea Lovers ไม่ควรพลาด! Bangkok Bank SME ชวนไปรู้จักกับบริษัท ชาฉุยฟง จำกัด เจ้าของ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ แหล่งผลิตชาชั้นเยี่ยมและอีกหนึ่งแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อของจังหวัดเชียงรายแบบ Exclusive ซึ่งจะมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างไรจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นหนึ่งในไร่ชั้นนำของเมืองไทยเมื่อนึกถึงชาต้องนึกถึง ‘ไร่ชาฉุยฟง’ เพื่อก่อเกิดไอเดียให้ผู้ประกอบการ และ SME ไทย ได้ศึกษาแล้วนำไป Business Transformation ประยุกต์ต่อยอดกับองค์กรของตัวเอง ถ้าพร้อมแล้วตามมาอ่านบทสัมภาษณ์กันได้เล้ยยยย...



จุดเริ่มต้นของชาต้นแรก สู่แหล่งปลูกชาชั้นนำของเมืองไทยบนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่

คุณชัญญ่า วนัสพิทักษกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด กล่าวว่า ‘ไร่ชาฉุยฟง’ แหล่งปลูกชาในจังหวัดเชียงราย มีจุดเริ่มต้นโดยคุณพ่อกับคุณแม่เป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2520 โดยแหล่งปลูกชาแห่งแรกของบริษัทอยู่ที่ดอยพญาไพร อำเภอแม่ฟ้าหลวง บนพื้นที่ 600 ไร่ ซึ่งนอกจากปลูกชาแล้วยังมีโรงงานผลิตชาแบบครบวงจรด้วย

“โดยแนวคิดในการทำธุรกิจนี้มาจากคุณพ่อที่มองเห็นว่าชาเป็นพืชเศรษฐกิจ เวลาผลิตชาออกมาแล้วไม่เสียหาย แม้จะยังจำหน่ายไม่ได้แต่ก็สามารถเก็บไว้ได้ เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่คุณพ่อเคยทำธุรกิจ ราคาค่อนข้างผันผวน และเกิดการเน่าเสียของสินค้า ดังนั้นคุณพ่อจึงเชิญชวนเกษตรกรบนดอยมาปลูกชาร่วมกัน” 



‘ไร่ชาฉุยฟง’ ชื่อนี้..มีที่มาอย่างไร

ในเรื่องนี้ คุณชัญญ่า เผยว่า เป็นชื่อบริษัทที่คุณพ่อตั้งมาตั้งแต่แรก โดยฉุยฟงแปลว่าเขาเขียว( มรกต) ซึ่งตอนที่ตนเองได้เข้ามาทำแบรนด์ก็เคยมีแนวคิดว่า ควรจะเปลี่ยนชื่อหรือเปล่าเนื่องจากผู้คนอาจไม่ทราบความหมาย และเรียกชื่อค่อนข้างยากเนื่องจากเป็นชื่อภาษาจีน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปว่าคุณพ่อเป็นคนตั้งชื่อนี้มาเราจะควรสานต่อเจตนารมณ์ของท่าน จึงยังใช้ชื่อเดิมมาจนถึงปัจจุบันแต่มีการปรับเปลี่ยนโลโก้  Corporate Identity คอนเซปต์การดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้คนเข้าใจ - จดจำ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ มากขึ้น


 
ชาคุณภาพ ทำไมต้องปลูกที่เชียงราย

คุณชัญญ่า อธิบายว่า การปลูกชาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องเลือกที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ และภูมิอากาศที่เย็น ต้องดูแลตั้งแต่แปลงชา วิธีการเก็บ กระบวนการผลิตชา ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีเอฟเฟกต์ส่งผลต่อชาได้ คนทำงานต้องมีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น ‘ไร่ชาฉุยฟง’ จึงมีอาจารย์จากไต้หวันมาช่วยอบรมคนงาน มีการเทรนและฝึกฝนด้านต่างๆ ก่อนกลายเป็น Know How ทำให้คุณภาพของสินค้าของเราได้มาตรฐานกับประเทศจีนและไต้หวัน ที่สำคัญไร่ชาฉุยฟงปลูกชาแบบออร์แกนิก ไม่ใช้สารเคมี 100%

สำหรับการปลูกชาจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ต้องใช้เวลา 4 ปี จากนั้นจะเก็บเกี่ยวครั้งถัดไปทุก 45 วัน ต้นชาที่ปลูกไปแล้วจะมีอายุได้ถึง 20 ปีหรือมากกว่านั้น หากเราการดูแล เอาใจใส่ หมั่นใส่ปุ๋ย รดน้ำ ให้ต้นแข็งแรง



จากไร่ผลิตชา ต่อยอดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวสไตล์ Ecotourism

คุณชัญญ่า เล่าว่า ไร่ชาฉุยฟงที่แรกนั้นตั้งอยู่บนดอยพญาไพร อำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งการคมนาคมไม่สะดวก ไกล คุณพ่อจึงได้มองหาแหล่งปลูกชาแห่งที่ 2 ที่ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมือง การเดินทางและขนส่งสินค้าสะดวก จึงได้ที่ ณ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย บนเนื้อที่ 600 ไร่ ทางครอบครัวต้องการอยากให้ไร่ชานอกจากผลิตชาแล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาชมไร่ ชมวิธีการเก็บชา ทำชา และยังสามารถชิมชา ได้ด้วย

“เมื่อรากฐานจากการปลูกชาของบริษัทแข็งแกร่ง จึงเกิดแนวคิดต่อยอดธุรกิจ โดยการทำไร่ชาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนว Ecotourism บริษัทจึงเปลี่ยนจากไร่ที่ปลูกชาเพียงอย่างเดียวให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างรายได้สองทาง โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นวิถีการทำเกษตร รวมถึงการผลิตชาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีหน้าร้านให้ลูกค้าได้เข้ามาชิม - นั่งดื่มชา รับประทานอาหารหรือขนมเกี่ยวกับชา และสามารถสอบถามความรู้เกี่ยวกับชาได้ด้วย”

ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัท ชาฉุยฟง จำกัด ยังเป็นการปลูกชา โดยลูกค้าของเราจะเป็นบริษัทรายใหญ่ในเมืองไทยที่นำชาไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า ซึ่งมีการเซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กันระยะยาว โดยสัดส่วนการทำธุรกิจของ ‘ไร่ชาฉุยฟง จะเป็นการผลิตชา 70% ส่วนอีก 30% จะมาจากการท่องเที่ยว


 
คอนเซปต์การทำให้ไร่ชากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด กล่าวว่า เริ่มแรกเราอยากให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวไร่ชา ได้เห็นการปลูกชา เก็บชา การผลิต และได้ชิมชา ได้มาชิมชาแล้วซื้อกลับบ้าน จึงทดลองแปลงโฉมโกดังเก่าที่มีอยู่ให้กลายเป็นร้านค้าในไร่ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับดี ผู้คนให้ความสนใจทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทางไร่จึงเริ่มผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมา คิดสร้างแบรนด์ ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์สินค้าและเริ่มจำหน่ายที่ร้านภายในไร่

บริษัทมองเห็นโอกาสว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไร่ชา นอกจากการซื้อสินค้ากลับไปแล้วยังมีการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการโปรโมทให้กับ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ ด้วย ถือเป็นการตลาดออนไลน์ชั้นดี ตนเองจึงเกิดไอเดียอยากสร้างร้านที่เป็นงานสถาปัตย์สวยๆ ให้เข้ากับบรรยากาศไร่ชา จึงได้ให้บริษัทสถาปนิกไอดิน มาช่วยออกแบบ ซึ่งคอนเซปต์ของคาเฟ่คืออยู่กลางไร่ชา เห็นวิว 360  องศา สามารถนั่งจิบชา เสพบรรยากาศวิวไร่ ซึ่งได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าดีมาก ต่อมาบริษัทสถาปนิกที่ออกแบบให้ ได้ส่งร้านของ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ เข้าประกวด แล้วได้รับรางวัลทั่วโลก เช่น ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย

นำมาสู่แนวคิดปรับปรุงร้านแรกให้เข้ากับไร่ โดยยังใช้สถาปนิกไอดินในการออกแบบสร้างร้านแห่งที่ 2 โดยคอนเซปต์เหมือนเดิม คือใช้วัสดุให้เข้ากับธรรมชาติ ภายในร้านหรือห้องน้ำจะมีช่องรับแสงเข้ามาส่องสว่าง ใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุด ซึ่งร้านแห่งที่ 2 ก็ได้รับรางวัลจากทั่วโลกเช่นเดียวกัน เมื่อมีแลนด์สเคปสวย จากนั้นเราสร้างร้านและตกแต่งให้เข้ากับบรรยากาศกลายเป็นความกลมกล่อมลงตัว อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเมื่อมาจังหวัดเชียงราย



ในอนาคต ‘ไร่ชาฉุยฟง’ ได้มีการวาดแพลนไว้ว่าจะสร้าง Tea Museum เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับชา มีคลาสให้ความรู้เกี่ยวกับชาด้านต่างๆ มีการทดลองเบลนด์ชา ชงชา เป็นต้น เพื่อสร้างกิจกรรมตอบโจทย์ผู้ที่สนใจชาอย่างครบวงจร



ชาเมืองไทยพัฒนาไปทิศทางใดบ้าง

สำหรับเรื่องนี้ คุณชัญญ่า ให้ความรู้ว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชาในเมืองไทย จะมีสายพันธุ์หลักๆ ที่ได้รับความนิยมอยู่ 2 สายพันธุ์คือ 1. ชาอัสสัม ซึ่งนิยมนำไปทำเป็นชาเขียว ชาจีน ชาแดง เป็นพันธุ์ชาที่ดูแลง่าย เป็นสายพันธุ์แรกๆ ที่มีในเมืองไทย 2. ชาอู่หลง ซึ่งราคาสูงกว่าชาอัสสัม โดยชาเมืองไทยพัฒนาไปในหลากหลายทิศทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น มีทั้งชงแบบดั้งเดิม ชา Ready to Drink, 3 in 1 และชาสำเร็จรูป นอกจากนี้ยังสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบ พัฒนาสินค้าไปได้อีกในหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้บริษัทยังมีไอเดียในการผันตัวเป็น Tea Specialist ผลิตชาให้มีรสชาติหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิม รวมถึงการเบลนด์ (Blend) ชากับสินค้าเกษตรแบรนด์ Local จังหวัดเชียงราย เช่น ผลไม้ อาทิ ชาส้ม ชาเปปเปอร์มินต์ ชาตะไคร้ ชาเก๊กฮวย โดยปัจจุบันมีสินค้าตัวใหม่สำหรับบุคคลที่ไม่รับประทานกาเฟอีนซึ่งก็คือ ‘ชาคาโมมายล์’ และยังมี ‘ชาข้าวคั่ว’ ซึ่งผลิตจากข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกเป็นจำนวนมากในเชียงราย

“เรานำข้าวญี่ปุ่นเชียงรายไปคั่วแล้วนำมาเบลนด์กับชา ซึ่งจะได้กลิ่นข้าวญี่ปุ่นคั่วนำแล้วได้กลิ่นของชาตาม ซึ่งชาตัวนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ของเราจะเป็นเวอร์ชันข้าวญี่ปุ่นปลูกที่เชียงราย ประเทศไทย โดย ‘ไร่ชาฉุยฟง’ พยายามรังสรรค์ผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ จากวัตถุดิบที่หาได้ในจังหวัดเชียงราย ช่วยส่งเสริมสินค้าของกันและกันให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น” 


 
นอกจากนี้ยังมีการนำชาไปทำอาหารเสริม ขณะที่ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ เอง ก็มีการผลิตสบู่ แชมพู รวมถึงสกินแคร์ ซึ่งใช้ชาเขียวมาเป็นวัตถุดิบสกัดเป็นส่วนผสม โดยสูตรเราเป็นผู้คิดค้น จากนั้นให้บริษัท OEM ผลิตสินค้าออกมาเป็นแบรนด์ของ ‘ไร่ชาฉุยฟง’



การตลาดออนไลน์เป็นอย่างไร

คุณชัญญ่า กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าของ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ นอกจากมีจำหน่ายที่ไร่แล้ว ยังมีจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า เช่น บิ๊กซี แม็คโคร โดยในอนาคตมีแพลนจะเข้าโมเดิร์นเทรดเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาสูตรสินค้า 

ส่วนการตลาดออนไลน์ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าตอนนี้เปลี่ยนไป นิยมช้อปออนไลน์มากขึ้น โดยสินค้าของเรามีจำหน่ายทั้งในไลน์แอด ช้อปปี้ ลาซาด้า เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งผู้บริโภคสามารถสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้ามาจากไร่โดยตรง ส่งผลดีกลับมาที่ไร่เนื่องจากลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์



กว่าจะประสบความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย และด้วยวิสัยทัศน์ของคุณชัญญ่า วนัสพิทักษกุล จึงทำให้ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ เติบโตกลายเป็นไร่ชาแถวหน้าของเมืองไทย ที่สร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการต่อยอดจากไร่ชาสู่ธุรกิจท่องเที่ยว อีกหนึ่งแลนด์มาร์คของเชียงราย โดยในอนาคตเราจะได้เห็น Tea Museum ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับชา ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ Tea Lovers แบบครบวงจร


รู้จัก ‘บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด เจ้าของไร่ชาฉุยฟง’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.chouifongtea.com/
https://www.facebook.com/ChouiFongTea

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
234 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
405 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
323 | 20/03/2024
ส่องมุมมอง ‘ไร่ชาฉุยฟง’ แหล่งผลิตชาชั้นนำเมืองไทย ต่อยอดธุรกิจสู่แลนด์มาร์คท่องเที่ยวเชียงราย เอาใจสาย Tea Lovers ครบวงจร