เมื่อ Automation กำลังอัพเกรดสู่ Hyperautomation SME ต้องเร่งสปีด Business Transformation เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี

Mega Trends & Business Transformation
24/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3327 คน
เมื่อ Automation กำลังอัพเกรดสู่ Hyperautomation SME ต้องเร่งสปีด Business Transformation เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี
banner
ในอดีตโลกของเราได้พัฒนาตัวเองครั้งใหญ่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ด้วยการนำระบบ Automation หรือเทคโนโลยีอัตโนมัติ เข้ามาใช้พร้อมกับเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงานของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในปัจจุบัน โดย Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลกด้านไอที ได้คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ระบบ Automation จะก้าวไปสู่ Hyperautomation (ระบบอัตโนมัติขั้นสูง) กลายเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend เปลี่ยนโลก ซึ่งก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึง SME ของไทย จึงควรเร่งสปีด Business Transformation เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องปรับตัวอย่างไรในการนำมาใช้ในองค์กรบ้างนั้น SME Series นี้หาคำตอบมาให้แล้ว



ระบบ Automation คืออะไร? มีประโยชน์กับผู้ประกอบการและ SME ยุคปัจจุบันอย่างไร

โดยระบบ Automation คือการใช้เทคโนโลยีให้ทำงาน หรือหน้าที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย หรือมีคนช่วยเหลือเป็นจำนวนน้อยที่สุด ธุรกิจในอุตสาหกรรมใดก็ตามที่มีงานในรูปแบบที่ต้องทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ไปมา สามารถนำระบบ Automation ไปใช้งานได้ ดังนั้น Automation จึงเป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิต วิทยาการหุ่นยนต์ และยานยนต์ รวมถึงเป็นที่นิยมในโลกของเทคโนโลยี ได้แก่ระบบ IT และซอฟต์แวร์ทางธุรกิจที่ต้องใช้สำหรับการตัดสินใจเช่นกัน

จากรายงานของ International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ค่าเฉลี่ยความสามารถในการทำงานของแรงงานเมื่อนำหุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มขึ้น 0.37% เพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้ถึง 13.6% ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์หลักของการใช้งานหุ่นยนต์ดังนี้..

1. ลดต้นทุน : ระบบ Automation ช่วยลดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานทำให้ไม่เกิดค่าใช้จ่ายจากการบาดเจ็บหรือ Downtime

2. เพิ่มคุณภาพ : ระบบ Automation นั้นเป็นสิ่งที่มีความแม่นยำสูง สามารถผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดสูงและทำงานในรูปแบบพิเศษที่มนุษย์ไม่อาจทำได้

3. เพิ่มความสามารถในการผลิต : การทำงานภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด เช่น สถานที่ สภาพแวดล้อม ระยะเวลา ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีไม่อย่างนั้นจะสูญเสียอย่างมาก เช่น การบริหารจัดการคลังสินค้าที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดการส่งชิ้นส่วนที่ล่าช้า หรือการทำงานซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากความเมื่อยล้า

4. รักษาสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี : การใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติสามารถส่งเสริมความปลอดภัยของกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี ด้วยระบบเซนเซอร์ตรวจจับการทำงาน สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ระบบหยุดการทำงานของหุ่นยนต์เมื่อมีคนเข้าไปใกล้



ประเภทของ Automation
IBM (www.ibm.com/) ได้แบ่ง Automation ออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่..

Basic Automation
คือการนำเอาหน้าที่งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และเป็นงานพื้นฐานทั่วไป มาทำให้อยู่ในรูปแบบการทำงานแบบอัตโนมัติ เลเวลของการทำ Automation รูปแบบนี้เป็นการทำให้การทำงานอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลโดยใช้เครื่องมือต่างๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้หน้าที่งานที่ต้องทำแบบเดิมๆ ซ้ำมารวมอยู่ที่ศูนย์กลาง เช่น ระบบการแชร์ข้อความ แทนที่การทำงานรูปแบบเดิมที่ข้อมูลต่างๆ จะถูกรวบรวมอยู่ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง Business process management (BPM) และ Robotic Process Automation (RPA) จัดอยู่ในประเภทของ Basic Automation  

Process automation
คือการจัดการกระบวนการทางธุรกิจให้มีความสอดคล้องกันและโปร่งใส โดยปกติแล้ว Process Automation จะใช้ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันทางธุรกิจในการจัดการ การนำ Process Automation มาใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กร รวมถึงยังสามารถให้ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายของธุรกิจ และนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมให้ได้ โดย Process Mining และการทำ Workflow Automation จัดอยู่ในประเภทของ Process Automation

Integration automation
คือการที่คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ และสามารถทำงานนั้นๆ ได้แบบซ้ำๆ เมื่อมนุษย์ได้กำหนดกฎในการทำงานไว้ ตัวอย่างเช่น Digital workers เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีคนให้คำนิยามของ Digital Workers ไว้ว่าเป็นซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ที่ถูกเทรนมาเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในหน้าที่งานนั้นๆ ได้ โดยซอฟต์แวร์หุ่นยนต์เหล่านี้จะมีชุดทักษะเฉพาะด้าน และสามารถที่จะเลือกนำหุ่นยนต์ซอฟต์แวร์เหล่านี้ไปร่วมทีมได้

Artificial intelligence (AI) automation
ถือเป็นเลเวลของ Automation ที่มีความซับซ้อนมากที่สุด โดยการเพิ่ม AI เข้ามานั่นหมายถึงว่าคอมพิวเตอร์สามารถที่จะเรียนรู้ และตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากสถานการณ์ในอดีตที่ AI เคยได้เจอ และวิเคราะห์มา ตัวอย่างเช่นในการให้บริการลูกค้า ผู้ช่วยเสมือนหรือ Virtual Assistant สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในขณะเดียวกันทำให้ลูกค้าและพนักงานที่ให้บริการสามารถสร้างประสบการณ์การบริการที่ดีที่สุดได้เช่นกัน หรือการใช้ AI ในการอ่านเอกสาร AI จะสามารถรู้ได้ว่าเป็นเอกสารประเภทไหน และดึงข้อมูลที่ต้องการจากเอกสาร และจัดเก็บเข้าไปในระบบขององค์กรได้แบบอัตโนมัติ เป็นต้น เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ AI ในการดึงข้อมูลจากเอกสารได้แบบอัตโนมัติ



นอกจากการผลิต ยังมีการนำ Automation ไปใช้กับฟังก์ชันงานในธุรกิจ
หรือที่เรียกว่า Business Automation เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานในทุกๆ หน้าที่งานในองค์กร เช่น

1. การตลาด 
การนำ Automation มาใช้กับ E-mail Marketing ธุรกิจสามารถใช้ซอฟต์แวร์ในการส่งอีเมลไปหารายชื่อลูกค้าที่มีอยู่ในลิสต์โดยตั้งเวลาในการส่งไว้ล่วงหน้าได้ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการที่ต้องรันแคมเปญแบบแมนนวล รวมถึงการลงทุนในการทำการตลาดที่จะถูกผูกไปกับ Customer Relationship Management (CRM) หรือแม้กระทั่งการส่งข้อความหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยอัตโนมัติผ่านทางโซเชียลมีเดีย

2. การบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) 
ระบบการบริหารทรัพยาบุคคลสามารถนำหน้าที่ต่างๆ ของ HR ให้สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินใบสมัคร (Resume) การนัดหมายสัมภาษณ์ การจ้างงาน การปฐมนิเทศ การจัดการค่าจ้าง จนถึงการจัดการเรื่องผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ รวมถึงเมื่อนำระบบ Automation มาใช้ยังทำให้ธุรกิจได้ข้อมูล Insight เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้อีกด้วย

3. การขาย 
เครื่องมือ Sales Automation เช่น Salesforce และ Software-as-a-service (SaaS) อื่นๆ สามารถทำให้ทีมขายประหยัดเวลาในการกรอกข้อมูลดีลต่างๆ ลงระบบ และมีเวลาที่จะโทร.หาลูกค้าได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการปิดการขาย โดยซอฟต์แวร์ Automation เหล่านี้ทำให้งานที่ต้องแบบทำซ้ำๆ ตลอดทั้งขั้นตอนการขายสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกลูกค้าจากข้อมูลกระบวนการซื้อของผู้ซื้อ (Buyer Journey) มอบหมายลูกค้าให้กับเซลแต่ละคน หรือสร้างข้อมูลไว้ให้สำหรับการทำ Sales Forecast เป็นต้น

4. การเงิน และบัญชี
โดยการทำให้การวางแผนการเงิน และบัญชีสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ทำให้องค์กรมีเวลามากขึ้นที่จะมาโฟกัสที่หน้าที่งานที่มีความสำคัญอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร และการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร เช่น สำหรับการจัดการบัญชีเจ้าหนี้ (Accounts Payable) การเก็บข้อมูลจากเอกสารสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ใบแจ้งหนี้จะถูกจับคู่โดยอัตโนมัติกับเอกสาร และการอนุมัติจะถูกส่งต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดของข้อมูล และช่วยป้องกันการทุจริตผ่านการควบคุมที่อยู่เบื้องหลัง



ประโยชน์ของการนำ Automation มาใช้ในธุรกิจ

Automation ไม่ได้จำเป็นต้องนำมาใช้ในการทดแทนคนเสมอไป โดยการนำระบบ Automation เข้ามาใช้จะทำให้ลดขั้นตอนในการทำงานที่จะต้องให้คนมามีปฏิสัมพันธ์กับระบบคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งสำคัญและข้อดีหลักของ Automation คือผลของการทำงาน ความคงเส้นคงวา และประสิทธิภาพในการทำงาน และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันของการนำ Automation มาใช้งาน คือเมื่อคุณเริ่มเชี่ยวชาญกับการใช้ Automation มากขึ้น การที่ต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้น แต่ในความถี่ที่น้อยลง 

แทนที่เราจะมองว่าระบบ Automation มาใช้จะทำให้จำนวนงานที่ต้องใช้คนน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว Automation ทำให้พนักงานมีเวลาที่จะโฟกัสกับงานที่มีความสำคัญที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากขึ้น แทนที่จะหมดเวลาไปกับงานรูทีนที่ต้องทำแบบซ้ำไปซ้ำมา

โควิด 19 ตัวเร่งภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้ระบบ Automation

จากข้อมูลคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า เดือน ม.ค. - มิ.ย. 2564 มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้หุ่นยนต์ - ระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น โดยมียอดคำขออยู่ที่ 28 โครงการ มูลค่า 5,700 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดคำขอ 19 โครงการ มูลค่า 1,700 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานจากปัญหาโควิด 19 จึงได้ปรับแผนลงทุนนำ ‘หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ’ เข้ามาแทนที่แรงงานรวมถึงการมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นแต่ราคาถูกลง

ทั้งนี้ BOI ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ ‘ยกเว้น’ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมถึงการ ‘ยกเว้น’ อากรนำเข้าเครื่องจักร และหากโรงงานอุตสาหกรรมเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยนก็จะได้รับ ‘ยกเว้น’ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)



ผู้ประกอบการและ SME ต้องการ Business Transformation นำด้วยการ Automation มาใช้ในองค์กรควรเริ่มต้นอย่างไร?

เนื่องจากที่ผ่านมาอุปสรรคของการลงทุนระบบ Automation ก็คือเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้จุดคุ้มทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ และ SME ซึ่งหาจุดคุ้มทุนไม่ได้ภายในระยะเวลาที่ต้องการ

ส่งผลให้หลายบริษัทในบ้านเราที่มีความต้องการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ แต่องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านออโตเมชันมาก่อน จึงไม่สามารถประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ลงทุนได้เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งส่วนมากก็มักคิดว่าใช้เงินทุนไม่มากโดยเมื่อเริ่มหาข้อมูลก็พบว่าอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจไม่ลงทุน หรือเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน

นอกจากนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อภาคอุตสาหกรรมพิจารณาลงทุนระบบอัตโนมัติมักจะโฟกัสไปที่การทดแทนแรงงาน แต่ทว่าค่าจ้างแรงงานในไทยยังไม่สูงมากนัก และมีการใช้แรงงานต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ยังสามารถหาแรงงานทดแทนได้ เมื่อคำนวณผลตอบแทนการลงทุนจากระบบอัตโนมัติที่ช่วยลดจำนวนแรงงานเพียงอย่างเดียวจึงมักไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่ผู้ประกอบการ และ SME อาจยังไม่ได้นึกถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ เนื่องจากระบบอัตโนมัติไม่ได้มีประโยชน์แค่การลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเท่านั้น แต่ยังช่วยในการเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียอีกด้วย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนกับระบบ Automation ซีรีส์นี้จึงขอนำขั้นตอน 8 ปัจจัยต้องคิดก่อนตัดสินใจลงทุนมาให้ได้ทราบ

1. รู้เราให้เท่าทัน
การประเมินศักยภาพและเป้าหมายของตัวเองตามความเป็นจริง พิจารณาการลงทุนและความสำคัญในการลงทุนแต่ละภาคส่วนอย่างละเอียด เช่น การลงทุนหุ่นยนต์ในสายการผลิตของคุณสามารถเพิ่ม Productivity ได้กี่เปอร์เซ็นต์จากเดิม (โดยเฉลี่ยประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 30%) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้คุ้มค่าหรือไม่ หรือสามารถเลือกการอัพเกรดเครื่องมือแทนการซื้อใหม่เลยจะดีกว่าไหม อย่างไร

2. แผนการลงทุนต้องละเอียด
หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการการลงทุนอะไร สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือสถานภาพทางการเงินในปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายของการลงทุนให้ชัดเจนว่าจะลงทุนในด้านใด เช่น หุ่นยนต์ออโตเมชัน ระบบบำบัดของเสียอัจฉริยะ ระบบเครือข่ายภายในและภายนอกโรงงาน เป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มต้นประเมินความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการลงทุนครั้งนี้เพื่อสร้างแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

3. เริ่มให้ง่าย ทำให้ง่าย
ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การออกแบบสายการผลิตที่มีระบบออโตเมชันจำเป็นต้องทำให้กระชับรัดกุมเพราะนอกจากจะส่งผลต่อการลงทุนแล้วยังส่งผลต่อศักยภาพการผลิตด้วย



4. ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อ
การลงทุนออโตเมชันสมัยใหม่จำเป็นต้องลงทุนในระบบที่รองรับการทำงานควบคู่กับระบบเครือข่าย โดยต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งานเบื้องต้นทั้งหมด 2 ส่วน ได้แก่ การแสดงผลข้อมูล (Monitoring) และการควบคุม (Control) ซึ่งรูปแบบการใช้งานทั้งสองมีความเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น การลงทุนกับการแสดงผลข้อมูลในระบบมีความเสี่ยงต่อเหตุการฉุกเฉินน้อย สามารถสนับสนุนการซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ได้ เช่น ระบบตรวจสอบการใช้พลังงาน

สำหรับความสามารถในการควบคุมการทำงานสามารถสนับสนุนการจัดการที่ต้องการความเร่งด่วนได้ เช่น สั่งหยุดหรือปรับแต่งสายการผลิตจากนอกสถานที่ผ่านเครือข่ายเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนอกแผนการ

5. วางแผนเพื่อการต่อยอดในอนาคต
การลงทุนควรจะเปิดช่องสำหรับการเติบโตและการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต หากเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจยังอีกไกลและการลงทุนในปัจจุบันยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้ การเลือกลงทุนควรแบ่งแผนการเป็นระยะ ว่าควรจะเริ่มลงทุนส่วนใดก่อนและพิจารณาในส่วนของการลงทุนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

6. เทรนนิ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากนั่นคือการพัฒนาทักษะขีดความสามารถบุคลากรให้ทันต่อการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้งาน จึงจำเป็นต้องเสริมทักษะของพนักงานทางด้านเทคนิคการดูแลรักษาและโปรแกรมการทำงานระบบหุ่นยนต์และออโตเมชัน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดระยะเวลาในการลองผิดลองถูกระหว่างการปฏิบัติงานของบุคลากร

7. ความปลอดภัยเรื่องสุดสำคัญ
การลงทุนระบบอัตโนมัติหรือเครื่องจักรใดๆ ก็ตามแต่ล้วนมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังจากพิจารณาการลงทุนแล้วควรสร้างรายการสำหรับตรวจเช็กความพร้อมที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กำลังไฟ ความพร้อมของระบบไฟฟฟ้าในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์สวมใส่สำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
การลงทุนด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการรักษาสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานแล้วยังหมายถึงการถนอมเครื่องจักรและสร้างสายการผลิตที่มีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานอีกทางหนึ่ง

8. ‘ซ่อมบำรุง’ เคล็ดลับสำคัญในการผลิต
การซ่อมบำรุงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต การนำระบบออโตเมชันเข้ามาใช้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับรูปแบบเฉพาะของออโตเมชันนั้นๆ เช่น การซ่อมบำรุงต้องมีความเข้าใจในระบบหุ่นยนต์แขนกล เพื่อแก้ไขโค้ดหรือตรวจสอบคำสั่งสำหรับการทำงาน ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อการใช้งานให้ปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รู้จักผู้ผลิตออโตเมชันเพื่องานอุตสาหกรรมแถวหน้าของเมืองไทยได้ที่นี่..


แหล่งอ้างอิง : 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
3907 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3894 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1010 | 25/03/2024
เมื่อ Automation กำลังอัพเกรดสู่ Hyperautomation SME ต้องเร่งสปีด Business Transformation เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี