กรณีศึกษา 3 ผู้ประกอบการ SME ใช้หลักคิด ESG ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน อย่างยั่งยืน

ESG
27/02/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 7862 คน
กรณีศึกษา 3 ผู้ประกอบการ SME ใช้หลักคิด ESG ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน อย่างยั่งยืน
banner
จากบทความที่แล้ว เราได้พูดถึง วิธีทำธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่ต้องเปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์เพื่อลดโลกร้อน ที่มาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มปศุสัตว์ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดเปลี่ยนขยะการเกษตรให้เป็นศูนย์ ด้วยแนวคิด ESG



ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเทรนด์การทำธุรกิจคาร์บอนต่ำด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้า และการสร้างคาร์บอนจากการดำเนินในทุกส่วนขององค์กรเอง Bangkok Bank SME จึงนำกรณีศึกษา 3 ผู้ประกอบการ SME ที่หันหน้าสู่ธุรกิจสีเขียว เพื่อช่วยลดคาร์บอน ลดโลกร้อน อย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG และตอบโจทย์กติกาการค้าโลกที่มุ่งสู่การลดก๊าซคาร์บอนที่เริ่มเก็บภาษีธุรกิจที่ผลิตสินค้าปล่อยคาร์บอนอย่างเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง 



ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ตามเทรนด์โลกด้วยแนวคิด ESG

สำหรับประเทศไทย หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพยายามผลักดันและพัฒนาการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน(Sustainability) โดยตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2563 ภาคขนส่งและพลังงานให้ลดลงเมื่อเทียบกับที่เคยปล่อยไว้ 7-20 % ข้อมูลล่าสุด พบว่าขณะนี้ไทยสามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17 % และคาดว่าปีนี้จะทำให้สำเร็จ 20 % ตามที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ เป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้หยุดเพียง 20 % แต่ต้องทำให้ได้ถึง 40 % และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ในปี พ.ศ. 2608



ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2565 มี 10 สินค้าจากผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย ได้ประเมินการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งปี 9,696,467 KgCO2 e โดยตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ภายในสิ้นปีนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากเดิม เฉลี่ย 20 - 50% คาดว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลด การปล่อยคาร์บอน 3,183,805 KgCO2 e ในปี 2023 จากผู้ประกอบการนำร่อง 10 ราย

ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทยดีขึ้น 4 เท่าตัว และการค้าขายเติบโตขึ้น 10 เท่าตัว สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น และหากไม่มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทรัพยากรของไทยจะหมดไปอย่างแน่นอน 



ดังนั้น อาจจะถือเป็นโอกาสในการลงทุนของภาคธุรกิจก็ว่าได้ โดยเฉพาะ SME ไทย หากเปลี่ยนธุรกิจโมเดลให้สอดคล้องกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายความยั่งยืน (Sustainability) เปลี่ยนวิธีการจัดการธุรกิจของตนเอง และมองหาธุรกิจร่วมกับต่างชาติ แต่หากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวเอง เชื่อว่าอนาคต ราคาต้นทุนในการจัดการ อาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จะทำให้เสียทั้งโอกาสและต้นทุนที่จะจ่ายแพงในอนาคต 



แบรนด์ชั้นนำของโลกหันมาเทใจรักษ์โลก

เริ่มจาก LEGO ผู้ผลิตของเล่นขวัญใจเด็ก ๆ ที่เรารู้จักกันดี



หลายปีที่ผ่านมา LEGO (เลโก้) ใช้พลาสติกในการผลิตตัวต่อของเล่นเป็นจำนวนมากถึง 90,000 ตันในแต่ละปี แต่เมื่อวิศวกรและนักวิจัยของเลโก้ ได้ทดลองผลิตพลาสติกจากพืช เช่น อ้อย ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความอ่อนนุ่ม ทนทาน และยืดหยุ่นสูง อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา



ถึงแม้ว่า เลโก้ จะผลิตพลาสติกจากพืชได้เพียง 1-2 % เท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งหมดที่ เลโก้ ผลิต ก็นับได้ว่าเป็นปริมาณที่มากพอที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นก้าวแรกของความพยายามที่จะผลิตเลโก้ ทั้งหมดด้วยวัสดุที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งว่ากันว่า เลโก้ ตั้งเป้าให้เป็นแบรนด์ในการผลิตคาร์บอนเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2565 และจะลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี พ.ศ.2568



‘Epson’ พรินเตอร์รักษ์โลก ‘ลดคาร์บอน 85%’

‘เอปสัน’ (Epson) คืออีกหนึ่งตัวอย่าง ที่มุ่งมั่นช่วยองค์กรธุรกิจลดการใช้พลังงานในสำนักงาน และเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด โดยเอปสันยึดหลักความยั่งยืน ตั้งแต่ขั้นตอนกำหนดแนวคิด ออกแบบ ไปจนถึงกระบวนการผลิต เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้น 

โดย เอปสัน ประสบความสำเร็จในการสร้างอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ที่เรียกได้ว่าเป็น Green Tech อย่างเต็มตัว เพราะไม่เพียงแต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 85% ยังมีชิ้นส่วนในเครื่องที่ต้องเปลี่ยนทดแทนน้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 59% ทำให้ช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงได้มาก 



นอกจากนี้ ยังมี Epson PaperLab เป็นเครื่องรีไซเคิลกระดาษเครื่องแรกของโลก ช่วยให้ทุกออฟฟิศประหยัดค่ากระดาษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพียงนำกระดาษที่ใช้แล้วใส่เข้าไปใน PaperLab จะได้กระดาษใหม่ออกมาในไม่กี่นาที ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบในกระบวนการผสานเยื่อกระดาษใหม่ 

รวมไปถึงเทคโนโลยีหัวพิมพ์ PrecisionCore หนึ่งในผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากสารเคมีในขณะพิมพ์ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ถูกออกแบบให้ช่วยลดการใช้น้ำในกระบวนการพิมพ์ลงถึง 60% ทำให้ไม่ก่อมลพิษจากสารเคมี และยังลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 55%



เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไทยตั้งเป้าสู่ความยั่งยืน (Sustainability)

วันนี้ การค้าของไทย จะต้องปรับตัวเนื่องจากเกิดการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ ในอนาคตสินค้าสีเขียวจะเป็นพื้นฐานการค้าขายในอนาคตอย่างแน่นอน Bangkok Bank SME จึงรวบรวม ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของผู้ประกอบการ SME ไทย ที่หันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainability) อย่างเช่น



บริษัท จีอาร์ดี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีทางเคมีเชิงลึก

โดย จีอาร์ดี เอ็นเนอร์ยี่ มีการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเคมีเชิงลึก ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างตั้งใจ ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการนำขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) มาผลิตเป็น แนฟทาบริสุทธิสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของปิโตรเคมีไทย ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis Technology) โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นมาด้วยทีมวิจัยทางเคมีเชิงลึกของบริษัท เพื่อการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างยั่งยืน (Sustainability) อีกทั้งยังสามารถส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนับสิบเท่า



ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการอนุมัติรับรองสิทธิบัตรจากประเทศสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถูกดำเนินการผลิตภายใต้บริษัท Circular Plas ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability & Carbon Certification) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย จึงเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการการพัฒนาเทคโนโลยี Deep Tech เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับบริษัทชั้นนำของประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี Lubricant Oil to Diesel Technology ที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่พัฒนาขึ้นมา ให้สามารถเปลี่ยนขยะน้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว ผ่านกระบวนการทางเคมีเชิงลึก Deep Tech  ให้สามารถรีไซเคิลกลับมาเป็นน้ำมันดีเซลคุณภาพสูง เป็นพลังงานทางเลือกสำหรับรถยนต์ รถขนส่ง และเครื่องจักรโรงงาน สามารถป้องกันการสึกเหรอของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง



สำหรับหัวใจของเทคโนโลยี Deep Tech คือการออกแบบกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ‘Catalysis’ หรือ ‘การเร่งปฏิกิริยา’ ด้วยการที่เติมสาร ‘Catalyst’ หรือ ‘ตัวเร่งปฏิกิริยา’  ลงไปเพื่อทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น หรือทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเพิ่มขึ้น ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนกลไกในการเกิดปฏิกิริยา นำไปสู่การลดพลังงานในการเกิดปฏิกิริยา จึงสามารถเร่งปฏิกิริยาให้เร็วขึ้นได้ เปรียบเสมือนเครื่องทุ่นแรง ทำให้สารเคมีเกิดการแตกตัวและรวมตัวขึ้นเป็นสารเคมีชนิดใหม่ได้ง่ายขึ้น 

จากกระบวนการเหล่านี้ จึงสามารถนำไปสู่การสร้างธุรกิจ Deep Tech จนเกิดเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับธุรกิจ ดังนั้น Catalyst จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น ใช้พลังงานที่ต่ำลงในกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและสามารถลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต



สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของการทำธุรกิจ Deep Tech ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยกับตลาดโลก ในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจด้วยแนวคิด ESG อย่างมหาศาล




บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด ผู้ผลิตหลอดกระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณนภัสนลิน วีรณรงค์ชยกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด นักบริหารคนรุ่นใหม่ที่หวังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก จึงนำแรงบันดาลใจมาต่อยอดธุรกิจผลิตหลอดกระดาษที่มีความโดดเด่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 


โดยมองเห็นปัญหาของขยะพลาสติกที่ปลิวลงสู่ทะเลจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยมีขยะพลาสติกปลิวลงสู่ท้องทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งมีผลต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ในทะเล และกว่าพลาสติกเหล่านั้นจะย่อยสลายก็ต้องใช้เวลานานถึง 450 ปีเลยทีเดียว จึงเสาะหาเทคโนโลยีเพื่อผลิตหลอดกระดาษคุณภาพสูงพร้อมเดินเครื่องผลิตทันที โดยสร้างความมั่นใจด้วยวัตถุดิบปลอดสารพิษทั้งกระบวนการผลิต



คุณนภัสนลิน อธิบายถึงกระบวนการผลิตว่า วัตถุดิบในการผลิตหลอดกระดาษมีความสำคัญมาก จึงคัดสรรวัตถุดิบจาก 5 ประเทศ เนื่องด้วยวัตถุดิบบางที่ดีแต่ไม่เข้ากับตัวกาว ทำให้คุณภาพของหลอดไม่ดี ซึ่งต้องหาวัตถุดิบที่เข้ากันกับตัวกาวที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังปลอดสารพิษด้วย ขณะที่หลอดกระดาษที่เราผลิตก็ใช้เยื้อไม้แรก โดยไม่ใช้กระดาษ Recycle มาผลิต ซึ่งบริษัทมีทีมวิจัยและใช้ประสบการณ์จากการทำแกนกระดาษ มาทำวิจัยและพัฒนาจนกระทั่งตัวหลอดมีคุณภาพแตกต่างจากที่อื่น 

นอกจากนี้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจะเป็นระบบปิดทั้งหมด เพื่อความสะอาดและปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ ความสะอาดปลอดภัย และได้มาตรฐาน

สำหรับสีสันบนหลอดกระดาษจะใช้สี Food Grade ที่เป็นสีจากน้ำมันถั่วเหลือง ไม่ละลายในเครื่องดื่ม จึงปลอดภัยมาก ๆ 



โดยหลอดของ ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว มีความโดดเด่นที่ แข็งแรงกว่าปกติ ใส่เครื่องดื่ม 1 แก้วแช่ไว้ 4 - 6 ชั่วโมง คนน้ำแข็งแรง ๆ หลอดก็ไม่เปื่อยยุ่ย นอกจากหลอดกระดาษจะแข็งแรงทนทานกว่าหลอดกระดาษทั่วไปแล้ว หลอดกระดาษที่นี่ไม่มีกลิ่น และไม่ทำให้เครื่องดื่มรสชาติผิดเพี้ยนไป ซึ่งในหลอดที่คุณภาพทั่วไปจะมีกลิ่นกระดาษและทำให้รสชาติเครื่องดื่มเปลี่ยนไป 
 
มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าใช้ ‘หลอดกระดาษ’ ทำลายป่าหรือไม่? ต้องบอกว่าการใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก เป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือทำลายสิ่งแวดล้อมจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อมาผลิตเป็นกระดาษ คุณนภัสนลิน สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า ช่วงแรก ๆ ที่ทำก็ถูกโจมตีเหมือนกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วหลอดกระดาษที่ผลิตนั้น มาจากการปลูกป่าเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษโดยเฉพาะ



ซึ่งจะไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า โดยเราจะเลือก Supplier ที่มีสัญลักษณ์ FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งหมายถึง เป็นกระดาษที่มาจากไม้ที่ใช้ปลูกเพื่อการทำกระดาษโดยเฉพาะ ที่จะมีการปลูกทดแทนเพื่อใช้หมุนเวียนกันไป เป็นป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างรับผิดชอบ จึงอยากให้เปลี่ยน Mindset ที่ไม่ใช่เพียงมายาคติ หรือความเชื่อจากในอดีตที่ถ่ายทอดกันมา

ที่สำคัญตลาดต่างประเทศมีลูกค้าต่างประเทศติดต่อมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายแบนบรรจุภัณฑ์ อาทิ หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกมากขึ้น อย่าง ในโซนยุโรป, อเมริกา ซึ่งค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เช่น หลอดกระดาษที่ผลิตนั้น มาจากการปลูกป่าเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษโดยเฉพาะที่ได้รับการรับรอง FSC (Forest Stewardship Council) จะเห็นได้ว่าการผลิตสินค้าต่อจากนี้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ดังนั้นการนำแนวคิด ESG มาใช้ดำเนินธุรกิจจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน




บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวตรา ‘เรือใบ’ ที่ทำจากข้าว 100%

คุณโสวัฒน์ เวศวิฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’ สูตรเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากข้าว 100% ส่งออกทั่วโลก ปรับตัวสู่ธุรกิจ Low Carbon ขานรับ CBAM กฎการค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อม 



ขณะนี้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยจะมีการคุมเข้มจากคู่ค้าในกระบวนการผลิตที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กระบวนการผลิตปล่อยของเสียเท่าไหร่ Packaging ย่อยสลายหรือนำมา Recycle ได้หรือไม่ แม้กระทั่งรถที่ใช้ขนส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าปลดปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะถูกหยิบยกเอามาเป็นข้อกำหนดในการผลิตสินค้าเพื่อไปขายยังตลาดในยุโรปและอเมริกาอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าใครไม่เริ่มปรับตัวนับจากนี้อาจประสบปัญหาการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับคู่ค้าในต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน 



คุณโสวัฒน์ ยกตัวอย่างลูกค้าในฝั่งยุโรปที่เป็นห้างใหญ่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษและพิมพ์ตราอักษรเป็นสีดำทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยเฉพาะ แพ็กเกจจิ้ง ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรเริ่มปรับเปลี่ยนก่อนเป็นสิ่งแรกเลย

ดังนั้นการส่งออกไปตลาดยุโรปสิ่งสำคัญคือการผลิตสินค้าต้องไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มใช้กฎหมายข้อบังคับดังกล่าวในการพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) นำเข้าสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เรื่องนี้สำคัญมากหาก SME ไม่เร่งปรับตัว อาจทำให้เสีย Market Share ของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย


สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันไม่ใช่ว่าจะผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การใช้แนวคิด ESG มาปรับเปลี่ยนในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการ และ SME ไทยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งถ้าธุรกิจใดไม่ปรับเปลี่ยนจะมีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจหรืออาจจะต้องจ่ายชดเชยค่าปล่อยคาร์บอนให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาดซึ่งมีราคาสูงมาก อาจทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ไหวต้องล้มเลิกไปในที่สุด


ที่มา
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)
https://www.moc.go.th/th/gallery/category/detail/id/5/iid/244
https://globalcompact-th.com/news/detail/793
https://www.epson.co.th/heat-free
https://www.thestorythailand.com/11/04/2022/61621/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2455 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3812 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3449 | 18/03/2024
กรณีศึกษา 3 ผู้ประกอบการ SME ใช้หลักคิด ESG ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน อย่างยั่งยืน