6 Step สร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นกิจการ
เจ้าของกิจการยังคงเป็นความฝันที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่อยากทดลองดูสักครั้ง
แต่บ่อยครั้งความฝันที่สวยหรูมักจะแตกต่างจากสภาพจริง เพราะการตัดสินใจลาขาดจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาเริ่มต้นทำธุรกิจ
คือความเสี่ยงประการหนึ่ง
ความเสี่ยงที่ต้องยอมรับให้ได้ว่าโอกาสที่จะล้มเหลวนั้นมีมาก เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันต่างแข่งขันสูง
ดังนั้นการทำธุรกิจให้เริ่มต้นดีต้องมีแผนที่รัดกุม
เพราะการเริ่มต้นทำธุรกิจโดยไม่มีแผนการรองรับ ขาดการคิด วิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน จึงต้องเผชิญความเสี่ยงเข้าไปแบบเต็มประตู และตกม้าตายก่อนไปถึงเป้าหมายความสำเร็จที่วาดฝันไว้ ดังนั้นในที่นี้เราเลยมีคำแนะนำสำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว ด้วย Step ที่ถอดแบบมาจากการดำเนินธุรกิจของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจร้านค้า ด้วยทุนที่ไม่ได้มีมากจนปัจจุบันมีมูลค่าความสำเร็จเป็นตัวเลขหลักร้อยล้านไปแล้ว ด้วยการเริ่มต้นทำธุรกิจ จาก 6 Step คือ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. มีความพร้อมในสิ่งที่จะทำ ในส่วนที่ว่าจะขายอะไร ให้ใคร รูปแบบสินค้าบริการเป็นแบบไหน
งบประมาณเท่าไหร่ มีการดำเนินการอย่างไร ที่ทางทำเล ร้านค้า การตกแต่ง แพ็คเกจจิ้ง
ฯลฯ ต้องคิดออกแบบวางแผนให้ครบก่อนถึงจะเริ่มต้นเปิดกิจการได้ ภายใต้การจัดสรรงบประมาณให้สมดุลและมีขอบเขต
ตามขั้นตอน ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องมีก่อนจะเปิดให้บริการ
หากยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรูปแบบการดำเนินการ
เช่น สูตรอาหารยังไม่นิ่ง โลโก้ยังไม่เสร็จ ชื่อแบรนด์ยังไม่มี
ก็ยังไม่ควรเร่งเปิดกิจการ เพราะถ้าเปิดในขณะที่ไม่พร้อมที่จะบอกใครได้ว่าเราทำอะไร
ขายให้ใคร ไปจนถึงเอกลักษณ์ชวนจำไม่มี ก็อาจจะทำให้เกิดภาพจำในด้านที่ไม่พึงปรารถนาได้
การเริ่มต้นธุรกิจอาจสะดุดกลางคัน
จากการที่ต้องบริหารเงินทุนที่ได้รับมาแล้วลงทุนหมุนเวียนต่อไป
ทำให้มีขอบเขตการลงทุนไม่สิ้นสุด แล้วสุดท้ายก็จะไปสะดุดกับผลกำไรที่หายไปกับเงินที่ลงทุนไม่จบสิ้น
จากความไม่พร้อมในเรื่องจำเป็นพื้นฐานที่ต้องมี
2. แบรนด์ชวนจำ ทำตลาดง่าย เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีนับตั้งแต่วันแรกเริ่มกิจการ
การจะตั้งชื่อแบรนด์หรือชื่อเรียกกิจการร้านค้า
ควรสื่อความหมายถึงในสิ่งที่กำลังทำ รวมไปถึงเล่นคำให้เกิดการจำง่าย เช่น
เครปป้าเฉื่อย, ปังเว้ย...เฮ้ย, ตำสะท้านครก ฯลฯ ชื่อแปลกแหวกแนวแบบมีเอกลักษณ์
จะไปสะดุด ทำให้คนจำได้ง่ายกว่าคำสามัญทั่วไปที่ใครๆ ก็ใช้กัน
เพราะวันหนึ่งหากสินค้าบริการปังติดตลาดขึ้นมา
ชื่อที่ติดหูก็จะช่วยกระพือให้บินสูงได้ง่ายขึ้นไปด้วย
3. สินค้าและบริการโดดเด่นราคาเหมาะสม เช่น
ยำใหญ่ใส่กุ้งไซส์ยักษ์ สด ใหม่, ปังไส้ทะลักบริการขนส่งรวดเร็วภายใน 24 ชม., กาแฟสด
No Fat, ขนมปังปิ้งเตาถ่าน (ทำให้หอม หวาน รอนานไปอีก)
ล้วนเป็นการสร้างสินค้าให้โดดเด่น ด้วยลูกเล่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่กลายเป็นจุดขาย ทำให้สินค้าติดตลาดง่าย ชวนจำ ด้วยราคาที่เหมาะสม
จะทำตลาดได้ง่ายกว่า
4. มีความเชื่อมั่น มุ่งมั่น และมั่นใจในสิ่งที่ทำ ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จในการเริ่มต้นกิจการ
โดยต้องเชื่อมั่นก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี ทั้งต่อตัวเอง
ต่อลูกค้าและสังคม และมุ่งมั่นเดินหน้าทุ่มพลังเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย
ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคอะไรขึ้นก็ไม่ล้มเลิก อะไรที่ไม่รู้ก็ถามผู้รู้ อะไรที่ไม่เก่งก็รู้จักฝึกฝน
อะไรที่ไม่ถนัดก็หาผู้ช่วย
สุดท้ายต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จตามภาพที่อยู่ในหัวที่ชัดเจน
เพราะคนที่ทำสำเร็จส่วนใหญ่มักเชื่อมั่นในตัวเองและมั่นใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน
5. วางที่ตั้งบนทำเลเหมาะสม ทำเลเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการทำธุรกิจ
โดยเฉพาะประเภทร้านค้าจำเป็นต้องมีที่ตั้งที่เหมาะสมกับธุรกิจที่ทำ
ควรเลือกทำเลที่จะทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย มองเห็นชัด
และวางพิกัดให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ เช่น อาจวางร้านสาขาในโซนถนนเส้นเดียวกันไว้
2-3 ร้าน โดยเว้นช่วงห่างตามสมควร เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ง่ายจนติดตา
เพราะการที่เขาไม่รู้จักย่อมเกิดความลังเลเมื่อแรกเห็น
หากขับรถผ่านไปสักพักเกิดสนใจก็มีสาขาข้างหน้าคอยดักทางอยู่ โดยที่ไม่ต้องสะดุด
วนรถกลับมา เป็นการทำตลาดที่ให้ผลดี อีกทั้งยังช่วยการันตีด้วยว่า
สินค้าและบริการนี้ดีเพราะมีหลายสาขา
6. สร้างจุดแข็ง
ด้วยจุดอ่อนของคู่แข่ง
การศึกษาคู่แข่งที่มีอยู่ก่อนหน้าในตลาดจะทำให้เห็นถึงจุดอ่อนที่มี
ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเองได้
รวมถึงในวิกฤติสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นแต่ยังคงให้บริการได้ในราคาเท่าเดิม
ไม่ปรับปรุงเพิ่มเติมราคาก็ทำให้แบรนด์ที่สร้างหรือสินค้าที่มี
มีจุดแข็งที่สามารถเอาชนะคู่แข็งและครองใจผู้บริโภคในท้องตลาด
และเป็นหัวใจที่นำพากิจการไปสู่ความสำเร็จได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.ryounoi100lan.com/