รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่

SME Series
20/05/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 1 คน
รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่
banner

เจาะลึกปัญหาธุรกิจครอบครัวที่มักหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่ พร้อม 5 แนวทางป้องกันและสร้างระบบสืบทอดกิจการอย่างยั่งยืนในโลกธุรกิจยุคใหม่

Content Summary:

  • ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากต้องหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่ เพราะขาดการเตรียมความพร้อมและความเข้าใจระหว่างเจเนอเรชัน

  • การวางแผนสืบทอดตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมเปิดใจรับฟังความฝันของรุ่นลูก คือกุญแจสำคัญสู่การส่งต่อกิจการอย่างราบรื่น

  • ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แค่การสืบทอดโดยสายเลือด แต่คือการสร้างระบบที่แข็งแรงและเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

เมื่อพูดถึงธุรกิจครอบครัว ภาพที่หลายคนคุ้นเคยอาจเป็นร้านค้ารุ่นปู่ย่าตายายที่ส่งต่อกิจการมายังรุ่นลูกหลาน หรือโรงงานขนาดกลางที่ก่อร่างสร้างตัวจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่ จนเติบโตเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตทั้งครอบครัว แต่ในความจริงของยุคปัจจุบัน การส่งต่อกิจการจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความฝันส่วนตัวของเด็กรุ่นใหม่ ตลอดจนช่องว่างระหว่างวัยที่สะสมจากการที่ไม่ยอมสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ล้วนกลายเป็นเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การหยุดชะงักของกิจการที่ใช้เวลาทั้งชีวิตสร้างขึ้นมาได้เลยทีเดียว

เข้าใจเหตุผลของรุ่นลูก ทำไมจึงไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว?

ก่อนจะไปถึงแนวทางป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจครอบครัว ต้องเริ่มจากความเข้าใจซึ่งกันและกันก่อน แทนที่จะมองว่าเป็นความผิดของฝ่ายใด สิ่งที่ควรทำคือลองถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อทำความเข้าใจเบื้องหลังของการตัดสินใจนั้น เพราะในหลายกรณี ความลังเลของรุ่นลูกก็ไม่ได้มาจากความไม่รักครอบครัว แต่พวกเขาอาจมีเหตุผลเป็นของตัวเอง ดังนี้

ไม่ใช่สิ่งที่รัก

กิจการที่พ่อแม่บุกเบิกมาด้วยน้ำพักน้ำแรง แม้จะเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจของคนรุ่นก่อน แต่ก็ใช่ว่ารุ่นลูกจะรู้สึกเช่นเดียวกันในทันที เพราะธุรกิจครอบครัวบางประเภทก็อาจไม่สอดคล้องกับความสนใจหรือบุคลิกของลูก เช่น ลูกที่ชื่นชอบในงานศิลปะ อาจไม่รู้สึกอินกับกิจการค้าส่งเครื่องมือช่าง หรือร้านอะไหล่ที่ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อธุรกิจไม่ได้สะท้อนตัวตนของเขา ความรู้สึกว่า “ไม่ต้องการสืบทอดกิจการ” จึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นโดยอัตโนมัติ

มีความฝันของตัวเอง

คนรุ่นใหม่เติบโตในโลกที่เต็มไปด้วยทางเลือกมากมาย พวกเขามักได้รับแรงบันดาลใจจากผู้คนหลากหลายอาชีพ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านโซเชียลมีเดีย สถานศึกษา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้แต่ละคนมีเส้นทางความฝันที่เฉพาะตัว บางคนอยากเป็นนักดนตรี จิตรกร นักวิทยาศาสตร์ หรือเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัปของตนเอง ในขณะที่บางคนอาจต้องการทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ หรือเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตนเอง และมองว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจะเป็นการละทิ้งความฝันของตนไปอย่างไม่เต็มใจ

เคยเห็นความเหนื่อยล้าของพ่อแม่

ภาพของพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อการจัดการธุรกิจครอบครัวตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาไปเที่ยว ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว อาจกลายเป็นภาพจำฝังลึกในใจของรุ่นลูก แม้จะรับรู้ได้ถึงความเสียสละ แต่พวกเขาก็มักรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ชีวิตที่ตนต้องการ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ความสำเร็จในรูปแบบที่ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง และไม่มี Work-Life Balance ไม่ใช่แรงบันดาลใจสำหรับเด็กรุ่นใหม่

ขาดการสื่อสารและการเตรียมตัว

แม้ในใจของพ่อแม่จะตั้งใจส่งมอบธุรกิจให้ลูก แต่ถ้าไม่เคยเปิดใจพูดคุยกันอย่างจริงจัง สิ่งที่ควรเป็น “โอกาส” อาจกลายเป็น “ภาระ” ในสายตาของลูกโดยไม่ตั้งใจ เช่น หลายครอบครัวคาดหวังให้ลูกกลับมาสานต่อเมื่อเรียนจบ โดยไม่เคยถามว่าพวกเขาพร้อมหรือไม่ หรือสนใจแค่ไหน บางคนอาจเรียนจบสายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ บางคนไม่เคยได้รับโอกาสทดลองเข้ามามีบทบาทในการจัดการธุรกิจครอบครัวเลย เมื่อถึงเวลาต้องกลับมา จึงรู้สึกเหมือนถูกผลักเข้ามาในโลกที่ตนไม่คุ้นเคย

มองอีกมุมจาก “แรงกดดันของรุ่นพ่อแม่” ที่มักถูกเข้าใจผิด

ความคาดหวังที่ดูเหมือนเป็นการกดดันในสายตารุ่นลูก แท้จริงแล้วอาจเกิดจากความรู้สึกหลากหลายที่รุ่นพ่อแม่เองก็ไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ทั้งหมด เพราะการสร้างธุรกิจขึ้นมาจากศูนย์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งเวลา แรงกาย และแรงใจ การคิดจะส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้คนที่รักและไว้ใจที่สุดจึงไม่ใช่เรื่องผิด ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

เห็นคุณค่าของสิ่งที่สร้างมา

ธุรกิจครอบครัวสำหรับรุ่นพ่อแม่ เป็นมากกว่ากิจการที่สร้างรายได้ เพราะมันคือผลรวมของชีวิต เป็นหลักฐานของการต่อสู้กับอุปสรรค เป็นภาพจำของวันแรกที่เปิดร้าน ทุนก้อนสุดท้ายที่ใช้ลงทุน หรือแม้กระทั่งคืนที่นอนไม่หลับเพราะยอดขายไม่ถึงเป้า ทุกก้าวคือความทรงจำที่ฝังลึก และหล่อหลอมให้ธุรกิจกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และอยากรักษาสิ่งนี้ไว้ให้ได้นานที่สุด 

ตั้งใจมอบความมั่นคงให้ลูก

ในมุมของพ่อแม่ การสืบทอดธุรกิจครอบครัวไม่ได้หมายถึงการบังคับ แต่คือความพยายามที่จะมอบทางรอดให้แก่ลูกในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูงและความไม่แน่นอนรออยู่รอบด้าน พวกเขาเชื่อว่าการมีธุรกิจเป็นของตนเอง คือการมี “หลังบ้าน” ที่มั่นคง เป็นอาชีพที่ไม่ต้องพึ่งใคร และสามารถเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงเหมือนการทำงานลูกจ้าง แต่หากไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจนหรือฟังเสียงของลูกอย่างแท้จริง ความหวังที่ดีเหล่านี้อาจถูกตีความผิดว่าเป็นการควบคุมชีวิต และกลายเป็นกำแพงทางความรู้สึกที่ถอยออกจากกันเรื่อย ๆ

ไม่อยากเห็นสิ่งที่สร้างมาจบลง

รุ่นพ่อแม่หลายคนมองว่า หากไม่มีใครรับช่วงต่อกิจการและต้องปิดตัวลง นั่นอาจหมายถึงการสูญเสียอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของครอบครัว เมื่อพบว่าจะต้องขายกิจการ ทยอยปิดสาขา หรือต้องเลิกจ้างพนักงานที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนานเพราะไม่มีทายาทมาสานต่อ ความรู้สึกที่ตามมาจึงไม่ใช่แค่ผิดหวัง แต่รู้สึกว่าสิ่งสำคัญในชีวิตกำลังจะหายไป



จุดปะทะที่มักเกิดขึ้น และสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ความขัดแย้งเรื่องการจัดการธุรกิจครอบครัวมักไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ แต่จะค่อย ๆ ก่อตัวจากความไม่เข้าใจกันเล็ก ๆ ที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากปล่อยผ่าน อาจนำไปสู่รอยร้าวทั้งในความสัมพันธ์และความต่อเนื่องของกิจการ โดยสัญญาณที่อาจนำไปสู่การปะทะ ที่ควรสังเกตตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้แก่

รุ่นลูกเริ่มหลีกเลี่ยงการพูดถึงอนาคตของกิจการ

หากลูกเริ่มตีตัวออกห่างจากการมีบทบาทในการจัดการธุรกิจครอบครัว เช่น ไม่สนใจเข้าร่วมประชุม ไม่ถามไถ่เรื่องงาน หรือเลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องอนาคตของกิจการ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่พวกเขารู้สึกว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่ของตนเอง หรือมองไม่เห็นอนาคตที่สอดคล้องกับความฝันของตน

รุ่นพ่อแม่เริ่มเปรียบเทียบลูกกับลูกของครอบครัวอื่น

เช่น “ดูบ้านนั้นสิ ลูกเขาเก่งมาก สานต่อกิจการได้ดี” คำพูดเหล่านี้อาจออกจากปากพ่อแม่มาด้วยความหวัง แต่ความจริงแล้วสามารถทำร้ายจิตใจลูกได้มากกว่าที่คิด เพราะอาจทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนยังดีไม่พอในสายตาพ่อแม่ และหมดกำลังใจที่จะพยายาม

บรรยากาศการพูดคุยเรื่องงานเต็มไปด้วยความตึงเครียด

ถ้าการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจครอบครัวเริ่มกลายเป็นเรื่องที่สมาชิกอยากหลีกเลี่ยง เพราะเต็มไปด้วยเสียงถอนหายใจ คำพูดตำหนิ หรือแม้แต่การประชดประชันเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงบรรยากาศที่ไม่ปลอดภัยทางอารมณ์ ซึ่งเป็นตัวขัดขวางความร่วมมือและการเติบโตของกิจการในระยะยาว

ลูกแสดงอาการเบื่อหน่าย หมดแรงจูงใจ หรือไม่แสดงความสนใจใด ๆ

เมื่อธุรกิจครอบครัวไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้มีบทบาทหรือใช้ศักยภาพที่ตนมีได้อย่างเต็มที่ ก็จะเริ่มเกิดเป็นความเฉยชา ไม่อยากมีส่วนร่วม ไม่อยากเสนอความคิดเห็น หรือบางรายอาจถึงขั้นแสดงออกทางร่างกาย เช่น มาสาย ลาป่วยบ่อย หรือทำงานแบบขอไปที


5 แนวทางป้องกันปัญหาธุรกิจครอบครัวไปไม่ถึงรุ่นถัดไป

1. เริ่มวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวตั้งแต่วันนี้

อย่ารอจนถึงวันที่ต้องส่งมอบกิจการโดยไม่มีการเตรียมตัว เพราะการสืบทอดไม่ใช่แค่เรื่องของตำแหน่ง แต่ยังเกี่ยวข้องกับการฝึกฝนทักษะ การค่อย ๆ มอบหมายความรับผิดชอบ และการให้ลูกได้ลองผิดลองถูก การเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้ทั้งรุ่นพ่อแม่และลูกได้ปรับจังหวะชีวิตและมุมมองให้สอดคล้องกันมากขึ้น

2. สื่อสารกับลูกอย่างเปิดใจ

เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการรับฟังลูก ไม่ใช่เพื่อโต้กลับ แต่เพื่อเข้าใจความต้องการ ความกลัว และความฝันของกันและกัน การเปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสินจะช่วยลดความเข้าใจผิด และเป็นการให้พื้นที่แต่ละฝ่ายได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง

3. สร้างพื้นที่ให้ลูกมีตัวตนในกิจการ

การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ลูกเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดออนไลน์ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ หรือแม้แต่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ ล้วนเป็นการบอกลูกทางอ้อมว่า ไอเดียของพวกเขามีความหมายเสมอ ยิ่งพวกเขารู้สึกว่าได้สร้างอะไรใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ก็จะยิ่งมีความผูกพันกับธุรกิจครอบครัวมากขึ้น

4. หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ทำเพื่อครอบครัว” เป็นข้อบังคับ

การตอกย้ำว่าต้องทำเพื่อคนอื่นโดยไม่ถามว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร อาจทำให้เกิดความรู้สึกตึงเครียดได้ แนะนำว่าควรใช้วิธีพูดคุยกันอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น “ธุรกิจนี้สำคัญกับพ่อแม่มาก และพ่อกับแม่ก็อยากรู้ว่าลูกคิดอย่างไร” มากกว่าการสื่อสารแบบกดดันให้เสียสละ

5. สร้างระบบที่ไม่ผูกขาดกับคนในครอบครัว

หากต้องการให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างมั่นคง ควรมีการเตรียมแผนสำรอง เช่น การจ้างผู้จัดการมืออาชีพ การตั้งที่ปรึกษาภายนอก หรือการสร้างคณะกรรมการบริหาร เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้แม้ไม่มีสมาชิกครอบครัวเป็นผู้นำโดยตรง

บทสรุปและแนวทางสู่ความสำเร็จ

การรักษาและส่งต่อธุรกิจครอบครัวเป็นมากกว่าการรักษาทรัพย์สิน แต่คือการส่งต่อคุณค่า แรงบันดาลใจ และวิสัยทัศน์จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง หากปราศจากการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ของอารมณ์ ความสัมพันธ์ และระบบบริหารจัดการ ธุรกิจที่เคยมั่นคงในวันนี้ ก็อาจกลายเป็นเพียงอดีตที่พูดถึงด้วยความเสียดาย

อย่างไรก็ดี บทเรียนสำคัญจากธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก คือ การสืบทอดกิจการไม่สามารถอาศัยความตั้งใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เพียงลำพัง เพราะความสำเร็จต้องอาศัยการร่วมสร้างระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ภายใต้ความเข้าใจในความแตกต่างและความคาดหวังของกันและกัน โดยต้องเปลี่ยนจากการคาดหวังให้เดินตาม เป็นการชวนกันเดินไปข้างหน้าในทิศทางใหม่ เพราะธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อได้จริง ไม่ได้อยู่ได้แค่ด้วยชื่อเสียงในอดีต แต่ต้องสามารถสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ได้ในอนาคต


ข้อมูลอ้างอิง

  1. ศิลปะการสื่อสาร ในธุรกิจครอบครัว. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 จาก https://www.thansettakij. com/business/463346

  2. Family Business Succession in Different National Contexts: A Fuzzy-Set QCA Approach. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 จาก https://www.mdpi.com/2071-1050/11/22/6309

  3. Successful Family Business Succession Requires a Long-term Approach. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 จาก https://english.ckgsb.edu.cn/knowledge/professor_analysis/successful-family-business-succession-china/

  4. Succession Planning, The Family Business Way. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 จาก https://www.linkedin.com/pulse/succession-planning-family-business-way-the-cdc-group.

  5. Family businesses successors knowledge and willingness on sustainable innovation: The moderating role of leader's approval. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 จาก https://www.elsevier.es/en-revista-journal-innovation-knowledge-376-articulo-family-businesses-successors-knowledge-willingness-S2444569X19300320


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่

รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่

เจาะลึกปัญหาธุรกิจครอบครัวที่มักหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่ พร้อม 5 แนวทางป้องกันและสร้างระบบสืบทอดกิจการอย่างยั่งยืนในโลกธุรกิจยุคใหม่Content…
pin
2 | 20/05/2025
3 หลักไมล์สู่เส้นชัยในธุรกิจครอบครัว  บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ คุณกวาง เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง เพจทำที่บ้าน

3 หลักไมล์สู่เส้นชัยในธุรกิจครอบครัว บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ คุณกวาง เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง เพจทำที่บ้าน

80% ของธุรกิจ SMEs ไทยคือธุรกิจครอบครัว แม้สัดส่วนของธุรกิจครอบครัวจะสูงมากเทียบกับธุรกิจทั่วไป แต่หากพูดถึงการส่งต่อธุรกิจได้สำเร็จ กลับมีเพียง…
pin
2 | 17/05/2025
How-to ปรับสมดุลธุรกิจครอบครัว ให้ทันคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล

How-to ปรับสมดุลธุรกิจครอบครัว ให้ทันคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล

ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า Digital Transformation เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า…
pin
4 | 16/05/2025
รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่