ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

SME Go Inter
04/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2761 คน
ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?
banner
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลก ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยมีจุดพลิกผันสำคัญนับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ส่งกองกำลังทหารเข้าไป “ปฏิบัติการณ์พิเศษ” จนทำให้นานาชาติใช้มาตรการในการคว่ำบาตรรัสเซีย

โดยมาตรการคว่ำบาตรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย ก็มีตัวอย่างเช่น

-การคว่ำบาตรทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดธนาคารของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ที่เป็นระบบสื่อสารการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ที่มีสมาชิกเป็นสถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่ง ซึ่งสร้างความลำบากในการธุรกรรม
 
-การห้ามส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปที่รัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลากหลาย ตั้งแต่การทหารไปจนถึงสินค้าทั่วไป
 
-การแบนสินค้าของรัสเซียและการเลิกทำการค้าจากภาคเอกชน เช่น การที่บริษัท BP และ Exxon Mobil ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนมูลค่ารวมกันหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐออกจากรัสเซีย การแบนห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัสเซียในหลายประเทศ หรือ แม้แต่การที่ Apple และ Google ได้ตัดบริการการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง
 
มาตรการคว่ำบาตรที่ออกมาทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ทางรัสเซียกำลังเจอกับภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจอยู่หลายประการ
 
ปัญหาในภาคตลาดการเงิน สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยหลังจากตลาดในต่างประเทศเปิด เงินรูเบิลก็อ่อนค่าลง 30% แทบจะทันที เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหุ้นรัสเซียก็มีมูลค่าลดลงไปกว่า 40% จนมีการห้ามชาวต่างชาติขายหุ้น เพื่อนำเงินออกจากรัสเซีย และก็มีการสั่งปิดทำการตลาดไปก่อนเพื่อระงับความสูญเสียไปก่อน
 
ปัญหาเงินเฟ้อในรัสเซียก็เป็นปัญหาที่น่ากังวลใจเช่นกัน โดยก่อนที่ความขัดแย้งจะยกระดับขึ้นมา เงินเฟ้อของรัสเซียก็อยู่ในระดับมากกว่า 8% มากกว่า 4 เดือนแล้ว โดยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 8.73%
 
แต่เมื่อมีปัญหาการอ่อนค่าของสกุลเงินรูเบิลจากการคว่ำบาตรเข้ามาซ้ำเติม ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยิ่งน่ากังวลกว่าเดิม โดยอดีต เมื่อครั้งที่รัสเซียถูกคว่ำบาตร ช่วงวิกฤติไครเมียร์ เงินเฟ้อของรัสเซียก็เคยพุ่งไปแตะระดับสูงกว่า 16%
 
ประชาชนในประเทศรัสเซียไม่มั่นใจในระบบธนาคารในรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ จนพากันไปถอนเงินสดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดวิกฤติสภาพคล่องในภาคธนาคารอีก ซึ่งจะซ้ำเติมโครงสร้างเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีการพึ่งพาภาคธนาคารอย่างมาก

อย่างกรณีของธนาคารที่มีขนาดใหญ่สุดของรัสเซีย “Sberbank” ล่าสุดก็มีการต้องปิดสาขาในยุโรปทั้งหมดจนมูลค่าของหุ้นธนาคารลดลงไปมากกว่า 90%
 
ทางธนาคารกลางของรัสเซียก็พยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินและราคาเช่นกัน โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทีเดียวจาก 9.5% (ที่ค่อนข้างสูงแล้ว) เป็น 20%


 
อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงขนาดนี้ก็อาจจะส่งผลเสียอย่างมากแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต้นทุนทางการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้เช่นกัน

 
และอันที่จริง ก็ยังมีอีกหนึ่งมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงที่ยังไม่ถูกนำมาใช้กับทางรัสเซีย มาตรการนั้น คือ การตัดการซื้อสินค้าปิโตรเลียมจากรัสเซียอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นการตัดรายได้ที่สำคัญของรัสเซีย โดยสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซีย ในปีพ.ศ. 2563 มากกว่า 40%



อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการคว่ำบาตรนี้ ก็จะส่งผลย้อนกลับไปที่ทวีปยุโรปรวมถึงทั่วโลก ที่จะขาดส่งออกแหล่งพลังงานคนสำคัญ ซึ่งจะไปซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศขณะนี้
 
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับประเทศไทย ผลกระทบทางการค้าโดยตรงที่เกิดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ในภาพรวมแล้วยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก ในกรณีการค้าขายกับรัสเซีย ในปี 2564 ที่มีมูลค่ามากกว่าการค้าขายกับยูเครนแล้ว ก็ยังมีมูลค่าไม่ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นไม่ถึง 1 % ของมูลค่าการค้าขายทั้งหมดของประเทศ
 
ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยสู่รัสเซีย ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรและส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

และสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากรัสเซีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (49.06%) เหล็กและเหล็กกล้า  (10.7%) ปุ๋ย (10.4%) อะลูมิเนียม (8.31%) เป็นต้น
*เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าทั้งหมดระหว่างไทยกับรัสเซีย
 
ถึงแม้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จะไม่ส่งผลต่อการค้าของไทยโดยตรงในภาพรวม แต่ในระดับรายย่อยที่ทำการค้ากับรัสเซียหรือยูเครนเอง ก็จำเป็นต้องมองหาวิธีในการป้องกันความเสี่ยงและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาทางด้านการทำธุรกรรมการเงินกับทั้งสองประเทศ
 
ผลกระทบด้านต่อมา คือ ตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซีย ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยมาหลายปี
 
โดยในอดีต เมื่อทางรัสเซียเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ก็จะส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่เข้าไทยลดลงไปด้วย อย่างในตอนปี พ.ศ. 2558 ที่รัสเซียเจอปัญหาการคว่ำบาตรจากหลายประเทศเช่นกัน จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียก็ลดลงไปเกือบ 50% จากประมาณ 1,600,000 คน เหลือไม่ถึง 900,000 คน
 
แต่หลังจากนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียก็ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด โดยในปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาเที่ยวไทยเป็นจำนวนเกือบ 1.5 ล้านคน มากเป็นอับดับ 7 จากทุกชาติ

 
 
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของนักท่องเที่ยวมากนักในระยะสั้น เนื่องจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายอย่างสมบูรณ์  ทำให้นักท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็ยังค่อนข้างซบเซา
 
อีกหนึ่งปัญหาที่กลายเป็นที่กังวลในระดับโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็คือ ผลกระทบทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งแม้ในตอนนี้ ยังไม่มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับทางรัสเซียในเรื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอย่างเด็ดขาด แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นไปท่ามกลางความไม่แน่นอนของความขัดแย้งแล้ว
 
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent Crude Oil) ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงน้ำมันในทวีปยุโรป ก็ปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบประมาณ 10 ปี
 

 
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อื่นก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามกัน เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตโลหะที่สำคัญรายหนึ่งของโลก ทั้งเหล็ก อลูมิเนียม และนิกเกิล
และยังมีส่วนของข้าวสาลี ซึ่งเมื่อรวมกับทางยูเครนคิดเป็นกว่า 25% ของการผลิตทั้งโลก
 
ทำให้ตอนนี้ ผู้คนยอมจ่ายซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในราคา ที่แพงกว่า ราคาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 1 ปีเกินกว่า 10% แล้ว (อ้างอิงจากดัชนีที่คำนวณโดย Bloomberg ที่มีการถ่วงน้ำหนักหลายสินค้า) เพราะไม่ไว้ใจในสถานการณ์ในอนาคต


 
ซึ่งถ้าปัญหาความขัดแย้งยังยืดเยื้อต่อไปยาวนาน ปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะยิ่งทวีความรุนแรง และส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของผู้คนสูงขึ้นไปตาม
 
สรุป
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้มีการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจากนานาชาติตามมานั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของตลาดการเงินและภาวะเงินเฟ้อ

แต่ผลกระทบโดยตรงกับการค้าและการท่องเที่ยวกับไทยในระยะสั้น อาจจะยังไม่รุนแรงมากนักด้วยสัดส่วนการค้าที่ต่ำและภาวการณ์ท่องเที่ยวที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นความเสี่ยงที่สามารถกระทบกับเงินเฟ้อของทั่วโลกรวมถึงไทย ที่จำเป็นต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด
 
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics

Reference :
https://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ172.aspx?fbclid=IwAR32FnN_y1gsWLD0SZdzB2DjEQZ_mUs-oWgPRIVlnomT5P7sRqThRZYp90A

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-02/commodities-hit-new-highs-as-traders-refuse-to-buy-from-russia
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-02-23/china-opposes-russia-sanctions-calls-u-s-actions-immoral?fbclid=IwAR1qO1YPY0P09hHzoLgdsFiXnYcG5dCWC275OVBynsUD3GRHJAiOJeX8tNs

https://tradingeconomics.com/russia/inflation-cpi


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6539 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2112 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5184 | 23/10/2022
ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?