LOCAL TO ASIA ข้าวแต๋นมินิ ‘Younger Farm’ สร้าง Value Added ข้าวไทย ตั้งเป้าไกลสู่ Global ให้โลกรู้จัก
SME Local Hero การที่ผู้ประกอบการ SME ไทยตัวเล็กๆ จะบุกตลาดต่างประเทศแล้วไปโลด ประสบความสำเร็จในต่างแดน เป็นโจทย์ยากที่มาพร้อมกับข้อจำกัดมากมาย ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงขอพาท่านผู้อ่านไปพบกับบริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นมินิสัญชาติไทย ‘Younger Farm’ เพื่อศึกษาแนวทางการทำธุรกิจ การสร้าง Value Added ให้กับข้าวไทย ว่าทำอย่างไรในการเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าคนเอเชีย จนสามารถส่งออกไปหลากหลายแห่งทั้งจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

คุณ ณัฐกิตติ์ จิตต์ปราณีชัย : กรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด
สร้างธุรกิจ..จากการมองเห็นโอกาส ‘ข้าวไทย’ ในต่างแดน
คุณณัฐกิตติ์ จิตต์ปราณีชัย ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด เผยว่า เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ตนเองมีโอกาสได้ไปเรียนภาษาจีน ณ กรุงปักกิ่ง ทำให้ทราบว่ามีข้าวสารจากประเทศไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดเมืองจีนค่อนข้างเยอะ ตนเองเห็นว่าข้าวไทยเป็นที่นิยม จึงเกิดแนวคิดอยากแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร (Value Added) โดยมีโจทย์คือต้องผลิตสินค้าให้ถูกใจวัยรุ่นจีน และสามารถเก็บได้นาน ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างรายได้ ดังนั้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตนเองจึงเริ่มก่อตั้งบริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายข้าวแต๋นมินิแบรนด์ ‘Younger Farm’ โดยมีการทดลอง - วิจัยต่างๆ เกี่ยวกับตัวสินค้าและแพ็กเกจจิ้งเยอะมาก เช่น การทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุ 1 ปี ลูกค้าหมดกังวลเรื่องหมดอายุ (ข้าวแต๋นโดยทั่วไปมีอายุประมาณ 3 เดือน)
“ตนเองชื่นชอบการรับประทานขนม จึงเริ่มจากจุดที่เราถนัด ซึ่งตลาดสแน็กผมมองว่าเป็นสิ่งที่คนจีนต้องการ แม้จะมีสินค้าไทยเข้าไปจำหน่าย แต่ตลาดสแน็กก็เป็นตลาดใหญ่ - โอกาสเปิดกว้าง เช่น สาหร่ายดังแบรนด์หนึ่ง ซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมในเมืองจีน ผมจึงมองว่าบริษัทก็มีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกัน”
การทำธุรกิจตนเองต้องเริ่มต้นใหม่และทำเองทั้งหมด เช่น การส่งออกได้เข้าอบรมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เพื่อให้มีความรู้ เช่น เรื่องเอกสาร การติดต่อกับต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการเข้าร่วมประกวดแผนธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการร่วมเปิดบูธสินค้าที่ไบเทคบางนา ซึ่งได้รับการตอบรับดี ก่อนเป็นที่รู้จักนำมาสู่การจำหน่ายในต่างประเทศและเมืองไทย

รสชาติ..ที่คนเอเชียปรารถนา
คุณณัฐกิตติ์ เล่าว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัททำรสชาติกลางๆ เพื่อที่จะสามารถจำหน่ายในเมืองไทยและส่งออกต่างประเทศได้ เนื่องจากตอนแรกทดลองทำรสชาติที่คนไทยรู้จัก แต่เมืองนอกไม่รับประทาน ดังนั้นจึงต้องทำการสำรวจตลาดก่อนว่าจะทำรสชาติอะไร แล้วปรับสูตร - รสชาติให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยข้าวแต๋นมินิแบรนด์ ‘Younger Farm’ ได้มีการ Marketing Survey เช่น การส่งให้เพื่อนชาวต่างชาติทดลองชิมและให้คะแนน เพื่อคัดสรรสินค้าที่มีรสชาติตอบโจทย์มากที่สุด

‘แพ็กเกจจิ้ง’ สิ่งที่ทำให้ ‘Younger Farm’ แตกต่างจากแบรนด์อื่น
ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากข้าวแต๋นในเมืองไทยมีบรรจุภัณฑ์เป็นแบบถุงใส ตนเองจึงเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ดูทันสมัย สร้าง Value Added ให้เหมาะกับลูกค้าวัยรุ่น - วัยทำงาน ถือไปที่ไหนก็ได้ ที่สำคัญเท็กเจอร์และรสชาติต้องเป็นที่ถูกปาก
หลังจากข้าวแต๋นแบรนด์ ‘Younger Farm’ เป็นที่รู้จักในเมืองไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้มีดีเลอร์ต่างแดนให้ความสนใจติดต่อเข้ามา และด้วยความที่ตนเองสามารถสื่อสารภาษาจีนจึงติดต่อประสานงานกับพันธมิตรทางธุรกิจได้ค่อนข้างราบรื่น ทำให้มีลูกค้าจากกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ นำมาสู่การส่งออกในขณะนั้น 7 ประเทศในขณะนั้น
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทได้ทำการขยายกิจการ จากการเช่าโรงงาน เป็นการซื้อโรงงาน เพื่อการรองรับมาตรฐานต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น ลูกค้าจากญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ก็อยากให้เราทำมาตรฐานที่ต่างประเทศต้องการ โดยปัจจุบันมีลูกค้าหลักๆ ก็คือ เวียดนาม มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ซึ่ง Importer แต่ละแห่งได้นำสินค้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ส่วนในเมืองไทยข้าวแต๋นมินิแบรนด์ ‘Younger Farm’ มีจำหน่ายในแฟมิลี่มาร์ท, เดอะมอลล์, โลตัส และร้านสะดวกซื้อต่างๆ

โควิด..วิกฤตที่สร้างโอกาส
ในเรื่องนี้ คุณณัฐกิตติ์ อธิบายว่า การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ผู้คนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น รับประทานอาหารเช้าที่บ้านมากขึ้น บริษัทจึงเกิดแนวคิดผลิตสินค้าที่เป็น ‘กราโนล่า’ ซึ่งเป็นอาหารเช้าซึ่งมีส่วนผสมของธัญพืชออกมา และเนื่องจากสินค้าประเภทนี้มีหลากหลายแบรนด์ ‘Younger Farm’ จึงใช้แพ็กเกจจิ้งในการเจาะตลาด โดยคงคอนเซปต์ความเป็น ‘ยังเกอร์ ฟาร์ม’ สร้าง Value Added ให้มีความน่ากิน มีความสดใหม่ นำมาสู่สินค้าตัวที่ 2 ของบริษัท
ปัจจุบันบริษัทหันมาจำหน่ายในเมืองไทยมากขึ้น เน้นทำตลาดออนไลน์ทั้ง Shopee, Lazada และ Facebook เพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย เพิ่มฐานลูกค้า ตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซบ้านเราที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเข้าใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสั่งซื้อสินค้า

รุกตลาดต่างแดนให้สำเร็จ ต้องเลือกพันธมิตรที่ดี
คุณณัฐกิตติ์ เผยว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังค่อนข้างใหม่ทำให้การเจาะตลาดต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่ายมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ประเทศจีนจะมีการแบ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ ผู้นำเข้ารายย่อย เป็นชั้นๆ กว่าจะถึงผู้บริโภคอาจจะ 4 - 5 ชั้น ขณะที่การทำอีคอมเมิร์ซในจีนต้องมีการเปิดบริษัทในประเทศ และต้องพร้อมส่งสินค้าภายใน 24 ชม. เป็นต้น
ดังนั้น การส่งออกของ ‘Younger Farm’ จึงใช้วิธีประสานกับ Importer พันธมิตรแต่ละแห่ง ในการทำตลาดประเทศนั้นๆ โดยทางบริษัทจะซัพพอร์ตด้านต่างๆ ให้คำปรึกษา จัดหาภาพสินค้า ข้อมูล คำอธิบายต่างๆ เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายทำการตลาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากการทำตลาดออนไลน์แล้ว การสร้าง Value Added ทำให้สินค้าโดดเด่น เมื่อการวางบนชั้นวางสินค้าตามห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ในการดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดได้ไม่นาน

ผู้ประกอบการ SME ไทย รับมืออย่างไร เมื่อต่างประเทศต้นทุนถูกกว่า
สำหรับเรื่องนี้ คุณณัฐกิตติ์ ให้ความรู้ว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องสำรวจตลาดก่อนว่าสินค้าบริษัทเหมือนกับ Local แต่ละประเทศหรือเปล่า เพราะว่าก่อนจะนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายแต่ละอย่าง ‘Younger Farm’ ต้องทำ Marketing Survey สอบถามความเห็นจากผู้คนประเทศนั้นๆ ว่าสินค้าชนิดนี้ในบ้านเขามีมุมมองอย่างไร และต้องทำการทดลอง - ตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ ว่า แตกต่างจากท้องตลาดหรือไม่อย่างไร แล้วใช้ข้อดีของอาหารเมืองไทย เช่น อาหารมีความเข้มข้น ครบรส ความพิถีพิถันในเรื่องรสชาติ มาสร้างความแตกต่างกับสินค้า Local ของประเทศนั้นๆ แล้วคว้าใจผู้บริโภคด้วยความแปลกใหม่ของรสชาติ

จากการมองเห็นโอกาส ‘ข้าวไทย’ ในต่างแดน จุดประกายให้ คุณณัฐกิตติ์ จิตต์ปราณีชัย ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด สร้าง Value Added ให้ข้าวไทย สู่การครีเอทสินค้าแบรนด์ ‘Younger Farm’ เจาะใจชาวเอเชีย โดยมี Big Target ในอนาคตคือการโกอินเตอร์สู่ระดับ Global เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคสแน็กทั่วโลกให้ได้
รู้จัก ‘บริษัท ไทย ยังเกอร์ ฟาร์ม จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่