‘คาร์บอนเครดิต’ เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกมุ่งสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG

Library > Economic Outlook/Trends
12/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 59825 คน
‘คาร์บอนเครดิต’ เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกมุ่งสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG
banner
การตื่นตัวในการสร้างสมดุลให้ชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารโตเกียว และเริ่มใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ที่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกเกินกำหนด ผู้ประกอบการที่ปล่อยคาร์บอนเกินกำหนด จึงมีความต้องการเข้าซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไป รวมถึงรู้จักกับวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในลักษณะของ Carbon Emission Trading Schemes (ETS) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุโรปและอีกหลายประเทศ

คาร์บอนเครดิต คืออะไร?

‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) คือ ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งอาจมีธุรกิจที่บริหารจัดการให้กระบวนการทำธุรกิจสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายจนคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตออกมา ซึ่งมีมูลค่าจนสามารถนำออกขายให้แก่ธุรกิจหรือหน่วยงานที่ในกระบวนการทำงานยังมีส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม ก็สามารถมาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้ 

ส่วน ‘ตลาดคาร์บอน’ (Carbon Market) คือ ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ที่สามารถทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งกลไกตลาดคาร์บอนจะทำให้เกิดความสมดุล โดยทำให้ผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษ หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนในปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก 

เรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย การให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจไทยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากการลดภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่จะกระทบต่อธุรกิจไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต 



5 อันดับประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด

สำหรับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้นประเทศที่มีภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมหาศาล อย่าง 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ราว 256 ล้านตันต่อปี

ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา แม้ตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของไทยจะดูไม่สูงมากนักและมีมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากมาย แต่ตัวเลข การปล่อยมลพิษ (Emissions) ในไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 53% จากปี 2000 หรือ พ.ศ.2543 สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจไทยยังไม่มีการตื่นตัวหรือตระหนักในเรื่องนี้มากนัก

สถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิต ในต่างประเทศ

สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีการเติบโตและขยายตัวสูงมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการน้อยที่สุด และเป็นเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซที่คุ้มค่าที่สุด โดยในปี 2021 ทั่วโลกมีการใช้มาตรการนี้ถึง 45 ประเทศ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 65 ประเทศ โดยมีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสูงถึง 8.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่รายงานจากธนาคารโลก ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นมากถึง 64 ตลาด มูลค่ารวมของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างกันเกือบ 6,700 ล้านดอลลาร์  ซึ่งปัจจุบันตลาดใหญ่ที่สุดในโลกมีอยู่ 4 แห่งใน 4 ประเทศ คือ สหภาพยุโรป, จีน, ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยปี 2021 มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี  โดยรายงานของหน่วยวิจัย อีโคซิสเต็ม มาร์เก็ตเพลซ คาดการณ์ว่า ราคาการซื้อขายต่อ 1 เครดิต หรือ 1 เมตริกตัน อาจจะพุ่งสูงขึ้นถึง 88 % หรือประมาณ 67 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อถึงปี 2030 



สถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
     
สำหรับประเทศไทยตลาดคาร์บอนถูกกำหนดไว้ใน ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 ขณะที่ตลาดซื้อขายเครดิตคาร์บอนเครดิตของไทยในปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทยยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศ อีกทั้งต้นทุนการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (MRV) ในการรับรองคาร์บอนเครดิต (Transaction Cost) อยู่ในระดับที่สูง และตลาดคาร์บอนยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ จึงอาจทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปอย่างล่าช้า

ดังนั้นการที่ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามการประกาศแผนการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยใช้ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ..

1. การจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมตลาดคาร์บอนมากขึ้น โดยการสำรวจของสภาอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยมีความสนใจ และเห็นด้วยกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งหากมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม จะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมตลาดคาร์บอนได้มากขึ้น

2. การกำหนดเกณฑ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องลดลงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อาทิ กำหนดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Baselines) ของแต่ละอุตสาหกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงกับนโยบายอื่น เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน

3. การจัดทำระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยให้การซื้อขายมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ รวมถึงยังช่วยติดตามสถานการณ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

4. การส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการลงทุนเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต เช่น จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ SME

5. การสร้างการรับรู้ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2559 - 2565


ข้อมูลจาก :  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน

หากมองย้อนกลับไปในอดีต จากตารางสถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2559 – 2565 ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สะท้อนจะเห็นว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกเริ่มโครงการปี 2559 มีมูลค่าการซื้อขายเพียง 846,000 บาท จนในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 9,714,190  บาท ในช่วงเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ส่วนราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตัน มีราคาเฉลี่ยสูงสุดที่ 149 บาทต่อตัน ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายในปีแรก

ซึ่งราคาเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อตัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของ SME ในการหันมาใช้พลังงานสะอาดผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ

หน่วยงานในประเทศไทยที่ส่งเสริมการเข้าสู่ ตลาดคาร์บอนเครดิต

คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าประเทศไทยเราก็มีการทำเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภายในประเทศ คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557

เป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

นอกจากนี้ โครงการ T-VER ยังมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความร่มรื่น และพื้นที่สีเขียวลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย 



กลไกและรูปแบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่..

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่มีการซื้อขายแบบที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย (Mandatory Basis) ซึ่งมักจะเกิดในประเทศพัฒนาแล้วที่ลงนามในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารโตเกียว เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยประเทศเหล่านี้จะมีข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมักจะมีการอนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกไป เพื่อทำให้โดยรวมแล้วระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ 

2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับการจัดตั้งตลาดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในตลาดด้วยความสมัครใจโดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target)



โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่..

1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด

ทั้งนี้ อบก. ยอมรับว่า การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการของไทยในตลาดคาร์บอนภายในประเทศยังมีปริมาณไม่มาก เนื่องด้วยตลาดคาร์บอนของไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) ซึ่งมีขนาดเล็กมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี  ส่วนใหญ่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทยอยู่ในรูปแบบของการเจรจาต่อรอง (Over-the-Counter: OTC)

ดังนั้น อบก. จึงจัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER อันจะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศให้มีสภาพคล่องและขยายตัวมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกกำหนดโดยผู้กำกับดูแลตลาด (Regulator) หรือเป็นการตั้งเป้าหมายโดยสมัครใจขององค์กรซึ่งปัจจุบัน การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งขณะนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกต้องไม่เกิน 4 แสนล้านตันต่อปี จึงจะสามารถคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาได้

SME จะได้ประโยชน์อะไรในการ ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME จะได้ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตในระยะสั้น จะช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำง่ายขึ้น เนื่องจากมีการขยายการลงทุนในพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมถึงการลงทุนในทุนทางธรรมชาติ ทำให้เกิดกระบวนการนี้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งภาคธุรกิจมีต้นทุนสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกไม่เท่ากัน โดยเฉพาะ SME อาจมีข้อจำกัดการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังนั้น กระบวนการคาร์บอนเครดิตจะมาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินต่อไป

ส่วนประโยชน์ในระยะกลางถึงระยะยาวนั้น คาร์บอนเครดิตจะช่วยในการสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบโดยให้การสนับสนุนทางการเงินกับการปลูกป่าหรือเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางตลาด กิจกรรมที่ดีเหล่านี้อาจไม่มีเงินทุนหมุนเวียน หรือเดินหน้าต่อไปได้ล่าช้า เช่นโครงการปลูกป่า ซึ่งทราบกันดีว่า ป่าไม้ทำหน้าที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุด ดังนั้น กลไก Carbon offset ทำให้เกิดความสมดุล เกิดเงินทุนหมุนเวียนไปหล่อเลี้ยงโครงการต่อไปได้

นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้สนับสนุนการเข้าถึงกองทุนระหว่างประเทศ เช่น กองทุนอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) กองทุนการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Adaptation Fund กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) หรือกองทุน NAMA Facility โดยเอกชนสามารถขอรับทุนตามเงื่อนไขที่แต่ละกองทุนกำหนดไว้

ขณะเดียวกันยังได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐในการที่จะส่งเสริมเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ได้หารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีให้กับกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกิจการที่ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 3 ปี ให้กับห้องเย็นที่ใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติ หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปีให้กับโรงงานผลิตสำหรับการเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขยายมาตรการลงไปถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน

ตลาดคาร์บอนเครดิต  โอกาสใหม่การค้าไทย หวังศูนย์กลางซื้อขายโลก

นอกจากนี้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังทำให้เกิดผลกำไรทางธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันคาร์บอนเครดิตกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าอีกชนิดหนึ่ง การซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามหลักการทุนนิยมนั้น ส่งผลทำให้องค์กรธุรกิจที่มีสถานะเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตได้รับผลกำไรจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ซื้อ

ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่น่าลงทุนนอกเหนือจากรายได้จากการประกอบกิจการตามปกติของธุรกิจ อีกทั้งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจตัวแทนนายหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ธุรกิจที่ปรึกษาการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ข้างต้นส่งผลทำให้เกิดโอกาสการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางคาร์บอน หรือ carbon trading hub ในอาเซียน



ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้มุมมองว่า สังคมคาร์บอนต่ำเป็นกระแสโลกต้องเปลี่ยนตาม จึงต้องกลับมาดูว่า SME จะปรับตัวลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไรแล้วใช้เป็นจุดขายในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งหากทำได้ดีจริง ๆ จนมีส่วนเหลือสามารถเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อขายเป็นรายได้ใหม่ ตลอดจนอาจเป็นโอกาสใหม่ธุรกิจใหม่ เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตในธุรกิจสีเขียวต่าง ๆ

เมื่อเป้าหมายคือลดการปล่อยคาร์บอน จึงต้องทำให้การปล่อยคาร์บอนต้องมีราคาหรือต้นทุน อาจจะเป็นมาตรการภาษี ใครปล่อยมากก็เสียมาก อีกวิธีหนึ่งคือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเกณฑ์กลางไว้ ใครปล่อยเกินค่ากลางนี้ต้องเสียค่าปรับ ส่วนใครที่ปล่อยน้อยกว่า สามารถเอาส่วนเหลือเป็นเครดิตมาขายหรือแลกเปลี่ยนแก่รายที่ปล่อยเกินได้ ทำให้เกิดตลาดคาร์บอน(Carbon Trading System) ขึ้นเดิมการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเครดิตคาร์บอน ทำให้อุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสนับสนุนให้คนทำกิจกรรมที่สร้างผลดีให้เอามาเครดิตได้ เช่น กิจกรรมปลูกป่า ลดขยะ เปิดให้ตลาดคาร์บอนขยายขึ้นโดยให้แลกเปลี่ยนกันข้ามอุตสาหกรรมได้ด้วย 



นักลงทุนทั่วโลก มุ่งสู่การลงทุนธุรกิจแนวคิด ESG

หนึ่งในทิศทางการแข่งขันในตลาดโลก องค์กรธุรกิจต่างๆ ต้องมีการตั้งเป้าหมายและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากนักลงทุนและผู้บริโภคเริ่มมองหาองค์กรที่ดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG คือ คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance) เพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ของธุรกิจ หากประเทศหรือองค์กรใดไม่ทำอาจถูกมองข้ามหรือ ถูกลดความสำคัญลง จนไม่สามารถไปต่อได้

โดยในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น หลายประเทศได้มีการผลักดันนโยบายหรือกฎหมายที่จะลดหรือจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) รวมไปถึงการลดของเสียภายในองค์กรด้วย

ขณะที่ในด้านการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนหันให้ความสำคัญการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2020 มูลค่าเงินลงทุนรวมอยู่ที่ระดับประมาณ 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และหนึ่งในประเด็นด้านการลงทุนที่เกี่ยวกับ ESG ที่ได้รับความสนใจอย่างมากก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)

โดยผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีนโยบายด้าน ESG บริษัทที่ลงทุนใน Renewable Energy หรือลงทุนพันธบัตร Green Bond ที่ระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย เช่น Weather Derivatives (อนุพันธ์ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศ) รวมถึงคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)


แนวโน้ม ตลาดคาร์บอนเครดิต ในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด

ความต้องการคาร์บอนเครดิตในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions สำหรับความต้องการคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ TGO ได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีขององค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2020 (ที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) พบว่า มีองค์กร จำนวน 81 องค์กร มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 162,793,317 tCO2e/y  จากผลการวิเคราะห์ สะท้อนให้เห็นว่า หากองค์กรต้องการที่จะเป็น Carbon Neutral Organization จะมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยรวม 1,562,815,839 tCO2e และ 3,150,050,676  tCO2e ในช่วงปี 2020-2030 และ 2020-2050 ตามลำดับ 

ขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยในภาคบริการ พบว่ามีความต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานอีเว้นท์ ประมาณ 950,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในภาคบริการท่องเที่ยวมีความต้องการ 1,031 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

สรุปผลการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมชดเชยคาร์บอนประเภทต่างๆ พบว่าจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตรวม ประมาณ 182-197 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือมีความต้องการรวมถึงปี ค.ศ. 2030 ที่ 1,823-1,973 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สะท้อนให้เห็นว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มที่จะได้รับความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะ SME ยังต้องการการสนับสนุนด้านนโยบาย เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเห็นความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดกลางเพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ประกอบการและSMEก็ตาม แต่เมื่อได้พิจารณาเหตุผลสำคัญบางประการที่ทำให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ควรทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะSME ควรดำเนินธุรกิจในลักษณะที่มีจิตสำนึกที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนในรูปตัวเงินให้กับธุรกิจ อันส่งผลทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนในที่สุด

ที่มา :
TGO | องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y29uY2VwdF9tYXJrZXQ=
https://www.infoquest.co.th/2022/201972
https://www.bangkokbiznews.com/tech/963474

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1345 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3773 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5128 | 23/10/2022
‘คาร์บอนเครดิต’ เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกมุ่งสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG