สหรัฐฯ ยุครุ่งเรืองด้านสิ่งแวดล้อม : โอกาสขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
เกือบจะสะเด็ดน้ำแล้วสำหรับ
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นที่จับตาของทั้งโลกว่าผลจากชัยชนะการเลือกตั้งของ "โจ ไบเดน"
ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตที่สามารถช่วงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่สองมาจาก
"โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันได้สำเร็จ จะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของนโยบายสหรัฐอย่างไรบ้าง
โดยเฉพาะ "นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม" ที่ทั้งสองคนต่างนำเสนอในมุมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่นโยบายนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกให้ประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลก ไม่น้อยไปกว่านโยบายการเดินหน้าสงครามการค้าระลอกใหม่
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ข้อมูลจากนิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า
ในส่วนของไบเดน ได้ชูนโยบายพลิกกลับไปให้ความสำคัญกับวาระด้านสิ่งแวดล้อม
และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่จะผลักดันให้สหรัฐฯ
กลับไปเข้าร่วมในความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หรือ “ความตกลงปารีส” หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามถอนตัวไปในปี 2019
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแผนยุติการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมัน ในประเทศที่สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากด้วย
เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีการประกาศใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน
(a
border carbon adjustment mechanism) ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกับของสหภาพยุโรปที่กำลังพิจารณาบังคับใช้อยู่ในขณะนี้
เป้าหมายเพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งในสหรัฐฯ
และประเทศผู้ส่งออกลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ
ซึ่งนั่นหมายถึงว่า
ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎที่เข้มงวดขึ้น และอาจจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
โดยจากข้อมูล Union of Concerned Scientists ระบุว่า จีนและอินเดีย
ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงมาก ในปี 2018 จีนปล่อยคาร์บอนกว่า
10,000 ล้านตัน ขณะที่อินเดียปล่อยเกือบ 3,000 ล้านตัน จึงเสี่ยงที่ต้องแบกรับต้นทุนจาก
"ภาษีคาร์บอน"
ขณะที่ข้อมูลจาก “มอร์แกน สแตนลีย์” มองว่า
อัตราภาษีคาร์บอน อาจจะขึ้นไปที่ 40 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตอะลูมิเนียมในจีน อินเดีย และออสเตรเลียเพิ่มขึ้นกว่า 20%
และจะส่งผลให้ประเทศทีมีการควบคุมการปล่อยคาร์บอนได้ดีกว่า อย่างประเทศในยุโรปและสหราชอาณาจักรได้เปรียบ
แต่ในอีกด้านหนึ่งมีมุมมองว่า
การมุ่งเน้นนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมของไบเดน อาจจะส่งผลดีกับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งเป็นสินค้าที่จะทำให้ลดการสร้างมลพิษต่อโลกมากขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ประจำไมอามี สหรัฐฯ ระบุว่า
เดิมรัฐบาลทรัมป์ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมหรือสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน
แต่นายไบเดนมีนโยบายที่จะลงทุนเรื่องนี้กว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่
และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอีก
5 แสนแห่งทั่วสหรัฐในปี 2573 รวมถึงนโยบายลดหย่อนภาษีในการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงสุดถึง
7,500 เหรียญสหรัฐต่อคน
และนโยบายการลดภาษีสำหรับผู้ที่นำรถยนต์เก่ามาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใหม่ หรือ Cash
for Clunkers ที่เริ่มในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา
ในช่วงที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี
ทิศทางการดำเนินโนบายของสหรัฐฯ
ค่อนข้างสำคัญและมีผลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย
ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 14.54%
ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยเป็นมูลค่า
707 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์
อย่างไรก็ตามการปรับลดลงครั้งนี้ถือว่าเป็นการนำเข้าสอดรับกับภาพรวมของการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ที่สหรัฐนำเข้าลดลง
29.54%
อย่างไรก็ตามอีกประเด็นสำคัญที่เอกชนไทยต้องจับตามอง
คือสินค้ากลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย เป็นกลุ่มสินค้าหนึ่งที่รวมอยู่ในลิสต์สินค้า
231 รายการที่สหรัฐฯ เพิ่งตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)
จากไทยไปเมื่อ 30 ตุลาคม 2563 เนื่องจากการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าหมูมายังประเทศไทยไม่คืบหน้า
เท่ากับว่าแต้มต่อภาษีจะหายไป สินค้ากลุ่มนี้จะต้องกลับไปสู่อัตราภาษีปกติ
ดังนั้นแนวทางปรับตัวที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องเร่งหันมาพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยายนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไบเดน ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดสินค้ายานยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าแบตเตอรี่รถยนต์ยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น แต่สินค้ายังค่อนข้างมีข้อจำกัดเรื่องอายุการใช้งานสั้น ในส่วนของภาครัฐก็ควรมุ่งส่งเสริมภาคเอกชในการปรับตัว เพื่อเยียวยาผลกระทบจากจีเอสพี และเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต