ESG Bond จะทำให้ ผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างไร? ในโลกยุคการเงินสีเขียว

ESG
30/10/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5864 คน
ESG Bond จะทำให้ ผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างไร? ในโลกยุคการเงินสีเขียว
banner
หลายประเทศทั่วโลกกำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใหม่ จะได้เห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกต่างมุ่งไปที่การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจของตนเอง โดยให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น ทำให้นักลงทุนสถาบันได้ปรับปรุงกลยุทธ์และแนวทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้น และตราสารหนี้ ในการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี และยังสามารถสร้างความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย



ทำให้เครื่องมือในการระดมทุนและการลงทุนที่ตอบโจทย์ทิศทางเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย และหนึ่งในนั้น คือ การระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เรียกรวม ๆ คือ ESG Bond’



ESG Bond คืออะไรและทำไมถึงได้รับความสนใจ?

จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลายประเทศต่างตระหนักและมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดเป็นข้อตกลงระดับโลก เช่น ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างเร่งลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ทำให้มีความต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาล 

หนึ่งในแหล่งการระดมทุนที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ การออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน หรือ ESG Bond ซึ่งในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน มีการออกทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ ESG Bond’ คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ระดมทุนต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาลที่ดี



ตราสารหนี้สีเขียว (ESG Bond) ทั้ง 4 ประเภท แตกต่างกันอย่างไร

จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้แบ่ง ESG Bond’ เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันดังนี้

1) ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารมุ่งเน้นเรื่องการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอาใจนักลงทุนรุ่นใหม่ เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น
 
2) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) คือตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นเรื่องการระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น เช่น โครงการเพื่อลดปัญหาการว่างงาน  การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา เป็นต้น

3) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ผสมผสานระหว่าง Green Bond กับ Social Bond เข้าด้วยกัน โดยมุ่งหวังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม ไปพร้อม ๆ กัน

4) ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) คือ ตราสารหนี้รูปแบบใหม่ ที่มุ่งให้เกิดผลกระทบด้านดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเหมือนกัน แต่เงื่อนไขการให้ผลตอบแทนคือดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  

จะเห็นได้ว่า ข้อดี ESG Bond ในแง่มุมของผู้ออกตราสารหนี้ คือ นอกจากการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้อีกด้วย เพราะมีความชัดเจนว่าบริษัทเหล่านี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (Sustainability) อย่างจริงจัง 
    
นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลงได้หากประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ ๆ และอาจส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว 

ขณะที่ในมุมของนักลงทุนเองก็มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายขึ้นและได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืน และได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
ส่วนตลาดตราสารหนี้ก็ทำหน้าที่ในการเป็นแหล่งระดมทุน และจัดสรรเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืน (Sustainability)



ตัวอย่าง บริษัทที่ใช้ ESG Bond

สำหรับการออกตราสารหนี้ไม่ใช่ใครจะออกก็ได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ต้องได้รับการประเมินจัดอันดับเครดิต ส่วนการตรวจสอบจะดูว่าผู้ประกอบการออกตราสารหนี้ นำเงินไปทำอะไร โดยเงินที่ได้ต้องนำไปใช้ในโครงการที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ

สำหรับ องค์กรชั้นนำของโลก อย่าง Apple เป็นตัวอย่างที่ดีในความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่เป้าหมายของบริษัทที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนในทุกห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้ได้ภายในปี 2030

โดยลงทุนมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในตราสารหนี้สีเขียว เพื่อพัฒนาการผลิตแบบคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีการรีไซเคิล โดย Apple ได้ออกตราสารหนี้สีเขียว 3 ครั้งมาตั้งแต่ปี 2016 ด้วยโครงการที่แสดงให้เห็นว่า การลงทุนสามารถลดการปล่อยมลพิษของโลก และนำเอาพลังงานสะอาดมาสู่ชุมชนทั่วโลกได้

โดย Apple ได้จัดซื้ออะลูมิเนียมที่ปราศจากคาร์บอนที่เกิดจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการถลุงแร่เพื่อลดมลพิษ ซึ่งปราศจากการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และบริษัทตั้งใจที่จะนำวัสดุนี้มาใช้ใน iPhone

Apple ระบุว่า การลงทุนของเขาจะช่วยสร้างความก้าวหน้าให้กับเทคโนโลยีในการลดรอยเท้าคาร์บอนของวัสดุที่เขาใช้ ถึงแม้เขาจะเปลี่ยนมาใช้เพียงวัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์ของเรา เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดแล้วก็ตาม

สำหรับผลลัพธ์ที่ได้ทั้ง 50 โครงการของ Apple จะช่วยบรรเทาหรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 2,883,000 เมตริกตัน สร้างกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 700 เมกะวัตต์ทั่วโลก รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเรื่องการรีไซเคิล



สำหรับตัวอย่างที่ดีในการนำ ESG Bond ไปใช้เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เช่น บริษัท ปตท. ออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อระดมทุนไปทำโครงการปลูกป่า หรืออย่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด ที่ระดมทุนผ่าน Green Bond เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม



ขณะที่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) โดยนำเงินไปใช้ในการทำธุรกิจ โดยตั้งตัวชี้วัดคือ ต้องไม่จับปลาแบบผิดกฎหมาย ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย หรือต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ปี รวมทั้งรักษาตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ต่อเนื่องให้ได้ ซึ่งถ้าบริษัทเหล่านี้ทำได้ตามเป้าหมาย ก็จะคงดอกเบี้ยให้เท่าเดิมหรืออาจจะลดลงตามแต่ตกลงกัน แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกปรับดอกเบี้ยขึ้น ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีและยุติธรรม

จากตัวอย่างของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (Sustainability)จะเห็นได้ว่ามีการนำเงินทุนไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างหลากหลายและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นความร่วมมือกันทั้งผู้ออกและนักลงทุน เพื่อให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 



ตลาด ESG Bond ในต่างประเทศเติบโตแค่ไหน?

ในปี 2019 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการระดมทุนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมมากถึง 465,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 78% จากปี 2561 ที่มีการระดมทุนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม 261,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) มีการออกมากที่สุด 271,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากปี 2561 ที่มี การออก Green Bond 182,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มีการออกเพิ่มขึ้นจากปี 2561 เกือบ 3 เท่า 

นอกจากนี้ Sustainability-Linked Loans ซึ่งเป็นเงินกู้ที่มีการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2561 มากที่สุดถึง ร้อยละ 168 โดยมีการปล่อยเงินกู้ดังกล่าว 122,000  ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562

ขณะที่มูลค่าการออก ESG Bond ในอาเซียน+3 ขยายอย่างมากในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 โดยมีมูลค่ามากถึง 165.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าการออก ESG Bond ทั้งปี 2020 ที่ 91.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ 69% ของ Green bond ออกโดยผู้ออกจากประเทศจีน ส่วน Social bond พบว่า 62% ของ ออกโดยผู้ออกสัญชาติเกาหลีใต้ สำหรับ Sustainability bond ที่ออกโดยประเทศอาเซียนมีสัดส่วน 17% ของมูลค่าคงค้าง Sustainability ทั้งหมดใน ASEAN+3 อันดับ 1คือ เกาหลีใต้ 42% และอันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น 30%



ประเทศไทย ESG Bond เติบโตขนาดไหน?

สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่มีการออก ESG Bond ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2562 มูลค่าการออก ESG Bond ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากยอดการออกที่ 29,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาที่ 173,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ขยายตัวเกือบ 6 เท่าในช่วง 3 ปี รวมทั้งผู้ออกก็เพิ่มจำนวนขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน และมีการนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์กับสังคมในการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทอย่างหลากหลาย 
  
การเติบโตของ ‘ESG Bond’ ในไทย นอกจากมาจากแรงผลักดันด้าน Supply แล้ว ยังเกิดจากการตอบรับที่ดีของ Demand ทั้งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนต่างให้ความสนใจในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainability) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 มีมูลค่าการระดมทุนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยเพิ่มเป็น 174 ล้านบาท จาก 86 ล้านบาท และในปี 2565 การระดมทุนผ่านการ ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนมีมูลมากกว่า 3 แสน 9 หมื่นล้านบาท

ซึ่งผู้ระดมทุนมีทั้งที่เป็นภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากมาย เช่น ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โครงการปลูกป่า

ขณะที่ในด้านของผู้ลงทุนเอง ก็ให้การตอบรับที่ดีกับตราสารหนี้ประเภทนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่ ผู้ลงทุน ต่างชาติ รวมไปถึงผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งเห็นได้จากหลายเคสที่มูลค่าการจองซื้อเกินกว่ามูลค่าการเสนอขาย (Oversubscription)



สถาบันการเงิน หนุน ‘การเงินสีเขียว’ มากขึ้น

ในส่วนของตลาดการเงิน เราต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลที่จะลดผลกระทบจากโลกร้อน ธนาคารจึงมีความสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนเงินลงทุนไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินการเหล่านี้ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เองก็ได้รับแรงผลักดันในการทำการเงินสีเขียว หรือ Green Finance  ที่ต้องการให้ทุกธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธนาคารมีความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น

ดังนั้นธนาคารจึงมีนโยบายในการผลักดันให้ลูกค้าหันมาใช้บริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น รวมทั้งธนาคารยังสามารถช่วยสนับสนุนโดยขับเคลื่อนเงินทุนไปยังโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นตัวแปรสำคัญในการนำพาธุรกิจไปสู่การแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เครื่องมือของธนาคารคือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น Sustainability-Linked Bonds, Green Bond และ Social Bond  ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนให้กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 



โอกาส ผู้ประกอบการ SME กับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้

สถาบันการเงิน ถือเป็นต้นน้ำของแหล่งทุนที่ภาคเอกชนใช้ในการทำธุรกิจ จึงมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบต่อความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ดังนั้นธนาคารสามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้กับ SME ที่ทำเรื่องลดผลกระทบเชิงลบหรือไปเพิ่มผลกระทบเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ 

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ถ้าปล่อยกู้ให้กลุ่มนี้ ถือเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะใช้พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่ดีกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า นี่เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของธนาคารในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไป SME ไปสู่ธุรกิจที่คาร์บอนต่ำด้วย

สำหรับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ บทบาทในการเป็นผู้ผลักดันด้านความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ SME ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจภายในห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าในอนาคต เราจะได้เห็นการดำเนินธุรกิจ SME ที่เปลี่ยนไปโดยหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีต่อธุรกิจ SME ที่มีแนวคิดใส่ใจในสิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคการเงิน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าภาครัฐจะต้องมีแนวทางสร้างแรงจูงใจผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในขณะที่ภาคการเงินก็จะต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability) ในหลากหลายมิติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ลงทุนต่อไป

สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนว่า การเงินสีเขียว (Green Finance) แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เรื่องนี้เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกเดินหน้ากันมานานแล้ว และแสดงให้เห็นว่า ‘โลกการเงิน’ ก็สามารถเป็นส่วนสำคัญในการช่วยโลกแก้ไขปัญหา Climate Change ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกในขณะนี้ได้ 

ขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องจับมือสร้างมาตรฐานร่วมกัน ขับเคลื่อนไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net Zeroให้ได้ในปี 2050 โดยใช้ Green Finance เป็นเครื่องมือสำคัญอีกทางหนึ่งที่สามารถนำพาให้ผู้ประกอบการ SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability) ในอนาคต

ที่มา : 
https://asianbondsonline.adb.org/newsletters/aboesg202110.pdf?src=spotlight
https://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2021/091121.aspx
https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2565/280665.pdf
https://www.prachachat.net/finance/news-783060
https://www.thaibma.or.th/doc/press/y2021/ESGpresentation.pdf
https://www.apple.com/th/newsroom/2022/03/apples-four-point-seven-billion-in-green-bonds-support-innovative-green-technology/
https://globalcompact-th.com/news/detail/1141

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
1232 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
3050 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3903 | 30/03/2024
ESG Bond จะทำให้ ผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างไร? ในโลกยุคการเงินสีเขียว