ลิขสิทธิ์สำคัญอย่างไร...ในการทำธุรกิจการค้า

SME Update
24/09/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 3667 คน
ลิขสิทธิ์สำคัญอย่างไร...ในการทำธุรกิจการค้า
banner

รู้ไว้จะได้ไม่เสียอะไรไป เหมือนกรณี "ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช" กับการให้ความสำคัญของการจดสิทธิบัตร หรือขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพราะไม่แน่หรอกว่าสินค้า แบรนด์ ตราผลิตภัณฑ์ หรือประเภทธุรกิจที่ทำอยู่จะฮิตติดตลาดจนเป็นที่ต้องการไปทั่วฟ้าเมืองไทย จากกรณีศึกษาเรื่อง “ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์” ที่โด่งดังในเรื่องของความเชื่อว่า ช่วยบันดาลเรื่องการงาน การเงิน ความสำเร็จ และโชคลาภมาให้แก่ฝูงชนที่ศรัทธา ที่มาขอพึ่งพาให้ช่วยในเรื่องดังกล่าว จนกลายเป็นข่าวพาดหัวทุกๆ ครึ่งเดือน

ซึ่ง “ไอ้ไข่” นั้นเด่นดังในเรื่องของการเงินและการเสี่ยงโชค จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดึงพลังศรัทธาไปจากประชาชนคนไทยไปได้มากมาย และกลายเป็นกระแสจนหลายวัดหลายสถานที่ต้องมี เพื่อดึงศรัทธาจากผู้คนและปัจจัยรายได้เข้ามา ทั้งในเรื่องของการจัดทำวัตถุมงคล และรูปหล่อเคารพบูชา ที่ไม่ได้มีแค่ที่วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อ้างสิทธิ์เป็นต้นกำเนิดตำนาน “ไอ้ไข่” รูปเคารพบูชาและตำนานเพียงเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค อันเป็นเหตุให้เกิดการท้วงติงเรื่อง “ลิขสิทธิ์” ขึ้นมาในขณะนี้

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

เมื่อสืบสาวต้นตอที่แท้จริงกรณี “ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์” พบว่าทางวัดเจดีย์ได้ยื่นแจ้งผลงานลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้วจริง มีทั้งสิ้น 11 ผลงาน ตั้งแต่ปี 2551 มีจำนวน 10 ผลงาน และแจ้งเพิ่มอีก 1 ผลงาน เมื่อปี 2563 โดยทั้ง 11 ผลงาน แยกเป็นผ้ายันต์ 4 ผลงาน แจ้งเป็นศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมรูปหล่อ 3 ผลงาน และเหรียญ 3 ผลงาน แจ้งเป็นศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม และหนังสือ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” แจ้งเป็นผลงานประเภทงานวรรณกรรม

ว่าตามหลักแล้ว “กฎหมายลิขสิทธิ์” จะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่า โอน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงทำให้สถานที่อื่นที่มีการอ้างถึง “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ต้องรีบเก็บสิ่งที่เกี่ยวกับ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ออกหมดเพราะกลัวการถูกเรียกเก็บค่าปรับ

เรื่อง “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” นี่จึงเป็นกรณีศึกษาอันดี เกี่ยวกับลิขสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์จากทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผู้ประกอบการทุกคนควรต้องมี เพื่อเป็นการปกป้อง คุ้มครองการถูกล่วงละเมิดงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของตน ตั้งแต่ ชื่อการค้า สัญลักษณ์แบรนด์ แพกเกจจิ้ง รูปแบบ ตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ฯลฯ

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนจากการถูกกล่าวอ้าง ล่วงละเมิด ทำซ้ำ หรือลอกเลียนแบบโดยผู้อื่น เพราะผลงานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อสร้างสรรค์ผลงานแล้วเสร็จโดยไม่ต้องจดทะเบียนหรือแจ้งข้อมูล และการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็มิได้เป็นการรับรองว่าผู้แจ้งข้อมูลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบ และใช้ประโยชน์เมื่อต้องการขออนุญาตใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น

นอกเสียจากว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นๆ จริงตามแจ้ง จึงจะได้จะได้รับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์นับตั้งแต่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา โดยความคุ้มครองนี้จะมีตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากมีการพิสูจน์ทราบผลแน่ชัดว่าทาง “วัดเจดีย์” เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงตามแจ้ง กฎหมายจะให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงาน “ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์” แก่ทางวัดเจดีย์ทันที

ซึ่งจะทำให้ต่อจากนี้จะไม่มีที่ใดสามารถลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ หรือกล่าวอ้างชื่อ “ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์” เพื่อทางธุรกิจการค้าหรือเรียกพลังศรัทธาจากฝูงชนได้เพราะจะผิด “กฎหมายลิขสิทธิ์”  หากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ จะมีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย โทษทางอาญา เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2538

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์มาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ความเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปในเรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่ชัดเจน ถึงเรื่องของ “ลิขสิทธ์” ที่เห็นมีการละเมิดกันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่ทุกวัน โดยเฉพาะบนช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงการล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่าย ที่ผู้ประกอบการเองก็ควรต้องตระหนักในการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และเลี่ยงการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

ซึ่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ลิขสิทธิ์" หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น นั่นก็หมายความว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิจะทำอย่างไรก็ได้ กับงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง

การละเมิดลิขสิทธิ์และบทลงโทษ

1. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง : คือการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่โปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่สาธารณชน รวมทั้งการนำต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวออกให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม : คือการกระทำทางการค้า หรือการกระทำที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้นโดยผู้กระทำรู้อยู่แล้ว ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ก็ยังกระทำเพื่อหากำไรจากงานนั้น ได้แก่ การขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เสนอให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ และนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับนี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก จะต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย และค่าปรับที่ได้มีการชำระตามคำพิพากษานั้นครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีการได้รับค่าปรับดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกินจำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับไว้แล้ว.

ดังนั้นในการทำธุรกิจการค้า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ลิขสิทธิ์” เพื่อป้องกันผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ โดยสามารถย้อนกลับสู่กรณีของ “ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ที่เกิดมาตั้งแต่ปี 2551 และมาโด่งดังเอาในปี 2563 ซึ่งนับเป็นความหลักแหลมของทางวัดเจดีย์ที่เห็นถึงความสำคัญในด้านกฎหมายลิขสิทธิ์

 

แหล่งอ้างอิง

https://news.thaipbs.or.th/

https://www.commercenewsagency.com/

http://www.ipthailand.go.th/ 


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


SMEs ต้องรู้! การตลาดบน TikTok เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์


 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
pin
13 | 17/04/2025
สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
pin
13 | 16/04/2025
ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
15 | 11/04/2025
ลิขสิทธิ์สำคัญอย่างไร...ในการทำธุรกิจการค้า