Mottainai อย่าทิ้งสิ่งที่มีค่า Circular Economy ฉบับคนญี่ปุ่น

SME Go Inter
20/12/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 2796 คน
Mottainai อย่าทิ้งสิ่งที่มีค่า Circular Economy ฉบับคนญี่ปุ่น
banner

ความยากจนนำไปสู่ความอดยากโดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานเมื่อปี 2019 ระบุว่าแต่ละปีมีผู้คนมากกว่า 820 ล้านคนทั่วโลกอดยาก ทั้งที่อาหารที่ถูกผลิตขึ้นบนโลกเพียงพอต่อการเลี้ยงดูผู้คนได้มากกว่า 10,000 ล้านคน

โดยคนงานในภาคเกษตรมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งโลก เกษตรกรในชนบทผลิตอาหารได้สูงถึง 80% ที่บริโภคกันในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา แต่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ประเทศดังกล่าวกลับเป็นผู้ที่อดอยากหิวโหยที่สุด ทำให้นึกถึงบรรดาคนมีฐานะอันจะกิน มักจะกินทิ้งกินขว้าง ซึ่งตรงกับสถิติที่ยูเอ็นเคยทำการสำรวจไว้ว่า 30-50% ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในโลกใบนี้กลายเป็นของเหลือทิ้ง

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

แต่เมื่อย้อนมองคนญี่ปุ่นที่สอนเรื่องการรู้จักคุณค่าของสิ่งของและไม่ใช้ของทิ้งขว้าง ซึ่งภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า Mottainai (มต-ไต-ไน) ศัพท์คำนี้มีความหมายว่า “น่าเสียดาย” แปลง่ายๆ คือ หากเรามีของบางสิ่งบางอย่างที่ยังสามารถใช้ได้อยู่แต่กลับโยนทิ้งไป ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “น่าเสียดาย” กล่าวกันว่า คนญี่ปุ่นมีจิตสำนึกเรื่องนี้มาก เพราะเป็นความเชื่อในศาสนาชินโต ว่าทรัพยากรทุกอย่างมีจิตวิญญาณและเป็นเทพเจ้า จึงควรใช้ด้วยความเคารพ

และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะเล็กๆ มีทรัพยากรจำกัดและคนหนาแน่น อีกทั้งยังเคยผ่านสภาวะยากจนแร้นแค้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งทำให้ต้องกินใช้สิ่งต่างๆ อย่างรู้คุณค่า ความรู้สึกเสียดายนี้เองที่ช่วยนำพาให้ประเทศญี่ปุ่นรอดพ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ มาได้ ต่อเมื่อความเจริญคืบเข้ามา มีความสะดวกสบายแบบสมัยใหม่ ความรู้สึก “น่าเสียดาย” ก็ค่อยๆ จางหายไป

 

รัฐบาลใช้หลัก 3Rs ฟื้นฟูเรียกจิตสำนึกคนญี่ปุ่นกลับมา

เมื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วงทศวรรษ 1980 ถึงยุคต้นทศวรรษ 1990 การผลิตพลาสติกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปัญหาขยะระดับประเทศ โดยระหว่างปี 1993-2000 จำนวนขวดพลาสติกที่ผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า มากกว่า 360,000 ตัน ทำให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นต้องนำคำ “ mottainai” รื้อฟื้นขึ้นมาใช้อีกครั้ง ในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกประชาชน เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะที่ล้นเกิน ด้วยหลัก 3Rs คือ

1. reduce (ลด)

2. reuse (นำกลับมาใช้อีก)  

3. recycle (แปรรูปกลับไปใช้อีก)

รวมทั้งมีความพยายามคิดค้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความรับผิดชอบและเคารพต่อธรรมชาติ

การปลุกสำนึกแบบ mottainai ไม่ได้จำกัดแค่ที่ญี่ปุ่น คำนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายผ่านโครงการ Greenbelt Movement ของนักสิ่งแวดล้อมชาวเคนยา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คือ Prof.Wangari Maathai ซึ่งเธอประทับใจความหมายเชิงลึกของ mottainai เมื่อครั้งที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวเนื่องกับพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 2005 ทำให้เธอเดินหน้าผลักดันที่จะทำให้ mottainai เป็นสัญลักษณ์การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากลจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

 

ญี่ปุ่นต้นแบบนานาชาตินำระบบรีไซเคิลพลาสติก

ระบบการจัดการขยะชั้นยอดของญี่ปุ่น คือ ต้นแบบ และบทเรียนสำหรับนานาประเทศ ขยะทุกสิ่งตั้งแต่พลาสติกโพลิสไตรีนไปถึงบรรจุภัณฑ์ของยา สามารถคัดแยกและรีไซเคิลได้ โดยมีพระราชบัญญัติเพื่อการสร้างสังคมแห่งการหมุนเวียนทรัพยากร (The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society) หรือกฎหมายพื้นฐานด้านรีไซเคิล (Basic Recycling Act) ซึ่งบังคับใช้ในปี 2000 เป็นกรอบสำหรับการส่งเสริมเรื่อง 3Rs โดยกำหนดให้ทุกเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการโปรโมตเรื่อง 3Rs โดยภาคเอกชนเองก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เช่น บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ มีเครื่องบีบอัดขวดพลาสติกเพื่อแลกเหรียญในการช็อปปิ้ง จากนั้นพลาสติกที่ชาวบ้านมาแลกก็จะมีการนำไปใช้ทำสิ่งต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้า พรม ไปถึงขวดใหม่

 

ดึงสังคมมีส่วนร่วมควบคู่สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ

ในช่วงปี 2000 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มบังคับใช้กฎหมายการบริหารจัดการขยะ ของเสีย และการรักษาความสะอาดที่สาธารณะ โดยดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมควบคู่กับการณรงค์สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบจนประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการจัดการของเสีย โดยมีขยะจากการผลิตและบริโภคที่ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่เพียงแค่ร้อยละ 5 ซึ่งความสำเร็จของญี่ปุ่นในครั้งนี้ มาจากการที่รัฐบาลสร้างรากฐานการจัดการของเสียอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค การเก็บค่าจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ตอนซื้อ และการบังคับให้เอกชนเป็นเจ้าของร่วมในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย

ขณะเดียวกันในระดับชุมชนก็สามารถนำทรัพยากรมาใช้ในการสร้างรายได้ได้อย่างคุ้มค่า ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดเป็นสินค้าหรือบริการ ที่สอดแทรกนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และยึดการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ อาทิ “โครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OVOP (One Village One Product) ที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลก จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยว

โดยในส่วนผลิตภัณฑ์ต้องมีเงื่อนไข 3 อย่าง คือ

1. คุณภาพต้องคงที่

2. สามารถผลิตได้สม่ำเสมอเพราะ OVOP มีคุณลักษณะอยู่ระหว่างอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและอุตสาหกรรมขั้นทุติยะ ที่นำผลผลิตจากอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานมาแปรรูป

3. ผ่านการรับรองมาตรฐาน และทดลองขายในตลาดก่อนอย่างน้อย 2-3 ปี

ในส่วนของการท่องเที่ยวทางรัฐบาลส่งเสริมด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ การเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ การศึกษาดูงาน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น และทำให้รายได้เกิดการกระจายไปถึงชุมชน

เพราะคำว่า “mottainai” อย่าทิ้งสิ่งที่มีค่า หรือ "น่าเสียดาย" โดยเปล่าประโยชน์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยลง และยังนำสิ่งที่ใช้แล้วนำมารีไซเคิลใหม่ กลายเป็นต้นแบบนานาชาติและประเทศไทยนำไปเป็นโมเดลแก้ปัญหาขยะและนำกลับมาใช้ใหม่ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนในอนาคต

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.weforum.org 

                                 https://actorganic-cert.or.th 

                                 https://library2.parliament.go.th 

 


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อ Bualuang Green<<


‘อัมสเตอร์ดัม’ กำลังเปลี่ยนผ่านสู่เมืองหลวงแห่งยีนส์ (รักษ์โลก)

จาก Fast fashion สู่เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลกในสหรัฐฯ


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6346 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2035 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5079 | 23/10/2022
Mottainai อย่าทิ้งสิ่งที่มีค่า Circular Economy ฉบับคนญี่ปุ่น