‘หาหมอออนไลน์’ เทรนด์ใหม่ โตไวช่วงโควิด

SME in Focus
03/06/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 4137 คน
‘หาหมอออนไลน์’ เทรนด์ใหม่ โตไวช่วงโควิด
banner

การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร และส่วนใหญ่ก็มักจะมาแบบไม่คาดคิด หรือที่ร้ายกว่านั้นก็คือมาในจังหวะเวลาที่ชวนให้ตึงเครียด อย่างเช่น เวลาเดินทาง อยู่ไกลบ้าน หรือบางทีก็อาจไม่หนักหนาอย่างที่คุณคิด แต่ก็อาจจะดีกว่าหากได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่รู้จริง ซึ่งจะช่วยให้คลายกังวลได้

ยิ่งในวิกฤตโควิด 19 จึงเป็นโอกาสที่ระบบบริการสุขภาพของไทยควรจะได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโรคอุบัติใหม่ โดยใช้ช่วงจังหวะที่คนไทยหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นเป็นแรงหนุน นำบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ในการรักษา หนึ่งในนั้นคือการยกระดับบริการทางการแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เกิดเป็นบริการระบบสุขภาพวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Telemedicine (โทรเวชกรรม) หรือระบบแพทย์ทางไกล

เดิมทีเทคโนโลยีการรักษาแบบ Telemedicine เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลในประเทศไทยก็ค่อยๆ เริ่มนำมาปรับใช้กับการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยิ่งกระตุ้นให้โรงพยาบาลหันมาใช้วิธีการรักษาแบบ Telemedicine เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการรักษาในช่วงเวลาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน และลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาล

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

การบริการแพทย์ทางไกลกับแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

- การปรึกษาแพทย์ทางไกล (Health Teleconsultant) : คือการที่ผู้ป่วยสื่อสารกับแพทย์ทั้งผ่านระบบ แชท (Chat) หรือผ่านระบบ Video Conference ซึ่งแพทย์สามารถซักถามและสังเกตอาการผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยโรคได้เสมือนผู้ป่วยได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตนเองที่โรงพยาบาลหรือคลินิก และสถานพยาบาลบางแห่งยังอำนวยความสะดวกด้วยการให้บริการรับเจาะเลือดและจัดส่งยาตามแพทย์สั่งให้คนไข้ถึงบ้านอีกด้วย การปรึกษาแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases  NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ ที่จะต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตามอาการและต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลานั่งรอรับบริการ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญยังเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วย NCDs จะได้รับเชื้อโรคอื่นๆ ระหว่างเดินทางมาพบแพทย์

 

- การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery) : เป็นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน โดยมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาเป็นส่วนสำคัญทำให้ภาพการผ่าตัดคมชัดและแสดงผล Real Time มากขึ้น โดย Global Market Insights คาดว่าตลาดหุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัดของโลกจะมีมูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23 ต่อปี

 

- การติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Patient Monitoring) : เป็นการนำอุปกรณ์ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย อาทิ ค่าความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ติดตั้งที่สถานที่พัก หรือพกติดตัว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งผลการตรวจวัดให้แพทย์รับทราบตามช่วงเวลา ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลบ่อยครั้งเพื่อตรวจวัดค่า อีกทั้งแพทย์ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทันการณ์หากค่าการตรวจวัดแสดงถึงความผิดปกติ อาทิ ความดันโลหิตสูงในระดับอันตราย หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ โดยอาจส่งทีมแพทย์เข้าไปรักษา หรือแจ้งให้ผู้ป่วยปรับยาที่รับประทาน หลายครั้งพบว่าแพทย์รับทราบความผิดปกติจากข้อมูลที่ส่งมาก่อนที่ผู้ป่วยจะสังเกตพบอาการผิดปกติของตนเอง และแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะวิกฤตได้ การติดตามผู้ป่วยระยะไกลจึงมีส่วนช่วยชีวิตผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ

 

คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ โอกาสสร้างธุรกิจควบคู่ Telemedicine

การที่โลกก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยหลักในการใช้บริการแพทย์ทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ทางไกล และการติดตามผู้ป่วยระยะไกล

ความนิยมใช้บริการแพทย์ทางไกลที่เพิ่มขึ้นนี้ยังสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกชุดทดสอบทางการแพทย์ (Test Kits) รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้บริการแพทย์ทางไกล เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตรวจวัด แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ HDD รวมถึงผู้พัฒนาระบบ Software และแอปพลิเคชัน

 

โควิด 19 ตัวเร่ง Telemedicine โตแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูลของ บลู ครอสส์ บลู ชิลด์ ออฟ แมสซาชูเซตส์ บริษัทประกันสุขภาพเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีการเรียกร้องสินไหมประกันสุขภาพที่เกี่ยวกับ Telemedicine และ TeleHealth ราว 200 ครั้งต่อวัน ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ตัวเลขสูงขึ้นถึง 40,000 ครั้งต่อวัน ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ครั้งต่อวัน ที่น่าสังเกตคือการเข้ารับการตรวจสุขภาพทางไกลในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนใหญ่เป็นการนัดหมายปรึกษาด้านสุขภาพจิต

สอดคล้องกับรายงานปี 2563 ของบริษัทวิจัย แกรนด์ วิว รีเสิร์ช ที่ระบุว่า ตลาดเทเลเมดิซีนกำลังเติบโตอย่างมาก โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของภาวะเรื้อรังและความต้องการดูแลตนเอง ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งตลาด Telemedicine ทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 55,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2564-2571 จะขยายตัวในอัตราการเติบโตต่อปีที่ 22.4% ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการของผู้บริโภค การยอมรับของผู้ป่วย และคุณภาพการดูแล

Telemedicine โอกาสสำหรับบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ซึ่งสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ถึงแม้จะไม่สามารถทดแทนบริการทางการแพทย์แบบเดิมได้ และยังไม่สามารถใช้กับทุกโรคทุกอาการได้ แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีในการลดความเสี่ยงจากการเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในวันที่ทุกคนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้านและระยะห่างทางสังคมยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

 

แหล่งอ้างอิง :

https://kmc.exim.go.th/

https://www.salika.co/

https://www.thaihealth.or.th


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)”  เปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารด้วยกลยุทธ์ ESG

“บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)” เปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารด้วยกลยุทธ์ ESG

ในโลกของอุตสาหกรรมอาหาร การจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ต้องอาศัยวัตถุดิบคุณภาพสูงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งบริษัทที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะปรับตัวสู่แนวทางที่ยั่งยืน…
pin
3 | 29/04/2025
การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่”  ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่” ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มคู่ใจสำหรับวัยทำงานคงหนีไม่พ้น “กาแฟ” ด้วยกลิ่นหอมละมุน รูปแบบการคั่วเมล็ดหลากหลายตามความชอบ เกิดเป็นรสชาติที่ทำให้หลายคนติดใจ…
pin
9 | 18/04/2025
“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

ในโลกของอุตสาหกรรมการผลิต “วัตถุดิบโลหะ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร…
pin
12 | 11/04/2025
‘หาหมอออนไลน์’ เทรนด์ใหม่ โตไวช่วงโควิด