ส่องความพร้อม ‘ไทย’ วางแผนอย่างไร? เพื่อก้าวสู่ยุค ‘EV’ ยานยนต์พลังงานสะอาด

ESG
24/04/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5262 คน
ส่องความพร้อม ‘ไทย’ วางแผนอย่างไร? เพื่อก้าวสู่ยุค ‘EV’ ยานยนต์พลังงานสะอาด
banner
ขณะนี้ทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายประเทศประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และงดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางพลังงานของไทยสอดคล้องกับกระแสของโลก จึงมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวเร่งพัฒนาให้สามารถตอบรับกับทิศทางดังกล่าว และสามารถแข่งขันได้ในยุคที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ



เปลี่ยนมาใช้รถ EV ก็ลดการมลพิษไม่ได้ ถ้าไฟที่ชาร์จมาจากฟอสซิล?

จากงานวิจัยของ Radiant Energy Group (REG) ได้เปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยดูการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการชาร์จรถยนต์เพื่อขับในระยะทาง 100 กิโลเมตรกับการปล่อยมลพิษที่มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินทั่วไปที่ขับในระยะทางเท่ากัน โดยประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากที่สุดจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ใช้พลังงานนิวเคลียร์และไฟฟ้าพลังน้ำเป็นจำนวนมาก อาทิ..

สวิตเซอร์แลนด์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 100%
นอร์เวย์อยู่ที่ 98%
ฝรั่งเศส 96%
สวีเดน 95%
ออสเตรีย 93%
ไซปรัสอยู่ที่ 4%
เซอร์เบีย 15%
เอสโตเนีย 35%
และเนเธอร์แลนด์ 37%
เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน 

ขณะที่การวิจัยโดยใช้ข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของยุโรปและสำนักงาน European Environment Agency (EEA) พบว่า การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนขึ้นอยู่กับพลังงานที่จ่ายให้กับระบบไฟฟ้าและช่วงเวลาของวันที่ชาร์จรถยนต์ด้วย อย่างเช่น เยอรมนีใช้พลังงานหมุนเวียนและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่สเปนสร้างกระแสไฟฟ้าจำนวนมากจากแสงอาทิตย์และลม แต่พลังงานทั้ง 2 แหล่งผลิตไฟฟ้าได้ไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน 
   
สะท้อนให้เห็นว่า การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการขับรถไฟฟ้าจึงขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวันที่มีการชาร์จด้วย โดยการชาร์จในตอนบ่ายเมื่อมีแสงแดดและลมมากกว่า จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าตอนกลางคืนที่ระบบไฟฟ้าจะใช้ก๊าซหรือถ่านหิน 16 - 18%

จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในการลดการปล่อยมลพิษนั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆ ด้วยว่าใช้ระบบพลังงานใดในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศในยุโรปยังไม่สามารถแก้ไขวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและวิธีการกักเก็บพลังงานหมุนเวียนบางชนิดไว้ในระบบของตนเองได้ ซึ่งจากข้อมูลของ REG ชี้ให้เห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าในโปแลนด์และโคโซโวทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น เนื่องจากระบบไฟฟ้าที่นำมาใช้ชาร์จประจุไฟฟ้าให้กับรถของประเทศเหล่านั้นยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปมีการปล่อยมลพิษลดลง



องค์กรธุรกิจไทยใช้แนวคิด ESG ปรับใช้รถ EV เพื่อลดมลพิษสิ่งแวดล้อม 

หลายๆ องค์กรในบ้านเราได้นำแนวคิด ESG มาใช้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ Sustainability จึงเริ่มเห็นหลายๆ ธุรกิจเริ่มคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 



เริ่มด้วยธุรกิจที่ใช้ยานพาหนะจำนวนมากในการขนส่งสินค้าและอาหารชื่อดังอย่าง แกร็บ ประเทศไทย ที่ตอบรับเทรนด์พลังงานสะอาด ประกาศตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับ - ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 10% ของพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมดภายในปี 2569 และหารือกับกลุ่มผู้ผลิต - สถานีชาร์จเพื่อส่งเสริม และผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับ 



ขณะที่ ไปรษณีย์ไทย เริ่มทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ ได้แก่ รถตู้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกขั้นของการนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนแผนการลดมลภาวะทางอากาศให้เป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าใช้รถไฟฟ้า 100% ขนส่งให้ได้กว่า 100 คัน ภายใน 4 ปี (ปี 2566) 



ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ หันมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้งาน EV ในทุกมิติมากขึ้น อาทิ เปิดสถานีสลับแบตเตอรีสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ โดย โออาร์ มีแผนเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพิ่มขึ้นอีก 350 แห่ง ทั้งภายในและภายนอกสถานีเติมน้ำมันเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 



ด้าน SCG หันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในเหมืองปูนซีเมนต์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกระดับธุรกิจด้วยแนวทาง ESG  โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ได้นำรถไฟฟ้าบรรทุกหินปูนขนาด 60 ตัน จำนวน 4 คัน นำร่องส่งหินปูนด้วยพลังงานสะอาด โดยเอสซีจี มุ่งดำเนินการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนรถบรรทุกหินปูนให้เป็นไฟฟ้า 100% ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนได้ครบภายในปี 2568 สามารถลด CO2 ได้รวม 1,148 ตัน CO2 ต่อปี และจะขยายผลไปยังโรงงานปูนซีเมนต์อื่นๆ ในธุรกิจต่อไป คาดว่า CO2 ที่จะลดได้ทั้งหมดเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นประมาณ 9,852 ตัน CO2 ต่อปี



ในขณะที่ระบบขนส่งโดยสารอย่าง ขสมก. ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถเมล์สูงถึง 5 ล้านคนและมีรถเมล์วิ่งให้บริการทั่วกรุงเทพเพียง 3,000 คัน และรถเมล์ส่วนใหญ่ใช้งานมานานถึง 18 - 20 ปี ทำให้ผู้โดยสารไม่สะดวกในการเดินทางอีกทั้งยังมีรถจอดเสียอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้หากในอนาคตประเทศไทยมีการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเปลี่ยนรถเมล์เอ็นจีวีทั้ง 3,000 คันเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดจะช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึง 120 ล้านลิตรต่อปี สามารถลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.32 ล้านตันต่อปี ประหยัดพลังงานมากกว่ารถ NGV ทั่วไปถึง 70% โดยไม่ก่อให้ก่อให้เกิดมลพิษ

เป็นที่น่ายินดีว่า หลายๆ องค์กรในบ้านเราเริ่มให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะเห็นประเทศไทยอาจจะสามารถลดมลพิษทางอากาศลงได้ไม่มากก็น้อย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน

รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจากรถใช้น้ำมัน ช่วยลดมลพิษได้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ได้มีการริเริ่มโครงการวิจัยชุดรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มาตั้งแต่ในปี 2553 ได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลง โดยตั้งเป้าให้คนไทยสามารถดัดแปลงรถยนต์ที่เติมน้ำมันอายุเกิน 10 ปี ให้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าที่มีต้นทุนไม่เกินคันละ 200,000 บาท ซึ่งราคานี้ไม่รวมแบตเตอรี และมีการอบรมผู้ประกอบการรถยนต์หรืออู่รถยนต์ ในการดัดแปลงรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงของประชาชน อีกทั้งยังมีการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานกลาง และโรงงานของ กฟผ. จำนวน 23 สถานี เพื่อรองรับการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย ถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จะต่อยอดจากอู่รถยนต์ใช้น้ำมันแบบเก่าแปรเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้รถที่มีใจรักษ์โลกแต่กำลังทรัพย์น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงรถยนต์พลังงานสะอาดได้อีกทางหนึ่ง

เป้าหมายและความพร้อมของไทย กับโอกาสผู้ประกอบการ SME ต่อยอดธุรกิจ

สำหรับความพร้อมในเรื่องการปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเต็มรูปแบบของไทยนั้น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกันเพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

ซึ่งได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และวางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดยตั้งเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน และได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน



ล่าสุดรัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมมาตรการเงินอุดหนุนรถยนต์ ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และลดภาษีอากรนำเข้ารถยนต์ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าคือ 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในแต่ละปี หรือ 750,000 คัน ภายในปี 2573 โดยนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมีข้อเสนอให้รถที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป ต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยไอเสีย 100% (ZEV: Zero-Emissions Vehicles) เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาครัฐที่จะเร่งเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์พลังงานสันดาปไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

จากข้อมูลที่กล่าวมานั้นสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จนมีผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตเฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์ระบบสันดาป เช่น เครื่องยนต์ หัวเทียน หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ถังน้ำมัน เป็นต้น อาจต้องเริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ ปรับตัวตามเทคโนโลยี พัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
 
ขณะที่ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี สายไฟ มอเตอร์ต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะต่อยอดจากกิจการที่ทำอยู่ พร้อมพัฒนาไปสู่การผลิตอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 

ในอนาคตเมื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเติบโตมากขึ้น สิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาให้เกิดการพัฒนาขึ้น คือ การหาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ให้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงกระบวนการในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือชีวภาพ เป็นต้น เพื่อให้การใช้ รถยนต์ไฟฟ้าไม่เป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดมลพิษทางอ้อม 

นอกจากนี้สำหรับธุรกิจที่คาดว่าจะมีโอกาสเปิดตลาดไปพร้อมกับการเกิดของรถไฟฟ้า คือธุรกิจ SMEในสถานีชาร์จไฟฟ้า รูปแบบต่างๆ อาทิ ธุรกิจจัดการแบตเตอรีที่ใช้แล้วของรถยนต์ใช้ พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชันใช้ร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ดังนั้นโจทย์ใหม่ของผู้ประกอบการ SME ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ คือการตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี ที่ใครปรับตัวได้ก่อนย่อมได้เปรียบแน่นอน


ที่มา :

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2348 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3808 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3441 | 18/03/2024
ส่องความพร้อม ‘ไทย’ วางแผนอย่างไร? เพื่อก้าวสู่ยุค ‘EV’ ยานยนต์พลังงานสะอาด