โอกาส SME ไทยใน ‘ตลาดฮาลาล’ หลังวิกฤตโควิด19 จากกลุ่มตลาด Niche ขยายสู่ ตลาด Mass

SME Startup
26/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4732 คน
โอกาส SME ไทยใน ‘ตลาดฮาลาล’ หลังวิกฤตโควิด19 จากกลุ่มตลาด Niche ขยายสู่ ตลาด Mass
banner
 แนวโน้มในอนาคตคาดว่าตลาดอาหารฮาลาลโลก (Halal Food) จะเติบโตมากขึ้นตามความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และตรวจสอบแหล่งที่มาได้ จากผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ทันสมัย ผู้ประกอบการสินค้าอาหารในไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว



อาหารฮาลาล ทุกคนรับประทานได้ จึงขยายตลาดได้ง่าย

ตลาดอาหารฮาลาล สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาล มีผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลกราว 2,140 ล้านคน ถือว่ามีศักยภาพสูงโดยมีมูลค่าการค้าถึงประมาณ 162,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2560 จนขยับจากการเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ไปเป็นตลาดหลัก (Mass Market) หรือตลาดที่มีผู้บริโภคเป้าหมายจำนวนมากและหลากหลายกลุ่มได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลก และกระแสบริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับ 11 ของโลก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะขยายตลาดนี้ 



แนวโน้มตลาดอาหารฮาลาลโลก

ตลาดอาหารฮาลาลมีการแข่งขันสูง มีหลายๆ ประเทศที่พยายามผลักดันตนเองให้เข้าไปสู่การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบต้นน้ำ อาทิ เนื้อไก่ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ที่มีการผลิตเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งออก แต่ไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภคชาวมุสลิมอย่างต่อเนื่อง
      
ขณะเดียวกัน ควรศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารรูปแบบใหม่ ๆ ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการพิจารณาขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีศักยภาพการตลาดสูง โดยใช้ฐานวัตถุดิบในประเทศเป็นตัวสนับสนุน

ทั้งนี้ในปี 2561 ตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่า 1,369 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 17 ของเงินค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นมูลค่านำเข้าอาหารของประเทศหรือรัฐสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม(Organization of Islamic Conference : OIC) จำนวน 57 ประเทศ/รัฐ รวมกันราว 210 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลก ทั้งนี้ ตลาดอาหารฮาลาลโลกมีโอกาสเติบโตอีกมาก จาก 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้ 

ปัจจัยเรื่องจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการศึกษาของ Pew Research Center คาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 จำนวนประชากรมุสลิมโลกเพิ่มขึ้น 2.8 พันล้านคน จากในปี 2553 ที่มีเพียง 1.6 พันล้านคน ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 73 สูงกว่าอัตราการขยายตัว ของจำนวนประชากรจากทุกศาสนา โดยคิดเป็นสัดส่วน 29.67% ของประชากรโลกทั้งหมด
 
นอกจากนี้ มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก ในปี 2563 มีมูลค่ารวม 1.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 48 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 71 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี

ปัจจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารต่ำของประเทศมุสลิม โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศในบริเวณนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชและการทำปศุสัตว์ ส่วนใหญ่จึงยังต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศ

ปัจจัยเรื่องโควิด19 ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิม หันมาเลือกซื้ออาหารฮาลาลมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นว่าอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลมีความสะอาด ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบที่มาได้ (Traceability) ตามหลักการที่สำคัญดังนี้

'มาตรฐานฮาลาล' มีหลักในการปฏิบัติเกี่ยวกับอาหารอย่างไร

1.สัตว์ที่นำมาประกอบอาหารต้องผ่านกระบวนการเชือดที่ถูกต้องตามหลักอิสลาม

2.วิธีการได้มาของอาหารต้องถูกต้อง คือไม่ใช่การลักขโมยหรือได้มาโดยมิชอบ

3.ต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สะอาด และไม่มีสิ่งเจือปนจากสิ่งสกปรก เช่น ไม่รับประทานสัตว์ที่ตายเอง เนื่องจากอาจตายเพราะการระบาดของโรค หรือการไม่รับประทานเลือดสัตว์เพราะอาจมีเชื้อโรคที่อันตรายหรืออาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดความมึนเมาหรือเป็นพิษ และก่อให้เกิดอันตราย อย่างนี้เป็นต้น

4.อุปกรณ์ ภาชนะบรรจุอาหารและสถานที่ในการผลิตต้องสะอาด

5. เจ้าหน้าที่ควบคุมการผลิตหรือปรุงผลิตภัณฑ์ต้องเป็นมุสลิม

6.ระหว่างการขนย้าย ขนส่งหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาล สินค้าต้องไม่ปะปนกับสิ่ง ต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ



ผู้บริโภคมั่นใจ ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลชั้นนำของโลก

ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก โดยมีมูลค่าส่งออกรวมประมาณ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.44 ของตลาดโลก โดยสินค้าอาหารฮาลาลที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สด ผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อไก่) และอาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่สุดในโลก คือ สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.91 ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน และฝรั่งเศส รวมถึงไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศมุสลิม โดยไทยมีผู้ประกอบการสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศราว 1.4 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้ราวร้อยละ 95 หรือกว่า 1.33 แสนราย ต่างก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการมุสลิม

สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดฮาลาล เปิดกว้างในการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการ SME ไทยที่มีโอกาสเจาะตลาดอาหารฮาลาลได้มากขึ้นในอนาคต 



ตลาดเป้าหมายของไทยในการส่งออกอาหารฮาลาล

จากการประเมินตัวเลขจำนวนประชากรมุสลิม รวมทั้งความต้องการอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่าตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพคือ ตลาดอาหารฮาลาลที่เป็นประเทศมุสลิม (OIC) ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางเป็นตลาดหลักของอาหารฮาลาล กลุ่มประเทศตะวันออกกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง มีประชากรรวม 396 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ถือเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรมุสลิมมากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งหมด อีกทั้งเป็นภูมิภาคที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลเป็นส่วนใหญ่ 

โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปทั้ง 2 ตลาดนี้รวมกันประมาณปีละ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าอาหารฮาลาลที่ไทยเน้นส่งออก คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป คิดเป็นร้อยละ 43.6 ของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทยไปยังสองตลาดนี้ ข้าว ร้อยละ 17.6 ผัก-ผลไม้กระป๋องและแปรรูป รวมถึงน้ำผัก-ผลไม้ ร้อยละ 8.3 ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ร้อยละ 5.5 น้ำตาลทราย ร้อยละ 3.3 และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.7


นอกจากนี้ ประเทศนอกกลุ่มประเทศมุสลิม (Non-OIC) แต่มีความต้องการนำเข้าอาหารฮาลาลจำนวนมาก  คือ  อินเดีย จีน และสิงคโปร์ อย่างประเทศอินเดียมีจำนวนประชากรมุสลิมมากถึง 195 ล้านคน นอกจากนี้รัฐทางภาคเหนือของอินเดียนิยมบริโภคมังสวิรัติ และสามารถขยายฐานไปสู่ตลาดฮาลาลได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม การรุกตลาด อาหารฮาลาลในประเทศเหล่านี้ ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาให้รอบด้าน เนื่องจากแต่ละตลาดมีโอกาสและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน



แนวโน้มตลาดสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญ 5 กลุ่ม

1. เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลฮาลาล ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลสำหรับชาวมุสลิมเป็นตลาดเฉพาะ สำหรับไทยซึ่งมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ในปี 63 ไทยส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ มูลค่า 2,916 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 1.26% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย โดยส่งออกไปยังตลาดสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา จึงถือว่าไทยมีโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปยังตลาดชาวมุสลิมได้อีกมาก

2. อาหารฮาลาล ปัจจุบันไทยมีการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายแก่ชาวมุสลิมในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้มีวัตถุดิบคุณภาพดีที่หลากหลายและปริมาณที่เพียงพอป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตลอดทั้งปี อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความเข้มแข็ง ผู้ผลิตมีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร มีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ที่ผ่านมาจึงมีข้อจำกัดในการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดมุสลิม ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาล โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลเพื่อให้ผู้บริโภคมุสลิมเชื่อมั่นในอาหารฮาลาลไทยมากขึ้น

3. การท่องเที่ยวฮาลาล ข้อมูลจาก Mastercard-Crescent Rating พบว่า ในปี 61 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ชาวมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุด และจากการจัดอันดับประเทศปลายทางที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศ OIC ที่เป็นมิตรกับมุสลิมที่สุด ในปี 62 ไทยได้อันดับที่ 2 รองจาก สิงคโปร์

ดังนั้นภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ไทยอาจพิจารณาส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการกระตุ้นและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของไทยด้วย

4. แฟชั่นสำหรับชาวมุสลิม จากแนวโน้มการเติบโตของชาวมุสลิมทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ชาวมุสลิมจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพและมีการเติบโตอย่างมากในตลาดแฟชั่น ประเทศที่ครองตำแหน่งอันดับประเทศที่มีการใช้จ่ายสำหรับเครื่องแต่งกายและรองเท้ามากที่สุด ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ดี แม้การแพร่ระบาดของโควิด19 จะส่งผลกระทบ แต่กลับส่งผลดีต่อการค้าแบบออนไลน์ซึ่งมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น

5. เวชภัณฑ์ฮาลาล เป็นผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนผสมที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายชารีอะห์ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาสนาอิสลาม ประเทศที่มีการใช้จ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ยามากที่สุด คือ ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ

ปัจจุบันยังไม่มียาและส่วนผสมที่ได้รับการรับรองฮาลาลเพียงพอที่จะครอบคลุมความต้องการใช้ยาของชาวมุสลิม เนื่องจากมาตรฐานฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลยังไม่ถูกนำมาใช้ การระบาดของโควิด19 เป็นปัจจัยผลักดันนวัตกรรมใน ภาคการดูแลสุขภาพ ประกอบกับการแนวโน้มการดูแลรักษาสุขภาพเป็นตัวดึงดูดความสนใจของนักลงทุนมากขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมในด้านนี้เติบโตได้ในอนาคต



ทำอย่างไร? ให้ได้เครื่องหมาย ‘ฮาลาล’

สำหรับในประเทศไทยการยื่นขอ ‘ตราฮาลาล’ ต้องผ่านกระบวนการดังนี้..

กรณียื่นขอเครื่องหมายฮาลาลแบบนิติบุคคล
– ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท
– หนังสือรับรองจากสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (อายุไม่เกิน 6 เดือน)
– ใบอนุญาตตั้งโรงงานแบบ รง.2 หรือ รง.4 (ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงาน)
– ใบอนุญาตผลิตอาหาร (อ.2)
– คำขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร (อ.17)
– ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร (อ.18)
– หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (คม.1)
– คำขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร สบ. 3 หรือ สำเนาการใช้ฉลากอาหาร แบบ ฉ.1
– แบบจดทะเบียนอาหาร (สบ.๕)
– หนังสือแสดงรายละเอียดวิธีการผลิต , ขั้นตอน , วัตถุดิบ , ส่วนผสม
– ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเพื่อประกอบการพิจารณาเบื้องต้น
– แผนที่ตั้งโรงงาน

ขั้นตอนการขอเครื่องหมายฮาลาล
1. ยื่นความจำนงเข้ารับการพิจารณารับรองเครื่องหมายฮาลาล 
2 .ยื่นคำขอและพิจารณาคำขอเครื่องหมายฮาลาล
3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานประกอบการ 
4. พิจารณาผลการตรวจสอบ และให้หนังสือรับรอง
5. ติดตามและประเมินผล
    
ทั้งนี้ ‘ตราฮาลาล’ จะประทับหรือแสดงบนฉลาก ผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใดๆ โดยใช้สัญลักษณ์ภาษาอาหรับว่า ‘ฮาลาล’ ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า ‘สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย’ จะออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารด้วย 



ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยมากกว่า 1 แสนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราฮาลาล ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีตราฮาลาล แสดงบนฉลากสินค้าที่หลากหลายมากที่สุดในโลก



จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ไทยมีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน ผู้ประกอบการก็มีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล และไทยมีวัตถุดิบขั้นพื้นฐานที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังนั้น ไทยจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการไปยังตลาดมุสลิม รวมทั้งตลาดที่ไม่ใช่มุสลิม ก็มีแนวโน้มจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นฮาลาลมากขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าอาหารฮาลาลสะอาด ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ และกล่าวได้ว่านี่จึงเป็นอีกเทรนด์ที่ผู้ประกอบการอาหาร SME ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 


ที่มา : ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
https://www.ditp.go.th/contents_attach/709499/709499.pdf
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
http://halalinfo.ifrpd.ku.ac.th/index.php/th/halal-certification-menu-th/the-process-of-halal-certification-th#
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) https://web.facebook.com/TPSO.MOC/posts/2810567672590844/?_rdc=1&_rdr
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
https://www.acfs.go.th/halal/halal_cert.php


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2173 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4369 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2178 | 22/12/2022
โอกาส SME ไทยใน ‘ตลาดฮาลาล’ หลังวิกฤตโควิด19 จากกลุ่มตลาด Niche ขยายสู่ ตลาด Mass