‘แพนด้าสุกี้ บะหมี่’ ร้านดังยุค ‘พาต้า’ Business Transformation ส่งต่อรสชาติระดับตำนานสู่ผู้บริโภครุ่นใหญ่ ถึง รุ่นใหม่

SME in Focus
09/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2453 คน
‘แพนด้าสุกี้ บะหมี่’ ร้านดังยุค ‘พาต้า’ Business Transformation ส่งต่อรสชาติระดับตำนานสู่ผู้บริโภครุ่นใหญ่ ถึง รุ่นใหม่
banner
คุณอนุสรณ์ โกวิทย์พรสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนด้าสุกี้ บะหมี่ จำกัด ....เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเผยถึงที่มาที่ไปของการก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของร้านสุกี้ชื่อดังระดับตำนานที่เอ่ยชื่อไป หลายคนคงคุ้นหูอย่าง “แพนด้าสุกี้” อย่างอารมณ์ดี และนี่คือจุดเริ่มต้นของบทสัมภาษณ์ผู้บริหารที่เห็นโอกาสจากการจับช่องว่าง แล้วสร้าง Business Model ในทางที่ใช่ จนประสบความสำเร็จ อย่างงดงาม ที่ Bangkok Bank SME ขอนำเสนอในบทความนี้ ให้ได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของ แพนด้าสุกี้ บะหมี่ ร้านยุค 90s ที่เปิดขายมานานเกือบ 40 ปี



ห้างฯ พาต้า และ แพนด้าสุกี้บะหมี่

...หากย้อนไปในยุค 90s (ช่วงเวลาที่คนเติบโตเป็นวัยรุ่นใน ค.ศ. 1990-1999) ชื่อของ พาต้า สาขาปิ่นเกล้า ถือเป็นเบอร์ต้น ๆ ของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในย่านฝั่งธนบุรี ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น เพราะเป็นห้างฯ ที่ชาวฝั่งธนฯ มักจะมาจับจ่ายซื้อสินค้า ทั้งยังสร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัว “สวนสัตว์พาต้า”  ตั้งอยู่บนชั้นที่ 6 และ 7 และ ภาพจำอีกหนึ่งอย่างที่หลายคนจำได้คือ เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยที่มีลิฟต์แก้ว ให้บริการ

ซึ่งนอกจากห้างฯ พาต้า จะได้รับความนิยมอย่างมาก  ร้าน ‘แพนด้าสุกี้ บะหมี่’ ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ก็เป็นอีกหนึ่งร้านสุกี้ในตำนาน ที่คนมาเดินซื้อของเสร็จแล้วมักจะมานั่งรับประทานสุกี้และเป็ดย่าง และอีกหลากหลายเมนู ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และบรรยากาศร้านที่ตกแต่งสไตล์จีน อบอุ่น เหมาะสำหรับครอบครัว โดยร้านแห่งนี้เปิดให้บริการในปี 2526 หลังจากห้างสรรพสินค้าพาต้าเปิดมาได้ 2 ปี โดยมีคุณวินัย เสริมศิริมงคล อดีตเจ้าของห้างพาต้า เป็นผู้ก่อตั้ง

“...เราไม่ได้ไปกินร้านนี้มาเกือบ 10 ปี ซึ่งร้านนี้เปิดมาตั้งแต่สมัยที่เราเป็นเด็ก จะไปค่อนข้างบ่อย จุดเริ่มต้นธุรกิจคือ วันที่เรากลับไปรับประทานอีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะนึกขึ้นได้ว่าอยากกินเป็ดย่างที่มีถั่วลิสงที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้านแพนด้าสุกี้บะหมี่ วันที่เราไปรับประทาน พบเจ้าของร้านนั่งอยู่ในร้านและเห็นว่าในร้านมีป้ายติดไว้ว่า ขายแฟรนไชส์ จึงเกิดความสนใจเลยจดเบอร์โทรศัพท์ไว้” คุณอนุสรณ์ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นธุรกิจ

ในช่วงเย็นวันเดียวกันหลังจากกลับบ้าน คุณอนุสรณ์ ตัดสินใจโทร.สอบถามเจ้าของร้านเรื่องรายละเอียดการขอซื้อแฟรนไชส์ จึงได้ทราบว่า เจ้าของไม่ใช่แค่ต้องการขายแฟรนไชส์ แต่ร้านแห่งนี้กำลังจะปิดตัวลงและเลิกกิจการ ช่วงสิ้นเดือนนั้น ตนจึงถามว่า ถ้าไม่ทำต่อ ขายให้ผมได้ไหม เมื่อเจ้าของร้านตกลง จึงนัดเจอกัน ซึ่งการเจรจาซื้อขายธุรกิจร้านแพนด้าสุกี้บะหมี่ จบที่ช่วงเย็นวันนั้น



‘แพนด้าสุกี้ บะหมี่’ ร้านสุกี้ยุค 90s ที่เปิดขายมานานกว่า 40 ปี

คุณอนุสรณ์ เผยถึงเหตุผลในการตัดสินใจซื้อกิจการร้านแพนด้าสุกี้ บะหมี่ ว่า มองเห็นถึงโอกาสของตลาดสุกี้ทั่วประเทศ ในภาพรวมยังมี Demand ที่สูง อีกทั้งช่องทางการขายปัจจุบันสามารถทำได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่การมีหน้าร้าน แต่สามารถเพิ่มช่องทางการขายไปสู่เดลิเวอรี่ได้ด้วย นอกจากนี้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นหลังสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย 

"...เราชอบในคุณค่าของการส่งมอบความเป็นตำนานจากรุ่นสู่รุ่นได้แบบคงความดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างดี แม้จะเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2526 แต่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่าน ร้านก็ยังมีคุณค่า มี Value ในตัวเอง มีฐานลูกค้าที่ชื่นชอบรสชาติและความสะอาด และความพิถีพิถันในการใช้วัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

ถ้าถามว่า มองเห็นอะไรในตลาดร้านสุกี้ ที่ปัจจุบันการแข่งขันดุเดือดมากและมีแบรนด์ที่ครองตลาดอยู่มากมาย ในมุมมองของผม คือ แบรนด์เขามีฐานลูกค้าที่สั่งสมมานาน มีลูกค้าเก่าแก่ที่มี Royalty กับร้าน เราจะส่งต่อโดยขายความดั้งเดิม"

 

‘Cloud Kitchen’ ครัวกลาง รักษาคุณภาพวัตุดิบ

ความตั้งใจ จริง ๆ แล้วเราไม่ได้คิดว่าจะต้องแข่งกับแบรนด์อื่น ๆ แต่เราเน้นความเป็นตำนาน ส่งต่อด้วยคุณภาพ วันที่เราไปซื้อธุรกิจนี้ เป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19  ยังไม่รู้ว่าจะเปิดร้านที่ไหนในช่วงเวลานั้น ความโชคดีคือ เราได้เชฟมาด้วย เราจึงใช้พื้นที่ของเราที่มี เริ่มจากขายเป็ดอย่างเดียว

จึงเริ่มทดลองตลาดจากพื้นที่ในครัวเล็ก ๆ ทำเป็นครัวกลาง ปรากฏว่าแม้จะเริ่มต้นจากการที่ไม่มีหน้าร้าน เปิดขายเฉพาะออนไลน์ เราขายเป็ดย่างได้วันละ 40-50 ตัว ผลตอบรับดีมาก ซึ่งนี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าแบรนด์แข็งแรงจริง ๆ 

“...ลูกค้าบางคนมาซื้อแล้วบอกว่า เขาหามานานแล้ว ดีใจมากที่ร้านแพนด้าสุกี้ บะหมี่ มีออนไลน์ เขากินมาตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยที่พ่อแม่พามาเที่ยวที่พาต้า พอซื้อของเสร็จครอบครัวมักจะพามากินสุกี้ร้านนี้ มันคือความทรงจำดี ๆ ที่ลูกค้าหลายคนยังคิดถึงและจดจำรสชาติที่เคยรับประทานเมื่อหลายสิบปีก่อนได้” 

สำหรับ Business Model ที่เราใช้ คือ วัตถุดิบจะเริ่มต้นที่ ‘ครัวกลาง’ รวมถึงน้ำจิ้ม จะผลิตจากครัวกลาง คือ สาขาที่พระราม 5 แล้วส่งต่อไปยังสาขาอื่น ๆ  เรามีแผนในอนาคตอันใกล้นี้คือจะเริ่มทำคลีนรูม และอาจจะต่อยอดด้วยการขายน้ำจิ้มที่เป็นสูตรของร้านที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ คือซอสคุณภาพสูง สูตรกวางตุ้ง 



สิ่งสำคัญ คือเรารักษาเอกลักษณ์เรื่องของรสชาติเอาไว้ เช่น เป็ดย่างที่ย่างด้วยถ่าน ปัจจุบันก็ใช้กรรมวิธีแบบเดิม วัตุดิบที่ร้านเดิมซื้อจากที่ไหน เราก็ยังซื้อร้านนั้น แม้แต่ถ่านที่ย่างก็ต้องร้านเดิม ถึงแม้ราคาจะสูงกว่าแบบทั่วไป แต่เราไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

ในทางกลับกันเราอยากรักษาคุณค่าที่เจ้าของเดิมสร้างมาให้ส่งต่อไปถึงลูกค้ารุ่นใหม่ ๆ ให้ได้สัมผัสรสชาติที่เป็นตำนานจริง ๆ รวมถึงองค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่าง เชฟ,  หัวหน้าเชฟที่ยังเป็นคนเดิม 

ลูกค้าบางคนยังจำเชฟที่ร้านได้ รวมไปถึงคนที่ทำหน้าที่สับเป็ด ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานที่ร้านเดิม แต่พนักงานเขาไปตามคนเก่า ๆ ที่เคยลาออกไปแล้วกลับมาทำงานด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ขณะนี้เรายังขยับขยายไม่มาก วัตถุดิบยังเป็นวอลลุ่มเล็ก ๆ แต่หาก Scale ใหญ่ขึ้นเราอาจจะมีการพิจารณากันใหม่ แต่จะพยายามคงความดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด 



โอกาสใน ‘ตลาดสุกี้ชาบู’ แข่งเดือด แต่เติบโตแรง

ธุรกิจอาหารเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม แบรนด์แพนด้าสุกี้ บะหมี่ แม้ว่าจะขายได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ทำตลาดมานาน ต้องอาศัยการทดลองตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคว่าเทรนด์เป็นแบบไหนชื่นชอบอะไร เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ลูกค้ามารับประทานที่ร้านมากขึ้น

ตอนนี้เราเปิดสาขาเพิ่มที่ซีคอนบางแค (Seacon Bang Khae) บนถนนเพชรเกษม กำลังตั้งหลักศึกษาตลาด ซึ่งเกิดไอเดียว่านอกจากการขายอาหารเมนูจานเดี่ยว หรือ A La Carte ที่ลูกค้าสั่งมารับประทานตามความชอบ น่าจะเพิ่ม “บุฟเฟต์” เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ขณะนี้ที่เน้นเรื่องความคุ้มค่า จึงเริ่มมี บุฟเฟต์ มีติ่มซำ เพิ่มเข้ามาเพื่อหาช่องว่างทางการตลาด และเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคไปด้วย
 
“...เป้าหมายของเราคืออยากทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักแบรนด์ เราพบว่า Position ของเรา ราคาอยู่ในกลุ่มพรีเมียม แต่เด็กรุ่นใหม่ยังไม่รู้จัก ลูกค้าที่รู้จักเราคือรุ่นอายุตั้งแต่ 30-40 ปีขึ้นไป ถ้าจะแข่งกับร้านสุกี้ระดับบน คงเป็นเรื่องยาก แต่หากจับที่กลุ่มวัยรุ่นก็ต้องเป็นบุฟเฟต์ พอเราทำ กระแสตอบรับดีมาก เมนู  A La Carte ยังมีเหมือนเดิม แต่สัดส่วนการขายกลายเป็นเมนูบุฟเฟต์ มีประมาณ  70% ของยอดการขาย ซึ่งร้านเรามีราคาตั้งแต่ 399 บาท ขึ้นไป และราคา 599 บาทจะมีเป็ดย่างด้วย จะคุ้มมาก ลูกค้าเลือกทาน 599 เกือบ 70-80%” 



การขยายสาขา และ Step ต่อไปของ  ‘แพนด้าสุกี้บะหมี่’

คุณอนุสรณ์ เผยถึงแผนธุรกิจในระยะต่อไปว่า รูปแบบที่เพิ่มเมนูบุฟเฟต์ เพิ่งจะเริ่มเมื่อไม่นานนี้ แต่พอจะจับตลาดได้ว่า รูปแบบนี้มันไปต่อได้ Step ต่อ ๆ ไป อาจจะเป็นเรื่องการขยายสาขาเพิ่ม 

“ทางทีมมีการเสนอเหมือนกันว่าอยากทำเหมือนร้านสุกี้ที่มีสาขาเยอะ ๆ หรือไม่ แต่เรามองว่าไม่อยากเหมือนใคร เราจึงตัดสินใจจะใช้ Business Model แบบที่เป็นตัวเราเอง เป็นสุกี้ ติ่มซำ ที่อาจจะมีราคาเริ่มต้นไม่สูง แต่ได้ความเป็นตำนานและรสชาติดั้งเดิมของร้านเรากลับไป”

 พื้นที่ หรือทำเลที่จะขยับไปเปิดร้านเพิ่มเติม ยังมองที่ย่านฝั่งธนบุรี ที่ลูกค้ารู้จักและคุ้นเคยกับแบรนด์ก่อน ในอนาคตอาจจะตัดสินใจอีกที ปัญหาของการทำธุรกิจคือพอเป็นร้านสุกี้ การเสนอขอพื้นที่ตามห้างฯ มีร้านอื่น ๆ ที่เปิดบริการอยู่แล้ว ทำให้เป็นอุปสรรคในการขยาย แต่การเลือกพื้นที่ที่เป็นสแตนอโลนก็จะเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง คือเรื่องการลงทุนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด 

สาขาล่าสุดที่กำลังเปิด คือ Metro West Town (เมโทร เวสต์ทาวน์) คอมมูนิตี้มอลล์บนถนนกัลปพฤกษ์ เป็นความโชคดีคือมีพื้นที่ มีโครงสร้างอยู่แล้ว การลงทุนโครงสร้างจะมีแค่ตกแต่งภายใน ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนไม่ถึง 10 ล้าน  



Business Transformation แต่เอกลักษณ์คงเดิมจากรุ่น สู่รุ่น

หากจะเรียกว่าเป็น Business Transformation อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถานที่ การให้บริการ แต่ในแง่ของการ Rebranding เรายังคงรักษาภาพจำที่ลูกค้าเคยเห็นมากันทั้งรุ่นปู่-ย่า พ่อ-แม่ จนถึงลูกหลาน ที่มารับประทานกันเป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยสมาชิกทุกรุ่น ทุกวัยพร้อมหน้าพร้อมตากัน 

เพลงในร้านยังเปิดเพลงยุค 80-90 เราใช้ทีม Marketing ของบริษัทเราเอง ทั้งส่วนที่ทำ Marketing Online ทีมกราฟิก ซึ่งสาขาเรายังมีไม่มาก แต่กระแสตอบรับในช่องทางเฟซบุ๊กของเราถือว่าใช้ได้ เราอยากให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้ง่าย ๆ 

 “เราอยากให้ลูกค้าเก่าของเราที่เป็นรุ่นพ่อ-แม่ ส่งต่อความชื่นชอบแบรนด์เราไปยังรุ่นลูก ๆ แต่ปัญหาของเราคือสาขาน้อย เพราะเพิ่งรีแบรนด์ใหม่ ยังต้องใช้เวลา ปัจจุบันยอดขายเราพอไปได้” 



คุณอนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่า ในตลาดที่การแข่งขันสูง ย่อมมีเจ้าตลาดครองพื้นที่อยู่แทบทุกเซ็กเมนต์ธุรกิจ การที่ผู้บริหารแบรนด์ เลือกจะฝ่าฟัน หรือหาช่องทางแทรกตัวเข้าไปไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จุดเด่นของ ‘แพนด้าสุกี้บะหมี่’ คือคุณค่าที่ถูกส่งต่อมายาวนาน มีความเป็นตำนานที่หลายคนจดจำได้ 

เมื่อวาง Business Model ในแนวทางนี้และวางกลยุทธ์ไว้รองรับได้เป็นอย่างดี นี่จึงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาการทำธุรกิจ ของการมองเห็นโอกาสสำหรับการสืบทอดร้านอาหารเก่าที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ทำอย่างไรให้ ตรงปก และคงความเป็นต้นฉบับเพื่อส่งต่อความเป็นตำนานให้คงอยู่ อย่างไม่รู้จบ 


รู้จัก ‘แพนด้าสุกี้บะหมี่’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/Pandasukirestaurant/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
346 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
343 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
690 | 25/04/2024
‘แพนด้าสุกี้ บะหมี่’ ร้านดังยุค ‘พาต้า’ Business Transformation ส่งต่อรสชาติระดับตำนานสู่ผู้บริโภครุ่นใหญ่ ถึง รุ่นใหม่