เจาะ Insight ‘Future Food’ ไต้หวัน ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยชิงส่วนแบ่งตลาด 1 ล้านล้าน
จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก สภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง (Climate Change) รวมถึงมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต ส่งผลให้ Future Food หรืออาหารแห่งอนาคต กลายเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เติบโตต่อเนื่องได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในไต้หวัน ซึ่งมีการประเมินว่าในปี 2050 ไต้หวันจะมีมูลค่าตลาดโดยรวมของ ‘ฟิวเจอร์ ฟู้ด’ สูงถึง 32,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้สำหรับผู้ประกอบการและ SME ไทย ได้ศึกษาแล้ว Business Transformation องค์กร ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคไต้หวัน
อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ประกอบด้วยอาหาร 4 กลุ่มหลักคือ
1. อาหารฟังก์ชัน (Functional Food)
ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย แล้วจะสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ให้กับร่างกาย นอกเหนือจากความอิ่มและรสสัมผัส (ความอร่อย) ให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบการทำงานของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรม ของอวัยวะต่าง ๆ บำบัดหรือลดอาการของ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย โดยสามารถแบ่งเป็น
1) กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหาร หรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย เพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวันโดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูลหรือผง) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามิน หรือแร่ธาตุต่าง ๆ ไข่ไก่เสริมโอเมก้า 3 นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร จำพวกโสม เห็ดต่าง ๆ เป็นต้น
2) กลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่น
2. อาหารใหม่ (Novel Food)
การผลิตรูปแบบใหม่ที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่ ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น ๆ มีการปรับแต่งกระบวนการผลิตแบบใหม่ (โครงสร้างหรือรูปแบบอาหาร) การใช้นาโนเทคโนโลยีโดยวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็น ส่วนประกอบของอาหารที่ปรากฏหลักฐาน ทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็น อาหารน้อยกว่าสิบห้าปี เช่น โปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช นมจากพืช
ตัวอย่าง วัตถุที่ใช้เป็นอาหารเข้าข่ายอาหารใหม่ (Novel Food) เช่น ใบโสม (Ginseng Leave) ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารมีประวัติการบริโภคใบโสมน้อยกว่า 15 ปี หรือสารสำคัญซึ่งก็คือ ‘Substance B’ ได้มาจากการสกัดใบผักบุ้งด้วย 90% Ethanol ต้องการนำมาบริโภคโดยเติมลงในผลิตภัณฑ์อาหาร (ข้อมูลจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)
3. อาหารทางการแพทย์ (Medical Food)
ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ทดแทนยาหรืออาหารเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อโรค ทั้งรูปแบบรับประทาน หรือดื่มแทนอาหารหลักบางมื้อ หรือให้ทางสายยาง เช่น อาหารเหลว เจลลี่ โดยเป็นสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เหมาะสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ทารก หรือผู้ที่มีระบบเผาผลาญผิดปกติ
4. อาหารอินทรีย์ (Organic Food)
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิตหรือแปรรูป โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่สังเคราะห์ทางเคมี ไม่มีการใช้ สารเคมีในการผลิต ไม่ใช้สายพันธุ์ที่ตัดต่อพันธุกรรม (GMO) และไม่เกิดมลพิษในกระบวนการผลิต การปศุสัตว์แบบเกษตรอินทรีย์ ต้องเลี้ยงด้วยอาหารอินทรีย์ ห้ามเจือปนอาหารเคมี ฮอร์โมน และยาปฏิชีวนะ ตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบและส่วนผสม
ทำไม? ตลาด ‘Future Food’ ไต้หวันจึงน่าสนใจ
เนื่องจากประชากรไต้หวันมีประมาณ 23 ล้านคน มี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 32,747 ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลปี 2021) ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้า Future Food และด้วยความที่คนไต้หวันมีความตื่นตัวต่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต ส่งผลให้มูลค่าตลาดโดยรวมฟิวเจอร์ฟู้ดไต้หวัน คาดว่ามีมูลค่ารวม 32,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2050 โดยการบริโภคฟิวเจอร์ ฟู้ด แบ่งตามประเภทได้แก่
1. อาหารเสริมสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ มีมูลค่าตลาด 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไต้หวันมีผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงผู้คนห่วงใยสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายมากขึ้น
2. อาหารจากพืช มูลค่าตลาด 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสถาบันวิจัยอาหารของไต้หวันประเมินว่า ผู้นิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติในไต้หวันมีประมาณเกือบ 3 ล้านคนเลยทีเดียว
3. อาหารอินทรีย์ มูลค่าตลาด 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ชาวไต้หวันมีตื่นตัวด้านความปลอดภัยของอาหารและการรับประทานอาหารปลอดสารพิษเพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น ประกอบกับกระทรวงเกษตรของไต้หวันพยายามส่งเสริมการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์
4. อาหารใหม่ (Novel Food) เป็นการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคมาใช้เป็นอาหาร รวมถึงการพัฒนา กระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อาหารใหม่ที่เป็นกระแสโลกนิยมในปัจจุบันคือการผลิตโปรตีนสังเคราะห์ หรือการแสวงหาแหล่งโปรตีนใหม่ซึ่งโปรตีนจากแมลงกำลังได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าเนื้อสัตว์ อีกทั้งการทำฟาร์มแมลงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าฟาร์มปศุสัตว์
ช่องทางจำหน่ายสินค้า ‘Future Food’ ในไต้หวัน
เริ่มจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะจำหน่ายสินค้าให้ผู้ค้าส่งหรือตัวแทนจำหน่าย ซึ่งจะกระจายสินค้าต่อไปยังผู้ค้าปลีก อาทิ ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือสินค้าเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะร้านค้าทั่วไป ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มที่สำคัญ เช่น Shopee, PChome, MOMO, Ettoday
สำหรับแพลตฟอร์ม PChome นั้น เนื่องจากผู้บริโภคไต้หวันมีความชื่นชอบและให้การยอมรับสินค้าแบรนด์ไทยทำให้ PChome ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน เล็งเห็นโอกาสที่จะขยายตลาดสินค้าไทย จึงก่อตั้ง PChome Thai ขึ้น โดยนำเสนอบริการที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังไต้หวัน และใช้วิธีการจัดซื้อจากเจ้าของสินค้าโดยตรง ทำให้ยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดดและสามารถสร้างความคุ้นเคยในการสั่งซื้อสินค้าไทยให้แก่ ผู้บริโภคไต้หวัน จึงถือเป็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการและ SME ไทยเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้จากการสำรวจของ Market Intelligence Center (MIC), Institute for Information Industry ชี้ว่า ร้อยละ 52.9 ของผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างในไต้หวัน มีการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์อย่างละครึ่ง โดยผู้บริโภคในกลุ่มอายุ 18 - 25 ปี จะมีการซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ในส่วนของช่องทางออนไลน์ที่นิยมสั่งซื้อนั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็นที่รู้จักทั่วไป
แนวโน้มสินค้าอาหารหลังยุคโควิด 19 ที่กำลังได้รับความนิยมในไต้หวัน
1. ขนมขบเคี้ยวที่ช่วยในการย่อยอาหาร มีเส้นใยสูง มีสารอาหารที่ช่วยในการดูแลระบบลำไส้มีส่วนผสมของธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ผักสดและผลไม้สด ให้พลังงานสูง มีน้ำตาลน้อย เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ มีการบริโภคผักและผลไม้น้อย แต่ไม่ลืมที่จะดูแลความงามด้านผิวพรรณ
2. อาหารเนื้อสัตว์ทดแทน (Alternative Meats) ผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกจากพืช (Plant Based Foods) โดยเฉพาะถั่ว เห็ด สาหร่าย ซึ่งให้โปรตีนสูง โดยสัดส่วนผู้บริโภคอาหารแนวมังสวิรัติในไต้หวันมีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรไต้หวัน ในขณะที่ตลาดของผู้นิยมเนื้อจากใยพืชมีประมาณ 6.64 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรไต้หวัน
3. ขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมที่เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย เช่น วิตามินซี สารอาหาร DHA แคลเซียม แลคโตบาซิลลัส
4. เครื่องดื่มที่ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ช่วยลดความเครียดและความกังวล โดยเน้นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ และช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ ช่วยบำรุงรักษาผิวพรรณ
5. อาหารและเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล เช่น ช็อกโกแลตน้ำตาลน้อย น้ำอัดลมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชา น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ที่จำหน่ายในไต้หวันล้วนมีไลน์สินค้าที่ไม่มีน้ำตาลตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ
6. อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ผู้บริโภคชาวไต้หวันโดยเฉพาะผู้หญิงระมัดระวังในเรื่องการรักษารูปร่างให้ดูดีเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่เพียงแต่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้นแต่ยังใช้อาหารเสริมร่วมด้วย
ชี้ช่องส่องโอกาสผู้ประกอบการและ SME ไทย รุกตลาด ‘Future Food’ ไต้หวัน
เนื่องจากอาหารไทยเป็นหนึ่งในอาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมสูงจากชาวไต้หวัน จึงควรผลิตอาหารรสชาติไทยคว้าใจผู้บริโภค อย่างเช่น ต้มยำกุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่มีขนาดเล็กลงเนื่องจากไต้หวัน คนนิยมใช้ชีวิตโสดและมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการผู้บริโภคได้ตรงจุด ขณะที่โปรดักส์ควรมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้ในวัยทำงานซึ่งมีชีวิตเร่งรีบ เช่น การเพิ่มเส้นใยในอาหาร เป็นต้น เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับและพักผ่อนที่ดีขึ้น ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพส่วนมากมักมาในบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กและ สามารถดื่มหมดได้ภายในครั้งเดียว
นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรมองหาลู่ทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายชื่อผู้นำเข้าจากตลาดต่างประเทศ และผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น การเพิ่มปริมาณโปรตีน การยืดอายุ Shelf Life และการผลิตอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น
สนใจขยายตลาดไต้หวัน สามารถค้นหารายชื่อผู้นำเข้าได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น
- Taiwan Vegetarian Association http://www.twva.org.tw/?Module=member&&Parameter=map
- Taiwan External Trade and Development Council: http://www.taiwantrade.com.tw/MAIN/
- Bureau of Foreign Trade, Taiwan: https://fbfh.trade.gov.tw/fb/web/queryBasicf.do
ที่สำคัญต้องมีการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ Future Food ผ่านสื่อท้องถิ่นทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด และแพลตฟอร์ม B2C หรือการจัดทำเมนูพิเศษโดยใช้ Plant based Meat (PbM) เสิร์ฟในร้านอาหาร โรงแรม หรือศูนย์กีฬา เพื่อขยายมูลค่าการส่งออก ทำให้สินค้าอาหารแห่งอนาคตของไทยเป็นที่รู้จักในไต้หวันมากขึ้น ปูเส้นทางการประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ให้กับผู้ประกอบการและ SME ไทยในระยะยาว
สนใจอ่านบทความ ‘Future Food’ เพิ่มเติม :
https://www.bangkokbanksme.com/en/future-food
แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
http://fic.nfi.or.th/futurefood/upload/food_info/file4.jpg
https://www.bbc.com/news/science-environment-61505548
https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/755629/755629.pdf&title=755629&cate=413&d=0
http://www.smartbomb.co.th/program/details/119615
https://www.nia.go.th/media/almanac/2022/01/%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%99.pdf
http://www.firn.or.th/wp-content/uploads/2019/11/Roadmap-2.-Risk-assessment-for-novel-food-in-Thailand-Presentation_-Chaniphun-13.9.2019.pdf