7 ความผิดพลาดทำธุรกิจไม่ปัง แต่‘พัง’ก่อนถึงเป้าหมาย

SME Startup
05/02/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 11344 คน
7 ความผิดพลาดทำธุรกิจไม่ปัง แต่‘พัง’ก่อนถึงเป้าหมาย
banner

หลายคนมีความฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพื่อปูทางให้อนาคตในเรื่องของรายได้ ตลอดจนการมีรายได้แบบ  Passive Income จึงเดินเข่าสู่การเริ่มต้นลงมือทำธุรกิจที่สนใจอย่างจริงจัง บ้างก็ประสบความสำเร็จไปถึงเป้าหมายได้อย่างสวยงาม บ้างตกม้าตายเกลื่อนกลาดกลางทาง

แม้แต่การทำธุรกิจอย่างเดียวกัน แต่ทำไมอีกคนทำแล้วรายรับพุ่งธุรกิจขยายเติบโต ส่วนอีกคนหนึ่งกลับตกต่ำซบเซาไปจนถึงต้องปิดประตูหนีก็มี แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขาพบกับผลลัพธ์ที่แตกต่าง ทั้งที่มีต้นทุนตัวแปรในแบบเดียวกัน

นี่คือบทวิเคราะห์ที่ตีแผ่จากประสบการณ์จริงของผู้ตกม้าลงมานอนจุกอกอยู่บนพื้นถนน จากการทำธุรกิจแล้วพัง Start แล้วไปได้ไม่ถึงไหน ที่ควรศึกษาไว้เป็นแนวทางเพื่อป้องกันการทำพลาด

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


1. ขาดการวางแผนธุรกิจ  การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้ามในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะนี่จะเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้ความคิดฟุ้งซ่านที่วิ่งวุ่นอยู่ในหัว กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้และช่วยผลักดันธุรกิจไปได้อย่างถูกทิศทาง ในการทำธุรกิจจะอาศัยแรงจูงใจหรือ Passion เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าใจหมดไฟจะทำให้ไปต่อไม่เป็น

ดังนั้นหากมีความคิดไอเดียอะไรดีๆ ควรร่างมันออกมาเป็นแบบแผนในการดำเนินงานตามสเต็ปขั้น และมีไทม์ไลน์ในการบริหารจัดการที่เด่นชัด เพราะแผนธุรกิจนี้เปรียบเสมือนหางเสือเรือที่จะช่วยบังคับทิศทางการดำเนินธุรกิจ ให้ไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่เดินสะเปะสะปะหลงทิศ นอกจากนี้หากธุรกิจก้าวหน้าไปได้ดี ยังสามารถใช้แผนธุรกิจนี้ยื่นกู้ขอเงินทุนเพิ่มเติมจากธนาคารต่างๆ ได้อีกด้วย

2. เงินทุนหมุนเวียนไม่มากพอ  แน่นอนว่าการเริ่มต้นธุรกิจนั้นต้องเริ่มจากการมีเงินทุนหมุนเวียนในระดับหนึ่ง เพื่อใช้ดำเนินการต่างๆ ไปพร้อมกับต้องเตรียมใจยอมรับความเสี่ยงไปด้วยว่า ธุรกิจที่ทำอยู่อาจไม่สร้างกำไรให้ในทันที บางธุรกิจอาจต้องยอมขาดทุนเป็นหลายสิบปี กว่าจะเห็นผลกำไร ยกตัวอย่างเช่น Facebook เคยขาดทุนมาแล้วถึง 1,800 ล้านบาทใน ปี ค.ศ.2007 ถึงแม้ในปีนั้นจะมีรายได้สูงถึง 8,900 ล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก 50 ล้านคนก็ตาม

ต่อเมื่อผ่านไป 13 ปี Facebook สามารถทำกำไรได้สูงถึง 522,000 ล้านบาท ในปี ค.ศ.2017 จากยอดผู้ใช้งานทั่วโลก 2,000 ล้านคน ดังนั้นในขณะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ อาจต้องเผื่อเงินทุนไว้สำรองด้านต่างๆ ให้มากพอที่จะทนอยู่ในสภาพขาดทุนไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราไม่สามารถออกทะเลหาปลาแล้วจะได้ปลากลับมาทุกวัน

3. ตัวตนไม่ชัดเจน  หากคิดจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด่นชัดหรือสร้างความชำนาญมากพอ จนสิ่งที่เราทำสามารถขายตัวมันเองได้ หากทำหลายอย่างมากเกินไป หรือ เสนอขายหลายสิ่งมากไป จะทำให้ลูกค้าหรือตัวตนของธุรกิจไม่ชัดเจน เกิดความสับสน ในภาพจำและเข้าใจธุรกิจคลาดเคลื่อน

เห็นได้จาก ร้านโดนัท ไม่นิยมขายไก่ทอดหรือสินค้าอื่นๆ นอกจากโดนัทกับเครื่องดื่ม หรือแม้แต่ร้านไก่ทอดเอง ก็ไม่แตกไลน์โปรดักส์ไปเป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจากไก่ทอด ทั้งๆ ที่สามารถขายโดนัทได้ นั่นเพราะเขาต้องการสร้างภาพจำในแง่ของความชำนาญให้เกิดขึ้นมาในหัวลูกค้าว่า หากต้องการทานไก่ทอดจะต้องนึกถึงแบรนด์นี้เท่านั้น เพราะนี่คือสูตรต้นตำหรับที่ใครๆ ก็ยากเลียนแบบหรือทำได้ดีเทียบเท่า ดังนั้นการทำอะไรหลายอย่างมากเกินไปจึงทำให้เอกลักษณ์ของธุรกิจที่ทำไม่ชัดเจน

4. หย่อนวินัย  การทำงานประจำ จำเป็นต้องรักษาระเบียบวินัยในการปฏิบัติงานหรือให้เวลาทำงานอย่างไร การทำธุรกิจส่วนตัวยิ่งต้องเข้มงวดขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะนี่คือชีวิตของเราเอง ธุรกิจของเราเอง จะมาชิวๆ สโลว์ไลฟ์ เปิด-ปิดร้านตามใจ นำเสนอขายในสิ่งที่ชอบและอยากขายโดยไม่สนใจกระแส การตลาดและเทรนด์โลกไม่ได้

อย่าลืมว่าการออกมาเริ่มต้นทำธุรกิจ คือการก้าวขาขึ้นมาบนเรือที่เราต้องขับเคลื่อนด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ของตัวเอง หากธุรกิจพังนั่นเท่ากับว่าชีวิตเราก็พังลงไปด้วย นอกจากนี้ยังไม่ได้มีเพียงเราคนเดียวที่ทำธุรกิจแบบนี้ ยังมีคู่แข่งอีกมากมายรอวิ่งแซงหรือแม้แต่เหยียบทับเราไปข้างหน้ารายล้อมอยู่ด้วย วินัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผน การปฏิบัติตามแผนงาน การใช้เวลา การเข้าพบลูกค้า ล้วนต้องมีวินัยกำกับทุกขั้นตอน

5. ไม่มีการแยกแยะทำบัญชี  มีผู้ประกอบการหลายคนเริ่มต้นทำธุรกิจโดยไม่สนเรื่องการทำบัญชี งบดุล  รายรับ รายจ่าย ในแต่ละเดือน รวมไปถึงไม่มีการตั้งเป้าหมายและค่าแรงให้ตัวเอง ทำให้มองไม่เห็นภาพของธุรกิจที่ทำอยู่ว่าสร้างรายได้ ให้ผลกำไรหรือขาดทุน หากเป็นอย่างนี้ก็มีแนวโน้มที่แน่ชัดว่าธุรกิจนี้จะมีปัญหาเรื่องการเงินหมุนเวียนต่อมาในอีกไม่นาน

เพราะการแยกแยะเงินทุนหมุนเวียนออกจากผลประกอบการ และตั้งค่าจ้างแรงงานให้ตัวเอง จะช่วยกันปัญหาการดึงเงินทุนจากกิจการไปใช้นอกระบบในทางอื่นได้  ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำในการทำธุรกิจคือ ต้องตั้งเงินเดือนให้ตัวเองด้วยว่าควรจะมีรายรับเท่าใดในแต่ละเดือน ถึงจะพอกับการใช้ชีวิต พร้อมกับวางเป้าหมายของผลประกอบการในแต่ละเดือนควบคู่กันไป ว่าควรต้องทำเป้าเท่าไหร่ มีรายรับ หักลบรายจ่ายแล้วเหลือผลกำไรเท่าไหร่ ธุรกิจจึงจะเดินต่อไปได้ การทำบัญชีจึงช่วยให้สามารถวิเคราะห์ทิศทางธุรกิจได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม

6. ขาดการคิดวิเคราะห์และทำการตลาด  รู้หรือไม่ว่าการเก็บสถิติต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลการซื้อขาย รวมไปถึงข้อมูลสถิติต่างๆ เช่น ถ้าทำธุรกิจเกี่ยวกับเว็บไซต์ การเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับยอดผู้คนที่เข้ามาใช้งานเว็บ รวมถึงพฤติกรรม ระยะเวลาการใช้งาน รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้นั้น สามารถนำมาปรับใช้ทำเป็นแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อออกแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ กระตุ้นยอดขาย

ตลอดจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวางทิศทางของธุรกิจและวิเคราะห์คู่แข่ง เพื่อหาทางหนีทีไล่ได้ด้วยเช่นกัน การทำการตลาดเป็นสิ่งที่ธุรกิจจะขาดไปไม่ได้เช่นไร การคิดวิเคราะห์เก็บสถิติต่างๆ ก็จำเป็นต่อการทำธุรกิจเช่นเดียวกัน หากขาดทั้งสองสิ่งการทำธุรกิจนั้นอาจต้องดับฝันลงกลางทาง เมื่อมีคู่แข่งเข้ามาโจมตี ก็จะไม่มีทางหนีทีไล่ให้ไปต่อ ดังนั้นจงอย่าพลาดการทำการตลาดจากการเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ มาคิดวิเคราะห์

7. นิยมความสมบูรณ์แบบ ลงทุนไม่หยุด  “ถ้ารอให้พร้อมเราจะไม่ได้เริ่มต้น ต้องเริ่มต้นทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม” นี่เป็นวลีเด็ดที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการ Startup ได้ฉันท์ใด ก็อาจกลายเป็นวลีจูงใจที่ทำให้ลงทุนผิดทิศทางฉันท์นั้น ด้วยในการทำธุรกิจจำเป็นต้องมีการขยับขยายเติบโต หากเริ่มต้นในขณะที่ยังไม่พร้อม แน่นอนว่าต้องมีการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์พร้อมต่อการทำธุรกิจนั้นๆ

ซึ่งในความสมบูรณ์ที่หมายถึงไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ แบบไร้ที่ติที่เป็นภาพฝันในใจ แต่ควรเป็นความสมบูรณ์แบบตามแผนธุรกิจที่ทำโครงร่างไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ลงทุนผิดจุด หลงทิศทาง จนกลายเป็นว่า เงินทุนหดหายกระจัดกระจายไปกับสิ่งไม่จำเป็น การลงทุนในธุรกิจควรมาจากงบดุลย์ที่ตั้งไว้ในแต่ละปี และลงทุนเมื่อถึงจุดที่ควรลงทุน  ไม่ควรลงทุนตลอดเวลา เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการปิดประตูแพ้ไปโดยปริยาย จากผลกำไรที่จะหายไปในต้นทุน สุดท้ายจะกลายเป็นทำธุรกิจแล้วไม่ได้อะไร เพราะผลกำไรหายไปในกองทุน


อย่าคาดหวังว่าการทำธุรกิจจะให้ผลลัพธ์ที่หอมหวานเหมือนคนอื่นที่เราเดินตามเสมอไป ต้องเผื่อใจไว้ในวันที่ไปไม่ถึงฝัน ในวันที่ธุรกิจประสบปัญหาบ้าง เพราะทุกๆ การลงทุน คือ ความเสี่ยง การลงทุนก็เปรียบเสมือนการออกเรือหาปลาที่บางวันอาจได้ปลาเต็มลำเรือและบางวันอาจไม่ได้ปลาสักตัวก็มี.




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2173 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4369 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2177 | 22/12/2022
7 ความผิดพลาดทำธุรกิจไม่ปัง แต่‘พัง’ก่อนถึงเป้าหมาย