‘อินเดีย’ ว่าที่ผู้นำ ‘มอไซค์ไฟฟ้า’ มาพร้อมโอกาสของไทย
เนื่องด้วยอินเดียมีประชากรอันดับ
2 ของโลก (ประมาณ 1.4 พันล้านคน)
จึงมีอัตราการใช้พาหนะเพื่อการสัญจรสูง โดยเฉพาะจักรยานยนต์ คาดว่ามากกว่า 1 ใน 3
ของผู้ขับขี่ยานยนต์เลือกใช้จักรยานยนต์ เพราะต้องการความคล่องตัว
ประกอบกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้เป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นผู้นําในการผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อป้อนสู่ตลาดโลกอยู่ไม่ไกล
สถาบันวิจัย BloombergNEF ประเมินว่าในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลาดรถยนต์ทั่วโลกหดตัว เกือบ 25% แต่ตลาดจักรยานยนต์กลับฟื้นตัวได้และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในอินเดียยอดขายจักรยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2562-63 มีปริมาณรวมแล้วกว่า 1.95 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 20%
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ด้านการลงทุน เมื่อไม่นานมานี้ Ola Electric เพิ่งลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของโลกในรัฐทมิฬนาฑู
สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้มีการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจด้านยานยนต์ (Auto Clusters) ในทมิฬนาฑู เดลี
มหาราษฏระ คุชราต และรัฐอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานได้มากกว่า 65
ล้านตําแหน่งภายในปี 2569 ตามที่แผนพันธกิจยานยนต์ (Automotive Mission Plan 2026)
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้อนุมัติโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production-Linked Incentive
: PLI) มูลค่ารวม 1.45 ล้านล้านรูปี (6 แสนล้านบาท)
สําหรับการผลิตในอุตสาหกรรมหลัก 10 ประเภท โดยเป็นเงินอุดหนุนสําหรับอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนมากที่สุดคือ
5.7 แสนล้านรูปี (2.34 แสนล้านบาท)
อีกทั้งยังมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Faster Adoption and Manufacturing of Electric Vehicles II : FAME II) ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้เปรียบอย่างมาก
ทั้งนี้โครงการ PLI จะให้การสนับสนุนเฉพาะธุรกิจที่มียอดขายเกิน 1 หมื่นล้านรูปี (4.1 พันล้านบาท) มีมูลค่าการส่งออก 2 พันล้านรูปี (8.2 ร้อยล้านบาท) และการลงทุนในทรัพย์สินถาวรที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน 3.5 พันล้านรูปี (1.44 พันล้านบาท) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจ MSMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ผลิตระดับโลกได้
โอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย
จากข้อมูลสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย (Society of Indian Automobile Manufacturers : SIAM) ระบุว่าในเดือนพฤศจิกายน 2563 อินเดียมียอดขายยานยนต์สองล้อราว 1.6 ล้านคัน
สูงกว่าในเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ราว 1.41 ล้านคัน อยู่ 13.43% ส่วนในเดือนธันวาคม 2563 ยอดขายยานยนต์สองล้อในอินเดียอยู่ที่
1.09 ล้านคัน สูงขึ้นจากเดือนธันวาคมปีก่อนหน้าอยู่ 8% แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ในจักรยานยนต์ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
แต่ประเด็นสำคัญก็คืออินเดียยังไม่สามารถผลิตแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนในประเทศได้เพียงพอ
ทําให้แบตเตอรีดังกล่าวมีราคาแพง โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 40-50%
ของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ดังนั้นความต้องการแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน ถือเป็นโอกาสอันดีของไทยในการส่งออกแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า
เพื่อรองรับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ผลักดัน “ไทย” ให้เป็นฮับแบตเตอรีโลก
อุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าและสาขาพลังงาน โดยหน่วยงานวิจัยของสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า
ในปี 2040 จะมีมูลค่าตลาดแบตเตอรี่ทั่วโลกประมาณ 2 แสนล้านยูโร
เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นล้านยูโรในปัจจุบัน
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า หลังจากค่ายรถยนต์จากจีน เอ็มจีและเกรทวอลล์
ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะมีค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนอีกหลายค่ายให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งน่าจะทำให้รถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ทั้งนี้ บีโอไอได้ส่งเสริมการลงทุนยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถยนต์
รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร และรถบรรทุก
รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ขณะที่การส่งเสริมรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด
และรถยนต์ไฟฟ้า รอบ 2 (รอบแรกสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2561)
ภายใต้กรอบการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)
ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม
“แพ็กเกจใหม่เน้นเรื่องการผลิตแบตเตอรี่ในบ้านเรา
ต่างจากแพ็กเกจแรกที่ไม่ได้กำหนด ซึ่งผู้ประกอบการก็จะใช้วิธีนำเซลล์เข้ามาแพ็กเอง
แต่รอบนี้เราต้องการให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ทำเป็นโมดูลเลย
ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมทำตามเงื่อนไข หรือใครจะเลือกแบบใดก็สามารถทำได้”
ไทยสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็น “ฮับ” ยานยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะมีจุดเริ่มต้นจากพื้นฐานของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่อันดับ
11 ของโลก อันดับ 4 ในเอเชีย
เป็นรองเพียงแค่จีน, ญี่ปุ่น
และเกาหลีใต้เท่านั้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้อุตสาหกรรมรถยนต์ในขณะนี้จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19
และกำลังเผชิญกับ “กระแสยานยนต์ไฟฟ้า” ในอนาคตอันใกล้ก็ตาม
การ “ผลิตแบตเตอรี่” รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยรักษาขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันกับฐานการผลิตรถยนต์อื่นๆ
เนื่องจากในอนาคตแบตเตอรีจะเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ในฐานะส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดของการผลิตรถยนต์
แหล่งอ้างอิง :
https://www.matichonweekly.com/