ตอบโจทย์ Sustainability! ‘ฟาร์มระพีพัฒน์’ ฟาร์มไก่ไข่สร้าง Mindset เพื่อลด Cost เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด ‘ฟาร์มสีเขียว’
‘ไข่ไก่’ วัตถุดิบรังสรรค์หลากหลายเมนูอาหารที่ทุกบ้านคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งในเมืองไทยมีฟาร์มไก่ไข่ผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากมาย จึงนำมาสู่อีกหนึ่ง Case Study ที่น่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่งว่าบริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด ฟาร์มไก่ไข่ชื่อดัง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา บริหารธุรกิจอย่างไร? จึงสามารถฟันฝ่าวิกฤต - อุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จอยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขันอันแสนดุเดือด เป็นแนวคิดสร้างไอเดียให้กับผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา นำไป Business Transformation ประยุกต์ปรับใช้สู้ศึกการทำธุรกิจห้วงเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน
นำวิชาที่มี สร้างธุรกิจที่ตนเองถนัด
คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด เล่าย้อนความหลังว่า ‘ฟาร์มระพีพัฒน์’ ก่อตั้งเมื่อปี 2521 โดยเริ่มต้นบริษัทมีการเลี้ยงทั้งไก่ไข่ ไก่เนื้อ และหมู ต่อมาในปี 2530 ได้หันเลี้ยงไก่ไข่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากไก่เนื้อและหมูมีการแข่งขันกับรายใหญ่สูงมาก ประกอบกับต้องอาศัยโรงเชือดซึ่งบริษัทไม่มีจึงทำให้กำหนดราคาไม่ได้เมื่อเทียบกับรายใหญ่ซึ่งมีโรงเชือดของตัวเอง
คนซ้าย : คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด
โดยก่อนที่คุณสุพัฒน์ก่อตั้งบริษัท ได้จบการศึกษาจากม.ธรรมศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ ก่อนทำธุรกิจควบคู่กับการเป็นอาจารย์ที่ม.สงขลานครินทร์ ต่อด้วยย้ายมาสอนที่ม.สยาม หลังจากนั้นเริ่มเห็นขีดจำกัดว่าธุรกิจอาหารสัตว์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรามีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งหาก ‘ฟาร์มระพีพัฒน์’ เลี้ยงเฉพาะไก่ไข่อย่างเดียว ในขณะที่บริษัทรายใหญ่จำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงครบวงจร เช่น มีลูกไก่ ยาสำหรับสัตว์ อาหารสัตว์ รวมถึงเลี้ยงไก่ไข่ด้วย
จากการที่คุณสุพัฒน์รู้ว่าธุรกิจการเกษตรมีวัฏจักรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ราคามีขึ้นมีลงตลอดเวลา ซึ่งในตลาดที่ผู้บริโภคไปซื้อสินค้าอาจไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง ดังนั้นคุณสุพัฒน์จึงเกิดแนวคิดว่าจะแก้ไขวัฏจักรดังกล่าวอย่างไร ด้วยการหาวิธีช่วยการบริหารต้นทุน (Cost Management) ทำให้ต้นทุนต่ำลง กลายเป็นจุดเปลี่ยนว่าหาก ‘ฟาร์มระพีพัฒน์’ ทำแบบนี้แล้วต้นทุนสูงกว่าบริษัทใหญ่หรือรายอื่นๆ จะอยู่ไม่ได้
ด้วยเหตุนี้หลังจากบริษัทเลี้ยงไก่ไข่สักระยะหนึ่ง (มีการพัฒนาจากโรงเรือนเปิดมาเป็นโรงเรือนปิด เพื่อทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่เปลี่ยนแปลง ไก่อยู่สบายขึ้น ไม่เป็นโรค ผลผลิตดี) จึงเริ่มหันมาทำครบวงจรเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากเลี้ยงไก่ไข่ และเลี้ยงลูกไก่ด้วย (ซื้อลูกไก่มาเลี้ยงให้เป็นไก่สาว) รวมถึงการผลิตอาหารสัตว์ หลังจากบริษัทขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่สามารถช่วยให้ต้นทุนต่ำลงได้ และยังสามารถควบคุมคุณภาพต่าง ๆ ของไข่ไก่ได้ด้วย นอกจากนี้บริษัทยังพยายามหาทางลดต้นทุนอื่น ๆ ด้วย เช่น การผลิตวัตถุดิบ การสต็อกวัตถุดิบ เป็นต้น
“ต้นทุนเป็นอะไรที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องคิดคำนึงถึงให้มาก ๆ เพราะหากไม่ควบคุมเราจะแข่งขันกับรายอื่น ๆ ไม่ได้ เนื่องจากการประหยัดทางขนาดของธุรกิจ (Economic of Scale) เราน้อยกว่า”
วิธีคิด..เพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจแข่งขันได้
คุณสุพัฒน์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจบ้านเรามักคำนึงถึงราคาสินค้าในตลาดเป็นเกณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเรื่องต้นทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ประกอบการและ SME จะอยู่รอดหรือไม่รอดอยู่ที่ต้นทุน จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนเพราะหากต้นทุนต่ำเวลาขาดทุนก็ขาดทุนน้อยแต่เวลากำไรจะได้กำไรมาก เพราะฉะนั้นตัวนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ สู่แนวคิดจะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้ามีราคาที่เหมาะสม
ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์ของบริษัทจึงทำให้มีการหมุนเวียน เช่น การเลี้ยงไก่ไข่จะมีการจัดระบบ ไม่ได้เลี้ยงตามใคร หรือตามราคาดี บริษัทจะวางแผนการเลี้ยง จัดตารางหมุนเวียนเข้า - ออกไก่ หากมีไก่เข้าใหม่ทุก 2 เดือน ก็ต้องมีไก่ออกเช่นกัน จัดการโรงเรือนให้เป็นระบบปิด ให้ไก่อยู่สบาย เน้นดูแลและเลี้ยงไก่ให้ได้ผลผลิตไข่ที่ดี บริหารปริมาณสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและตลาด ไม่ทำมากเกินไปหรือน้อยเกินไปในทุกช่วงสภาวการณ์ ต้องคำนวณต้นทุนอยู่สม่ำเสมอและจัดการต้นทุนให้ต่ำลง เท่านี้เราก็จะอยู่ได้โดยไม่กังวลถึงราคาขายของสินค้าที่ปรับขึ้นปรับลงตามสภาวะความต้องการของตลาด
“หัวใจของผู้ประกอบการและ SME รายเล็กก็คือจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำ เพราะหากต้นทุนต่ำเราก็จะอยู่รอดได้ อย่าไปมองที่ราคาเป็นหลัก แล้วหันมามองว่าจะทำอย่างไรในการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้มีผลผลิตที่ดี อีกเรื่องหนึ่งก็คือส่วนใหญ่มักจะดูราคาเป็นเกณฑ์ พอราคาดีก็ขยายมากขึ้น แต่สินค้าเกษตรตอนราคาดี เช่น หากเลี้ยงไก่ ณ วันนี้ พรุ่งนี้ยังไม่สามารถออกไข่จำหน่ายได้เลย ต้องใช้เวลาถึง 18 สัปดาห์ไก่จึงจะเริ่มออกไข่ ดังนั้นหากอยู่ในช่วงราคาดีแล้วเราขยายกำลังการผลิต พอราคาต่ำลงจะมีปัญหา ต้องคิดตรงข้ามตอนราคาตกมากๆ ให้ขยายตอนนั้น เนื่องจากอีก 3 - 6 เดือนราคาก็จะเริ่มปรับสูงขึ้นตาม Timing”
เรื่องสำคัญอีกอย่างสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยก็คือ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการตลาด (Marketing) เพื่อดูวัฏจักรของวงจรธุรกิจของตน คนทำธุรกิจจะต้องรู้ว่าช่วงไหนตกต่ำช่วงไหนขาขึ้น แล้วต้องทำอะไรเพื่อให้กิจการอยู่รอดซึ่งต้องใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ
ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด ‘ฟาร์มสีเขียว’ ตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability)
ในปี 2554 คุณสุพัฒน์ได้เริ่มมีการรีโนเวทฟาร์มใหม่ พัฒนามาเป็นโรงเรือนแบบปิดขยายใหญ่ขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยงไก่ - เก็บไข่ กลายเป็นโรงเรือนแบบเซมิออโตขนาดใหญ่รองรับได้ 40,000 ตัว (ฟาร์มระพีพัฒน์เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 400,000 ตัว)
เหตุผลที่รีโนเวทฟาร์ม เนื่องจากปัญหาของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คือชาวบ้านรอบบริเวณฟาร์มจะไม่ค่อยชอบเนื่องจากมีกลิ่นและแมลงวันรบกวน จึงทำให้คุณสุพัฒน์ตั้งเป้าหมายอยากเป็นฟาร์มสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น ไม่มีแมลง และของเสียออกนอกฟาร์ม โดยพื้นที่ฟาร์มทั้งหมดเกือบ 100 ไร่ จะใช้เลี้ยงไก่ 20% ส่วนอีก 80% จะปลูกต้นไม้ โดยโรงเรือนไก่ไข่เป็นระบบปิดที่มีระบบการจัดการมูลไก่ด้วย ซึ่ง 1 วันมีประมาณ 40 ตัน ทำให้เป็น Zero Waste ด้วยการนำไปผลิตไบโอแก๊ส (Biogas) ปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในฟาร์ม (ใช้ในฟาร์ม 100% ปั่นไฟใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำมา 7 ปีแล้ว) นอกจากนี้ยังมีการนำมูลไก่ไปหมักแล้วจำหน่ายเป็นปุ๋ย และมีฟาร์มจระเข้สำหรับกินไก่ที่ตายแล้วด้วย
“ผมอยากให้ฟาร์มระพีพัฒน์เป็นฟาร์มสีเขียว ตอบโจทย์ตามกระแส Sustainability ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เป็นต้นแบบให้ฟาร์มอื่น ๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกับผู้คนในชุมชน เช่น การผลิตไบโอแก๊ส ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและ SME ได้รับอานิสงส์ในการทำธุรกิจไม่ถูกกีดกันทางการค้ารวมถึงการขอสินเชื่ออย่างเช่น บัวหลวงกรีน แล้วนำมาพัฒนายกระดับให้ชุมชนและฟาร์มอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) กล่าวส่งท้ายถึงความมุ่งมั่นในแนวทางการทำธุรกิจของตนเองในปัจจุบันและอนาคต
รู้จัก ‘บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
http://www.rapeepatfarm.com/
https://www.facebook.com/healthyhenbyrpf/