‘ธรรมนูญครอบครัว’ สำคัญอย่างไร?

Family Business
21/04/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 10707 คน
‘ธรรมนูญครอบครัว’ สำคัญอย่างไร?
banner
ธรรมนูญครอบครัว คืออะไร สำคัญอย่างไร?

ธรรมนูญครอบครัว คือ บันทึกข้อตกลงร่วมกันของคนในครอบครัว เกี่ยวกับการวางแผนและจัดการเรื่องต่างๆ ของครอบครัว และธุรกิจครอบครัว (Family Business) เช่น วิสัยทัศน์และพันธกิจ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงนโยบายการเข้าทำงานของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว

นอกจากนี้ ธรรมนูญครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบัน เพราะจะเป็นตัวกำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งช่วยลดปัญหาของสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจ



ธรรมนูญครอบครัวกับข้อกำหนดทางกฎหมาย

โดยทั่วไป ธรรมนูญครอบครัว อาจมีผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีผลผูกพัน แม้ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงในด้านกฎหมาย เพราะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป้าหมายหลักคือการทำให้สมาชิกครอบครัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนหันหน้ามาคุยกัน ปรึกษากัน ระดมพลัง ระดมความคิดด้วยความรัก ความสามัคคี และหาจุดยืนร่วมกันในธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้ ก็มีวิธีที่จะทำให้กติกาในธรรมนูญครอบครัวที่มีการตกลงกันไว้มีผลทางกฎหมายได้ด้วยการผูกกติกาเข้ากับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับพินัยกรรม กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการนิติบุคคลรูปแบบต่างๆ หรือหากมีข้อตกลงเรื่องการซื้อ - ขาย โอนหุ้นระหว่างสมาชิก ก็ให้นำข้อตกลงนั้นๆ ไปเขียนไว้ในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการยึดโยงระหว่างข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัว กับกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งกันในอนาคต กฎหมายก็จะเข้ามาเป็นกลไกบังคับให้เป็นไปตามที่ตกลงในสัญญา 

ทำไม? ธุรกิจครอบครัว จึงควรมีธรรมนูญครอบครัว

1. เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการธุรกิจและทรัพย์สินชัดเจนและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน สวัสดิการ การเกษียณอายุ สำหรับคนที่ทำงานและไม่ได้เข้ามาทำงาน

2. ช่วยสร้างความสามัคคีในครอบครัว เนื่องจากธรรมนูญครอบครัว เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วม มีสิทธิและเสียงในการสร้างข้อตกลงต่างๆ ขึ้นมา ดังนั้นการทำธรรมนูญครอบครัวจะเป็นการสร้างความสามัคคี โดยมีผลลัพธ์คือแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมา และอยู่ร่วมกันภายใต้แนวทางเดียวกัน

3. ช่วยกำหนดแนวทางการแก้ปัญหายามที่ความขัดแย้งยังไม่เกิดขึ้น หรือกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น ซึ่งความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติในธุรกิจ แต่มักจะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสำหรับคนในครอบครัว ซึ่งปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจก่อตัวกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ในอนาคต การสร้างธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นการวางโครงสร้างในการรับมือกับปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่เนิ่นๆ ในตอนที่สมาชิกนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ปัญหาคลาสสิกที่ธุรกิจครอบครัว (Family Business) มักจะพบเจอ เช่น การแบ่งทรัพย์สินที่ไม่มีความเท่าเทียม หรือไม่มีความเป็นธรรมต่อสมาชิกในครอบครัว ตัวอย่างกรณีสมาชิกทุ่มเทให้กับการทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวไม่เท่ากันแต่กลับได้ผลลัพธ์ หรือผลตอบแทนที่เท่ากัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเล็กๆ ที่อาจสะสมกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต ดังนั้นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ว่ามานี้นั่นคือ ‘ธรรมนูญครอบครัว’


Nishiyama Onsen Keiunkan

ตัวอย่างธุรกิจครอบครัวในต่างประเทศ ที่บริหารโดยใช้ธรรมนูญครอบครัว

แม้ธรรมนูญครอบครัวอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจครอบครัวไทย แต่สำหรับในต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว สำหรับธุรกิจครอบครัวในต่างประเทศที่มีธรรมนูญครอบครัวเป็นแนวทางปฏิบัติ ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน เช่น โรมแรมนิชิยามา ออนเซ็น เคอุนคัง (Nishiyama Onsen Keiunkan) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 1248 ดำเนินกิจการด้วยครอบครัวเดียวกันต่อเนื่องมาถึง 52 รุ่น นับอายุรวมถึงปัจจุบัน 1,317 ปี จนได้รับการบันทึกจาก Guinness World Records ในปี ค.ศ. 2011 ให้เป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้ยังมี ‘ครอบครัวลีกุมกี่’ จากประเทศจีน บริษัทที่ผลิตซอสปรุงรสชั้นนำของฮ่องกงและระดับโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2423 ดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 142 ปี ก็ใช้ธรรมนูญครอบครัวในการบริหารธุรกิจ โดยมีข้อตกลงว่าไม่ให้สะใภ้หรือเขยเข้ามาทำงานในธุรกิจ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างจากสมาชิกที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และยึดหลักครอบครัวอยู่เหนือธุรกิจ โดยมีข้อตกลงร่วมกันในการจัดกิจกรรมครอบครัวในแต่ละปี มีเวลาในการพบปะพูดคุยถกปัญหา 4 วัน/สัปดาห์ และมีข้อห้ามคือ ห้ามหย่า ห้ามแต่งงานช้าเกินไป และห้ามมีครอบครัวซ้อน 



ศึกษาแนวคิด ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ธุรกิจไทย เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน

อาณาจักรเซ็นทรัลกรุ๊ป ของตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ ตัวอย่างครอบครัวที่รู้จักกันดีว่าเป็นต้นแบบของความสำเร็จในการบริหารธุรกิจภายใต้ธรรมนูญครอบครัว เนื่องจากเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการเขียนธรรมนูญครอบครัวไว้อย่างชัดเจน จากจุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวในช่วงแรกด้วยการนำเข้าแมกกาซีนจากต่างประเทศเข้ามาขายในช่วงสงครามโลก ก่อนจะขยายมาทำเทรดดิ้งนำเข้าสินค้าเบ็ดเตล็ดจากต่างประเทศ จนปัจจุบันสร้างแบรนด์แตกแขนงธุรกิจให้เติบโตออกไปได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

3 แนวคิดสำคัญ บริหารธุรกิจสไตล์จิราธิวัฒน์ ภายใต้ธรรมนูญครอบครัว

1. แบ่งแยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกันโดยให้สภาครอบครัว ดูแลจัดการเรื่องของครอบครัว และคณะกรรมการบริษัท ดูแลในเรื่องธุรกิจไม่ปะปนกัน
2. ใช้ระบบคณะกรรมการในการสื่อสาร ตัดสินใจ และระงับความขัดแย้งระหว่างกันในครอบครัว
3. กติกาครอบครัวมักจะสะท้อนค่านิยมที่สำคัญของตระกูล ซึ่งสำหรับครอบครัวจิราธิวัฒน์แล้วค่านิยมที่ชัดเจนคือเรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวม การให้เกียรติผู้อาวุโส ความยุติธรรมในเรื่องของการแบ่งผลประโยชน์ และการถ่วงดุลกันระหว่างสายครอบครัวเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆ


บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด

นอกจากนี้ยังมี บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด อีกหนึ่งต้นแบบการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่ดีเยี่ยมมากว่า 45 ปี โดยมีการบริหารจัดการธุรกิจแบบ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ซึ่งเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วม มีสิทธิและเสียงในการสร้างข้อตกลงต่างๆ ขึ้นมา

สำหรับธรรมนูญครอบครัวของขอนแก่นแหอวน เนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัวและมีหลายเจเนอเรชัน จึงจำเป็นต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมให้กับทุกคนในครอบครัว เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยมีการประชุมกงสีทุกไตรมาส ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อปี ในขณะที่มีการประชุมสภาครอบครัว ก็มีการสังสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้แต่ละเจเนอเรชันเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากขึ้น อีกทั้งพยายามปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักความสามัคคี เพราะเชื่อว่าถ้ามีความสามัคคีกันจะทำให้เสริมความแข็งแกร่ง และทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน

จึงนับว่าขอนแก่นแหอวน เป็นตระกูลที่สามารถสร้างกิจการครอบครัวให้เติบใหญ่และประสบความสำเร็จทางธุรกิจ โดยยังรักษาความเป็นครอบครัวที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จนถึงทุกวันนี้


อย่างที่กล่าวไว้ว่า ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่กฎหมาย หากแต่เป็นกฎ กติกา ข้อตกลงร่วมกันในการบริหารธุรกิจและครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การใช้ธรรมนูญในแต่ครอบครัวจึงมีความแตกต่างกัน และการใช้ธรรมนูญครอบครัวเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการแก้ปัญหาที่สมาชิกทุกคนหันหน้าเข้ามาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน


แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์  อุรพีพัฒนพงศ์, วารสารปรัชญาปริทรรศน์, Family Business Asia


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
4951 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4462 | 30/03/2024
ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ธุรกิจครอบครัวที่บริหารด้วยค่านิยมแบบดั้งเดิม มักจะมีมุมมองว่าลูกผู้ชาย เหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงกิจการในตำแหน่งหัวหน้า ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการหารายได้…
pin
5351 | 08/03/2024
‘ธรรมนูญครอบครัว’ สำคัญอย่างไร?