‘สวนนวลทองจันท์’ พัฒนาการชาวสวนทุเรียนยุคใหม่

SME in Focus
22/07/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 9664 คน
‘สวนนวลทองจันท์’ พัฒนาการชาวสวนทุเรียนยุคใหม่
banner

พูเนื้อนวลดุจทองคำ มณีเมืองจันทบูร  

‘นวลทองจันท์’ ทุเรียนพันธุ์ผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์พวงมณี และเกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทอง จนได้ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ที่เนื้อสีเหลืองนวล กลิ่นไม่แรง ทนต่อโรค ให้ผลผลิตคุณภาพดี ตลาดต้องการสูงทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนว่าราคาดี กิโลกรัมถึง 200 บาทเลยทีเดียว จากผลงาน คุณพจน์ - สุเทพ นพพันธ์ เจ้าของสวนนวลทองจันท์ สวนทุเรียนที่มีการพัฒนาสายพันธุ์และต่อยอดได้อย่างน่าติดตาม

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme  


คุณพจน์ เล่าว่า ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ซึ่งทำสวนส้มก่อนเปลี่ยนมาเป็นสวนทุเรียน ยุคนั้นการจัดการภายในสวนล้วนพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ขณะที่ตลาดขายทุเรียนก็ไม่เหมือนทุกวันนี้ ยุคนั้นขายส่งทุเรียนไปตลาดกิมหยง ทางภาคใต้ หรือตลาดมหานาค ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีรถขนส่งมารับที่สวน เราส่งทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี และก้านยาว โดยราคาขายจะถูกกำหนดจากพ่อค้าตลาดขายส่ง

ตลาดทุเรียนเมื่อก่อน เราส่งไปขายจะไม่รู้เลยว่าจะได้ราคาเท่าไหร่ แถมเป็นการขายแบบนับลูก ไม่ได้ขายราคาเป็นกิโลกรัมเหมือนในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ชาวสวนทุเรียนในอดีตจึงประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำ จนถึงยุค ‘ทุเรียนฟีเวอร์’ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีตลาดจีนที่เป็น ‘ตลาดหลัก’ ของทุเรียนไทยที่ส่งออกทุเรียนไปกว่า 6.5 แสนตันในปี 2563

ขณะที่ปีนี้คาดว่าตลาดยังจะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา แม้จะเผชิญสถานการณ์โควิด 19 ก็ตาม แต่กว่าจะถึงตอนนี้ก็ไม่ง่ายเลยทีเดียว ที่สำคัญตลาดทุเรียนกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า ‘ตลาดของผู้ซื้อ’ คุณภาพสินค้าและมาตรฐานจะเป็นตัวกำหนดราคา และการแข่งขันในอนาคต



พัฒนาการของชาวสวนทุเรียน

หลักในการทำสวนทุเรียนนอกจากสายพันธุ์ที่ดี อีกปัจจัยพื้นฐานคือ น้ำ จากยุคที่ระบบน้ำในสวนล้วนพึ่งพาฟ้าฝน ผลัดเปลี่ยนมาถึงยุคที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล พัฒนาระบบการให้น้ำที่มีความทันสมัยและจัดการง่ายขึ้น โดยการใช้สายยางให้น้ำรดโคนต้น ต่อมาก็มีไฟฟ้าเข้าถึงทำให้มีการพัฒนาระบบน้ำหยด ใช้สปริงเกอร์รดน้ำ พอเป็นระบบไฟฟ้าทำให้การทำสวนง่ายขึ้น แต่ตอนนั้นทุนทรัพย์ยังน้อยการลงทุนจึงค่อยเป็นค่อยไป

สมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการสวนทุเรียนมากนัก ยังเป็นยุคลองผิดลองถูก เช่น การวางแปลนสวนทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลที่ต้องการอากาศร้อนชื้น จะทำแปลนปลูกอย่างไรไม่ให้ชื้นแฉะ รวมถึงระยะการปลูก และการพัฒนาผลผลิตคุณภาพออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ

มองภาพอดีต ปัจจุบัน ทำให้เราคิดไปถึงอนาคต ถ้ากรณีที่แรงงานในสวนทุเรียนเหลือน้อย เราจะนำอะไรเข้ามาทดแทนให้ได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องจักรและเทคโนโลยีให้มากขึ้น หาตลาดใหม่ๆ และช่องทางการขาย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผลิต

คุณพจน์ บอกอีกว่า ทุเรียนเมื่อก่อนมักจะเป็นสายพันธุ์พื้นเมือง โดยความนิยมเริ่มที่พันธุ์ก้านยาวและชะนี ก่อนที่จะเป็น ‘หมอนทอง’ ราชาทุเรียนอย่างเช่นทุกวันนี้ เนื่องจากยังเป็นช่วงที่มีการพัฒนาสายพันธ์ทุเรียนหมอนทองขึ้นมาและส่งออกไปครั้งแรก จากนั้นเริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการส่งออก และมีการเพาะต้นพันธุ์ขาย


ต่อมาสวนนวลทองจันท์ ก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ตลาดต้องการสูง พูใหญ่ เม็ดเล็ก และผลผลิตดี แต่ปัญหาของทุเรียนพันธุ์หมอนทองคือ ‘ตายง่าย’ จึงต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนทานต่อโรค

โดยทดลองนำต้นแม่พันธ์พวงมณี ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของจันทบุรี ซึ่งมีลักษณ์ที่ดีคือ ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง ทนต่อโรค เนื้อในสีเหลืองสวย รสหวานหอม และกลิ่นไม่แรง แต่มีข้อเสียคือ ผลผลิตน้อย เนื้อน้อย และเม็ดใหญ่ โดยการนำเกสรดอกของต้นหมอนทองมาผสมกับต้นแม่พันธุ์พวงมณี จนเกิดเป็นทุเรียนสายพันธุ์พิเศษที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถ้าติดตามข่าวต่างประเทศในช่วงกลางปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าปรากฏชื่อสายพันธุ์ทุเรียนน้องใหม่ที่กำลังฮิตในตลาดจีน

‘นวลทองจันท์’ ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับลักษณะเด่นทั้งจากต้นพ่อและต้นแม่ จนเป็นสายพันธุ์ทุเรียนที่ แข็งแรง ทนทานต่อโรค เนื้อมีสีเข้มสวยงาม รสชาติหวานมันอร่อย เนื้อเยอะ ลูกโต และมีกลิ่นอ่อนๆ ถูกใจคนที่ไม่ชอบทุเรียนกลิ่นแรง จากเดิมใช่ชื่อ ‘ไข่ทอง’ ก่อนจะมีการตั้งชื่อใหม่เพื่อเป็นเกียรติประวัติ สมกับเป็นราชาผลไม้ที่มีสายพันธุ์อยู่ในจังหวัดจันทบุรี โดยนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อปี 2549

 


แนวโน้มตลาดส่งออกทุเรียนแข่งขันที่สูง

ขณะการส่งออกของทุเรียน อาจต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิในช่วงปี 2562 จีนได้อนุมัติให้มีการนำเข้าทุเรียนพันธุ์มูซันคิง (Musan King) จากมาเลเซียได้ (http://www.tpso.moc.go.th/กระทรวงพาณิชย์) ทำให้มาเลเซียเริ่มส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบมีเปลือกทั้งลูกไปตลาดจีนครั้งแรก (เดิมจีนให้นำเข้าเฉพาะผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูป) ขณะที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่จ่อเข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ในตลาดทุเรียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งจีนเองที่เป็นผู้บริโภคทุเรียนเบอร์หนึ่ง ก็เริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์และปลูกทุเรียนในประเทศเช่นกัน

ดังนั้นแม้ไทยยังเป็นผู้ส่งออกทุเรียนเบอร์หนึ่งของโลก แต่เมื่อมองแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทุเรียนในไทยที่มีมากกว่า 1.1 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งกว่าครึ่งมีตลาดในแดนมังกร การแข่งขันในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของสวนทุเรียนจะต้องเตรียมพร้อม

 


‘ล้ง..ผู้ช่วยส่งออก’ มุมมองจากชาวชวนทุเรียน    

ปัจจุบันสวนนวลทองจันท์ มีพื้นที่กว่า 300 ไร่ ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่จากสวนที่ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ไปพัฒนาแปลงปลูกทุเรียนที่ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ผลผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นทุเรียนหมอนทองที่ยังคงได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยการส่งออกจะใช้บริการ ‘ล้ง’ นิติบุคคลที่ทำธุรกิจโรงคัดบรรจุเพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรแล้วส่งออกไปยังประเทศปลายทาง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของกับเกษตรกรมักเป็นเรื่องของการเสนอราคา ซึ่ง คุณพจน์ มองว่าเป็นเรื่องดีของตลาดทุเรียนไทยที่มีล้ง ยิ่งทุกวันนี้มีล้งมาก ยิ่งมีการแข่งขันสูง การฮั้วหรือกดราคาก็ทำได้ยากขึ้น ผลดีก็จะตกที่เกษตรกร

โดยผลผลิตทุเรียนคุณภาพส่วนใหญ่เกษตรกรจะจำหน่ายแบบเหมาตามช่วงราคาทุเรียนในขณะนั้น แตกต่างสมัยก่อนที่จะเป็นการทำสัญญาและเหมาสวนแบบราคาเดียวซึ่งเกษตรกรเสียเปรียบ ดังนั้นทุกวันนี้ยิ่งมีล้งมาก เกษตรกรยิ่งได้เปรียบ และสามารถเลือกจำหน่ายทุเรียนแก่ล้งที่ให้ราคาดีกว่า เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน

ตรงนี้ล้งก็มีส่วนช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร อาทิ ตัวแทนล้งจะทำหน้าที่เข้าไปเสนอราคารับซื้อเหมาสวนในช่วงก่อนผลผลิตออก และทำสัญญาล่วงหน้า เมื่อถึงช่วงผลผลิตออก ล้งจะนำแรงงานมาเก็บผลผลิตเหมาสวนและนำไปยังโรงคัดบรรจุ ก่อนส่งไปประเทศปลายทาง ซึ่งถือเป็นการจัดการที่ช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรด้วยเช่นกัน

 


รถไฟลาว-จีน โอกาสขนส่งทุเรียนไทย

ขณะที่การขนส่งทุเรียนส่วนใหญ่มักใช้เส้นทางการขนส่งทางบก หรือที่รู้จักกันดีใน ‘เส้นทางสายผลไม้’ อาทิ เส้น R3A จากเชียงของ ผ่าน สปป.ลาว สู่คุนหมิง ผลไม้ไทยจะผ่านเข้าจีนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีน

เส้น R9 ผ่านทางมุกดาหาร -สปป.ลาว-ดานัง -ฮานอย แล้วสู่ปักกิ่ง เป็นศูนย์กลางการกระจายผลไม้ไทยไปยังภาคเหนือของจีน รวมทั้งเส้นทาง R12 เริ่มจากจังหวัดนครพนม-ด่านท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว-จังหวัด เข้าเวียดนามเข้าสู่จีนซึ่งเป็นตลาดขายส่งผลไม้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง แต่เส้นทางนี้ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องของสภาพถนนที่ยังมีการซ่อมแซม แต่ก็เป็นเส้นทางที่ใกล้จีนมากที่สุด

แต่ที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันคือการใช้เส้นทางเรือจากแหลมฉบัง สู่ท่าเรือกวางโจว แต่เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการติดขัดจากการตรวจตราที่เข้มงวดและปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่ล่าช้า ด้วยเหตุนี้การขนส่งทางถนนจึงเป็นกิจกรรมหลักของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน

คุณพจน์ มองว่าในอีกไม่ช้าภายหลังจากที่โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) สปป.ลาว-จีน เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและจีน ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้ในปลายปีนี้ เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะเป็นทางด่วนให้ทุเรียนไทยส่งตรงไปจีนได้เร็วขึ้นด้วย เป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกทุเรียนไทยสามารถส่งทุเรียนไปจีนได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย

 


ลูกไม้ใต้ต้น กับตลาด ‘นวลทองจันท์’ ออนไลน์

แม้การส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนเป็นรายได้หลักของสวนนวลทองจันท์ ทว่าช่องทางออนไลน์กับกระแสทุกเรียนฟีเวอร์ที่ทำให้คนไทย คนต่างชาติทั่วโลก สนใจทุเรียนไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าเลข 3 หลักในปี 2564 ซึ่งนับว่าสวนทางกับกระแสโควิดโดยสิ้นเชิง

คุณมายด์ - นางสาวจารุวรรณ นพพันธ์ บุตรสาวคุณพจน์ที่เข้ามาช่วยงานในด้านการตลาดออนไลน์ เธอเล่าว่า ขายทุเรียนจากสวนนวลทองจันท์บนช่องทางออนไลน์รายได้ต่อเดือนอยู่ราวหลักหมื่นต่อเดือน โดยเฉพาะในเพจเฟซบุ๊ก ‘นวลทองจันท์’ ซึ่งปีนี้ยอดขายทุเรียนออนไลน์เติบโตมาก รวมทั้งตลาดในต่างประเทศส่งไปแบบทุเรียนแช่แข็ง ตั้งใจว่าปีนี้จะขยายตลาดไปในยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา และตะวันออกกลาง

กลยุทธ์การตลาดที่ผ่านมามีการจับตลาดกับปาโกด้า (Pagoda) อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน โดยปีที่ผ่านมาทุเรียนสวนนวลทองจันท์มีการส่งออกผ่านล้งกว่า 75% ขณะที่สัดส่วนออนไลน์ 25% แต่จากกระแสการเติบโตของตลาดออนไลน์ในตอนนี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าในปีนี้จะสามารถขายทุเรียนผ่านออนไลน์ได้ราว 50% ของผลผลิตขณะที่อีกครึ่งหนึ่งยังคงขายโดยผ่านการจัดการของล้ง

มายด์มองว่าสวนเราเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์นวลทองจันท์ เราก็ออกขายเอง โดยช่องทางออนไลน์ เราก็ควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า

โดยการขายออนไลน์ และเปิดจองผ่านเเพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่จะมีการขายแบบไลฟ์สด ลูกค้าจะมาออเดอร์ล่วงหน้า แต่ตอนนี้คงไลฟ์ขายออนไลน์ได้ไม่มาก เพราะผลทุเรียนนวลทองจันท์ถูกจับจองตั้งเเต่อยู่บนต้นรอตัดส่งลูกค้า โดยมีการบรรจุและจัดส่งโดยรถขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิ ทำให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนนวลทองจันท์จะถึงมือลูกค้าในสภาพที่สมบูรณ์และคงรสชาติที่ดี

คุณมายด์ มองว่า ตลาดทุเรียนต่อไปจะเป็นเรื่องคุณภาพของผลผลิต มาตรฐาน การสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า เน้นคุณภาพเพื่ออนาคตความยั่งยืน ราคาสูงได้แต่คุณภาพต้องดี

ทุเรียนพันธุ์นวลทองจันทร์จะทานสุกนิ่มได้ คนจีนชอบมาก เนื้อนิ่มหวาน มองว่าทุเรียนไม่กระทบกับโควิดเลย มายด์พยายามศึกษาการทำสวนทุเรียนจากคุณพ่อ ถือเป็นอาชีพที่ดี มั่นคง เเละจะมั่นคงต่อไปในอนาคต”  


บทสรุปจากที่ได้ทำความรู้จักกับชาวสวนทุเรียนอย่างคุณพจน์และคุณมายด์ ทำให้เราเห็นชัดว่า ชาวสวนทุเรียนไทยมีพัฒนาการและองค์ความรู้ที่เพียงพอในการแข่งขันกับตลาดที่เติบโตและคู่แข่งเยอะขึ้น ประเด็นสำคัญมองที่การพัฒนาสายพันธุ์ การพัฒนาผลผลิตคุณภาพและการจัดการ

และปัจจุบันไทยมีสายพันธุ์ทุเรียน 8 สายพันธุ์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) ที่เรียกได้ว่าเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) อาทิ ทุเรียนนนท์ ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนปราจีนบุรี ทุเรียนหลิน-หลงลับแลอุตรดิตถ์ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนในวงระนอง และทุเรียนสาลิกาพังงา

ซึ่งไม่เพียงบ่งชี้ต้นกำเนิดของสินค้า แต่ยังเป็นความหลากหลายที่คู่แข่งไม่มี ดังนั้นมองว่าในอนาคตตลาดทุเรียนจะไม่เพียงสู้กันที่คุณภาพ แต่ยังจะสู้กันที่ความพิเศษเฉพาะสายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ๆ ชาวสวนทุเรียนที่ไม่หยุดพัฒนา 

หรือแม้แต่การพัฒนาสวนทุเรียนไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เป็นอีกหนึ่งจุดขายของชาวสวนทุเรียนที่สามารถสร้างรายได้ด้านการบริการท่องเที่ยว นอกเหนือจากขายจากผลผลิต คาดว่าภายหลังสถานการณ์โควิด 19 สิ้นสุดลง การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นคืนได้อีกครั้ง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม :

สวนนวลทองจันทร์  โทรศัพท์ : 081-865-3552 / 086-980-4908

Line : @nuantongchan

https://www.facebook.com/NUANTONGCHAN/?ref=page_internal


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
87 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
200 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
827 | 17/04/2024
‘สวนนวลทองจันท์’ พัฒนาการชาวสวนทุเรียนยุคใหม่