เศรษฐกิจไทยฟื้นอย่างไร ท่ามกลาง ‘ปัจจัยลบ’ รอบด้าน

SME in Focus
14/08/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 2838 คน
เศรษฐกิจไทยฟื้นอย่างไร ท่ามกลาง ‘ปัจจัยลบ’ รอบด้าน
banner

ปัจจัยด้านลบสำคัญต่อการพื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก คือสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในปัจจุบันที่ลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งนับเป็นวิกฤติการณ์ด้านสาธารณะสุขที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติในเร็ววันนี้ ซึ่งทั้งหมดฝากความหวังไว้ที่ยาต้านไวรัส ที่นักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างมุ่งศึกษาเพื่อความหวังของมวลมนุษย์  

อีกนัยหนึ่ง ผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ไม่เพียงเป็นปัญหาด้านสาธารณะสุข ยังลุกลามไปในมิติด้านสังคม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศชนิดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผลทำให้เศรษฐกิจโลกที่เกิดภาวการณ์ชะลอตัวอยู่แต่เดิมแล้ว เมื่อเผชิญวิกฤติโควิด 19 ซ้ำหนักเข้าไปอีก กลายเป็นว่าอาจติดลบร้อยละ 3-5 ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สางไข้จากพิษโควิด 19 มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 5 ล้านคน และเสียชีวิตไปกว่า 1.6 แสนคน ซึ่งแม้โดยภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่มีแนวโน้มว่าคงแข็งแกร่งอีกได้ไม่นานนัก หากยังไม่สามารถรับมือโควิด 19 ได้

ประเทศในยูโรโซนที่แม้ปัจจุบันมีมาตรการรับมือโควิด 19 ได้ดีพอสมควร หลังจากการใช้มาตรการเข้มข้นในการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในยูโรโซนที่แต่เดิมก็แกร่งอยู่แล้วยิ่งเกิดภาวะชะงักงันหนักเข้าไปอีก อันส่งผลต่อกำลังซื้อภายในต่ำลงต่อเนื่อง

โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคจะหดตัวกว่า 7.4% ในปี 2563 และกลับมาขยายตัว 6.1% ในปี 2564 นอกจากนี้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และตัวเลขการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สืบเนื่องจากมาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจในเอเชียก็ไม่ได้ดูดีเท่าไหร่นัก ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีนก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน จากการระบาดของโควิด 19 รวมทั้งอีกหลายๆ ประเทศยังส่อเค้าการระบาดระลอก 2 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการประเมินทิศทางอย่างมากในปัจจุบัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศต่างงัดสารพัดนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินในแบบต่างๆ เข้าระบบ หรือแม้กระทั่งการให้เปล่า ซึ่งถือเป็นการจ่ายยาที่ตรงกับไข้มากที่สุด เพราะดังที่ทราบดีว่าช่วงล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพชีวิต และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังขึ้น

แม้ปัจจุบันหลายๆ ประเทศทั่วโลกคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว แต่เศรษฐกิจที่ยังไม่สางไข้ย่อมต้องการยาแรงมากระตุ้น นั่นคือเอาเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบใหม่มากที่สุด กระตุ้นให้คนใช้จ่าย จัดทำนโยบายลด แลก แจกเงินกันมากมายผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อหลังฟื้นเศรษฐกิจ หรือที่ภาษาการคลังใช้คำว่า บาซูก้าการคลัง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็อัดฉีด ยาแรง ให้กับเศรษฐกิจไทยไปไม่น้อย

 

เศรษฐกิจไทยจะฟื้นอย่างไร

ทุกวันนี้ทำให้ภาคธุรกิจต่างเฝ้าจับตาว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ และที่สำคัญเศรษฐกิจในประเทศไทยที่สัดส่วนจีดีพีส่วนใหญ่ กระจุกอยู่ในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว เมื่อส่งออกติดลบ นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย ผลก็ชัดเจนว่าปีนี้ตัวเลขจีดีพีไทยติดลบร้อยละ 8-10 ตามการประเมินของสถาบันที่น่าเชื่อถือต่างๆ 

หากดูตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2563 ยังคงติดลบอยู่ที่ 23.17% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 7.09% คิดเป็นมูลค่า 114,343 ล้านดอลลาร์

แม้โดยภาพรวมส่งออกไทย สองไตรมาสแรกจะติดลบ  แต่ยังมีตลาดส่งออกของไทยที่มีศักยภาพในแต่ละภูมิภาค เช่น กลุ่มเอเชียตะวันออกประกอบด้วยจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ตลาดอาเซียนประกอบด้วย มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ยังมีการส่งออกได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก 2563 อาทิ จีน ส่งออกขยายตัว 5.8% ฮ่องกง ขยายตัว 1.4%

สำหรับตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย.2563 พบว่ากลับมาขยายตัว 14.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ด้านตลาดจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยขยายตัว 12.0% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2563 ขยายตัว 5.8%

 

กลุ่มสินค้าที่ยังไปต่อได้ในตลาดโลก

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือน มิ.ย.2563 มีมูลค่า 2,912 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกับปีที่แล้วลดลง 9.9% โดยสินค้าอาหารยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยมีมาตรฐานความปลอดภัย

สินค้าอาหารที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวในระดับสูงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากส่งออกได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 รวมถึงสินค้าข้าวพรีเมียมยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวขาว 100%

ส่วนสินค้าอาหารที่ยังหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ไทยมีปริมาณการส่งออกลดลง

รวมถึงมีสินค้าบางรายการยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาหารสัตว์เลี้ยง

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นสำคัญในการผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลัง คือการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและสุขอนามัยของสินค้า และผู้ส่งออกต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal เพื่อหาจุดขายใหม่ๆ ให้แก่สินค้าและบริการ จะทำให้สามารถรักษาฐานตลาดเดิม และชิงส่วนแบ่งจากตลาดใหม่ได้ต่อ

กระนั้นต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมีผลเชื่อมโยงถึงภาคการผลิต ซึ่งแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. เริ่มปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.0 จากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 78.4 ถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 100 เพราะเอกชนยังกังวลปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอ รวมถึงต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และที่สำคัญคือการระบาดระลอก 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากเกิดขึ้นจะมีความรุนแรงระดับใด

เศรษฐกิจจะฟื้นในอีก 2 ปีจริงหรือ? 

คงไม่มีใครที่จะตอบได้แต่ชัด ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ เพราะทุกอย่างอาศัยการเทียบเคียงข้อมูลและสมมติฐาน เพื่อประเมินทิศทางและความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่นอนเพราะยังมีปัจจัยลบที่เป็นตัวแปรสำคัญ

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลจากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า จากการวิเคราะห์แบบจำลองคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอัตราการเติบโตในปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 4.1% เทียบกับการคาดการณ์ในปีนี้ ส่วนปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 3.6%

2 ปีย่อมไม่นาน หากเศรษฐกิจจะฟื้นจริงๆ แต่นานมากสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินหมุนเวียนน้อย เพราะกว่าจะถึงวันนั้น ธุรกิจอาจทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว แถมยังมีปัจจัยลบภายในประเทศรุมเร้า เช่นปัญหาว่างงาน กำลังซื้อหดตัว เงินเฟ้อ การลงทุนในประเทศชะลอตัว ซึ่งเป็นเหมือนโซ่ตรวนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้สะดวกนัก และยังต้องรวมถึง การเมืองในประเทศ เข้าไปเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงอีกด้วย

ดังนั้น 2 ปีจากนี้ คือความท้าทายสำหรับธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะ SMEs ที่มีเงินหมุนเวียนไม่มากนัก ต้องมีการวางแผนที่รอบคอบและรัดกุม แต่ก็ไม่ลืมที่จะมองหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ ด้วย 


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


รู้เพื่อตั้งรับ! 5 รูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

3 เรื่องรู้แล้วรอดได้ในทุกวิกฤติเศรษฐกิจ

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
252 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
421 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
333 | 20/03/2024
เศรษฐกิจไทยฟื้นอย่างไร ท่ามกลาง ‘ปัจจัยลบ’ รอบด้าน