‘บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง’ สร้างธุรกิจขวดแก้วรีไซเคิล ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยโมเดล Circular Supply Chain

SME in Focus
07/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5838 คน
‘บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง’ สร้างธุรกิจขวดแก้วรีไซเคิล ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยโมเดล Circular Supply Chain
banner
เปิดเส้นทางความสำเร็จ ‘บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง’ ผู้นำในบ้านเราด้านธุรกิจรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์จากแก้วที่สร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโตได้ด้วยแนวคิดความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความอย่างยั่งยืนผ่านโมเดล Circular Supply Chain ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ




การพัฒนาธุรกิจ ต้องทำจนเกิดความชำนาญ

คุณเพ็ญศิริ บุณยโพธิกุล Head of Strategist & CFO บริษัท บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด (BSR) เล่าว่า บริษัทเริ่มก่อตั้งธุรกิจขึ้นในปี 2552 โดยช่วงเริ่มต้นมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ และได้รับคำแนะนำจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากเข้าอบรมสัมมนากับสถาบันทางการเงินธนาคารกรุงเทพ เรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ จึงนำองค์ความรู้ที่ได้จากการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาและต่อยอดในการทำธุรกิจ



หลังจากนั้น ได้ทำการทดลองปฏิบัติจนเกิดความชำนาญในด้านการผลิตและจัดการระบบภายในองค์กร ทั้งเรื่องการควบคุมต้นทุน และการควบคุมคุณภาพ จนประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในตลาดและสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องจนมีโรงงานที่เป็นฐานการผลิตถึง 2 แห่ง คือ ที่อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทได้นำ Digital Technology เข้ามาปรับใช้กับทุกภาคส่วนขององค์กร ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) จาก สวทช. ส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัล Best Practice ซึ่งเป็นการการันตีว่ามีการบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :





ร่วมทุนเพื่อต่อยอดการเติบโต

ต่อมาในปี 2562 บริษัทได้เล็งเห็นถึงโอกาสประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการ และรองรับการเติบโตในอนาคต จึงร่วมทุนกับ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดย BGC ถือหุ้นในสัดส่วน 26% และกลุ่มครอบครัว BSR ถือหุ้นในสัดส่วน 74% ทั้งนี้ การร่วมทุนดังกล่าว ถือเป็นการ Transform จากผู้ประกอบการ SME ที่เริ่มจากธุรกิจครอบครัวสู่ธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งมีกำลังผลิตเพิ่มสูงขึ้น สามารถจัดส่งวัตถุดิบเพื่อซัพพลายลูกค้าในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการยกระดับเพื่อพัฒนาระบบภายในองค์กรให้มีศักยภาพในการทำงานที่ทันสมัย และผลิตสินค้ามีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้าและพันธมิตรเป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดการส่งสินค้าหรือวัตถุดิบให้กับ BGC และลูกค้าในกลุ่มเบฟเวอเรจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 20,000 - 25,000 ตันต่อเดือน และมีส่วนแบ่งการตลาดในเมืองไทยอยู่ที่ 25% 



พร้อมกันนี้ ยังนำแนวทางการพัฒนามาถ่ายทอดให้กับบุคลากรของบริษัท โดยมุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานมีความศรัทธาต่องานที่ทำอยู่ว่าเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน พร้อมทั้งมอบสวัสดิการและผลตอบแทนที่ดีอย่างเหมาะสม เพื่อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการผลักดันองค์กรให้เติบโตก้าวไปข้างหน้าสู่เป้าหมายในการประสบความสำเร็จร่วมกันได้อย่างมั่นคง




สร้างเครือข่าย Circular Supply Chain

ด้านคุณเชษฐพงษ์ บุณยโพธิกุล COO บริษัท บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด ให้ความรู้ว่า เนื่องจากบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้า Reuse และ Recycle ที่เน้นการใช้ทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมุ่งสร้างการพัฒนาเครือข่ายในธุรกิจพร้อมกับการพัฒนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีการส่งเสริมให้คู่ค้ามีการกำกับแลดูและกิจการที่ดี ผ่านการให้ความรู้และให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งด้านงบประมาณและการส่งต่อองค์ความรู้เพื่อให้เติบโต - ประสบความสำเร็จควบคู่ไปกับบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ 


 
ทั้งนี้ บริษัทมีเครือข่ายในการรับซื้อขวดแก้วหรือเศษแก้วมาจากหลายแหล่งทั่วทั้งประเทศ เช่น ร้านขายของเก่า, โรงงานรับซื้อ - ขายของเก่า, และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น พร้อมทั้งร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรีไซเคิลต่างๆ จัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะสำหรับนำไปรีไซเคิล โดยจำแนกประเภททั้งขวดแก้ว พลาสติก และกระดาษ ที่ใช้แล้วนำส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมปลายทางเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปหรือรีไซเคิลต่อไป




สร้างการรับรู้ ‘แปลงขยะเป็นมูลค่า’

คุณเพ็ญศิริ เล่าต่อว่า บริษัทได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสร้างโมเดลคัดแยกขยะ และสร้างการรับรู้ให้กับบุคลากรในองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรู้คุณค่าของขวดแก้วที่สามารถนำกำลับมาใช้ซ้ำ (รีไซเคิล) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

รวมทั้งยังมีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มเก็บข้อมูล เพื่อการจัดการขยะที่นำสู่การรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่าง GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) ช่วยให้คนสามารถแยกและขายขยะรีไซเคิลอย่างขวดแก้วหรือเศษแก้วได้อย่างง่ายดาย และยังเชื่อมโยงให้บริษัทเข้าถึงคนที่อยากขายขวดแก้วได้สะดวกยิ่งขึ้น เพียงทักไลน์ หรือติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน GEPP ก็จะมีรถไปรับซื้อถึงที่




ทันสมัย ใส่ใจการผลิต พิชิตใจลูกค้า

สำหรับขวดแก้วที่ใช้แล้วจะผ่านกระบวนการรีไซเคิลโดยเริ่มจาก Pretreatment Processes ซึ่งเป็นการคัดกรองและจัดเตรียมขวดแก้วก่อนปรับสภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกระบวนการ Treatment Processes หรือปรับสภาพเพื่อคัดแยกส่วนประกอบที่ไม่ต้องการออกไปด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก่อนนำเศษแก้วมาเข้าสู่กระบวนการบดย่อย หลอม และนำไปสู่ขั้นตอนการผลิตอื่นๆ ตามลำดับ โดยข้อดีของการนำเศษแก้วมาผสมกับวัตถุดิบบริสุทธิ์จะช่วยลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาไหม้ได้ ซึ่งนำไปสู่การบริหารต้นทุนในกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี 

ทั้งนี้ ยังมีการมีการตั้งมาตรฐานการตรวจสอบเศษแก้วหรือขวดแก้วก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างเข้มงวดเพื่อคัดแยกสิ่งปนเปื้อนออกให้ได้มากที่สุด โดยกระบวนการนี้จะใช้ทั้งแรงงานคน และเครื่องจักรสแกนวัตถุดิบอย่างละเอียด เพื่อนำส่วนที่ไม่ใช่แก้วออกไปจากระบบ เช่น ฉลากที่เป็นกระดาษ หรือฝาที่เป็นโลหะที่อาจติดมา จากนั้นจึงจะนำไปบดละเอียดเพื่อทำการหลอมอีกครั้ง

ด้วยความที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญและใช้มาตรฐานในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างเข้มข้น บนพื้นฐานความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ส่งผลให้ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่ใส่ใจในเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียว ให้ร่วมพัฒนางานและผลิตสินค้าที่มีความยากเป็นพิเศษหรือมีความซับซ้อนสูงแล้วหลายครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี




บรรจุภัณฑ์แก้ว ใช้แล้วดีอย่างไร

ปัจจุบันแม้ว่าจะมีบางอุตสาหกรรมเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เพราะมีน้ำหนักเบาช่วยให้สามารถลดต้นทุนด้านค่าขนส่งลงเป็นหนึ่งในการบริหารต้นทุนที่ดี ขณะเดียวกันจากการสำรวจเทรนด์ในปัจจุบันพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ช่วยยกระดับทำให้สินค้ามีความเป็น ‘พรีเมียม’ ให้ความรู้สึกต่อผู้บริโภคว่าเป็นของดีดูมีราคาแพง
2. เหมาะกับสินค้าที่รับประทานได้ เพราะไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร จึงไม่ส่งผลให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป
3. เหมาะกับบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง เพราะมีความโปร่งใส ทำให้มองเห็นผลิตภัณฑ์ภายใน
4. ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเรียบง่ายแต่ดูดีมีระดับ
5. เทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีนโยบายมุ่งเน้นในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมา Recycle

ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วยังนับว่าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในโมเดล Circular Supply Chain ที่อุตสาหกรรมโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะสามารถนำขวดแก้วกลับมา Reuse และนำเศษแก้วกลับมา Recycle หลอมใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยสามารถตามจัดเก็บขวดแก้วที่ใช้แล้วกลับมาสู่กระบวนการนำมาใช้ใหม่ได้ถึง 60 - 70% จากจำนวนที่ผลิตไปทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนที่หายไปเป็นอาจเพราะส่วนหนึ่งคนไทยยังทิ้งขวดแก้วเพราะมีจุดรับคืนไม่ทั่วถึง ต่างจากประเทศในฝั่งยุโรปที่สามารถตามเก็บขวดกลับมาได้ถึง 90% เพราะมีจุดรับคืนที่เข้าถึงได้ง่าย



ปัจจุบันมีลูกค้าเลือกใช้บริการบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยระบบการจัดการที่ดี รวมทั้งมีการจัดทำและรวบรวมฐานข้อมูลเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้า ถือเป็นจุดแข็งจุดเด่นในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันได้ เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพและมาตรฐานของ ‘บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง’ ในการเป็นซัพพลายเชนธุรกิจสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับ Circular Supply Chain จนประสบความสำเร็จมีลูกค้าทั้งจากเมืองไทยและต่างประเทศ


รู้จัก ‘บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง’ เพิ่มเติมได้ที่

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
57 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
410 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
381 | 22/04/2024
‘บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง’ สร้างธุรกิจขวดแก้วรีไซเคิล ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยโมเดล Circular Supply Chain