เปิดเส้นทาง ‘ยูเนี่ยนราชบุรี’ ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’ ส่งออกทั่วโลก ปรับตัวสู่ธุรกิจ Low Carbon ขานรับ CBAM กฎการค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อม

SME in Focus
30/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6161 คน
เปิดเส้นทาง ‘ยูเนี่ยนราชบุรี’ ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’ ส่งออกทั่วโลก ปรับตัวสู่ธุรกิจ Low Carbon ขานรับ CBAM กฎการค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อม
banner
ยุคที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการ หรือ SME ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่าง คุณโสวัฒน์ เวศวิฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวตรา ‘เรือใบ’ คิดค้นสูตรเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากข้าว 100% แบรนด์คุณภาพที่อยู่คู่กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมายาวนานกว่า 50 ปี

Bangkok Bank SME ขอพาไปรู้จักทายาทธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่เข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว (Family Business) เพื่อส่งต่อสู่รุ่นต่อไป



จุดเริ่มต้น ตำนานเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’

คุณโสวัฒน์ เล่าถึงความเป็นมาของตำนานเส้นหมี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’ ว่า ธุรกิจนี้เริ่มต้นจาก ‘อาม่า’ ได้เริ่มผลิตเส้นหมี่อบแห้งในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ราชบุรียูเนียน (1968) เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยขณะนั้นผลิตเส้นหมี่อบแห้งเพียงอย่างเดียว ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ตราเรือใบ’ ด้วยความมุ่งมั่นและพัฒนาการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เส้นหมี่ ‘ตราเรือใบ’ มีรสชาติที่เหนียวนุ่ม อร่อย เป็นที่ถูกใจผู้บริโภค


คุณโสวัฒน์ เวศวิฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด

จากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อสานต่อทายาทธุรกิจรุ่น 3 

คุณโสวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อธุรกิจเติบโตมากขึ้น จึงส่งต่อธุรกิจสู่ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 คือ คุณพ่อ เข้ามาบริหารโดยการขยายการผลิตและมองว่าตลาดในประเทศเริ่มถึงทางตัน เนื่องจากเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ไม่เป็นที่นิยมของคนไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทานเส้นสดมากกว่า จึงเริ่มมองหาตลาดต่างประเทศมารองรับ จนได้ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียเป็นประเทศแรก ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมีออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงหันมาทำตลาดส่งออก 100% 
 
คุณโสวัฒน์ ขยายความว่า จากการดำเนินธุรกิจอย่างมุ่งมั่นผนวกกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ คุณพ่อ ที่ต้องการให้กิจการมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนาม บริษัท ยูเนียนราชบุรี (1992) จำกัด โดยนำเทคโนโลยีการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่ทันสมัยเข้ามาใช้ โดยใช้สูตรดั้งเดิมที่ อาม่า คิดค้นขึ้นมา ซึ่งมีอายุกว่า 50 ปีแล้ว โดยปัจจุบันตนเป็นทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวต่อจากคุณพ่อ ก็มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการที่จะพัฒนากระบวนการผลิตโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังคงคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่เหนียวนุ่ม อร่อย เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านสุขภาพและรสชาติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของบริษัท 



ความโดดเด่นของเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’ คืออย่างไร?

คุณโสวัฒน์ อธิบายถึงความพิเศษของเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งภายใต้แบรนด์ ‘เรือใบ’ ว่า เกิดจากการคิดค้นสูตรของอาม่าที่มุ่งมั่นจะทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวมีความนุ่ม อร่อยและดีต่อสุขภาพ จึงผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยใช้ข้าว100% โดยไม่มีส่วนผสมแป้งมันเลย ซึ่งเส้นที่มีส่วนผสมของแป้งมันจะมีความเหนียวแต่ไม่นุ่ม นี่ความแตกต่าง ในขณะที่เส้นที่ทำจากข้าวล้วนๆ จะมีความนุ่มกว่าแต่ไม่เหนียวเด้ง เราจึงใช้สูตรการผสมข้าวจากโคราชกับข้าวราชบุรี ซึ่งคุณสมบัติของข้าวโคราชคือมียางในตัว เพื่อให้เกิดความนุ่มและเหนียวได้โดยไม่ต้องผสมแป้งมัน สิ่งนี้ถือเป็น Key Product ของเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’

ใคร? คือลูกค้าของเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ตราเรือใบ

คุณโสวัฒน์ บอกว่า กลุ่มลูกค้าของบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศอังกฤษและอเมริกา เป็นกลุ่มลูกค้าที่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวผัดไทยหรือร้านอาหารที่รังสรรค์เมนูอาหารด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว ขณะที่กลุ่มลูกค้าในยุโรปจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่วางขายในห้างโดยลูกค้าจะซื้อไปทำก๋วยเตี๋ยวรับประทานเองที่บ้าน แต่ถ้าจะพูดให้แคบลงกว่านี้ คงเป็นกลุ่มที่สนใจในเรื่องวัตถุดิบ ที่มองหาเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีความพิเศษ สะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก 



เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเบนเข็มส่งออกเต็มตัว

คุณโสวัฒน์ ยอมรับว่า การทำตลาดเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งในประเทศมีความยากกว่าการทำตลาดในต่างประเทศ เนื่องด้วยผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่นิยมรับประทานก๋วยเตี๋ยวเส้นสดมากกว่า เนื่องจากมีความสะดวกในการรับประทาน แต่ในต่างประเทศผู้บริโภคจะเน้นการเก็บไว้บริโภคได้นาน หรือในส่วนของร้านอาหารก็จะเก็บรักษาได้นานกว่าการใช้เส้นสด จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทต้องเบนเข็มไปโฟกัสตลาดส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก  

“หลังจากขยายตลาดไปต่างประเทศได้ ทำให้จากเดิมเราใช้ข้าวปีละไม่กี่กระสอบ ปัจจุบันเราใช้ข้าวถึงปีละ 1 หมื่นตันในการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว บริษัทจึงพัฒนาปรับปรุงการผลิตและมาตรฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนบริษัทได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน ISO 9001:2015 จึงถึง BRC GHP/GMP และ HACCP โดยหน่วยงานรับรองสากล (Certified Body) นอกจากนี้ได้ขอการรับรองเครื่องหมายฮาลาลและโคเชอร์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เส้นหมี่อบแห้งและเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งของบริษัทสามารถส่งออกได้ทั่วโลก”

สำหรับสัดส่วนรายได้ของบริษัทปัจจุบันเกือบ 100% มาจากการส่งออกที่กระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 15ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ และประเทศในยุโรป เป็นกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ รวมถึงภัตตาคาร หรือร้านอาหารที่ต้องการเส้นที่มี Signature เฉพาะตัว และเน้นเรื่องสุขภาพ



อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ ‘ตราเรือใบ’ ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 50 ปี

คุณโสวัฒน์ เผยเคล็ดลับเรื่องนี้ว่า สิ่งที่มัดใจลูกค้าคิดว่าคงเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีคุณภาพและปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เวลานำไปทำอาหารจะเห็นได้ว่าเส้นของเราจะไม่ติดกระทะ ไม่จับตัวกันเป็นก้อนทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ถูกไปทำอาหาร ออกมาน่ารับประทาน ไม่เพียงแค่นั้นเรายังคงใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยลงไปในเส้นอีกด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพให้แก่ลูกค้า เป็นสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอดระยะกว่า 50 ปี



ความยาก - ง่ายในการเข้ามาสืบทอดธุรกิจครอบครัวในรุ่นที่ 3

คุณโสวัฒน์ มองเรื่องการเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัวในรุ่นที่ 3 ว่า การเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องเข้ามาบริหารและทำงานกับผู้ใหญ่ที่อายุต่างกัน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับตน แต่ไม่ใช่เรื่องยากนัก เนื่องจากตนเติบโตมากับโรงงานจึงคุ้นเคยกับพนักงานที่อยู่กันมายาวนานเป็นอย่างดี แต่การจะให้ผู้ใหญ่มาฟังคำสั่งเด็กเลยนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกอย่างด้วยประสบการณ์ในเรื่องการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวที่คนเก่าคนแก่ในรุ่นคุณพ่อคุณแม่สั่งสมกันมา เขามีความรู้มากกว่าเรา 

“ความท้าทายในการบริหารธุรกิจยุคปัจจุบัน คือการ Combination คนรุ่นเก่าในองค์กรตั้งแต่สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งคนรุ่นนี้จะมีประสบการณ์สูง รู้ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี และมีความภักดีต่อบริษัทมาก แต่อาจจะขาดเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งคนรุ่นใหม่ไฟแรง เก่งเทคโนโลยี แต่ขาดความอดทน จึงต้องหาจุดสมดุลเพื่อให้เกิดความพอดีและสามารถเดินไปด้วยกันได้”      

คุณโสวัฒน์ กล่าวเสริมว่า ตนในฐานะที่เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย มาสานต่อธุรกิจก็พยายามไม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก การจะให้คนรุ่นเก่ายอมรับ ต้องแสดงผลงานให้เขาเหล่านั้นได้เห็นถึงศักยภาพในตัวเราด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เขามั่นใจว่าเราจะนำพาบริษัทและพนักงานทุกคนก้าวหน้าไปพร้อมๆ กันได้


กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า ความท้าทายอีกข้อหนึ่งของการสืบทอดธุรกิจครอบครัว คือ ต้องแยกคำว่า ‘ครอบครัว’ กับ ‘ธุรกิจ’ ออกจากกันให้ชัดเจน เพราะสองคำนี้มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป้าหมายของ ครอบครัว คือ การอยู่รวมกันในครอบครัว ด้วยความรัก ความอบอุ่น สามารถยืดหยุ่นกันได้ในหลายๆ เรื่อง ขณะที่เป้าหมายของการทำธุรกิจ คือ กำไร มีกติกาที่ชัดเจน เมื่อคนที่ทำงานในธุรกิจคือ ครอบครัว ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนในครอบครัว การตัดสินใจแก้ปัญหาจะยากมาก

ดังนั้นการส่งต่อธุรกิจต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในเรื่องนี้ ควรจัดสรรปันส่วนทุกอย่างไว้อย่างเรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในการส่งต่อกิจการไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งกันในเรื่องการบริหารธุรกิจครอบครัว ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารธุรกิจของครอบครัว 



ปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ไม่ทำอาจเสียโอกาสในตลาดโลก

การทำธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ ที่กฎกติกาการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการ รวมไปถึง SME ต้องตื่นตัวและเร่งปรับเปลี่ยนให้ทัน คือ CBAM (ซีแบม) มาตรการลดโลกร้อนใหม่ ที่ธุรกิจส่งออกไทยต้องปรับตัวให้ทัน ก่อนเสียโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลกไป

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี จำกัด สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยจะมีการคุมเข้มจากคู่ค้าในกระบวนการผลิตที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กระบวนการผลิตปล่อยของเสียเท่าไหร่ Packaging ย่อยสลายหรือนำมา Recycle ได้หรือไม่ แม้กระทั่งรถที่ใช้ขนส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าปลดปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะถูกหยิบยกเอามาเป็นข้อกำหนดในการผลิตสินค้าเพื่อไปขายยังตลาดในยุโรปและอเมริกาอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าใครไม่เริ่มปรับตัวนับจากนี้อาจประสบปัญหาการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับคู่ค้าในต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน 

ยกตัวอย่าง ลูกค้าในฝั่งยุโรปที่เป็นห้างใหญ่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษและพิมพ์ตราอักษรเป็นสีดำทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ และ SME ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยเฉพาะ แพ็กเกจจิ้ง ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรเริ่มปรับเปลี่ยนก่อนเป็นสิ่งแรกเลย”

“ดังนั้นการส่งออกไปตลาดยุโรปสิ่งสำคัญคือการผลิตสินค้าต้องไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มใช้กฎหมายข้อบังคับดังกล่าวในการพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) นำเข้าสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เรื่องนี้สำคัญมากหาก SME ไม่เร่งปรับตัว อาจทำให้เสีย Market Share ของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย” คุณโสวัฒน์ กล่าวย้ำ

สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันไม่ใช่ว่าจะผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การใช้แนวคิด ESG มาปรับเปลี่ยนในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการ และ SME ไทยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งถ้าธุรกิจใดไม่ปรับเปลี่ยนจะมีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจหรืออาจจะต้องจ่ายชดเชยค่าปล่อยคาร์บอนให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาดซึ่งมีราคาสูงมาก อาจทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ไหวต้องล้มเลิกไป


รู้จัก ‘บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่ :

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero

‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero

เพราะสิ่งปลูกสร้างในยุคปัจจุบันปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกือบ 40% ต่อปี โดยเฉพาะในกระบวนการก่อสร้างและการผลิตวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ก็ยังขาดความหลากหลายและความสวยงาม…
pin
1 | 10/10/2024
ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะ

ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะ

 ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิตและธุรกิจ…
pin
4 | 30/09/2024
เจาะกลยุทธ์ CEO แห่ง “MPJ GROUP” ผงาดสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ผสานความยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เจาะกลยุทธ์ CEO แห่ง “MPJ GROUP” ผงาดสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ผสานความยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ยุคที่โลจิสติกส์และการขนส่ง มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทุกประเภท บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปเจาะลึกวิสัยทัศน์…
pin
5 | 21/09/2024
เปิดเส้นทาง ‘ยูเนี่ยนราชบุรี’ ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ‘ตราเรือใบ’ ส่งออกทั่วโลก ปรับตัวสู่ธุรกิจ Low Carbon ขานรับ CBAM กฎการค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อม