Supply Chain Management ช่วยจัดการลดคาร์บอนให้ธุรกิจอย่างไร?
เมื่อ “ความยั่งยืน (Sustainability)” กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำธุรกิจ การลดคาร์บอนไม่ใช่แค่หน้าที่ขององค์กรขนาดใหญ่ แต่ SME ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะในบริบทของกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) จากสหภาพยุโรป และ EUDR (EU Deforestation Regulation) ซึ่งเข้มงวดกับการใช้วัตถุดิบจากป่าไม้
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของสินค้า การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และความโปร่งใสของแบรนด์ ในขณะเดียวกัน ราคาพลังงานและวัตถุดิบก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง SME ที่ต้องการอยู่รอดในระยะยาว จึงจำเป็นต้องเริ่มวางทิศทางขององค์กรในเชิงสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
Supply Chain Management (SCM) คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจจัดการลดคาร์บอนได้อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยการมองผ่านกรอบของการนับคาร์บอนแบบ Scope 1-2-3 จะช่วยให้เข้าใจว่าแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทานส่งผลต่อการปล่อยคาร์บอนอย่างไร และสามารถวางกลยุทธ์ในการลดคาร์บอนได้อย่างตรงจุด
การนับคาร์บอนแบบ Scope 1-2-3 พื้นฐานที่ SME ต้องรู้ก่อนจัดการ Supply Chain
ก่อนที่ธุรกิจจะเริ่มต้นจัดการลดคาร์บอนผ่านระบบ Supply Chain Management ต้องเข้าใจประเภทของการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางการลดคาร์บอนได้อย่างแม่นยำ และวัดผลได้จริงตามมาตรฐานสากล โดยมาตรฐานที่ใช้กันแพร่หลาย คือ GHG Protocol (Greenhouse Gas Protocol) ซึ่งแบ่งการปล่อยคาร์บอนออกเป็น 3 ขอบเขต (Scope) หลัก ดังนี้
Scope 1: การปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากกิจกรรมที่องค์กรควบคุมโดยตรง เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ของบริษัท การใช้เครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน การรั่วไหลของก๊าซในระบบปรับอากาศหรือระบบทำความเย็น
Scope 2: การปล่อยทางอ้อมจากการผลิตพลังงาน (โดยผู้อื่น) ที่องค์กรซื้อมาใช้ เช่น ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ไอน้ำ น้ำร้อน ระบบทำความเย็นจากภายนอก พลังงานในอาคารสำนักงานหรือโรงงาน
Scope 3: การปล่อยทางอ้อมจากกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ครอบคลุมกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด เช่น การผลิตวัตถุดิบของซัปพลายเออร์ การขนส่งและโลจิสติกส์จากภายนอก การเดินทางของพนักงาน การกำจัดของเสีย การใช้ผลิตภัณฑ์ของลูกค้า
ดังนั้น การวางแผนลดคาร์บอนจึงต้องพิจารณา Supply Chain ทั้งระบบ โดยเชื่อมโยงการจัดการในแต่ละช่วงของห่วงโซ่ธุรกิจกับ Scope ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
ต้นน้ำ เช่น การเลือกซัปพลายเออร์ มักสัมพันธ์กับ Scope 3
กลางน้ำ เช่น การผลิตในโรงงาน เกี่ยวข้องกับ Scope 1 และ 2
ปลายน้ำ เช่น การใช้งานสินค้าโดยลูกค้า เชื่อมโยงกับ Scope 3
เมื่อเข้าใจโครงสร้างนี้แล้ว ธุรกิจจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมในการจัดการ Supply Chain เพื่อลดคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตอบโจทย์ทั้งในเชิงต้นทุน การแข่งขัน และข้อกำหนดของพันธมิตรการค้าในอนาคต
ต้นน้ำ: วางรากฐานให้ยั่งยืน ด้วยการเลือกซัปพลายเออร์ที่มีจริยธรรม
ในมุมของ Scope 3 ครอบคลุมกิจกรรมที่องค์กรไม่ได้ควบคุมโดยตรง เช่น การจัดหาวัตถุดิบจากภายนอก ซึ่งส่งผลต่อการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม
แนวทางการจัดการ Supply Chain ในช่วงต้นน้ำ ได้แก่
เลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่ได้รับการรับรอง เช่น FSC (Forest Stewardship Council) สำหรับไม้และกระดาษ หรือ RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) สำหรับน้ำมันปาล์ม
สร้างเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมในการคัดเลือกซัปพลายเออร์ เช่น ต้องมีการรายงานการปล่อยคาร์บอน หรือมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สนับสนุนซัปพลายเออร์ในท้องถิ่นเพื่อลดระยะทางในการขนส่ง และลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) จากโลจิสติกส์
กลางน้ำ: เลือกใช้พลังงานสะอาด และบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการผลิตและการดำเนินงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Scope 1 (การปล่อยคาร์บอนโดยตรงจากกิจกรรมภายในองค์กร) และ Scope 2 (พลังงานที่ซื้อมาใช้) การจัดการ Supply Chain ที่มีประสิทธิภาพสามารถลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมได้หลากหลายวิธี ดังนี้
วางระบบอาคารและกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน
หาก SME มีแผนก่อสร้างหรือขยายโรงงาน ควรพิจารณาออกแบบเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Green Factory) ที่ใช้วัสดุก่อสร้างยั่งยืน มีระบบหมุนเวียนพลังงาน เช่น ระบบแสงธรรมชาติ หรือการระบายอากาศแบบธรรมชาติ
วางผังโรงงานให้มีประสิทธิภาพด้านการไหลเวียนของวัสดุและกระบวนการผลิต เพื่อการประหยัดพลังงานสูงสุด
ใช้พลังงานสะอาดและปรับเครื่องใช้ให้ประหยัดไฟ
ติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง
เปลี่ยนอุปกรณ์ให้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เช่น ไฟ LED ตู้เย็นหรือแอร์แบบ Inverter
ใช้ Smart Timer หรือเซนเซอร์ควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์แบบอัตโนมัติตามเวลาการใช้งานจริง
นำระบบดิจิทัลมาลดการใช้ทรัพยากร
ใช้ ERP (Enterprise Resource Planning) หรือ MES (Manufacturing Execution System) เพื่อลดของเสียในกระบวนการผลิต
เปลี่ยนระบบเอกสารเป็นดิจิทัลทั้งหมด ลดการใช้กระดาษ
ประชุมหรือฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ ลดการเดินทางและการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทาง
ลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่ SME ใช้ได้จริง
ระบบ Waste Heat Recovery กู้คืนพลังงานจากความร้อนทิ้งในระบบผลิต
ระบบ Smart Meter ช่วยควบคุมและวิเคราะห์การใช้พลังงาน
ระบบ IoT Sensors ตรวจจับการรั่วไหลของพลังงาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า อากาศอัด
แม้มีเทคโนโลยีแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมปรับการทำงานของพนักงานให้ร่วมมือกันลดคาร์บอน เช่น การรณรงค์ปิดไฟ-ปิดแอร์เมื่อไม่ใช้
ปรับระบบขนส่งในโลจิสติกส์
รวมรอบการจัดส่งสินค้าเพื่อลดการวิ่งรถ (Delivery Consolidation)
ใช้ซอฟต์แวร์วางแผนเส้นทาง (Route Optimization Software)
จับมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อใช้ระบบขนส่งร่วมกัน ลดจำนวนเที่ยววิ่งที่ซ้ำซ้อน
ปลายน้ำ: สื่อสารกับลูกค้าอย่างโปร่งใส และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม
แม้ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย หรือฝ่ายบริการลูกค้าอาจดูห่างไกลจากการลดคาร์บอน แต่แท้จริงแล้วเรียกได้ว่าเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมองค์กรกับผู้บริโภค และช่วยลด Scope 3 ได้ในระยะยาว โดยตัวอย่างการจัดการ Supply Chain ในปลายน้ำ เช่น
การใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือรีไซเคิลได้ พร้อมระบุวิธีการกำจัดอย่างถูกวิธีบนบรรจุภัณฑ์
การสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์เกี่ยวกับการลดคาร์บอนอย่างโปร่งใส เช่น ปริมาณ Carbon Footprint ของสินค้าแต่ละประเภท
การจัดแคมเปญการตลาดเพื่อชวนให้ลูกค้ามีส่วนร่วม เช่น โครงการส่งคืนบรรจุภัณฑ์ แลกแต้มเมื่อนำขยะมารีไซเคิล หรือแคมเปญซื้อสินค้าแล้วปลูกต้นไม้ร่วมกับแบรนด์
บทสรุปและแนวทางสู่ความสำเร็จ
การจัดการลดคาร์บอนผ่าน Supply Chain Management คือการวางรากฐานสู่ระบบธุรกิจที่แข็งแรง มีความสามารถในการปรับตัว และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะในยุคที่ทรัพยากรเริ่มขาดแคลน ต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และผู้บริโภคเริ่มใช้ “ความยั่งยืน” เป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ
ข้อดีของ Supply Chain Management ที่ชัดเจนในมุมของการลดคาร์บอน คือ การช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตาม วิเคราะห์ และวัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำและตอบสนองต่อข้อกำหนดใหม่ ๆ ของคู่ค้าและประเทศปลายทางได้ทันท่วงที นอกจากนี้ Supply Chain Management ยังส่งผลโดยตรงต่อการลดต้นทุนด้านพลังงาน การลดของเสียในกระบวนการผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งล้วนช่วยเพิ่มกำไรและความยั่งยืนของธุรกิจ
ที่สำคัญ การมีระบบ Supply Chain ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ยังเอื้อต่อการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ในฐานะธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่ลูกค้าและพันธมิตรทั่วโลกให้ความสำคัญ
ดังนั้น สำหรับ SME ที่ต้องการยืนหยัดอยู่ในตลาดได้อย่างมั่นคงและแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การลงทุนในระบบ Supply Chain ที่ยั่งยืนไม่เพียงเป็นการปฏิบัติตามกฎ แต่คือการสร้างจุดแข็งเชิงกลยุทธ์ที่สะท้อนความเข้าใจในทั้งต้นทุน การจัดการ และความรับผิดชอบต่ออนาคตร่วมกันของโลกธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลอ้างอิง
Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จาก https://trade.ec.europa.eu/access-to-markets/en/news/carbon-border-adjustment-mechanism-cbam.
The Sustainability Imperative for Small Business. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.ifac.org/knowledge-gateway/discussion/sustainability-imperative-small-business.
What Is the EU Deforestation Regulation? 7 Key Questions, Answered. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.wri.org/insights/explain-eu-deforestation-regulation.
Direct and indirect emissions: Mapping of SCOPES 1, 2 and 3 according to the GHG Protocol. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จาก https://globalclimateinitiatives.com/en/e-brochures-knowledge/direct-and-indirect-emissions/.
FSC® Forest Management Certification. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.scsglobalservices.com/services/fsc-forest-certification.