การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สินค้าที่ตอบโจทย์เรื่อง “ความยั่งยืน (Sustainability)” ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม Green Product ซึ่งไม่เพียงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับความได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับโลก สำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย นี่ถือเป็นโอกาสใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม
การเติบโตของตลาดสินค้าสีเขียว (Green Product)
ปัจจุบัน ตลาด Green Product มีอัตราการเติบโตที่ชัดเจนทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย โดยรายงาน PwC 2024 Voice of the Consumer Survey ระบุว่า 80% ของผู้บริโภคทั่วโลกยินดีจ่ายแพงขึ้น สำหรับสินค้าที่ผลิตหรือจัดหามาอย่างยั่งยืน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 9.7% ของราคาปกติ
ขณะเดียวกัน Yama Research ยังเผยว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials และ Gen Z มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และต้องการข้อมูลความโปร่งใสของกระบวนการผลิตมากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ
การปรับตัวเข้าสู่ตลาดสินค้าสีเขียว จึงถือเป็นการเปิดประตูสู่ข้อดีของ Green Product ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการได้รับแรงหนุนจากนโยบายของภาครัฐ สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลมีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวผ่านนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ทั้งในด้านองค์ความรู้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่องทางตลาด ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าสู่สนามแข่งขันนี้ได้อย่างเป็นระบบ
ไอเดียออกแบบ Green Product สำหรับธุรกิจ SME
Green Product คือ สินค้าหรือบริการที่ออกแบบและดำเนินการโดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการหลังหมดอายุการใช้งาน
ตัวอย่างการออกแบบ Green Product ที่ SME สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อสร้างแบรนด์สีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำไปต่อยอดสร้างคุณค่าทางแบรนด์และการตลาด ได้แก่
บรรจุภัณฑ์จากวัสดุชีวภาพ กล่องจากเยื่อพืช ถุงจากฟางข้าว หรือกากอ้อย ที่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น เหมาะสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายแบบออร์แกนิก เช่น สบู่ แชมพู โลชั่น ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ปราศจากพาราเบนหรือซิลิโคน เหมาะสำหรับตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่ม Clean Beauty ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและส่วนผสมจากธรรมชาติ
เครื่องแต่งกายจากเส้นใยรีไซเคิล เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากขวดพลาสติก PET หรือผ้าฝ้ายรีไซเคิล เพื่อลดการใช้น้ำและสารเคมีในการผลิตใหม่
ของใช้ในบ้านจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กระถางต้นไม้จากขวดแก้ว เฟอร์นิเจอร์จากไม้พาเลต หรืออุปกรณ์ครัวจากเศษโลหะ เสริมจุดขายเรื่องการออกแบบแบบหมุนเวียน (Circular Design) ที่ลดของเสียและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ก่อนจะได้ Green Product ที่แท้จริง ต้องรู้จักมาตรฐานเหล่านี้
Green Product ที่แท้จริงไม่ใช่เพียงการประกาศตัวว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องมีการรับรองหรือมาตรฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อทั้งผู้บริโภคและคู่ค้าในตลาด ดังนี้
ตัวอย่างมาตรฐาน Green Product ในประเทศไทย
ฉลากเขียว โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นการรับรองว่าสินค้านั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าทั่วไปในประเภทเดียวกัน
ฉลากลดคาร์บอน โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งวัดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
GMP (Good Manufacturing Practice) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีความสำคัญกับสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์
ISO 14001 หรือระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ออกใบรับรอง ISO 14001 ในประเทศไทย เช่น บริษัท โซโคเทค เซอร์ติฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
ตัวอย่างมาตรฐาน Green Product ระดับสากล
Eco Label โดย European Commission ใช้ในตลาดยุโรปเพื่อแสดงว่าสินค้าผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม
Cradle to Cradle Certification โดยหน่วยงานประเมินที่ได้รับอนุญาต เช่น EPEA ซึ่งมีบทบาทในการวิเคราะห์สินค้าตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไปจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่
B Corp Certification โดย B Lab (องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลก) รับรองธุรกิจที่บริหารด้วยจริยธรรม ความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพรวม
การเตรียมตัวเบื้องต้นสำหรับ SME ที่อยากจะทำมาตรฐาน Green Product
การเข้าสู่ตลาดสินค้าสีเขียวหรือ Green Product อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ไม่อาจอาศัยแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมหรือปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างผิวเผินได้ แต่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการ และการสื่อสาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและแข่งขันในตลาดได้จริง
1. สำรวจสถานะปัจจุบันของธุรกิจ (Baseline Assessment)
จุดประสงค์ของขั้นตอนนี้ไม่ใช่เพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง แต่เพื่อเข้าใจศักยภาพของธุรกิจตนเองและวางเป้าหมายการปรับปรุงได้แม่นยำขึ้น สามารถทำได้ด้วยแนวทางต่อไปนี้
วิเคราะห์วงจรชีวิตของสินค้า (Life Cycle Assessment: LCA) เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนไหนมากที่สุด เช่น การใช้พลังงานในกระบวนการผลิต การขนส่ง หรือของเสียหลังใช้งาน
ประเมินการใช้ทรัพยากรและการปล่อยของเสีย เช่น ปริมาณการใช้พลังงาน น้ำ วัตถุดิบ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนของเสียที่เกิดขึ้น
2. ศึกษาและเลือกมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเภทของธุรกิจ
การเลือกมาตรฐานเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ Green Product ของ SME ได้รับความน่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยควรพิจารณาจากปัจจัยหลักดังนี้
ประเภทสินค้า (อาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ)
ตลาดเป้าหมาย (จำหน่ายในประเทศหรือส่งออก)
ความสามารถขององค์กรในการเก็บข้อมูลและบริหารคุณภาพ
ตัวอย่างการจับคู่ระหว่างประเภทธุรกิจกับมาตรฐาน Green Product
3. วางแผนการเก็บข้อมูลเชิงระบบ
การขอรับรองมาตรฐาน Green Product จำเป็นต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้องและตรวจสอบได้ จึงควรจัดเตรียมระบบบันทึกข้อมูลที่ครอบคลุม เช่น
บันทึกการใช้วัตถุดิบรายเดือน
ปริมาณของเสียจากการผลิต
ค่าใช้จ่ายพลังงานและแหล่งที่มาของพลังงาน
ระบบแยกขยะหรือจัดการของเสียที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
หากไม่มีทีมเฉพาะทาง อาจเริ่มต้นจากการใช้ Excel หรือระบบ ERP เบื้องต้น เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นระบบก่อน
4. ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานสนับสนุน
การเดินหน้าเข้าสู่ตลาด Green Product ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นเพียงลำพัง เนื่องจากในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคนิคโดยเฉพาะ เช่น
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สนับสนุนด้านเงินทุนและองค์ความรู้สำหรับธุรกิจสีเขียว
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับฉลากเขียวและการจัดการสิ่งแวดล้อม
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการตรวจวัดมลพิษและวางแผนลดการปล่อยคาร์บอน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนา Green Innovation และกระบวนการผลิตใหม่
5. ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐาน
เมื่อทราบจุดที่ต้องปรับปรุงและเลือกมาตรฐานเป้าหมายแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเสริมภาพลักษณ์องค์กรอย่างมีคุณค่า ดังนี้
เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นแบบชีวภาพหรือย่อยสลายได้
ติดตั้งระบบจัดการพลังงานหรือเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต
ติดตั้งระบบจัดการของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
6. เตรียมทีมภายในองค์กร
แม้ธุรกิจ SME จะมีทีมงานขนาดเล็ก แต่การตั้งทีมรับผิดชอบเฉพาะเรื่อง Green Product อย่างจริงจังจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นระบบมากขึ้น เช่น
แต่งตั้งผู้รับผิดชอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม
จัดฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
สื่อสารภายในให้ทุกฝ่ายเข้าใจเป้าหมายของการพัฒนาสินค้าสีเขียว
“Greenwashing” สิ่งที่คนทำ Green Product ต้องระวัง
หนึ่งในความเสี่ยงของการทำตลาด Green Product คือ การตกอยู่ในภาวะ Greenwashing หรือการสื่อสารว่าสินค้าดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เช่น การใช้คำว่า “Eco” “Natural” หรือ “Bio” บนฉลากหรือโฆษณา โดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจนหรือการรับรองมาตรฐานใด ๆ
วิธีหลีกเลี่ยง Greenwashing
ยืนยันด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น รายงานการวัด Carbon Footprint และการวางแผนลดการปล่อย CO₂ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ IPCC ที่ต้องจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C ภายในปี 2050
เปิดเผยกระบวนการผลิตอย่างโปร่งใส ผ่านเว็บไซต์หรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ระบบจัดการของเสีย ฯลฯ
หลีกเลี่ยงคำโฆษณาเชิงอารมณ์ เน้นสื่อสารด้วยตัวเลขที่ตรวจสอบได้ เช่น “ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 35% จากสูตรเดิม” หรือ “บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน”
บทสรุปและแนวทางสู่ความสำเร็จ
จากข้อมูลการเติบโตของตลาดสินค้าสีเขียวทั้งในระดับโลกและในประเทศ เป็นสัญญาณชัดเจนว่าผู้ประกอบการ SME ควรเริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแนวทางดำเนินธุรกิจเพื่อลดคาร์บอน การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อออกแบบสินค้าแบบ Zero Waste หรือการนำระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิต
ข้อดีของ Green Product ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เข้าถึงตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง และสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น การเข้าสู่ตลาด Green Product จึงไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนฉลากหรือข้อความโฆษณา แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การออกแบบสินค้า การควบคุมกระบวนการผลิต การจัดการของเสีย ไปจนถึงการสื่อสารอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Greenwashing
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบาย BCG Economy และโครงการสนับสนุน SME ด้าน Green Business ที่สามารถใช้เป็นแรงหนุนสำคัญ ทั้งในด้านเงินทุน ความรู้ และการสร้างโอกาสทางการตลาดในระดับที่กว้างขึ้น
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมีความรู้เท่าทันมากขึ้น Green Product จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือ “มาตรฐานใหม่” ของตลาด ผู้ประกอบการ SME ที่เริ่มลงมือวันนี้ ย่อมเป็นผู้ที่พร้อมรับมือกับการแข่งขันในวันพรุ่งนี้อย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง
Consumers willing to pay 9.7% sustainability premium, even as cost-of-living and inflationary concerns weigh: PwC 2024 Voice of the Consumer Survey. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.pwc.com/gx/en/news-room/press-releases/2024/pwc-2024-voice-of-consumer-survey.html.
Thai consumers shift focus to essential goods amid economic worries: PwC report. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.pwc.com/th/en/press-room/press-release/2024/press-release-30-08-24-en.html.
How willing are we to pay a green premium?. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.thesustainableinvestor.org.uk/how-willing-are-we-to-pay-a-green-premium/.
Top 10 Sustainable Product Categories Consumers Are Buying This Year. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จาก https://yamaresearch.com/blog/top-10-sustainable-product-categories-consumers-are-buying.
SMEs to get financial relief as part of BCG economy strategy. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จาก https://www.nationthailand.com/business/40013734.
Top 9 Ways to Avoid Greenwashing in Your Business. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 จาก https://blog.cleanhub.com/how-to-avoid-greenwashing.