5 ความแตกต่างระหว่างวิกฤติ ‘ต้มยำกุ้ง’ และ ‘โควิด 19’
การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้ง
ย่อมไม่ได้มาจากเหตุปัจจัยเดียว แต่ต้องมีมูลเหตุมาก่อนหน้าและหลายๆ
ปัจจัยมาสนับสนุนกัน จนบานปลายกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อทุกภาคส่วน
ซึ่งในปัจจุบันการระบาดของโควิด 19
ที่แต่เดิมไม่สามารถนับได้ว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเพียงวิกฤติด้านสาธารณะสุข แต่เมื่อการระบาดลุกลามไปทั่วโลก
ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจของโลกแทบทั้งหมดหยุดชะงัก
ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านมิติสังคม
พฤติกรรมผู้บริโภค การค้า การลงทุน และไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเวลาอันสั้น
เมื่อองค์ประกอบปัจจัยทุกอย่างมารวมกัน จนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความผิดปกติอย่างมาก ผลจากการเกิดโรคอุบัติใหม่ จึงบานปลายเป็น ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’ ในที่สุด และดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้งเสียอีก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ในที่นี้เราเลยถือโอกาสเอาทั้ง 2
เหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ คือ ต้มย้ำกุ้งและโควิด 19
มาแจกแจงว่ามีความแตกต่างที่เด่นชัดจากปัจจัยใดบ้าง
1. สมดุลการเงินบิดเบี้ยว สู่เหตุการณ์ฟองสบู่แตก
ต้มยำกุ้ง : เค้าลางก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี
2540 เริ่มต้นในปี 2536 จากการอนุมัติให้เปิดบริการวิเทศธนกิจ คือการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินจากต่างประเทศ
มาปล่อยกู้ในประเทศต่อได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงราว 14-17% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศประมาณ
5% ต่อปี มีส่วนต่างถึง 10% ก็ยิ่งทำให้อยากกู้เยอะๆ
เพื่อมาปล่อยกู้ในประเทศแบบเร็วๆ มาตรฐานการปล่อยกู้ก็ไม่พิจารณากันมากนัก
นับเป็นยุคที่คนกู้แบงก์ได้ง่ายและได้เยอะยุคหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อกู้ง่าย
ก็จ่ายง่าย จนลืมคิดเรื่องความสามารถในการใช้หนี้ อันนำไปสู่การเกิด ‘ฟองสบู่แตก’ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเดิมอยู่ที่ดอลลาร์ละ
25 บาท พอฟองสบู่แตก บาทอ่อน ในปี 2540 (สัญญาณเห็นชัดตั้งแต่ปี 2539)
ค่าเงินบาทถูกลอยแพทะยานไปดอลลาร์ละ 50 บาท ทำให้มีหนี้เพิ่มสองเท่าตัว ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเจ็บหนักมากในช่วงนั้น
และเราก็คงคุ้นชินกับคำว่า NPL มาจากช่วงนั้นนี่เอง
โควิด 19 : ยุคนี้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง
และมีเงินสำรองไว้เพียงพอสำหรับรองรับวิกฤติ
ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุม
ความต่างตรงนี้จึงเห็นชัดว่า ภาคการเงินมีความเข้มแข็งมากกว่าช่วงต้มยำกุ้งปี 2540
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีมาตรการทางการเงินเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
บุคคลว่างงาน การชดเชยรายได้ ตลอดจนอัดฉีดงบประมาณในการสร้างงาน สร้างอาชีพ
โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศ 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้ปัจจุบันยังประสบปัญหากำลังซื้อหดและการว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งออกติดลบ แต่ก็ยังโชคดีที่เงินสำรองในประเทศยังมีมากพอ
ไม่ถึงขนาดต้องกู้ต่างประเทศ
2. ธุรกิจขนาดเล็ก โดนก่อน
ต้มยำกุ้ง : เพราะใหญ่จึงล้มดัง
ช่วงนั้นผลพวงจากฟองสบู่แตกสู่วิกฤติการเงินแห่งเอเชีย (ตามที่ฝรั่งเรียก) ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่
นักลงทุนโครงการใหญ่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเติบโตอย่างมากในช่วงปีพ.ศ.
2530-2539 ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน
สนามกอล์ฟ สวนเกษตร ต่างล้มกันระเนระนาด เนื่องจากผู้ประกอบการมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
เพื่อมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ผลจึงปรากฏตามที่ระบุในข้อที่ 1
โควิด 19 : ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือ
SMEs ตั้งแต่รายเล็ก ระดับกลาง จนไปสู่ธุรกิจรายใหญ่
อันสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 และมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ
ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศหยุดชะงัก
ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่อยู่ในกระแสและมีเงินหมุนเวียนน้อยย่อมล้มไปก่อน
ขณะที่บางธุรกิจยังเกาะกระแส เช่น อีคอมเมิร์ซ ออนไลน์เดลิเวอรี่ เครื่องมือแพทย์
สุขภาพ ยังโตได้ รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่อยู่ในกลุ่มแนวหน้า คือภาคท่องเที่ยว
โรงแรม และการค้าต่างประเทศ อยู่ในภาวะทรงตัว และรัดเข็มขัด
แต่ยังไม่ถึงขนาดต้องเลิกกิจการ อย่างไรก็ตามแม้จะแตกต่างจากต้มยำกุ้งที่ใหญ่ล้มก่อน
แต่เมื่อดูสัดส่วน SMEs ในประเทศปัจจุบันที่มีประมาณ 3
ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ ดังนั้นนี่คือ ‘ระเบิดเวลาลูกหนึ่ง’ ที่รัฐจะต้องรีบเก็บกู้
3. ความรุนแรง และการฟื้นตัว
ต้มยำกุ้ง : ฟองสบู่แตกในวิกฤติปี 2540 ซึ่งเกิดขึ้นจากธุรกิจขนาดใหญ่ล้ม บานปลายไปสู่ปัญหาการเลิกจ้าง
ลอยแพพนักงาน เศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินบาทกู่ไม่กลับ ประเทศต้องกู้เงิน IMF มาฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยา เงินสำรองที่แบงก์ชาติใช้ไปเกือบหมดกับการยื้อค่าเงินบาท
แต่ก็ยื้อไม่ไหว แม้ที่ผ่านมาจะมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี
แต่ยังคงขาดดุลการค้าสะสมต่อเนื่อง
โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็มีการขาดดุลตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2530 และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539
ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่หดตัวลง
1.9% จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82%
สะท้อนให้เห็นสถานะรายได้ของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ
ทำให้กว่าจะฟื้นเศรษฐกิจได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
โควิด 19 : แม้เศรษฐกิจไทยจะมีพื้นฐานที่ดีขึ้นกว่าในปี
2540 แต่การเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี
2540 โดยในปี 2558-2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี
เทียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2540 หรือในช่วงปี 2530-2538
ที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 10% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ
ปัญหาขีดความสามารถของธุรกิจทั้งทักษะแรงงานและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้นโควิด
19 ครั้งนี้ถือเป็นคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
แม้จะมีการคาดว่าจะใช้เวลาในการฟื้นเศรษฐกิจราว 2 ปี
แต่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและการระบาดที่ยังไม่ยุติ คงไม่อาจบอกได้อย่างแน่ชัดว่าจะฟื้นกี่ปี
4. ค่าเงินบาท
ต้มยำกุ้ง : ในช่วงต้นอธิบายไปแล้วว่าตอนปี
2539–2540 ค่าเงินบาทอ่อนปวกเปียกอย่างไร ซึ่งนอกจากสาเหตุภายในประเทศแล้ว
ยังมีสาเหตุจากต่างประเทศ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมมานานดังกล่าว
ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือโอกาสโจมตีค่าเงินบาทของไทย
โดยตั้งเป็นกองทุนมีชื่อเรียกว่า Hedge Funds ดูแลโดยพ่อมดการเงิน ‘จอร์จ โซรอส’ เรียกได้ว่าค่าเงินบาทช่วงนั้นเป็นของเล่นของบรรดานักเก็งกำไรต่างชาติ
โควิด 19 : อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทตลอด
2 ปีที่ผ่านมาแข็งค่าต่อเนื่อง จาก 33 บาท ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์
ซึ่งถือว่าแข็งและแกว่งมาก โดยเฉพาะช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา หรือแม้แต่ในปัจจุบันช่วงที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤติโควิด
19 เงินบาทก็ไม่ยอมลดราวาศอก คงแข็งค่าท้าตลาดอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ต้นทุนสินค้าส่งออกไทยสูงกว่าคู่แข่ง และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งจะอ่อนไปก็ไม่ดี แข็งมากก็ขายของยาก ดังนั้นค่าเงินที่มีเสถียรภาพจึงปลอดภัยที่สุด
5. เทคโนโลยี
ต้มยำกุ้ง : เทคโนโลยีล้ำสมัยในปี
2540 คงประมาณเพจเจอร์ หรือวิทยุติดตามตัวที่ไว้สำหรับส่งข้อความหากัน การสื่อสารส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบมีสาย
อาทิ โทรศัพท์บ้าน ออฟฟิศ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
เพราะอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่แพร่หลายและใช้ในองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น
ดังนั้นการรับรู้ข่าวสารจึงจำกัดเฉพาะสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์
และไม่ได้รวดเร็วเหมือนปัจจุบันนี้
ซึ่งทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนทั่วไปจำกัด
ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการประยุกต์การทำงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน
เช่นการประชุมออนไลน์ การซื้อขายออนไลน์
ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจในปัจจุบัน
โควิด 19 : ปัจจุบันคือยุค
5 G เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล จากสถานการณ์โควิด
19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการช่วยอำนวยความสะดวกให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย
รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย
อาทิ Smart Payment เทคโนโลยี Online Delivery
เทคโนโลยี e-Commerce เทคโนโลยี Digital Content &
Entertainment และเทคโนโลยี Smart Learning รวมทั้งยังมีระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง
(IoT) และอีกมากมายที่คนยุคนี้ใช้รับมือวิกฤติโควิด 19
และรวมทั้งสร้างโอกาสในช่วงวิกฤติด้วยการผสานกับเทคโนโลยี ทั้งเห็นชัดว่าด้วยพลังเทคโนโลยี
ทำให้สังคมเรียนรู้และพร้อมรับมือวิกฤติโรคระบาด และวิกฤติเศรษฐกิจในด้านต่างๆ
ได้ดีกว่ายุคก่อน
สรุปการเปรียบเทียบทั้ง 5 ข้อ จะเห็นว่าวิกฤติต้มยำกุ้งกับวิกฤติโควิด 19 ในปัจจุบันมีความแตกต่างอยู่มาก อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่เหมือนกัน คือทั้งสองเหตุการณ์ทำให้ประเทศเกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้น การใช้จ่ายภายในหดตัว และการส่งออกติดลบ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงและแต่ละประเทศต่างมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจจากภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งตอกย้ำว่าโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเองยังไม่สามารถต้านกระแสอันเชี่ยวกรากของในช่วงวิกฤติได้ดีพอ