วงการพลาสติกเจอทางแยก ชีวภาพ- รีไซเคิล แบบไหนคือยั่งยืน?

SME in Focus
17/07/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 5490 คน
วงการพลาสติกเจอทางแยก ชีวภาพ- รีไซเคิล แบบไหนคือยั่งยืน?
banner

“พลาสติก” วัสดุที่ผลิตขึ้นมาจากการสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สามารถใช้ทดแทนวัสดุประเภทอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยคุณสมบัติด้านความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา สะดวกสบาย ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แถมยังสามารถปรับแต่งคุณสมบัติได้หลากหลายตามความต้องการ ด้วยการสังเคราะห์และใส่สารเติมแต่ง

นอกจากนี้พลาสติกยังใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่า จึงทำให้พลาสติกมีต้นทุนต่ำและได้รับความนิยมในหลากหลายอุตสาหกรรม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา

อย่างไรก็ตามหากจัดการไม่ดี พลาสติกก็ทำให้เกิดปัญหาขยะ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาระดับโลกส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นขยะที่ไม่มีวันย่อยสลายได้ ซึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการขยะจากบกอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

COVID-19 ทำให้มุมมองพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเปลี่ยนไป

เห็นได้ว่าเทรนด์ด้านพลาสติกในช่วงที่ผ่านมานับว่าเป็นกระแสลบเสียส่วนใหญ่ จากประเด็นการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกในทะเล และธุรกิจที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสภาวะแวดล้อมของโลก

อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 พลาสติกถูกนำไปใช้งานต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ทำให้การใช้พลาสติกได้รับความนิยมขึ้นมาอีกครั้ง อาทิด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค การเพิ่มอายุสินค้าบนชั้นวาง และสุขอนามัย

Mara Hancker ผู้อำนวยการจัดการของ German Association for Plastics Packaging and Films กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครอยากฟังเกี่ยวกับประโยชน์ของพลาสติก และกลุ่มเรียกร้องให้เลิกใช้พลาสติกนั้นมีเสียงมากจนกลบข้อเท็จจริงหลายอย่างไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้บริโภคได้เริ่มเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ถุงพลาสติกขึ้นมาอีกครั้งหลัง จากประเด็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยกลับมามีความสำคัญ

 

ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกในยุโรปกำลังย่ำแย่

ขณะที่กระแสการนำพลาสติกมาใช้ใหม่ด้วยการรีไซเคิลเป็นเทรนด์ที่นิยมในยุโรปเกิดขึ้นมากมาย แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกในทวีปยุโรปกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการปิดตัว จากผลกระทบจาก COVID-19 โดย Plastics Recyclers Europe (PRE) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของบริษัทผู้รีไซเคิลพลาสติกกล่าวว่า ปัญหาหลักนั้นเกิดจากความต้องการที่ลดลง ผลจากการปิดตัวของโรงงานแปรรูปและราคาพลาสติกใหม่ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ จากกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลงทั่วโลก

Tom Means ประธานของ PRE ให้ความเห็นว่า ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นแบบเดิมต่อเนื่องโดยไม่มีการแก้ไข ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลจะไม่มีกำไรและส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการรีไซเคิลของ EU และการเปลี่ยนไปสู่การใช้งานพลาสติกหมุนเวียน ซึ่งในกรณีนั้นขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ก็จะถูกส่งไปฝังกลบหรือเผาทำลายอย่างไม่มีทางเลือก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดรีไซเคิลไม่จำกัดอยู่แต่ในแง่ของสิ่งแวดล้อม แต่จะกระทบต่อการจ้างงานของอุตสาหกรรมกำจัดขยะทั้งวงจร ทั้งนี้อุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกเรียกร้องให้ EU และประเทศสมาชิกรวมเอาการรีไซเคิลเป็นหนึ่งใน sector ในแผนการฟื้นฟู เพื่อให้การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ขณะเดียวกันการปกป้องการพัฒนาในตลาดนี้ มีความสำคัญต่อการลดการใช้งานพลาสติกใหม่ในยุโรปและการลงทุนอื่นในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งบริษัทรีไซเคิลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการหมุนเวียนการใช้พลาสติก และการเปลี่ยนไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

คิดต่าง! พลาสติกชีวภาพอาจไม่ยั่งยืน

อีกแงมุมที่น่าสนใจคือ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในอุตสาหกรรมพลาสติกและกลุ่มสิ่งแวดล้อม ได้วิพากย์วิจารณ์ถึงแนวคิดของพลาสติกชนิดสลายตัวได้ (compostable plastic) ว่าเป็นแนวคิดที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากพลาสติกชีวภาพในปัจจุบันไม่สามารถสลายตัวได้สมบูรณ์แบบ หรือเร็วพออย่างที่ผู้ประกอบการโรงงานย่อยสลายเชิงพาณิชย์ต้องการ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิตยสาร Bioplastics News ในสหราชอาณาจักร ได้ตีพิมพ์บทความว่า

“อุตสาหกรรมโรงงานย่อยสลายไม่ต้องการพลาสติกชนิดสลายตัวได้ เราควรโฟกัสไปที่การรีไซเคิลพลาสติกชีวภาพและหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทความกล่าวว่า “แม้ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะอ้างว่าสามารถย่อยสลายได้ 100% แต่การย่อยสลายนั้นจำเป็นต้องนำไปย่อยในโรงงานย่อย ซึ่งหมายความว่าต้องมีโปรแกรมการเก็บขยะจากชุมชนที่มีประสิทธิภาพ มิเช่นนั้นถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้นี้ก็จะไปจบลงในที่ฝังกลบขยะเหมือนขยะทั่วไป”

ขณะที่เครือ Tesco ผู้ประกอบการธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร ได้เปลี่ยนวิธีการดำเนินการเช่นเดียวกันและเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่เขียนว่าสามารถย่อยสลายได้ แต่ให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้แทน ซึ่งหมายถึงการกลับมาใช้ PET, HDPE และ PP ในขณะที่ PLA, oxy/oxodegradable และพลาสติกย่อยสลายได้อื่นๆ จะถูกห้ามใช้ เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างสะดวก ซึ่งเป้าหมายของ Tesco คือการช่วยให้ลูกค้าใช้พลาสติกน้อยลงและรีไซเคิลมากขึ้น 

ทั้งนี้พลาสติกชีวภาพมักเป็นปัญหาเสมอในระบบการรีไซเคิล เนื่องจากผู้รีไซเคิล PET มักจะกังวลถึงการปะปนของ polylactic acid (PLA) เข้ามาซึ่งจะทำให้การรีไซเคิลทั้งชุดได้รับผลกระทบ โดยพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจาก PLA กำลังได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ในสินค้าอย่างถ้วยชนิดใช้ครั้งเดียวหรือบรรจุภัณฑ์และหีบห่อต่างๆ  ไปจนถึงของเล่นเด็ก อย่างไรก็ตามพลาสติกชนิดนี้ต้องนำไปกำจัดโดยการฝังกลบหรือนำไปย่อยสลายในโรงงานโดยเฉพาะ หรือทิ้งให้ย่อยสลายเองซึ่งอาจใช้ระยะเวลาหลายเดือน

 

ตลาดพลาสติกชีวภาพเติบโต 9.4% ในปีที่ผ่านมา

กระนั้นในปีที่ผ่านมาได้มีการใช้วัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายกฎระเบียบของรัฐบาลหลายแห่งที่สั่งห้ามการใช้พลาสติกแบบดั้งเดิม และการตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบของพลาสติกในหมู่คนทั่วไปที่เพิ่มมากขึ้น ก็ช่วยส่งผลให้ตลาดพลาสติกชีวภาพนั้นมีการเติบโต

พลาสติกชีวภาพที่มีการเติบโตสูงส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ผลิตจากแป้ง ซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตร ยานยนต์ และสิ่งทอ โดยเฉพา PLA เป็นหนึ่งในพลาสติกที่ถูกนำไปใช้มากที่สุด ทั้งในการผลิตบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์สามมิติ

ขณะที่การแบนพลาสติกโดย European Commission ที่ผ่านมาคาดว่าจะมีผลช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการใช้งานพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์ ในการหุ้มตัวยาหรือการผ่าตัดต่างๆ ก็เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะยังคงเป็นผู้ใช้งานหลักของพลาสติกชีวภาพ 

เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกกำลังเดินทางมาถึงทางแยกที่อาจจะต้องเลือก ว่าจะมุ่งไปในทิศทางใด ระหว่างพลาสติกแบบรีไซเคิลและพลาสติกชีวภาพ ขณะที่ภาคธุรกิจก็ต้องคิดหาหนทางเช่นกันว่าจะปักใจใช้พลาสติกแบบใด

ทางเลือกใหม่ PCR เม็ดพลาสติกรีไซเคิลตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

PCR คือ การนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล เป็นเม็ดพลาสติกและขึ้นรูปเป็นสินค้าเพื่อใช้งานโดยตรง ซึ่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้จะเรียกว่า Post-Consumer Recycled (PCR) Resin และมีการใช้งานโดยผสมกับพลาสติกใหม่ และหรือปรับแต่งคุณสมบัติด้วยสารเติมแต่งเพื่อให้ได้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น

ด้วยหลักการ Circular Economy หรือการหมุนเวียน ผลิต-ใช้-วนกลับ ( Make-Use-Return) ที่จะเปลี่ยนกระบวนการของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสียให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

ปัจจุบันใช้เม็ดพลาสติก PCR หรือ Post-Consumer Recycled Resin เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะเห็นได้ว่าบรรดาเจ้าของแบรนด์สินค้ายักษ์ใหญ่เกือบทุกรายต่างออกนโยบาย และประกาศเป้าหมายการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของตนเองให้ผลิตจาก PCR มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และมองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ

Nestlé เพิ่มปริมาณพลาสติก PCR ที่ใช้ผลิตขวดน้ำดื่มที่ขายทั่วโลกเป็น 35% (และ 50% ในบางประเทศ) ภายในปี 2025

SC Johnson เพิ่มเปอร์เซ็นต์ของพลาสติก PCR ที่ใช้ในขวดที่ผลิตในอเมริกาเหนือและยุโรปจาก 20% เป็น 40% ภายในปี 2025

Unilever ใช้ PCR อย่างน้อย 25% สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายในปี 2025 ทางบริษัทจะลดการใช้พลาสติกชนิดบริสุทธ์ลงครึ่งหนึ่งหรือกว่า 100,000 ตัน และจะเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิล ซึ่งโดยรวมแล้วจะทำให้ใช้พลาสติกใหม่ไม่เกิน 350,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ทางบริษัทจะยังช่วยเก็บรวบรวมและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับคืนมาให้ได้มากกว่าที่จำหน่ายออกไป รวมทั้งในปัจจุบันมีบางสินค้าที่ใช้ PCR 100% แล้ว

Coca Cola ได้มีการเปิดตัวขวดตัวอย่างที่ผลิตจากพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเล และประกาศใช้บรรจุภัณฑ์ซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2033

PepsiCo ได้ประกาศตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้พลาสติกบริสุทธ์ลง 35% ภายในปี 2025 ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์ทดแทนชนิดอื่น ซึ่งการลดการใช้พลาสติกนี้จะช่วยลดพลาสติกกว่า 2.5 ล้านตัน จากการใช้งานวัสดุรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์ทางเลือกสำหรับแบรนด์เครื่องดื่มต่าง ๆ

 

พลาสติก PCR นับเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการนำ Circular Economy มาปรับใช้ในธุรกิจ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ โดยการหมุนเวียนให้วัสดุพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ขณะที่ผู้ผลิตไทยในปัจจุบันก็เริ่มตื่นตัวกับกระแสการนำพลาสติก PCR มาใช้ในภาคการผลิตมากขึ้นเช่นกัน

 

แหล่งที่มา : สถาบันพลาสติก

         : http://plastic.oie.go.th/ 

         : http://www.allaroundplastics.com/    



สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อ Bualuang Green<<


ดีต่อใจ! ประโยชน์ของพลาสติกช่วงโควิด-19

Microplastic ภัยเงียบที่มนุษย์โลกต้องตระหนักรู้


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
522 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
451 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
793 | 25/04/2024
วงการพลาสติกเจอทางแยก ชีวภาพ- รีไซเคิล แบบไหนคือยั่งยืน?