ราคาที่ธุรกิจ ‘ต้องจ่าย’ สู่การปรับตัวเป็น New Normal

SME in Focus
04/06/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 6716 คน
ราคาที่ธุรกิจ ‘ต้องจ่าย’ สู่การปรับตัวเป็น New Normal
banner

New Normal ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายๆ ครั้งที่ประเทศหนึ่ง หรือทั้งโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและยากจะรับมือ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคการผลิต ซับพลายเชน ส่งผลต่อภาพรวมการค้าโลก จนนำไปสู่ผลกระทบด้านการเงินและตลาดทุน จนเกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ขึ้น

ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า New Normal

ช่วงต้มยำกุ้งก็ใช่... หลายท่านคงจำกันได้ สโลแกน ไทยช่วยไทย กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ร่วมใจประหยัด ซึ่งก็ตอบโจทย์ความเป็น New Normal ของสังคมในยุคนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือความต้องการของประเทศในขณะนั้น

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ตอนวิกฤตซับไพรม์ปี 2551 หรือจะเรียกว่า ‘Hamburger Crisis’ ก็ไม่แตกต่าง ผลจากภาวะฟองสบู่แตกของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา บานปลายไปสู่วิกฤติสินเชื่อทั่วโลก แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากสหรัฐฯ ประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ของโลกเกิดปัญหา กำลังซื้อหด เศรษฐกิจชะลอตัว ลุกลามสู่ยุโรปและทั่วโลก ทำให้หลายธุรกิจต่างประสบปัญหาและต้องปรับตัว

ซึ่งตอนนั้นเอง จีน เริ่มผงาดและกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสหรัฐฯ ที่สำคัญตลาดจีนนับได้ว่าเริ่มทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ทั่วโลกต่างใช้ซัพพลายเชนจากจีน จะเรียกว่าเป็น New Normal ครั้งสำคัญเลยก็ได้

แม้แต่ช่วงปี 2554  ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ และไหลหลั่งมาท่วมกรุงเทพอยู่นับเดือน เปลี่ยนทุกพฤติกรรมการใช้ชีวิตคนไปอย่างคาดไม่ถึง ตลอดจนแนวโน้มต่างๆ ที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นหลังทุกอย่างคลี่คลาย เช่น การสร้างบ้าน ทำเลบ้าน สาธารณูปโภคภายในบ้านที่ต้องยกสูงป้องกันน้ำท่วม การกักตุนของกินของใช้ สินค้าบางชนิดขาดตลาด เกิดเทรนด์การใส่รองเท้าบูทกันน้ำไปทำงาน หรือออกนอกบ้านแทนการใส่รองเท้าหนังหรือผ้าใบ เรือเริ่มขายดีกว่ารถ และอีกหลายๆ อย่าง ที่แม้เราจะไม่ได้เรียกตอนนั้นว่า New Normal แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นั่นก็ไม่ใช่ความปกติแบบเดิมๆ ที่เราเคยเป็น

แม้น้ำหายท่วมแล้วแต่หลายอย่างยังไม่เปลี่ยน เช่น เรื่องน้ำท่วมจะเป็นหัวข้อสำคัญในการเลือกที่อยู่อาศัย อาจกล่าวได้ว่าคนเราเรียนรู้สำหรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอยู่เสมอ

ขณะที่ปัจจุบันท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 6 ล้านคน เสียชีวิตไปเกือบ 4 แสนคน วิกฤติครั้งนี้สร้างความเสียหายไปในทุกอณูของเศรษฐกิจโลก ทั้งในปัจจุบันยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการคิดค้นกว่า 18 เดือนหลังจากนี้ จึงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างแท้จริง

สำหรับประเทศไทยซึ่งถือว่ามีการจัดการโรคที่ดีและประชาชนตระหนักรู้ จนสามารถลดการแพร่เชื้อได้มากจนบางวันแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทว่าการการตระหนักรู้ดังกล่าว ได้เปลี่ยนบริบทสังคมเดิมๆ ไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน มาตรการสังคมที่เรียกว่า Social Distance หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม งดการวมกลุ่ม ลดการแพร่เชื้อ การเช็กอินผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ การต้องใสแมสก์เมื่ออกไปนอกบ้าน ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือใส่ใจสุขภาพและสุขอนามัยมากขึ้น

เหล่านี้คือ ความปกติแบบใหม่ ต่อสถานการณ์ พฤติกรรม การปฏิบัติต่างๆ ที่เราไม่คุ้นเคย แต่กลายมาเป็นมาตรฐานปกติใหม่ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

แต่กระนั้นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกๆ New Normal มีราคาที่ต้องจ่าย ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากบริบทที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญธุรกิจก็ต้องจ่ายเพิ่มเช่นกันเพื่อปรับตัว ปรับรูปแบบธุรกิจ ให้ทันกับพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภค!

 

New Normal มีราคา แล้วใครคือผู้จ่าย

New Normal ด้านสุขอนามัย : คนส่วนใหญ่จะหันมาใส่ใจการดูแลสุขอนามัยมากขึ้น มีความตระหนักในเรื่องเชื้อโรค และการแพร่เชื้อโรคระบาด รวมถึงผู้คนให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เฉพาะประชาชนทั่วไปที่ต้องจ่ายไปกับต้นทุนชีวิตด้านสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น ห้าง ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงหนัง สถานออกกำลังกาย โรงเรียนสอนพิเศษ ออฟฟิศ สถานที่ราชการ เรียกได้ว่าสถานที่ต่างๆ ที่มีคนไปมาเข้าออกประจำ ทุกที่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายประจำ คือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และอาจรวมถึงเครื่องมือวัดอุณหภูมิ สำหรับทุกคน ทุกธุรกิจ นี่คือต้นทุน และสำหรับผู้ผลิตนี่คือโอกาส

New Normal ด้านการบริโภคอาหาร : ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ทุกคนอยู่บ้านและไม่ออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น การสั่งอาหารออนไลน์ และบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมอย่างสูง เรียกว่า โตเพราะโควิดเลยก็ได้ โดยเฉพาะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสั่งอาหารและจัดส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มซึ่งเก็บค่า GP (Gross Profit) หรือทีเราเรียกว่า ส่วนแบ่งจากยอดขาย ที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มสั่งอาหารสูงถึง 25- 30 % ซึ่งทำให้ต้นทุนอาหารต่อหน่วยสูงขึ้น

คำถามคือ ต้นทุนในส่วนนี้ ใครจ่าย ?

ถ้าร้านอาหารยอมแบกรับต้นทุนนี้ นั่นเท่ากับยอมรับรายได้ต่อหน่วยที่ลดลง อาจมีข้อดีคือสามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาแข่งขันได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยอดขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ชดเชยส่วนแบ่งที่โดนหักไป ในทางกลับกัน หากจะผลักภาระนี้ไปที่ผู้บริโภคบางส่วนหรือทั้งหมด ผลอาจเกิดได้หลายแง่มุม แม้จะไม่การันตีว่ายอดขายจะลดลง แต่หากมองจากแนวโน้มที่ทุกคนในช่วงนี้พยายามลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น อันเกิดจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และอนาคต ก็พอคาดเดาได้ไม่ยากว่ายอดขายอาจจะลดลงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าร้านดังกล่าว ได้มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อชดเชยราคาที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาดูว่า จะเลือกอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่า สำหรับร้านอาหาร ต้นทุนภายในร้านนับเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาประกอบด้วย เพราะมาตรการ Social Distance ทุกร้านต่างต้องจัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร และการใช้ฉากกั้น นั่นย่อมหมายถึงจำนวนที่นั่งที่สามารถรองรับลูกค้าได้ลดลง นับเป็นต้นทุนที่หายไปเช่นกัน ตรงนี้ทางร้านอาจส่งเสริมโปรโมชั่นให้ส่วนลดต่างๆ สำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับหรือ Take Away เพื่อจูงใจลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น

New Normal ด้านการทำงาน : รูปแบบการทำงานที่ออฟฟิศจะถูกลดบทบาทลง ที่ผ่านมาหลายธุรกิจได้ปรับตัวให้พนักงานสมัครใจร่วมโครงการ Work from home ไปจนถึงสิ้นปี ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ และลดรายจ่ายภายในออฟฟิศ เพื่อพยุงให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงที่สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหา สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งสำคัญในเกิด New Normal ด้านการทำงานที่เปลี่ยนไป

อาทิเช่น การทำงานแบบยืดหยุ่นสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ (Remote Working) จะจริงจังมากขึ้น สำหรับคนทำงานตรงนี้ธุรกิจที่ให้บริการพื้นที่ทำงานร่วม (Co-working Space) หรือร้านเครื่องดื่มที่ลูกค้าสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ทำงานได้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

รวมทั้งปัจจัยดังกล่าวทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้มีการนำเทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการเข้ามาช่วยในการทำงาน และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการนำเทคโนโลยี และระบบบริหารจัดการเข้ามาช่วย ในการขยายธุรกิจนั้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้บุคลากรในด้านต่างๆ ลดจำนวนลง

ออกแนว ลดคนเน้น เทคโนโลยี แต่อย่าลืมว่า ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่ได้เกิดจากการจ้างงานบุคลากร หรือ รายจ่ายในออฟฟิศค่าเช่าเพียงส่วนเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย

รวมทั้งต้นทุนทางเทคโนโลยี ที่จะมาช่วยให้การทำงานรูปแบบใหม่ มีระบบบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถหลากหลายในการรับผิดชอบหน้าที่ได้มากขึ้น

ภายใต้การทำงานแบบ New Normal ต้นทุนด้านเทคโนโลยีจะเป็นต้นทุนใหม่และสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของทุกองค์กร อาทิ การลงทุนในเทคโนโลยี Cloud Computing จะกลายเป็นต้นทุนหลักที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย

New Normal ด้านออนไลน์ : เทรนด์ธุรกิจจาก ออฟไลน์ สู่ ออนไลน์คือกลยุทธ์หลักที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้ อันสืบเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นชินกับธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น การใช้เทคโนโลยีการก้าวกระโดดเร็วขึ้นอันสืบเนื่องจากพฤติกรรมช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจต้องกันไปสู่การตลาดออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ เทรนด์เหล่านี้นับเป็นความท้าทายมาก เพราะออนไลน์จะเป็นทะเลเดือดที่ทุกธุรกิจต่างทุ่มเม็ดเงินไปกับการตลาด การโฆษณา และการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้โดดเด่นกว่าใครในโลกออนไลน์ ซึ่งนี่คือต้นทุนเช่นกัน

ที่สำคัญการลงทุนมุ่งหน้าสู่ออนไลน์ต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควร หากต้องการสร้างการสื่อสารที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ แบรนด์เป็นที่จดจำ สร้างความน่าเชื่อถือ และต่อยอดสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเป็นไปได้ว่า New Normal สำหรับโลกออนไลน์จะเป็นเกมที่ธุรกิจแข่งขันกันเดือด

ที่สำคัญราคาที่ต้องจ่ายอาจสูงขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ ...ส่วนที่ว่าใครจะจ่ายและจ่ายเท่าไหร่ ก็ต้องดูว่าธุรกิจไหนที่ยังทำการตลาดแบบเดิมได้อีกบ้าง ตรงนี้ลองสำรวจตัวเองด้วยว่า ควรจ่ายและพร้อมจ่ายหรือไม่ด้วย

ความตื่นตระหนกจาก New Normal

พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยน ความจริงของสังคมยุค COVID-19  แต่ก่อนที่เราจะมุ่งส่งเสริมการตลาด ลงทุนเพิ่ม หรือจะรัดเข็มขัดสู่ New Normal ก็ควรวิเคราะห์ให้รอบด้าน เพราะเชื่อว่าทุกวันนี้ ทุกธุรกิจต่างจมอยู่กับกองข้อมูลที่เรียกว่า ความปกติใหม่ หรือ New Normal แต่ไม่รู้ว่าแท้จริงเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือเสียประโยชน์กันแน่ ใช้คำว่า สำลักข้อมูล ก็น่าจะได้

เพราะจริงอยู่ในข้อที่ว่าทุกอย่างไม่มีอะไรเหมือนเดิม ...แต่เป็นความจริงเช่นกันในข้อที่ว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอน และไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไปดังนั้นการคิดวิเคราะห์ถึง New Normal ที่ส่งผลต่อธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเฉพาะในช่วงสั้นๆ และเปลี่ยนไปอีกสู่ Next Normal หรือความปกติในช่วงต่อไปในอนาคตที่กำลังจะมาถึงหลังการสิ้นสุดของCOVID-19

ดังนั้นการพยุงธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยในช่วงที่ความเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ชัดเจน คือการติดตามข่าวคราว ศึกษาข้อมูล และปรับตัว แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจครั้งใหญ่ลงไปเพียงเพราะความวูบวาบของข้อมูล ที่อาจเป็นเพียงผลกระทบในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่อาจหยั่งรู้อนาคตว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วกว่า 5G จะปรับไปสู่ทิศทางอย่างไรต่อไป

ดังนั้นพึงมีสติก่อนปรับเปลี่ยนธุรกิจตามกระแส เพราะในการทำธุรกิจความเปลี่ยนแปลงคือต้นทุนที่ต้องจ่าย จะ New Normal หรือ Next Normal ทุกอย่างย่อมมีราคา ดังนั้นเมื่อมีเหตุผลต้องจ่ายจริงๆ ก็ต้องจ่ายสำหรับสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


สิ่งทอทางการแพทย์ ทางรอด ‘New Normal’

เร่งเสริมแกร่ง 4 กลุ่ม SMEs เกษตร ชุมชน คนตกงาน

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
203 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
374 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
300 | 20/03/2024
ราคาที่ธุรกิจ ‘ต้องจ่าย’ สู่การปรับตัวเป็น New Normal