มองโอกาสลงทุน Café Amazon วิยะรา เบฟเวอเรจ ปั้นทำเลทองนอกปั๊มน้ำมัน

SME in Focus
16/09/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 10342 คน
มองโอกาสลงทุน Café Amazon วิยะรา เบฟเวอเรจ ปั้นทำเลทองนอกปั๊มน้ำมัน
banner

Live And Learn...

9 ปีกับธุรกิจร้านกาแฟในห้าง ซึ่งหากนับย้อนไปช่วงปี 2544 กระแสร้านกาแฟในห้างเริ่มได้รับความนิยม สอดรับพฤติกรรมการ เดินห้าง ของคนสมัยนั้น ร้านกาแฟ จึงเป็นเสมือนแหล่งพบปะ และเป็นหนึ่งในธุรกิจกระแสแรงที่หลายคนหมายใจจะลงทุน

และแม้การแข่งขันธุรกิจร้านกาแฟในขณะนั้น ยังไม่เข้มข้นเท่าตอนนี้ แต่ก็ไม่ง่าย หากคุณยังไม่เคยทำความรู้จักกับเส้นทางสายกาแฟดีพอ เพราะเมื่อทุกอย่างในร้านคือต้นทุนที่ประดังเข้ามาไม่หยุดหย่อน จนถึงจุดหนึ่ง เมื่อกำไรเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ก็ถึงเวลาที่ต้องคิดว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ 

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme  


ข้อคิดจากบทเรียนในวัยกล้าฝันของ คุณอัครณัฐ สกุลพราหมณ์ กรรมการบริหาร บริษัท วิยะรา เบฟเวอเรจ จำกัด ปัจจุบันดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์ Café Amazon ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน ที่ได้บอกเล่าย้อนไปตอนที่เคยทำธุรกิจร้านกาแฟแบบ Specialty Coffee’ โดยสร้างแบรนด์ Kokoro Coffee เจาะตลาดคอกาแฟระดับไฮเอนด์ เปิดเป็นร้าน Stand Alone ในห้าง เขาบอกว่าอาจจะเร็วไปสำหรับพฤติกรรมการดื่มกาแฟในตอนนั้น บริหารมาได้ 9 ปีก็ต้องหยุด

อุปสรรคในตอนนั้นมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Supply Use สำหรับวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในร้าน ทุกอย่างถูกบังคับด้วย Margin Risk รวมทั้งรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ Capacity ของยอดขายที่ร้านเต็มแล้ว จะปรับราคาขายไม่ได้อีกย่อมส่งผลให้กำไรลดลง ทำอยู่ 9 ปีก็ต้องเลิกสัญญาในห้าง ถอนตัวออกมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

 

 

จากปั้มน้ำมัน สู่ธุรกิจแฟรนไชส์ Café Amazon

คุณอัครณัฐ บอกว่า ในช่วงที่ทำอสังหาริมทรัพย์เริ่มสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์ Café Amazon สืบเนื่องจากการทำอพาร์ทเม้นท์ และเพื่อสร้างจุดแข็งให้อพาร์ทเม้นท์ เลยต้องการมีร้านสะดวกซื้อ และมีร้านกาแฟตั้งอยู่ด้านหน้า เขามาทราบว่าร้านสะดวกซื้อและ Café Amazon ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ ปตท.ซึ่งร้านเหล่านี้ก็จะมาตั้งโดยอัตโนมัติ จึงมีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันตรงข้ามอพาร์ทเม้นท์ เป็นครั้งแรก

Café Amazon เป็นจุดเริ่มต้นในการทำปั๊มน้ำมันก็จริงครับ แต่ว่ายังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของธุรกิจปัจจุบัน

เขาบอกว่า ภายหลังที่เปิดปั๊มน้ำมัน ก็เริ่มศึกษารายละเอียดของธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็น Stand Alone ที่ไม่อยู่ในปั้มน้ำมัน ตั้งแต่การหาพื้นที่ รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปอบรบกับแฟรนไชส์ ทำให้รู้เลยว่า แฟรนไชส์ที่มีระบบดีจะมีการจัดการตั้งแต่วางแผน งบลงทุน การมองหาทำเลที่ดี การวิเคราะห์ทำเล การบริหารจัดการในร้าน หน้าร้าน หลังร้าน ระบบการขายต่างๆ โปรโมชั่นการตลาด ทำให้รู้เลยว่าสมัยก่อนตอนเปิดร้านกาแฟทำไมการจัดการภายในร้าน โดยเฉพาะการควบคุมต้นทุนถึงสู้แบรนด์ใหญ่ไม่ได้

 


ข้อดีที่จะได้...จากแฟรนไชส์ระบบดี

ภายหลังตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์ Café Amazon ในปี 2559 คุณอัครณัฐ บอกว่า ทำเลแรกที่เลือกลงทุนตั้งร้านคือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ทำเลที่มีผู้คนผ่านไปมาตลอด ซึ่งร้านเป็นโมเดล Glass House ขนาด 5x10 เมตร เป็นร้าน Stand Alone ใช้เงินลงทุนประมาณ 4 ล้านบาท โดยทุกแบบร้านจะมี BOQ (Bill of Quantities) หรือราคากลาง พอทราบราคากลางก็ยังสามารถหาผู้รับเหมามาเองได้  ทำให้เราควบคุมต้นทุนการก่อสร้างและตกแต่งได้อีกด้วย

อีกข้อดีที่เห็นได้ชัดจากแฟรนไชส์ระบบดี คือเขาจะมี Data มาให้นักลงทุนแฟรนไชส์ดู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเล พื้นที่นี้สามารถขายเฉลี่ยได้สูงสุดที่วันละกี่แก้ว ระยะเวลาการคืนทุน รวมทั้งการจัดการต่างๆ ซึ่งจะมีทีมสนับสนุนตั้งแต่เริ่มไปจนถึงเปิดร้าน ยังมีหลักสูตรอบรมผู้บริหารและพนักงานเพื่อให้เข้าใจระบบและการทำงานในร้านได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้สนใจลงทุน ควรศึกษาแบบและความต้องการโดยละเอียด เนื่องจากการลงทุนแฟรนไชส์ Café Amazon จะแบ่งเป็นเงินลงทุนสองส่วน

โดยส่วนแรกจะเป็นส่วนการออกแบบก่อสร้างและตกแต่งร้าน ส่วนที่สองที่ทางแบรนด์จะมีการเรียกเก็บ อาทิ ค่าประกันแบรนด์ ค่าอุปกรณ์ ค่าดำเนินการต่างๆ ค่า Royalty Fee 3% และค่า Marketing fee อีก 3% ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องคำนวณต้นทุนส่วนนี้เผื่อไว้ด้วย และราคาจะถูกกำหนดโดยขนาดของร้านและรูปแบบร้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุนว่าต้องการแบบไหน

 


ทำเลที่หลากหลาย ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

คุณอัครณัฐ บอกว่า สำหรับร้านแฟรนไชส์ การดูและวิเคราะห์ทำเลเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเทคนิคในการเลือกทำเลที่ดี คือต้องเลือกทำเลที่เรามีข้อมูล รู้จักพื้นที่ และรู้จักคนในพื้นที่ จะทำให้ได้เปรียบในด้านการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นเทคนิคการทำตลาดแบบ Local ที่ทำให้ร้านเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและผู้คนในละแวกนั้นได้

ขณะที่การตลาดในพื้นที่มีการทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเปิดเป็นเพจ Facebook ของร้านแต่ละสาขา รวมทั้งการทำการตลาดในกรุ๊ปของพื้นที่ต่างๆ เพื่อจะสื่อสารกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่าเราอยู่ตรงนี้...แวะมาหาได้นะ

อีกสิ่งที่ต้องใส่ใจในปัจจุบันนี้ คือการทำ Delivery เขาบอกว่าได้ทำมากว่า 4 ปี ก่อนที่จะมีแพลตฟอร์ม เปิดบริการส่งให้ลูกค้าตามออฟฟิศ โรงงาน ตามสถานที่ต่างๆ วิธีนี้ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรแฟรนไชส์แต่คิดขึ้นมาเอง ขณะที่ทุกวันนี้คงไม่ต้องบอกว่าออนไลน์มีความสำคัญแค่ไหน

เรามีพนักงานตำแหน่งเดลิเวอรี่ขึ้นมา เพิ่มรถเดลิเวอรี คันนึงไม่พอเราเพิ่มเป็นสองคัน เราทำแบบนี้ก่อนที่จะมีแพลตฟอร์มฟู้ดส์ เดลิเวอรีเสียอีก ซึ่งออนไลน์เป็นอีกส่วนที่ทำให้ยอดขายโตขึ้น”  

ปัจจุบัน บริษัท วิยะรา เบฟเวอเรจ จำกัด ได้ลงทุนแฟรนไชส์ Café Amazon ซึ่งเปิดในสถานีบริการน้ำมันจำนวน  2  สาขา และมีร้านที่อยู่นอกสถานีบริการน้ำมันอีก 8 สาขา ตั้งอยู่ตามชุมชนและสถานที่สำคัญ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน และในห้าง แน่นอนว่าในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 พื้นที่ต่างๆ ย่อมได้รับผมกระทบไปด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากมีหลายสาขา ดังนั้นยังถือว่ากระจายความเสี่ยงได้ดีระดับหนึ่ง

 


สถานการณ์ในช่วงโควิดเป็นอย่างไร ?

คุณอัครณัฐ บอกว่า เมื่อเจอโควิดทำให้ต้องกลับมาคิดเรื่องทำเลกันอีกครั้ง เพราะจากสถานการณ์ล่าสุด ทำเลในห้างดูเหมือนจะกระทบเยอะสุดอันเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ หรือแม้แต่ทำเลที่อยู่ตามโรงพยาบาล คิดว่าจะมีลูกค้าเยอะในช่วงที่ผ่านมา แต่ข้อมูลที่แท้จริงคือรายได้ลดลง

เนื่องจากตอนแรก ประเมินว่าสาขาที่โรงพยาบาลจะอย่างไรคนก็มาทุกวัน คิดว่าเป็นทำเลที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ ตอนเปิดใหม่ๆ ที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิดยอดขายดีมาก แต่พอมีโควิดลูกค้าก็หายไปเยอะพอสมควร แม้เราจะหาวิธีสร้างความมั่นใจว่า เราใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัย ปลอดเชื้อ แต่สำหรับความรู้สึกของคนช่วงนี้ อาจมองว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เสี่ยง ขณะที่สัดส่วนยอดขายเดลิเวอรี่โตขึ้น 

อย่างไรก็ตาม จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตต่างๆ แฟรนไชส์ซอร์รายใหญ่จะปรับตัวได้เร็ว และวางมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อยอดขาย ซึ่งเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้แฟรนไชส์ซี สามารถรับมือกับสถานการณ์ในขณะนั้นได้ดีขึ้นด้วย ที่ผ่านมาจึงไม่ถือว่าติดลบ และยังมีสาขาที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ยอดขายโดยรวมจึงกระทบไม่มากนัก

และสำหรับท่านที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์ ธนาคารกรุงเทพมีสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Franchise Café Amazonทั้งใน และนอกสถานีน้ำมัน ปตท. โดยคุณสมบัติในเบื้องต้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทาง ปตท.และธนาคาร กำหนด ซึ่งนับเป็นอีกข้อดีของแฟรนไชส์แบรนด์ใหญ่ที่จะมีบริการจากสถาบันการเงินให้การสนับสนุน

>> สินเชื่อบัวหลวง เพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ <<



Trick การลงทุนแฟรนไชส์

สำหรับเทคนิคในการเลือกลงทุนแฟรนไชส์ คุณอัครณัฐ วิเคราะห์ด้วยประสบการณ์ว่า ทำเล สำคัญมาเป็นอันดับแรก นอกจากทำเลที่ดีการมีข้อมูลและรู้จักพื้นที่จะดีมาก ประการที่สองที่ต้องดูคือ จำนวนสาขาและอัตราการเติบโตของแฟรนไชส์นั้นๆ เพราะจำนวนจะมีส่วนสำคัญทั้งในด้านต้นทุนและการเจรจาต่อรอง รวมถึงประการที่สาม ต้องศึกษางบลงทุนที่เหมาะสมกับเรา และระยะเวลาคืนทุนที่ชัดเจน สุดท้ายต้องดูความสำเร็จของแบรนด์นั้นๆ ซึ่งก็สำคัญมากเช่นกัน

คงไม่มีใครอยากลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่มีใครรู้จัก หรือมีอนาคตที่ไม่แน่นอนถูกมั้ยครับ ความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นจริง จะเป็นแนวทางที่ดีให้เรานำมาปรับใช้ โอกาสพลาดก็น้อยลง

ในส่วนนักลงทุนที่มีแนวคิดลงทุนทำร้านเองโดยไม่ซื้อแฟรนไชส์ ก็มีข้อดีเช่นกัน คือทุกอย่างเราสามารถบริหารจัดการได้ตามใจชอบ แต่ก็มีข้อเสียคือเราต้องทำเองหมด ขณะที่หากลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ซีจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา แต่ก็มีคนช่วยคิด ช่วยแนะนำ และเมื่อเจอวิกฤตยังมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลง ซึ่งทั้งสองแบบก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุน และประสบการณ์

สำหรับผม เคยทำร้านเองมาก่อน เหนื่อยเองมาก่อน ก็จะรู้อะไรดีๆ จากประสบการณ์ เหมือนคนต้องเคยล้มมาก่อน แล้วค่อยลุกขึ้นสู้ใหม่ และไม่ผิดพลาดซ้ำ

 

ล่าสุด บมจ.วิยะรา เบฟเวอเรจ ได้มีการปรับรูปแบบการลงทุน เน้นการต่อยอดในเชิงพื้นที่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องไปอยู่ในทำเลอื่นๆ ก็มาสร้างทำเลที่ดีในพื้นที่ตัวเอง สร้าง Landmark ขึ้นมาเอง แล้วเปิดให้จองพื้นที่ โดยปัจจุบันมียอดจองประมาณ 40% และกำลังไหลเข้ามาต่อเนื่องด้วยทำเลที่เลือกคืออยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีแหล่งชุมชน และมีข้อมูลพื้นที่ ยิ่งทำให้การจัดการง่ายขึ้น

ประเด็นสำคัญ คือ วิยะรา เบฟเวอเรจ ได้แตกไลน์ Business Model สู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นบทเรียนในอดีต หรือประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมา “ไข่ไก่ ที่อยู่ในตะกร้าเดียวย่อมไม่ปลอดภัย จึงต้องกระจายความเสี่ยง อย่างเหมาะสม 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
70 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
189 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
806 | 17/04/2024
มองโอกาสลงทุน Café Amazon วิยะรา เบฟเวอเรจ ปั้นทำเลทองนอกปั๊มน้ำมัน