ตลาดจิวเวลรี่ในสหรัฐฯ มีทั้งอุปสรรคและโอกาส

SME Go Inter
25/06/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 4960 คน
ตลาดจิวเวลรี่ในสหรัฐฯ มีทั้งอุปสรรคและโอกาส
banner

กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทในปี2561 แม้จะมีแผ่วไปบ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศโดยมีตลาดใหญ่ใน ฮ่องกง ที่กล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่อีกประเทศคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงที่ผ่านมาตลาดในกลุ่มจิวเวลรี่เริ่มมาแรง

โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปสหรัฐฯ ในปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,357 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.72% โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน 553 ล้านเหรียญสหรัฐ , เครื่องประดับทอง 429 ล้านเหรียญสหรัฐ และทับทิม แซฟไฟร์ มรกต และพลอยเจียระไนอื่นๆ 167 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาไทยมูลค่ารวม 591 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% โดยสินค้าส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ เพชร พลอย แพลตตินัม ตามลำดับ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme 


นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากที่มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ โดยคาดว่าตลาดจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมากนัก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่จะขยายตลาดเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น

สำหรับสินค้าที่กำลังมาแรง และกำลังได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ ก็คือ สมาร์ท จิวเวลรี่ หรือเครื่องประดับที่ผลิตโดยการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไป เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งาน เช่น สร้อยข้อมือที่สามารถเก็บข้อมูลทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้สวมใส่ แหวนที่สามารถวัดจำนวนก้าวและแคลอรี สร้อยคอที่จะสั่นเบาๆ เพื่อแจ้งว่ามีโทรศัพท์ อีเมล เข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตดี เช่น เครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากแหล่งกำเนิดแท้จริงของเครื่องประดับนั้นๆ อย่างเครื่องประดับที่ผลิตจากชุมชน ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น 

ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของสมาร์ทจิวเวลรี่ และเครื่องประดับที่มีแหล่งกำเนิดชัดเจน ถือเป็นเทรนด์ใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าเหล่านี้ป้อนความต้องการของตลาดได้อยู่แล้ว เพราะไทยมีฝีมือในการผลิต และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้ ส่วนการเข้าสู่ตลาด นอกจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ ยังสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ โซเซียลมีเดีย ในการเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ


กฎถิ่นกำเนิดต้องระวังหากโฟกัสตลาดสหรัฐฯ

ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุน แต่ไม่ง่ายนักที่จะเจาะตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากเทรนด์ใหม่ในตลาดสหรัฐฯในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะต้อง มีแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้มีคำเตือนถึงผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประกับกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ส่งสารถึงบรรดากิจการและกลุ่มบริษัทต่างๆ ในธุรกิจเครื่องประดับระหว่างการประชุมในนิวยอร์กซิตี้ว่า ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรับรู้และเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ใช่แค่อัญมณี เพชรหรือพลอยสี แต่รวมถึงทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมายใหม่ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น แม้กฎหมายใหม่นี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลที่ชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าจะมีการประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

เนื่องด้วยรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับนั้นเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนเหตุความขัดแย้งและกลุ่มนอกกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อิหร่าน เวเนซูเอลา และบางประเทศในทวีปแอฟริกา ฉะนั้นภาครัฐจึงต้องการทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่นำเข้าทุกรายการ เพื่อป้องกันประเด็นเรื่องการฟอกเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเห็นว่า การทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนทุกรายการในเครื่องประดับอย่างชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากวัสดุหลายชิ้นนั้นผ่านการรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ และการขายผ่านตลาดรอง หรือขายผ่านมือมาหลายทอด แต่ทว่าภาครัฐก็ไม่ได้คล้อยตามข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้และมองว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่ อีกทั้งยังจับตามองอุตสาหกรรมเครื่องประดับเป็นลำดับต้นๆ แม้จะเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เป็นแหล่งทุนสนับสนุนเหตุความขัดแย้งต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ คงต้องปรับตัวพร้อมรับกฎระเบียบใหม่ที่จะบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ โดยสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกชิ้นจะต้องสำแดงเอกสารแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นเพชร พลอยสี และโลหะมีค่าทั้งทองหรือเงิน เป็นต้น ให้ถูกต้องจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองจาก Responsible Jewellery Council หรือเพชรที่มีใบรับรอง Kimberley Process หรือองค์กรที่ให้การรับรองเหมืองทองอย่าง Fairtrade (http://www.fairgold.org) และ Fairmined (http://www.fairmined.org) เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในธุรกิจเครื่องประดับ 

อ้างอิง : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

           : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

             สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6276 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2026 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5039 | 23/10/2022
ตลาดจิวเวลรี่ในสหรัฐฯ มีทั้งอุปสรรคและโอกาส