โลกส่งสัญญาณเตือน! ผลกระทบโลกร้อนที่ตอกย้ำ SME ต้องปรับตัวสู่แนวทาง ESG ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ

ESG
24/01/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 4664 คน
โลกส่งสัญญาณเตือน! ผลกระทบโลกร้อนที่ตอกย้ำ SME ต้องปรับตัวสู่แนวทาง ESG ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ
banner
อิทธิพลของมนุษย์ ทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และผืนดินร้อนขึ้น ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ของโลกมากมาย โดยไม่สามารถย้อนคืนได้ ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2040 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธารน้ำแข็งบนภูเขาและขั้วโลกจะละลายอย่างต่อเนื่อง การลดปริมาณคาร์บอนจำนวนมหาศาลเท่านั้น ที่จะหยุดยั้งสถานการณ์รุนแรงนี้...ไม่ให้เกิดเร็วขึ้น 



สรุปสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ในปีที่ผ่านมา

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ  IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่ก่อตั้งในปี 1988 โดยองค์กรสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (United Nation) จับมือกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) มีต้นกำเนิดจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งคำถามมากว่า 50 ปี



จากรายงาน IPCC Climate Change 2021: The Physical Science Basis ถือว่าเป็น “Red code” หรือสัญญาณเตือนของโลก โดยสรุปเนื้อความสำคัญในรายงาน IPCC AR6 Climate Change 2021: The Physical Science Basis ได้ดังนี้

1. ผิวโลกร้อนขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียส หากตัดปัจจัยจากมนุษย์ออก คาดว่าโลกจะอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 0.6 องศาเท่านั้น

2. ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในรอบ 2 ล้านปี ตามที่มนุษยชาติได้เคยศึกษาไว้ ไม่เคยมียุคสมัยที่คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์การกำเนิดโลก ทำให้คาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตได้ยาก

3. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตถึง 3 เท่า ภายในศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเฉลี่ย 2 เมตร และอาจสูงขึ้นถึง 5 เมตรในปี 2150 

4. คลื่นความร้อนในมหาสมุทร (Marine heat wave) เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลถึงระบบนิเวศทางทะเล คลื่นความร้อน (Extreme Heat) ฝนตกหนัก (Heavy rainfall) ความแห้งแล้ง (Droght) และสภาวะที่ก่อให้เกิดไฟป่า (Fire weather) มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

5. การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว แม้ว่าโลกจะเลิกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทันทีก็ตาม 

6. งบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) ที่เหลืออยู่ ชี้ให้เห็นว่า หากโลกต้องการควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะเหลืองบประมาณคาร์บอนที่สามารถปล่อยได้เพียง 500 กิกะตันคาร์บอน หากเทียบกับอัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันที่อยู่ปีละ 40 กิกะตัน เราจะเหลือเวลาเพียง 12 ปีเท่านั้น

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เช่น ผลกระทบกับทะเลเขตขั้วโลก (Polar seas)  อาจส่งผลรุนแรงจนไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลย สัตว์ไม่มีที่อาศัย หรือ ผลกระทบกับการประมง (Fisheries) สัตว์น้ำที่มีเปลือกไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เนื่องจากทะเลเป็นกรด และมีการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ จนคนท้องถิ่นไม่สามารถทำประมงได้เหมือนเดิม

ด้านการขับเคลื่อนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม นโยบายและกฎหมาย Climate Change ที่ส่งผลต่อประเทศไทย เช่น อาจมีนโยบายทางการค้าระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยมากขึ้น เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือกลไกการเก็บค่าภาษีคาร์บอน ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2023 และ Sustainable Product Initiative หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นผลให้สินค้าที่ไทยส่งออกจะต้องมีการเสียภาษีเพิ่มขึ้น หรือกล่าวได้ว่ามีราคาแพงขึ้น กระทบกับรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศโดยตรง



Roadmap ESG สู่เป้าหมาย Net Zero ของไทยถึงไหนแล้ว?

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ที่ผ่านมา ไทยย้ำว่า ได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ตั้งเป้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก จาก Maximum ของไทย 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี และการบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ 

สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) และความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประชาคมโลกจะต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) ได้จัดทำและปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดเพื่อยกระดับเป้าหมายของไทย    

โดยไทย ขยับเป้าลดคาร์บอนเป็นศูนย์เร็วขึ้น ได้แก่ เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) เร็วขึ้น 5 ปี ความเป็นกลางทางคาร์บอน เดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) เร็วขึ้น 15 ปี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็นการขยับให้เร็วขึ้นถึง 35 ปี รวมทั้งการระบุประเด็นที่ไทย ต้องการรับการสนับสนุนให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยไม่มี และความช่วยเหลือในเรื่องการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น



นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) กล่าวว่า ไทยมีโอกาสสูงที่จะพลิกไปสู่รูปแบบใหม่ ฝั่งรัฐบาลต้องประสานเอกชนและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็ง ธนาคารสนับสนุนการให้เงินทุน โดยต้องประเมินว่าธุรกิจไหนเป็นธุรกิจสีเขียว ต้องมีการวัด Carbon Footprint เพื่อสร้างมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ 

ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ทั้ง 76 จังหวัดมีการประเมินการลดก๊าซเรือนกระจก เปิดโอกาสในเรื่องคาร์บอนเครดิตมาแลกเปลี่ยนซื้อขาย และที่สำคัญ เอกชนต้องปรับตัวและมองให้เป็นโอกาสในการสร้างงานใหม่ เหมือน อเมริกา จีน ญี่ปุ่น ที่มองเรื่องนี้เป็นโอกาส



ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่มองว่าไทยอยู่ในจุดที่เป็นโอกาสของโลก โดยมีความพร้อมทั้งฐานชีวภาพ ต้นทุนเชิงซัพพลาย หากเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ถือว่าไทยมีแต้มต่อในเชิง พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy : RE) Carbon Footprint โดยเฉพาะหลังการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ผู้นำโลกให้การยอมรับ



ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลาย อาจเกิดปัญหาน้ำท่วมในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ตามแนวชายทะเล เราเห็นปัญหาภัยพิบัติที่ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น อย่างในปีนี้หลายประเทศในยุโรปร้อนจัด บางประเทศมีอุณหภูมิสูงถึง 40-50 องศา หรือบางประเทศหนาวจัดถึง -40 ถึง -60 องศา อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน



ต้องยอมรับว่า เมื่อกติกาของโลกคือการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ เรื่องก๊าซเรือนกระจก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวอยู่เสมอ เพราะต้องเจอกับความท้าทายไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ (Digital Disruption) ที่เร่งการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรม ประเด็นสงครามการค้า (Trade War) ที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน



สำหรับนโยบายในเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แบ่งภาคอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ‘First Industries’ กลุ่มนี้เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่กำลังถูกดิสรัปชัน  ทาง ส.อ.ท. จึงพยายามหาทางช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของนวัตกรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแพลตฟอร์มให้  

กลุ่มที่ 2 เป็น Next-gen Industries แห่งอนาคต เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ



นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้จัดตั้งสถาบันใหม่ที่เรียกว่า ‘สถาบัน Climate Change’ ขึ้นมา และกำลังพยายามทำแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมี 45 กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องการใช้คาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสามารถที่จะนำมาเทรดได้

“เรื่องโลกร้อนสิ่งที่ต้องเตรียมตัวและทำให้เร็วคือต้องเป็นผู้นำ ประเทศไทยมี RE ในสัดส่วนที่มาก การจะทำให้สำเร็จระดับในโลกต้องมีไฟแนนซ์เข้ามา โดยเฉพาะกรีนไฟแนนซ์ ประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังต้องมีมาตรการการคลัง เช่นการลดภาษี กองทุนสนับสนุน”



สำหรับประเด็น ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจ เมื่อมาดูภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ที่เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้เข้าร่วมโครงการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (T-VER) มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามโครงการดังกล่าว ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 เติบโต 425% เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งปี 2564 และคิดเป็นเพียง 0.3 % ของก๊าซเรือนกระจกจากประเทศไทยปล่อยทั้งหมดต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในทุกปี

ส่วนภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตโลกในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และประเมินมูลค่าตลาดจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญ หรือประมาณ 7.50 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขับเคลื่อนไปด้วยกันน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีที่จะทำประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ในระยะยาว



แนวทาง 6 ด้าน ในการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย

สำหรับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของไทยนั้น มีแนวทาง 6 ด้าน ในการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ได้แก่

1.ด้านนโยบาย โดยทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมีแผน มียุทธศาสตร์และบูรณาการทำงานเข้าด้วยกัน

2.ด้านเทคโนโลยี มีแนวคิด ATR เทคโนโลยีเพื่อเกษตรกรไทย และ Thai Rice NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) ทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและการดักจับ Carbon Capture and Storage Technology เป็นต้น

3. ด้านการเงินและการลงทุน โดยนักลงทุน 80 % ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยึดหลัก ESG มากขึ้น

4.ด้านกลไกลตลาดคาร์บอนเครดิต

5.ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 

6.ด้านกฎหมาย

ในส่วนของภาคพลังงานและขนส่ง จะต้องมีการเพิ่มใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

ส่วนภาคการจัดการของเสีย ต้องมีการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน รวมถึงน้ำเสียในอุตสาหกรรม Waste to Energy 

ขณะที่ภาคการเกษตร ต้องปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน และผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และป่าไม้ ต้องมีการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท การป้องกันการบุกรุกและการทำลาย ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดลงเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 มีมูลค่าคาร์บอนประมาณ 325,450 ล้านบาท 

ปัจจุบันประเทศไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายทั้งการปลูกต้นไม้ ป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและการประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซจากการใช้พลังงาน การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ซึ่งการมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

โดยภาครัฐ จะต้องเป็นผู้นำในการสนับสนุนองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานในการวัดและประเมินผล ออกกฎหมายทั้งในเชิงส่งเสริมและจำกัดขอบเขตเพื่อให้เอกชนเกิดแรงจูงใจในการลงทุนกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต่ำลงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เป้าหมายของประเทศไทยมีความท้าทาย และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วย บทความในตอนหน้า เราจะพาไปดูกันว่าการจะไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้นั้นฝั่งผู้ประกอบการ SME ไทยต้องเตรียมความพร้อม และมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร


อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/science-environment-58130705
https://www.cbsnews.com/news/climate-change-impact-warning-report-united-nations-intergovernmental-panel-ipcc-code-red-humanity/
https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/548265
http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/ipcc2021/
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1027092

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก 
https://web.facebook.com/tgo.or.th/?_rdc=1&_rdr
https://aec10news.com/contents/special-report/191524/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2775 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3829 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3482 | 18/03/2024
โลกส่งสัญญาณเตือน! ผลกระทบโลกร้อนที่ตอกย้ำ SME ต้องปรับตัวสู่แนวทาง ESG ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ