ส่องแผน ‘สเปน’ เลิกง้อ ‘ฟอสซิล’ มุ่งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ไทยมองเป็นเห็นโอกาส

SME Go Inter
23/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2664 คน
ส่องแผน ‘สเปน’ เลิกง้อ ‘ฟอสซิล’ มุ่งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ไทยมองเป็นเห็นโอกาส
banner
"สเปน" เป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนมากที่สุด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม การเกษตรเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารของยุโรป พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จึงเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ สเปน

กรณีศึกษาของ ‘ประเทศสเปน’ เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจ ในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำด้าน พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า คือการผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศทั้งหมด 100% จากพลังงานหมุนเวียน โดยในปี 2020 สเปนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 20.6% ถ่านหิน 14.3% และพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 43% โดยเป็นพลังงานลม 21% พลังงานน้ำ 12% พลังงานแสงอาทิตย์ 8% และชีวมวล 2%

 

โดย สเปน ตั้งเป้าเลิกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าภายในปี 2030 ซึ่งผลการดำเนินการภายในปี 2020 สเปน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความจริงจังกับนโยบายนี้ เพราะปัจจุบัน สเปน ใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงแค่ 5% เท่านั้น โดยลดลงจากปี 2018 ถึง 64.8% และเมื่อเทียบกับปี 2002 สเปนสามารถลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 85.6% เลยทีเดียว ขณะที่พลังงานหมุนเวียนของสเปนมีอัตราส่วนเป็นกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ และยังสามารถส่งออกพลังงานทดแทนไปยังต่างประเทศได้เป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านยูโรต่อปี และสามารถผลิตเทคโนโลยีในสาขานี้ได้ในราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อีกด้วย

 ทั้งนี้ สเปน มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของสเปนเพื่อให้ปลอดจากก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมหรือถ่านหิน โดยรัฐบาลสเปนตั้งเป้าลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าลง 90% เมื่อเทียบกับระดับในช่วงทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้สมรรถนะในการผลิตอย่างน้อย 3,000 เมกะวัตต์ต่อปีภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า

ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าในสเปนมุ่งไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรงผลิตไฟแบบผสมผสาน หรือไฮบริด โดยได้มีการทดสอบระบบโรงผลิตไฟฟ้าต้นแบบที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลม ผสมผสานกับการผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมทั้งมีระบบเก็บกักพลังงานด้วยลิเธียมแบตเตอรี




ดูงานต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ในขณะที่ในเรื่องพลังงานหมุนเวียนของไทย คณะผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้ไปศึกษาดูงานด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศสเปนด้วยเช่นกัน 

เริ่มที่เมืองเซบีย่า ประเทศสเปน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ Valle 1 และ Valle 2 เป็นพื้นที่ที่มีค่าความเข้มของแสงอาทิตย์สูงมาก จึงเหมาะต่อการนำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 100 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 320 ล้านหน่วยต่อปี หรือจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนได้ถึง 80,000 ครัวเรือน เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบบเกลือเหลว (Molten Salt) ที่ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์  

นอกจากนี้แผงโซลาเซลล์ยังใช้กระจกโค้งทรงพาราโบล่า สามารถปรับเปลี่ยนตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ด้วยระบบไฮดรอลิก สะท้อนรวมรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ ถ่ายเทผ่านความร้อนไปที่ท่อรับความร้อนตรงกลางกระจกโค้ง ภายในบรรจุน้ำมันร้อน (Heat Oil) ที่สะสมความร้อนได้ ความร้อนส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าแบบโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โดยเอาความร้อนมาต้มน้ำให้เป็นไอน้ำ และนำไปหมุนกังหันไอน้ำ และหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า และความร้อนจากน้ำมันร้อนอีกส่วนหนึ่งถูกนำความร้อนไปเก็บไว้ที่ถังเกลือเหลวร้อนเพื่อนำความร้อนไปผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 

แตกต่างจากระบบปัจจุบันในไทยที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ (PV) และใช้ระบบกักเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี แต่ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องรอการพัฒนาให้กักเก็บพลังงานได้นานขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีต้นทุนที่สูงกว่าระบบที่ใช้ในไทยที่จะส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าได้




เปลี่ยน ‘ส้มหล่น’ เป็นพลังงานไฟฟ้า

อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจในเมืองเซบีย่าคือ แหล่งปลูกส้มกว่า 1.6 ล้านต้น ที่นิยมปลูกเพื่อประดับตามริมถนน สถานที่สำคัญ และสวนสาธารณะ แต่เมื่อถึงฤดูกาลที่ส้มทั้งเมืองออกผล ทำให้เซบีย่าเต็มไปด้วย ‘ส้มหล่น’ กว่า 5.7 ล้านกิโลกรัม เนื่องจากคนสเปนไม่นิยมเพราะมีรสชาติออกขม ทำให้มีส้มหล่นเกลื่อนตามพื้นมากมาย และน้ำส้มที่แตกจากผลทำให้มีแมลงวันตอมและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง จะตัดทิ้งก็ไม่ได้เพราะเป็นเหมือนต้นไม้ประจำเมือง 

กระทั่งบริษัทบริหารจัดการน้ำของเทศบาลเมืองเซบีย่า ได้แก้ปัญหาส้มหล่นโดยการนำส้ม 35,000 กิโลกรัม มาลองหมักบ่มผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าใช้ในกระบวนการกรองน้ำให้บริสุทธิ์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำส้มทั้งหมดในเมืองมาหมักเป็นพลังงานชีวมวล สำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับระบบกรองน้ำของเมืองทั้งหมด โดยเทศบาลจะต้องลงทุนประมาณ ราว 10 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าพลังงานที่ได้ จะเหลือให้นำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อแจกจ่ายให้ครัวเรือนในเมืองเซบีย่าได้อีกด้วย

โดยส้ม 1,000 กิโลกรัมจะสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานเป็นระยะเวลา 1 วัน เพียงพอสำหรับ 5 ครัวเรือน ซึ่งหากคำนวณส้มหล่นทั้งหมดในเมืองกว่า 5.7 ล้านกิโลกรัม รวมทั้งส้มที่ยังไม่หล่น ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้ผู้คนในเมืองได้ไม่ต่ำกว่า 28,000 ครัวเรือน คิดเป็นเกือบ 20% ของครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองเซบิยา จะทำให้ชาวเมืองเซบิยามีน้ำสะอาดสำหรับใช้อุปโภคบริโภค โดยใช้พลังงานสะอาดจากชีวมวลและชีวภาพ และต่อยอดไปสู่การสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาตัวเอง และยังแก้ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย



ในขณะที่ โรงไฟฟ้าขยะ Zabalgarbi เมืองบิลเบา ก็สามารถนำขยะที่ไร้ค่ามาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ โดยเมืองแห่งนี้ได้รณรงค์ให้ประชาชนรู้จักคัดแยกขยะให้ถูกประเภท ก่อนรวบรวมส่งไปที่โรงไฟฟ้าขยะเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าต่อไป

ซึ่งรัฐบาลสเปนได้รับคำชมว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับนโยบายการใช้พลังงานหมุนเวียน ว่าเป็นประเทศที่มุ่งมั่นต่อพันธกิจที่ให้ไว้ต่อข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) โดยมีการกำหนดมาตรการเป็นขั้นเป็นตอน  มีเป้าหมายในระยะยาว และให้สิทธิประโยชน์จูงใจต่อผู้ที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะช่วยลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก และยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากร อาทิ การฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับเรื่องพลังงานสะอาด การให้สิทธิประโยชน์ชดเชยแก่บุคลากรของโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินที่ถูกปิดตัวลง รวมทั้งการยกเลิกภาษีผู้ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุนในด้านนี้กันมากขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่า สเปนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวลและชีวภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ทำให้สเปนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของแหล่งเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยได้



ถึงเวลาที่ไทยต้องเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ช่วง 20 ปี ระหว่างปี 2561 - 2580 (PDP2018) คือ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทางเลือก ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านพลังงานต้องศึกษาว่าหากมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบมากขึ้น ระบบไฟฟ้าเดิมต้องปรับตัวอย่างไร การมาศึกษาดูงานสามารถหยิบหรือนำไปต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับระบบไฟฟ้าของไทยได้



เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีคือ ระบบพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน หรือ RE Forecast ซึ่งเริ่มใช้แล้วที่ กฟผ.จะช่วยประเมินว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคตอย่างไร เนื่องจากเมื่อมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบ ต้องปรับปรุงให้โรงไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนเกิดความผันผวน และรองรับโหลดต่ำสุดได้ในระดับ 30% จากเดิม 60% โดยได้นำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย หากยังไม่เพียงพอต้องมีระบบกักเก็บพลังงานเสริม เช่น แบตเตอรี่ โดยมีการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนถือว่ายังมีต้นทุนการลงทุนสูง ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง แต่ไทยก็ต้องเร่งศึกษาและนำนวัตกรรมมาพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดรับกับทิศทางพลังงานของโลกที่กำลังเปลี่ยนสู่ยุคพลังงานรักษ์โลก จึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าไทยที่จะต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยให้มีความมันคงและยั่งยืนในอนาคต


ที่มา :

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6347 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2035 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5085 | 23/10/2022
ส่องแผน ‘สเปน’ เลิกง้อ ‘ฟอสซิล’ มุ่งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ไทยมองเป็นเห็นโอกาส