ผ่านมา 3 เดือน หลังจากที่จีนและกัมพูชาได้ร่วมลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (Cambodia–China FTA หรือ CCFTA) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2020 รวมทั้งข้อตกลงทางการค้าที่ทํากับประเทศคู่ค้าอื่นๆ
ล่าสุดช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กัมพูชาได้จัดการประชุมแผนพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศในการเพิ่ม ศักยภาพทางการค้าภายใต้ CCFTA โดยการประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักในการวางแผนพัฒนาการค้ากับประเทศคู่ค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีต่างๆ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
“นาย เพ็ญ โสวิเชท” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างศึกษา ความเป็นไปได้การผลักดันและส่งเสริมการส่งออกไปยังจีนให้เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นการส่งออกสินค้าภายใต้ข้อตกลง CCFTA ใน 50 รายการหลัก อาทิ สินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ สินค้า อุตสาหกรรม โดยเฉพาะเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าเดินทาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์
จากการที่จีนและกัมพูชาทําข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ทําให้กัมพูชาสามารถส่งสินค้าภายใต้ข้อตกลงไปจีนได้โดยไม่เสียภาษี โดยครอบคลุมรายการสินค้าจากประเทศจีนส่งออกมายังกัมพูชา จำนวนกว่า 9,500 รายการ และสินค้าจากกัมพูชาที่จะส่งไปจีนกว่า 10,000 รายการ
โดยเฉพาะสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชากว่า 340 รายการ สินค้าคิดเป็น 95% ของสินค้ากลุ่มนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรเมื่อข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้ และที่เหลืออีก 5% จะทยอยลดลงเป็น 0% ภายในระยะเวลา 10 ปี
ส่วนฝ่ายกัมพูชาซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด สามารถค่อยๆ ลดอัตราภาษีศุลกากรทีละขั้นตอนให้กับสินค้าที่นำเข้าจากจีนได้ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ไปจนถึง 20 ปี จนเป็น 0%
ทั้งนี้ ความตกลง CCFTA อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาตรวจสอบและคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้
ผลการลงนามความตกลงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ในปี 2563 มูลค่าการค้าของจีนและกัมพูชามีมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 14% เมื่อเทียบกับปี 2562 ในขณะที่มูลค่าการค้าทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ รวมกันอยู่ที่ 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ซึ่งลดลงจาก 36,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562
อีกด้านหนึ่งหลังจากการลงนามความตกลงฯ ฝ่ายจีนยังเตรียมเร่งดําเนินโครงการก่อสร้างคลังสินค้าและโรงอบข้าวในกัมพูชา เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์เกษตรที่จะส่งออกไปยังจีนมีคุณภาพและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจีนส่งเสริมสนับสนุนให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชา เพื่อส่งกลับไปจีนให้มากขึ้น
เนื่องจากจีนเป็นตลาดข้าวอันดับ 1 ของกัมพูชา โดยสมาคมข้าวกัมพูชาระบุว่า ปี 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 60 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้น 11.4 % ปริมาณ 690,829 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปภูมิภาคจีน (รวมฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า) มากเป็นอันดับ 1 สัดส่วนการส่งออกข้าวทั้งหมดประมาณ 35-36%
การขยายตลาดของกัมพูชาไปยังจีนในครั้งนี้ ย่อมส่งผลเชื่อมโยงถึงการส่งออกไทยแน่ แต่ไทยควรเตรียมตัวเพื่ออาศัยประโยชน์การเปิดตลาดระหว่างกัมพูชาไปจีน ในฐานะที่เป็นพันธมิตรในอาเซียน
ทั้งนี้ ผลจากความตกลง CCFTA อาจจะส่งผลให้สินค้าส่วนใหญ่ที่ได้รับการยกเว้นภาษีทันที หลังจากข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้ เป็นสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งในอนาคตกัมพูชาจะเน้นการผลิตสินค้าในกลุ่มนี้เพื่อส่งออกให้ได้ปริมาณมากขึ้น
ดังนั้น นี่จึงถือเป็นโอกาสของไทยในการขยายธุรกิจนําความรู้ความชํานาญต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการเกษตรเข้าไปในกัมพูชา ไม่ว่าจะในรูปแบบของการร่วมทุน การเป็นบริษัทที่ปรึกษา หรือการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ CCFTA ได้